ข่าว

สภาฯ โหวตเสียงเบียด ปมเพิ่มปธ.สภา ต้องเป็นกลาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สภาฯ โหวตเสียงเบียด 1 เสียง ปมเพิ่มปธ.สภา ต้องเป็นกลาง "ปารีณา" จี้ให้ตรวจสอบ "ชวน" สั่งเลื่อนประชุมร่างข้อบังคับทันที

 

          วันที่ 8 ส.ค. 62 - ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานที่ประชุม ได้พิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาเสร็จแล้ว คือ ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกมธ. ที่มีนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ.ฯ ได้นำเสนอรายงานของร่างข้อบังคับฯ ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 192 ข้อ และมีผู้เสนอคำแปรญัตติทั้งสิ้น 23 คน

 

          สำหรับร่างข้อบังคับการประชุมที่ กมธ.ฯ เสนอมีรายละเอียดที่เพิ่มเติมขึ้นใหม่จากข้อบังคับการประชุมสภาฯ ที่ผ่านมา และมีผู้ที่อภิปรายจำนวนมาก อาทิ กลุ่มว่าด้วยประธานสภาฯ หน้าที่และอำนาจ ในข้อ6 ว่าด้วยการเลือกประธานสภาฯ ที่กำหนดให้ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นประธานสภาฯ ต้องแสดงวิสัยทัศน์ โดยไม่มีการอภิปราย ทั้งนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขอแก้ไขถ้อยคำให้ส.ส.แสดงความเห็นหรือซักถาม และให้อภิปรายได้ เพื่อขณะที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ตัดส่วนที่ว่าด้วยการแสดงวิสัยทัศน์ ออก อาทิ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม , นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ถ้อยคำดังกล่าวเชื่อว่าจะไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เนื่องจากเชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่ยอมลงมติให้บุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นประธานสภาฯ ซึ่งมาจากต่างพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อีกทั้งข้อบังคับที่ผ่านมาไม่เคยระบุไว้ ยกเว้นวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

 

          ทั้งนี้ กมธ.ฯ ชี้แจงว่า เหตุที่ต้องบัญญัติขึ้นใหม่เพื่อให้ผู้ถุกเสนอชื่อให้เป็นประธานสภาฯ ได้ทำความรู้จักกับส.ส. และเพื่อให้เกิดความสง่างาม อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โดยเสียงข้างมากของที่ประชุม 240 เสียงเห็นด้วยกับ กมธ.ฯ ที่ให้ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นประธานสภาฯ ต้องแสดงวิสัยทัศน์ โดยไม่มีการอภิปราย

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ข้อ 9 หน้าที่และอำนาจของประธานสภาฯ ซึ่งกมธ.ฯ เพิ่มถ้อยให้ให้ ประธานสภาฯ ต้องวางตนเป็นกลางปฏิบัติหน้าที่ โดยส.ส.หลายคนลุกแสดงความเห็น ซึ่งยกตัวอย่างกรณีที่นายชวน ฐานประธานที่ประชุม เมื่อครั้งประชุมสภาฯ ครั้งแรกที่ห้องประชุมรัฐสภาชั่วคราว หอประชุมใหญ่ทีโอที จำกัด (มหาชน) และมีปัญหาเรื่องการออกเสียงลงคะแนนผ่านบัตรลงคะแนน โดยนายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าตนขอเพิ่มข้อความ ให้ ประธานสภา ต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ โดยยึดถือข้อบังคับอย่างเคร่งครัด พร้อมยกตัวอย่างกรณีแจกบัตรออกเสียงสีแดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยมากกว่าบัตรสีเขียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าเห็นด้วย ในการประชุมสภาฯ จนทำให้มีปัญหาเรื่องคะแนนผิดพลาด ซึ่งตนได้ทักท้วงแต่นายชวนไม่รับฟัง จึงขอเติมถ้อยคำดังกล่าว

 

          ทั้งนี้นายชวน ชี้แจงโดยยอมรับว่าการลงคะแนนตามที่ทักท้วงนั้นมีการนับคะแนนผิดพลาดจริงเพียง 2-3 คะแนน แต่ไม่ใช่จากการแจกบัตรลงคะแนนสีใดมากกว่ากัน เพราะการกระทำดังกล่าวถือเป็นอาชญากรรม และมีความผิดตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามตนยืนยันว่าการทำหน้าที่ของตนนั้นเป็นไปตามกฎหมาย และเป็นไปเพื่อรักษาสมบัติของสภาให้มากที่สุด อย่างกรณีที่มีการประชุมรัฐสภาอาเซียน มีผู้เสนอให้เช่ารถในส่วนของรัฐสภาไทย วันละ 1.8 หมื่นบาท ซึ่งตนบอกว่าขอสละสิทธิ์ดังกล่าว เพื่อรักษาสมบัติไว้ ทั้งนี้ตนเข้าใจข้อกังวลของสมาชิกนั้น อาจเกิดจากในอดีตมีเหตุการณ์ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นคนของผู้อภิปรายเคยมีพฤติกรรมที่ทำให้สมาชิกกังวล แต่ตนยืนยันว่าไม่เป็นแบบนั้น

 

          อย่างไรก็ตามยังมีส.ส.อภิปรายโดยติดใจในการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภาฯ ที่พาดพิงนายชวนต่อเนื่อง ถึงความอาวุโสและการปฏิบัติหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้ประธานสภาฯ ได้ชี้แจงโดยย้ำว่า รัฐธรรมนูญตนไม่ได้รับ และไม่เห็นด้วย แต่ตนเป็นคนที่เคารพกฎหมาย และคิดว่าจะแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างไร รวมถึงคิดเสมอว่าต้องทำให้การเมืองดีขึ้น

 

          "ผมไม่ใช่คนดีแต่ปาก ที่ผ่านมาได้รับเลือกตั้งมาโดยสุจริตไม่ซื้อเสียง หรือโกงเลือกตั้ง ซึ่งคนที่มีเบื้องหลังเข้ามาในสภาที่สุจริต ไม่ว่าอายุน้อยหรืออายุมาก ถือเป็นคนที่น่านับถือ ที่มีสมาชิกอภิปรายพาดพิงถึงศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่ยุติธรรมนั้น ผมมองว่าหากไม่มีศาลรัฐธรรมนูญบ้านเมืองจะเละเทะ มีแต่คนโกงบ้าน โกงเมือง ทั้งนี้ผมเข้าใจว่าหากคนโกงบ้านโกงเมืองมองว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่น่าเชื่อถือ จะไม่น่าเชื่อถือ แต่หากอยู่ในวงคนสุจริตจะมองว่าตัดสินถูกต้อง ดังนั้นต้องยึดหลักที่ถูกต้อง โดยไม่บิดเบือนความจริง ที่ผ่านมามักมีทหารที่ไม่ดี มีพระในวัดที่ไม่ดี มีผู้แทนที่ไม่ดี แต่อย่าเหมารวม ทั้งนี้อย่าประเมินว่าคนที่มาแบบนี้ไม่น่าเชื่อถือ" นายชวน ชี้แจง

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าข้อบังคับดังกล่าว มีส.ส. อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ทั้งที่สนับสนุนให้บัญญัติ เพื่อให้ประธานสภาฯต้องปฏิบัติและยึดถือโดยเคร่งครัด ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 115 เขียนเป็นมาตรฐานการทำหน้าที่ ขณะที่กมธ.ฯ นั้นพบการชี้แจงที่แตกต่างกันเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งที่เห็นว่าไม่ควรเขียนถ้อยคำว่า "ต้องเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่"​ และไม่ควรเขียนเพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติเป็นมาตรฐานการทำงาน  


          ทั้งนี้ที่ประชุมซึ่งเปิดให้อภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยช่วงท้ายมีความวุ่นวาย หลังน.ส.รังสิมา อภิปรายถึงเหตุการณ์ในอดีตที่พบการพกอาวุธเข้ามายังภายในห้องประชุม และพบสมาชิกเสียบบัตรแทนกันจนทำให้สภาฯ เกิดความเสียหาย

 

          โดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ชี้แจงฐานะเป็นบุคคลที่ถูกระบุว่าเป็นส.ส.เสียบบัตรแทนกัน ว่า หลักฐานที่น.ส.รังสิมา นำไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถือเป็นคลิปตัดต่อ ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าตนไม่มีความผิดและยังได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. 

 

          ทั้งนี้นายชวนได้ตัดบทการโต้ตอบระหว่างน.ส.รังสิมา และ นายยุทธพงศ์ เพื่อให้ลงมติในข้อบังคับดังกล่าว 

 

          โดยการลงเสียงข้างมาก 205 เสียง ต่อ 204 เสียง เห็นด้วยกับที่กมธ.แก้ไขข้อบังคับ งดออกเสียง 2 เสียง จากนั้นได้ลงมติว่า จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขที่ว่า ให้ประธานทำหน้าที่เป็นกลาง ผลลงมติเสียงข้างมาก 409 เสียงต่อ 2 เสียง


          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างการออกเสียงรอบสอง พบการทักท้วงของ ส.ส. หลายคนต่อการออกเสียงลงคะแนนที่รายงานผลผิดพลาด เช่น ลงมติเห็นด้วย แต่การแสดงผลปรากฎว่าเป็นงดออกเสียง จึงเรียกร้องให้ตรวจสอบ รวมถึงเสียงโหวตข้อ 9 ร่างข้อบังคับประชุมฯ ที่พรรคฝั่งรัฐบาลแพ้ 1 เสียง ซึ่ง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ เสนอ


          อย่างไรก็ตามหลังเสร็จสิ้นการลงมติ นายชวนขอเลื่อนการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุม และขอให้พิจารณาต่อในการประชุมสภาฯ สัปดาห์ต่อไปจากนั้นได้ปิดประชุม.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ