ข่าว

สรส.โพสต์ จะหวังอะไรอีก เมื่อสภาฯยอมแพ้เอกชนสัมปทานทางด่วน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สรส.โพสต์ จากนี้จะไปหวังอะไรอีก เมื่อสภาฯยอมแพ้ ฺBEM ต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน ท่ามกลางความสงสัยของประชาชน ที่สุดแล้วประโยชน์จะตกที่ใคร

  เฟซบุ๊ก “ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์”  ได้โพสต์ข้อความว่า เมื่อสภาผู้แทนราษฎร “ยอมแพ้เอกชน” ในกรณี ต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน...จากนี้ไปจะหวังอะไรอีก

     “ชนชั้นใดเขียนกฎหมายก็แน่ไซร้ย่อมรับใช้ชนชั้นนั้น” เป็นอมตะวาจาจริงๆ และคงไม่ต้องสับสนอีกต่อไป ทัศนะ ประโยชน์ทางชนชั้นชัดเจน ทั้ง ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล รวมหัวมีมติ “สนับสนุนยุติข้อพิพาทระหว่าง การทางพิเศษ กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้าฯ หรือ BEM”ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 412 เสียง เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งสภามีมติตั้งขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้มีนายวีระกร คำประกอบ เป็นประธาน ในขณะที่ 25 เสียงไม่เห็นด้วย และ อีก 20 งดออกเสียง ในท่ามกลางความงุนงงสงสัยของประชาชน ว่า“ที่สุดแล้วประโยชน์จะตกที่ใคร”

     ที่มาของเรื่องนี้เกิดขึ้นจากข้อพิพาทระหว่าง การทางพิเศษ กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้าฯหรือ BEM ซึ่งมีคดีที่ฟ้องร้องระหว่างกันทั้งหมด 17 คดี โดยบริษัท BEM ฟ้อง กทพ.15 คดี ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ในระหว่างต่อสู้ทางคดีในชั้นศาลปกครอง อนุญาโตตุลาการ และบางคดียังไม่มีการดำเนินการซึ่งส่วนมากเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับค่าผ่านทางที่เอกชนและรัฐตีความของสัญญาต่างกัน ซึ่งรัฐตีความเพื่อประโยชน์ของประชาชนรัฐบาล จึงไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นตามที่เอกชนเรียกร้องได้ แต่สุดท้าย ความผิดก็มาตกที่ กทพ. ต้องมารับผิดชอบ

      ...ปัจจุบันมีเพียงคดีเดียวที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ กทพ.แพ้คดีและจ่ายค่าเสียหายให้แก่บริษัท NECL ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท BEM เป็นจำนวนเงินประมาณ 4,300 ล้านบาทในคดีแข่งขันจากกรณีที่รัฐบาลในยุคนั้นมีมติอนุมัติให้กรมทางหลวงสร้างส่วนต่อขยายจากทางด่วนโทลเวย์จากอนุสรณ์สถาน - รังสิต เพื่อสนับสนุนกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13(1998 : 2541) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพโดยใช้สถานที่หลักในการแข่งขันคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ตามนโยบายของรัฐบาล เป็นเหตุให้ไปขัดกับสัญญาระหว่าง กทพ.กับ บริษัททางด่วนเหนือ NECL ที่ได้รับสัมปทานทางด่วนสายปากเกร็ด – บางปะอิน ที่ในสัญญาดันไประบุว่า รัฐบาล หรือ กทพ. ห้ามสร้างทางในระนาบแนวเดียวกันที่มีลักษณะแข่งขัน เนื่องจากจะส่งกระทบต่อรายได้ของบริษัทเพราะจะทำให้บริษัทสูญเสียรายได้จากจำนวนรถผ่านทางที่ลดลง ในส่วนที่ กทพ.ฟ้อง BEM 2 คดีอยู่ระหว่างการดำเนินคดี

        สำหรับโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 ที่กำลังพิพาทกันอยู่นี้จะหมดสัญญาในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ส่วนทางด่วน ปากเกร็ด – บางปะอิน จะหมดสัญญาในปี 2569

      สำหรับกรณีพิพาทประเมินมูลค่า 17 คดี ประมาณ 140,000 ล้านบาท...ติ้งต่างว่า กทพ.แพ้รวดทุกคดีอย่างที่กรรมาธิการและสภาผู้แทนราษฎรมีมติเสียงข้างมากเกรงว่าสู้คดีไป กทพ.จะแพ้จึงเห็นสมควรต่อสัญญาให้ BEM แต่หากคิดกลับกันว่าถ้า กทพ.อาจชนะในบางคดีความเสียหายอาจไม่เช่นนี้ ซึ่งนั่นหมายถึง กทพ.และรัฐต้องต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดเพื่อพิสูจน์ความจริงรวมทั้งรากของปัญหาเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้เข้าใจถึงความไม่ชอบมาพากล ความไม่โปร่งใสต่างๆก่อนหน้านี้ และจะได้ไม่เกิดความเสียหายหรือ “โง่”อีกในอนาคตข้างหน้า

       หรืออีกมุมหนึ่งแม้ว่าสู้แล้วแพ้คดีทุกคดีต้องจ่ายค่าเสียหาย 140,000 ล้านบาทแล้วไม่ต้องต่อสัญญา กทพ.นำเอาทางด่วนทั้งหมดมาทำเองซึ่งหากดูการจัดสรรปันส่วนระหว่าง กทพ.กับ BEM ก่อนหน้านี้ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี มีมูลค่าสูงถึงเกือบ 600,000 ล้านบาท หากต้องจ่ายให้แก่ BEM จากจำนวนที่จะจ่ายกัน (600,000-140,000) กทพ.จะมีรายได้เองถึง 460,000 ล้านบาท และหาก กทพ.ก็คือรัฐดำเนินการ รัฐก็สามารถจัดการ ดำเนินการได้เอง จะได้ไม่มี “ค่าโง่”เกิดขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า เช่นเดียวกับที่ กรมทางหลวงดำเนินการเองโดยตรงในทางด่วนระหว่างเมืองกรุงเทพ – ชลบุรี(มอเตอร์เวย์) และ วงแหวนตะวันออก(บางปะอิน – บางนา) เงินทุกบาทก็เข้ารัฐโดยตรงไม่ต้องแบ่งให้เอกชน

      ในช่วงเวลาที่ผ่านมาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษฯ(สร.กทพ.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)และสถาบันธรรมาภิบาลไทย เรียกร้องให้ กทพ.และรัฐบาลต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดเพื่อพิสูจน์ความจริง แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้นเมื่อ สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากมีมติตามกรรมาธิการซึ่งมีมติก่อนหน้านี้ คือต่อสัญญาให้แก่บริษัท BEM ด้วยคะแนนเสียง 412 ไม่เห็นด้วยเพียง 25 เสียง งดออกเสียง 20 เสียง....ประชาชนจะหวังอะไรได้อีกกับสภาแห่งนี้ “ปล้นประชาชน” “ตบหน้ากระบวนการยุติธรรมไทย” ฝักใฝ่ผลประโยชน์กลุ่มทุน

     เราไม่อาจ กล่าวหาหรือตำหนิเอกชน คือ บริษัท BEM เพราะเป็นปกติเขาต้องต่อสู้จนถึงที่สุดเพื่อประโยชน์ของเขาและผู้ถือหุ้น แต่สิ่งที่ประชาชนผิดหวังคือการทำหน้าที่ของผู้ที่ชื่อว่าเป็น “ผู้แทนราษฎร”กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน แต่กลับไม่รักษาผลประโยชน์ของประชาชน

      หากนำเอาการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในสมัย คสช. นำความเห็นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่ง กทพ.จ้างให้ศึกษาเรื่องนี้ รวมทั้งความเห็นของอัยการสูงสุด ที่ได้มีความเห็นก่อนหน้านี้ว่า “หากการทางพิเศษดำเนินการเองเมื่อหมดสัญญาจะมีประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประชาชนมากกว่า”

       เอาเป็นว่า...ฝ่ายประชาชนที่ปกบ้าน ป้องเมือง เสมอมา อย่าเพิ่งหมดหวัง มติของสภาไม่ผูกพันหน่วยงานใด พวกเราต้องร่วมกันหาช่องทางในการดำเนินการแสวงหาความยุติธรรมและร่วมปกป้องผลประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติต่อไป

       ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ที่แสดงบทบาทแทบเอาเป็น เอาให้ตายกันนั้น แท้จริงเป็นเพียงละครฉากหนึ่งแต่ความเป็นจริงยิ่งกว่าซึ่งก็คือธาตุแท้ว่า...พวกเขาเหล่านี้คือ พวกเดียวกัน....

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ