ข่าว

"สุรชัย"มั่นใจสนช.ไม่มีล้มกระดานสรรหากกต.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สุรชัย" มั่นใจสนช.ไม่ล้มกระดานกกต. ระบุเลือกผ่านแค่ 5 คนก็ทำหน้าที่ได้ ยันไม่มีใบสั่ง ด้าน ​​​​​​​"นิพิฏฐ์" ชี้ต้องมาจากสรรหาเท่านั้น "สุเทพ" ขยับเดินสาย

     การสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณารายชื่อว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ 12 กรกฎาคม ถูกจับตาอีกครั้งหลังมีข่าวว่าอาจได้กกต.ไม่ครบ 7 คน เนื่องจากมีบางคนคุณสมบัติอาจไม่เหมาะสม และมีการเสนอให้ใช้วิธีการทาบทามตัวบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนนั้น

     วันที่ 11 กรกฎาคม นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวว่า การประชุม สนช. ในวันที่ 12 กรกฎาคม จะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่ผ่านการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 7 คน ทั้งนี้ตามขั้นตอนจะเป็นการประชุมลับเพื่อพิจารณารายงานการตรวจสอบประวัติเชิงลึกของคณะกรรมาธิการ ส่วนที่มีข่าวออกมาว่า อาจจะมีผู้ผ่านการสรรหาหนึ่งคนมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติจนอาจไม่ได้รับการเห็นชอบจากสนช.นั้น ส่วนตัวไม่ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว เพราะคณะกรรมาธิการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวยังไม่มีการแถลงต่อที่ประชุมสนช. อย่างไรก็ตามทั้งหมดเป็นดุลพินิจของสมาชิกสนช. ในการตัดสินใจว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่อย่างไร

     “ไม่น่าจะมีประเด็นถึงขนาดนั้น ส่วนตัวเชื่อว่าบุคคลที่มาสมัครในครั้งนี้เบื้องต้นน่าจะสำรวจตัวเองมาแล้ว เพราะถ้าคนที่มาสมัครไม่มั่นใจ ก็อาจจะถูกสนช.ปฏิเสธได้อีก” นายสุรชัยกล่าวตอบข้อถามที่ว่า การเลือกกกต.ครั้งนี้ จะมีการล้มกระดานกันอีกหรือไม่

     “สนช.เข้มงวดในรายละเอียด และการดูประวัติเชิงลึก และความประพฤติทางจริยธรรม ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยกันคัดกรองเพื่อให้ตัวบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนมาทำหน้าที่ เพราะกกต.จะมีหน้าที่การเข้ามาดูแลการเลือกตั้ง” นายสุรชัย กล่าว

"สุรชัย"มั่นใจสนช.ไม่มีล้มกระดานสรรหากกต.

     รองประธานสนช. กล่าวว่า ยืนยันว่า สนช. ไม่มีใบสั่ง เป็นแต่เพียงข่าวที่ออกไปเท่านั้น เพราะคิดว่าสมาชิกสนช.มีดุลพินิจที่จะสามารถตัดสินใจได้เองบนพื้นฐานของความเหมาะสม ขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่าสนช.จะทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระเพื่อคัดกรองบุคคลที่ดีมาทำหน้าที่ในกกต.อย่างไรก็ตามหากการลงมติเห็นชอบผู้ผ่านการสรรหาไม่ครบ 7 คน บุคคลที่ผ่านความเห็นชอบจากสนช. จำนวน 5 คนก็สามารถเป็นองค์ประชุมเพื่อทำหน้าที่ต่อไปได้

สนช.ประชุมลับ-ปัดใบสั่งกกต.

     นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) กล่าวถึงการลงมติให้ความเห็นชอบกกต.หลังจากคณะกรรมการตรวจสอบประวัติและความประพฤติได้ตรวจสอบประวัติว่าที่ กกต.ทั้ง 7 คน  ว่าคณะกรรมการตรวจสอบประวัติจะแถลงชี้แจงว่าตรวจสอบประวัติไปยังหน่วยงานต่างๆ 22 หน่วย ตั้งแต่ศาลยุติธรรม, ศาลปกครอง, ป.ป.ช., ปปง., ปปท., สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, สันติบาล และหน่วยงานต้นสังกัดเดิม แต่รายละเอียดเป็นอย่างไร เมื่อหน่วยงานเหล่านั้นรายงานกลับมาได้เชิญผู้ที่ได้รับสรรหาในเบื้องต้นทั้ง 7 คนมาซักถาม และชี้แจงถึงข้อกล่าวหาต่างๆ โดยเฉพาะบางคนที่ถูกกล่าวหาว่ามีคดี

     “ในรายละเอียดจะขอประชุมลับซึ่งมีเอกสารข้อมูลจำนวนมากผมยืนยันว่าไม่มีใบสั่ง หรือมีใครขอให้เลือกใคร ที่ประชุมจะลงมติตามเนื้อผ้าด้วยความเป็นธรรม คาดว่าจะใช้เวลาการประชุมกว่า 3 ชั่วโมง ลงมติ และนับคะแนน แต่โดยผู้ที่จะได้เป็นกกต.จะต้องมีเสียงให้ความเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ 246 คน จึงต้องได้เสียงไม่น้อยกว่า 123 คะแนน” นายสมชาย กล่าว

     ส่วนที่มีข้อเสนอว่าให้ใช้วิธีทาบทามเป็นสัญญาณว่าจะเลือกได้ไม่ครบหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ไม่ถือเป็นสัญญาณ เพราะไม่ทราบว่าจะโหวตผ่านครบหรือไม่ แต่หากได้ไม่ครบก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาที่จะต้องประชุมเพื่อรับสมัครหรือทาบทามส่วนที่ขาด แต่หากมีผู้ได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งเกิน 5 คน ว่าที่กกต.จะต้องนัดประชุมภายใน 15 วัน เพื่อเลือกประธาน แล้วจึงจะนำรายชื่อประธาน และว่าที่ กกต.ขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

วิษณุชี้กกต.ไม่ครบ7คนก็ทำงานได้

"สุรชัย"มั่นใจสนช.ไม่มีล้มกระดานสรรหากกต.

     สำหรับว่าที่กกต.ทั้ง 7 คน มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา 5 คน คือ นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ นักวิชาการสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา และกรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ นายพีรศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด นายธวัชชัย เทิดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

      มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คน ซึ่งเป็น 2 คนเดิมที่เคยเสนอชื่อ คือ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และนายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา

     ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่อาจได้กกต.ไม่ครบ 7 คน ว่ายังไม่ทราบเรื่อง เห็นเพียงข่าวในหนังสือพิมพ์ แม้หากผลออกมาได้กรรมการกกต.ชุดใหม่ไม่ครบ 7 คน หรือมีเท่าไหร่ก็ยังทำงานได้ เพราะกรณีที่จะทำงานไม่ได้คือไม่มีกรรมการครบ 7 คน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจะต้องกลับมาให้กกต.ชุดเดิมที่มี 4 คน ทำงานต่อได้

     นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการนัดหารือกับพรรคการเมืองต่างๆ รอบใหม่ ว่า เอาไว้รอในรอบการหารือที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าร่วมด้วย ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะมีขึ้นเมื่อไหร่ แต่จะต้องเป็นช่วงหลังจากการประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ออกมาแล้ว

ปชป.ยัน“กกต”ต้องสรรหาเท่านั้น

     ส่วนนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องรอดูการพิจารณาและผลการลงคะแนนของที่ประชุมสนช.ก่อนว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าเลือกบุคคลได้ไม่ครบแล้วใช้วิธีการทาบทามก็จะมีข้อครหา หรือสังคมสามารถมองได้ว่าผู้มีอำนาจต้องการส่ง หรือมีคนของตัวเองที่ต้องการให้ไปเป็นกกต.อยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้กกต.ที่ได้มาจากการทาบทามอาจไม่ได้รับความเชื่อถือในความเป็นกลาง ที่สุดกระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของกกต. ส่งผลให้การจัดการเลือกตั้งในอนาคตไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนและสังคมว่าจะทำให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรมจริงหรือไม่ 

      “ถ้าผู้มีอำนาจใช้วิธีการทาบทามจริง ก็ทำให้มองได้ว่าผู้เล่นข้างหนึ่งเป็นคนเลือกกรรมการเข้ามาคุมเกมการแข่งขัน ถ้ากรรมการไม่เป็นกลางคนดูและผู้ร่วมเกมแข่งขันอื่น ก็ไม่ยอมรับผลการแข่งขัน เกรงว่าที่สุดจะกลายเป็นการสร้างปมความขัดแย้งรอบใหม่ในสังคมขึ้นมาอีก” นายนิพิฏฐ์กล่าว

     รองหัวหน้าพรรคปชป. กล่าวอีกว่า ถ้าเราดูตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบุชัดในมาตรา 222 ใช้การสรรหาบุคคลมาเป็นกกต. คือ 5 คนมาจากการสรรหา และอีก 2 คนมาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของผู้พิพากษาศาลฎีกา รวมเป็น 7 คน ซึ่งกฎหมายไม่ได้ระบุหรือใช้คำว่าให้มีการใช้การทาบทามที่เขาพูดเปิดช่องไว้ ซึ่งเขาอาจระบุหรือเชื้อเชิญคนที่เขาถูกใจให้มาลงสมัครเป็นกกต.ก็ได้ แต่ที่ผ่านมาในการสรรหาบุคคลที่เป็นกลางเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม ไม่เคยใช้ระบบเช่นนี้ 

     "ผมจึงอยากให้สนช.พิจารณารอบคอบและเป็นไปตามขั้นตอนการสรรหากกต. เพื่อมาทำหน้าที่นี้โดยสุจริตและเที่ยงธรรม แต่อย่าแปลกใจถ้าผลไม่เป็นเช่นนั้นเพราะทุกอย่างเกิดขึ้นได้ในยุคนี้ ขอให้สังคมจับตามอง ต้องตามให้ทัน” นายนิพิฏฐ์ กล่าว

บิ๊กตู่เมินการเมืองวุ่น-ใครผิดจับ

"สุรชัย"มั่นใจสนช.ไม่มีล้มกระดานสรรหากกต.

     ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การเมืองหลังการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ทีมหมูป่าอะคาเดมี่ ที่ติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนสำเร็จ โดยมีการคาดการณ์กันว่าจะกลับมาวุ่นวายอีกครั้ง ว่าไม่สนใจทั้งสิ้น การเมืองก็คือการเมือง บอกแล้วการเมืองก็ทำไป ถึงเวลาเมื่อไหร่ที่เขาปลดล็อกให้ก็ทำไป แต่ถ้ายังปลดล็อกไม่หมดแล้วไปทำความผิดก็ต้องดำเนินคดี ก็จบแค่นั้น จะไปยากอะไร

     เมื่อถามว่าคิดว่านักการเมืองควรจะถอดบทเรียนจากความสามัคคีกรณีช่วย 13 ชีวิตติดถ้ำหลวงอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ไปแตะต้องเขาหรอก อย่าเอาตนไปแตะต้องกับเขา เพราะตนยังไม่ได้ไปสู่การเมือง เมื่อถามว่า นายกฯ รับประทานยาอะไรมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ยาคลายความโมโห”

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะที่พล.อ.ประยุทธ์กำลังเดินมายืนให้สัมภาษณ์ ได้ยกนิ้วชี้ขวาทาบไปที่ริมฝีปากเหมือนแสดงสัญลักษณ์ว่าจะไม่พูด แต่ในที่สุดก็มาหยุดยืนหน้าไมโครโฟนให้สัมภาษณ์ตามปกติ ด้วยสีหน้าที่อิดโรย

     ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงความคืบหน้าการเคลื่อนไหวในการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกระบุว่าเป็นพรรคที่จะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งว่า ไม่ทราบๆ ไม่รู้การเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้ยุ่ง จะไปรู้ได้ไง จากนั้นได้รีบเดินไปประชุมทันที

พท.ตีกันบื๊กตู่เยือนถิ่นเสื้อแดง

     นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรนอกสถานที่ที่ จ.อุบลราชธานี ว่ากลุ่มของตนไม่ลงไปต้อนรับพล.อ.ประยุทธ์แน่นอน เพราะคงมีข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องหลายพันคนต้อนรับอยู่แล้ว อีกทั้งพล.อ.ประยุทธ์ก็คงไม่อยากให้เรามาเกี่ยวข้อง ส่วนนัยทางการเมืองนั้น ที่ผ่านมาเห็นว่าเวลาลงครม.สัญจรจะมีนักการเมืองมาต้อนรับเหมือนเปิดตัวนักการเมืองที่สนับสนุนกลุ่มท่านหรือไม่ เหมือนพล.อ.ประยุทธ์กำลังหาเสียงให้กลุ่มที่สนับสนุนตัวเองล่วงหน้า ซึ่งไม่อยากให้พล.อ.ประยุทธ์ทำเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง 

     “คาดว่าคงจะมีการพูดคุยกับนักการเมืองที่คาดว่า6จะสนับสนุนพวกท่าน ทั้งนี้หากมีอดีตส.ส.อุบลราชธานี คนใดต้อนรับก็คงชัดเจนว่าจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ แต่ขณะนี้ยังไม่มีอดีตส.ส.อุบลราชธานีคนใดประกาศตัวชัดเจนว่าจะไปอยู่กับพลังประชารัฐ” นายสมคิดกล่าว

     ด้านนางสมหญิง บัวบุตร อดีตส.ส.อำนาจเจริญ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าไม่มาต้อนรับพล.อ.ประยุทธ์แน่นอนเช่นเดียวกับคนของพรรคเพื่อไทย ซึ่งชาวบ้านก็ไม่ได้ชื่นชอบอะไร พล.อ.ประยุทธ์ มากนัก ส่วนมากเท่าที่ทราบจะเกณฑ์กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้มาต้อนรับ และเชื่อว่าการลงพื้นที่ของนายกฯ ครั้งนี้จะมีนัยทางการเมืองแน่นอน

สุเทพเผยหลังปลดล็อกลุย77จังหวัด

"สุรชัย"มั่นใจสนช.ไม่มีล้มกระดานสรรหากกต.

     นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และในฐานะประธานคณะทำงานด้านรณรงค์เชิญชวนประชาชน ให้มาร่วมเป็นเจ้าของพรรค ได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Suthep Thaugsuban” ว่าหลังจากที่เชิญชวนพี่น้องมาร่วมกันจัดตั้งพรรคแล้ว ก็ได้นำรายชื่อไปยื่นจดแจ้งจองชื่อกับทาง กกต. เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา หลังจากนั้นเราได้จัดประชุมผู้มีเจตจำนงร่วมกันจัดตั้งพรรคและผู้สนับสนุนที่มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา

     นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ตนในฐานะที่เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ไปรวบรวมบรรดาประชาชนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ก็ตั้งใจว่าจะเดินทางไปเยี่ยมประชาชนทั้วทั้ง 77 จังหวัด แบบค่ำไหนนอนนั่น จัดวงสนทนาปราศรัยทางการเมืองอธิบายถึงความจำเป็นที่ต้องสร้างพรรคการเมืองของประชาชนขึ้นมา  คิดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 80-90 วันและคงจะได้สมาชิกมาร่วมกันจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยขึ้นมา แต่ขณะนี้คำสั่งคสช.ซึ่งยังไม่อนุญาตให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนขั้นตอนวิธีการทำงานใหม่ โดยใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียโดยสื่อสารผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวในการทำความเข้าใจแทน  และเมื่อใดที่คสช.อนุญาตให้จัดการชุมนุมทางการเมือง หรือประชุมทางการเมืองได้ เวลานั้นก็จะออกเดินทางไปเยี่ยมพี่น้องประชาชนตามจังหวัดต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง

     “ตอนนี้ได้รวบรวมผู้ที่มีอุดมการณ์และแนวคิดเดียวกันได้ 400 กว่าคนแล้ว ที่จะเป็นผู้ริเริ่มในการจัดตั้งพรรค โดยตกลงกันว่าเราจะเสียสละเงินคนละ 5 หมื่นบาท เพื่อเป็นทุนประเดิม และคิดว่าภายในเดือนนี้เราจะรวบรวมได้เกินกว่า 500 คน ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนด หลังจากนั้นประมาณต้นเดือนสิงหาคม คงมีการประชุมผู้ร่วมจัดตั้งพรรคเพื่อที่จะเลือกคณะผู้บริหารพรรคจากนั้นก็จะไปจดทะเบียนให้ถูกต้องครบถ้วน” นายสุเทพกล่าว 

อัยการสั่งไม่ฟ้องคนอยากเลือกตั้ง

"สุรชัย"มั่นใจสนช.ไม่มีล้มกระดานสรรหากกต.

     ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดรายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งจากศาล ว่าอัยการยื่นฟ้องสำนวนมาหรือไม่ คดีดำ พ.1104/2561 ที่พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาดำเนินคดี นายรังสิมันต์ โรม นายปิยรัฐ จงเทพ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว นายเอกชัย หงส์กังวาน พร้อมพวกรวม 15 คน แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งชุด UN62 ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดียุยงปลุกปั่นฯ, ข้อหามั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ที่เดินทางมารายงานตัวต่อศาลหลังครบกำหนดฝากขัง 48 วัน 

     โดยคดีนี้พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงคราม ยื่นคำร้องฝากขังผู้ต้องหาซึ่งชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งและต่อต้านคสช.เนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปี คสช. เมื่อวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2561 โดยผู้ต้องหา ได้รับการประกันตัวจากศาลคนละ 5 หมื่นบาท และต้องมารายงานตัวตามนัด ซึ่งครบกำหนดฝากขัง 48 วันวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่แจ้งให้กลุ่มผู้ต้องหาคนอยากเลือกตั้งทราบว่า พนักงานอัยการคดีอาญาไม่ได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดภายในเวลา 48 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด หรือปล่อยขาด ดังนั้นจึงต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปก่อน

    ด้านนายรังสิมันต์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันครบฝากขัง 48 วัน ที่เราถูกควบคุมตัวและศาลอนุญาตฝากขัง แต่เราได้ยื่นประกันตัว และศาลมีเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวขัดต่อกฎหมาย หรือสร้างความไม่สงบเรียบร้อยต่อบ้านเมือง ซึ่งอัยการจะต้องยื่นฟ้องคดีเข้ามา แต่ปรากฏว่าอัยการยังไม่ได้ฟ้อง เงื่อนไขของการประกันตัวสิ้นสุดลง นายประกันจึงขอเงินประกันคืน เรายังไม่ถูกฟ้อง แต่อัยการสามารถฟ้องได้ภายในอายุความ คดีนี้น่าจะอยู่ที่ 10-15 ปี

“วิษณุ”เมินกลุ่มพุทธฯฟ้องผิดม.157 

     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาตนเอง และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส่อผิดมาตรา 157 กรณีแก้พร.บ.สงฆ์ ว่าไม่เป็นไร แต่ยังไม่รู้เลยว่าเขาฟ้องว่าอะไร

     ผู้สื่อข่าวถามว่าควรจะมีการชี้แจงเรื่องนี้ให้มากขึ้นหรือไม่เพื่อให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น นายวิษณุ กล่าวว่า คิดว่าสังคมน่าจะเข้าใจแล้ว การที่เราจะไปชี้แจงก็จะดูกว้างเกินไป แต่หากใครที่ยังไม่เข้าใจจะมาขอพบและฟังชี้แจงโดยเฉพาะตนก็ยินดี หรือจะให้ไปชี้แจงก็ยินดี แต่จะให้ลุกขึ้นมาประกาศป่าวร้องกัน ทั้งที่บางคนเขาไม่ได้สงสัยอะไร ก็คงไม่ใช่

      อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มีการทำความเข้าใจกันมาเป็นลำดับในบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยนำขึ้นเว็บไซต์ไปประมาณ 7 วัน ซึ่งถือว่าน้อย แต่ก็ได้รับฟีดแบ็กกลับมามากกว่าพ.ร.บ.เกือบทุกฉบับที่เคยทำมาในประเทศไทย ซึ่งได้ตอบกลับมา 500 กว่าราย เป็นพระ 70 นอกนั้นเป็นฆราวาส และยังมีผู้ใหญ่ที่เชิญมาเพื่อขอความเห็นอีกหลากหลาย ก่อนที่จะยกร่างซึ่งก็ถือว่าครอบคลุมครบถ้วน

ครม.ไฟเขียวบินไทยซื้อฝูงบินใหม่

"สุรชัย"มั่นใจสนช.ไม่มีล้มกระดานสรรหากกต.

     ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมเห็นชอบแผนจัดซื้อเครื่องบินใหม่ของการบินไทยเพื่อทดแทนเครื่องบินเดิมที่จะปลดระวางจำนวน 23 ลำ มูลค่าการลงทุนราว 1 แสนล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มเติมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ในเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาคาดว่าจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายนนี้

     สำหรับฝูงบินใหม่ในจำนวนนี้เป็นการซื้อเครื่องบิน 19 ลำ สำหรับการบินไทย กรอบวงเงิน 1 แสนล้านบาท เป็นค่าเครื่องบินรวมเครื่องยนต์และอุปกรณ์ภายใน โดยเป็นเครื่องบินพิสัยไกล 17 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบ 2 ลำ ส่วนอีก 9 ลำเป็นเครื่องบินลำตัวแคบ ที่เป็นการเช่าดำเนินการสำหรับสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งจะเป็นเครื่องบินนิวเจเนอเรชั่นมีเทคโนโลยีทันสมัย เช่น เครื่องบินพิสัยไกล อาทิ แอร์บัส 350-1000 และโบอิ้ง 787-10

     อย่างไรก็ตามจากการจัดหาฝูงบินที่เกิดขึ้นทำให้การบินไทยเตรียมการเสนอขายตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้ และหรือหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน (ตราสารหนี้) จำนวน 8 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี (2561-2565) สำหรับนำไปใช้คืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดและหรือใช้คืนหุ้นเงินกู้วงเงิน 4 หมื่นล้าน โดยจะใช้คืนในปี 2561 วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ปี 2562 วงเงิน 9 พันล้านบาท ปี 2563 วงเงิน 6 พันล้านบาท ปี 2564 วงเงิน 6 พันล้านบาท และปี 2565 วงเงิน 9 พันล้านบาท และแผนจัดหาฝูงบินใหม่ที่ต้องเตรียมการรองรับการจ่ายค่ามัดจำในลอตแรก

ตั้งอนุกก.ป้องจนท.รัฐอุ้มหาย-ซ้อม

     วันเดียวกัน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้สูญหาย ครั้งที่ 2/2561 ทั้งนี้ภายหลังการประชุม น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า บัญชีรายชื่อขององค์การสหประชาติหรือยูเอ็นระบุว่าประเทศไทยมีผู้สูญหายจากเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 จนถึงปัจจุบันจำนวน 82 ราย

     ในขณะที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายหรือย่ำยีศักดิ์ศรีปี 2550 และได้ลงนามรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญในปี 2554 ต่อมารัฐบาลได้เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าวจึงยกร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายพ.ศ...ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สาระสำคัญเน้นไปที่การถูกเจ้าหน้าที่รัฐบังคับให้สูญหายหรือซ้อมทรมานเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือมีความผิดจากการทำร้ายร่างกาย เช่นการบังคับให้สูญหายเหมือนกับนายสมชาย นีละไพจิตร หรือนายพอละจี รักจงเจริญ (กะเหรี่ยงบิลลี่) หากร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะช่วยปกป้องและคุ้มครองประชาชนตามหลักของกระบวนการยุติธรรม

      น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์บุคคลสูญหายจากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการพบว่าผู้สูญหายทั้ง 82 รายมี 4 ประเด็น คือ ยังมีชีวิตอยู่ เสียชีวิตแล้ว ชื่อซ้ำ และไม่พบชะตากรรม ส่วนรายชื่อผู้สูญหายในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ซึ่งเอ็นจีโอส่งรายชื่อให้ยูเอ็นระบุเป็นบุคคลสูญหาย ต่อมาทางการของไทยสามารถติดตามตัวพบ ดังนี้ รายที่ 1 เพศหญิง ชาวกทม. ที่สูญหายไปจากบ้าน 10 ปี ต่อมาได้กลับบ้านและเสียชีวิตลงในปี 2546 รายที่ 2 เพศชาย มีภูมิลำเนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เสียชีวิตลงในปี 2547 รายที่ 3 เพศชาย ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่และใช้ชีวิตปกติ รายที่ 4 เพศชาย ปัจจุบันถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ ดังนั้นจำนวนผู้สูญหายจริงจึงมีเพียง 78 คน โดยศาลมีคำสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ 38 ราย เสียชีวิต 2 ราย มีชีวิตอยู่ 2 ราย ไม่ปรากฏคำสั่งศาล 38 ราย ปรากฏชื่อในรายงานของคณะทำงานสหประชาติว่าด้วยการบังคับคนหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจปี 2558 จำนวน 2 ราย

     อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ กล่าวด้วยว่า ในจำนวนผู้สูญหาย 82 รายได้รับการเยียวยาไปแล้ว 61 ราย ไม่ขอรับการเยียวยา 21 ราย ญาติไม่ประสงค์รับความช่วยเหลือ 2 ราย ญาติขอรับการช่วยเหลือแต่ไม่รับเยียวยา 2 ราย ไม่แจ้งความ 6 ราย ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือ 10 ราย และอีก 9 รายอยู่ระหว่างการติดตามตัว ขณะที่ 2 รายล่าสุดพบติดคุกอยู่ 1 ราย และยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน 1 ราย อย่างไรก็ตาม ตามหลักของยูเอ็นการจะประกาศให้เป็นบุคคลสูญหายนั้นญาติต้องยอมรับด้วย ทั้งนี้รัฐบาลมีคำสั่งให้กระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 คณะ ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการติดตามและตรวจสอบกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ มีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นประธานคณะอนุกรรมการเยียวยาฯ มีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการด้านการป้องกันฯ มีนายณรงค์ ใจหาญอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธาน ในเร็วๆ นี้ จะแต่งตั้งผู้แทนจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง

ฉบับ นสพ.คมชัดลึก

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ