ข่าว

ศาลให้ประกันตัว แกนนำ "คนอยากเลือกตั้ง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตร.ยื่นฝากขัง 15 คน 6 ข้อหา พร้อมค้านประกันชี้ ถูกดำเนินคดีซ้ำหลายรอบ ปล่อยตัวแล้วยังชุมนุมอีก ไม่กลัว ก.ม.-เข็ดหลาบ ที่สุดศาลให้ประกันตัว

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 12.30 น. พ.ต.อ.รัชพล ชนะศรีขจร คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน บก.น.1 ได้ควบคุมตัว "นายรังสิมันต์ โรม" อายุ 25 ปี , "นายสิรวิชญ์ หรือจ่านิว เสรีธิวัฒน์ อายุ 26 ปี" กลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษา พร้อมพวกซึ่งเป็นแกนนำและผู้ชุมนุม "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" ที่ถูกแยกควบคุมตัวไว้ที่ สน.พญาไท 10 คน และ สน.ดินแดง 5 คน รวม 15 คน ผู้ต้องหาที่ 1-15 คดียุยงปลุกปั่นจากการชุมนุมที่หน้า ม.ธรรมศาสตร์ และหน้าองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในวาระครบรอบ 4 ปี รัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. มายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. – 4 มิ.ย.นี้ เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น จะต้องสอบพยานอีก 10 ปาก และรอผลการตรวจลายนิ้วมือผู้ต้องหา
 

โดยท้ายคำร้อง พนักงานสอบสวน ได้ขอคัดค้านการให้ประกันตัวด้วย เนื่องจากก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ "ผู้ต้องหา" ถูกจับกุมและดำเนินคดีในหลายฐานความผิดที่มีอัตราโทษสูง ซึ่งผู้ต้องหากับพวกได้เคยร่วมกันชุมนุมทางการเมืองและก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองในสถานที่ต่างๆ และถูกจับกุมดำเนินคดีหลายครั้ง โดยเมื่อได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็พากันมารวมตัวชุมนุมทางการเมืองอีกซึ่งเป็นการไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองและไม่เข็ดหลาบ อีกทั้งหลังถูกจับกุมผู้ต้องหายังมีการแจ้งและประกาศให้ทราบว่าจะมีการรวมตัวกันชุมนุมทางการเมืองอีกในครั้งต่อไป และยังน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาซึ่งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งหากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปจะหลบหนีหรือไม่มาพบพนักงานสอบสวนอีก หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุในประการอื่น นอกจากนี้การกระทำของผู้ต้องหายังทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกด้วย

 

พนักงานสอบสวน ยังระบุอีกด้วยว่า หากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา ก็ขอศาลได้โปรดกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ , กำหนดอยู่ให้เป็นหลักแหล่ง , ไม่เข้าร่วมหรือยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนห้ามไม่ให้ไปชักชวน ยุยงปลุกปั่นทางการเมืองในสถาบันการศึกษาต่างๆ ด้วย
 


ทั้งนี้คำร้องฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 15 คน ดังกล่าว ได้ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค.61 ที่ผ่านมา ก่อนการชุมนุมวันที่ 21-22 พ.ค. นายรังสิมันต์ กับพวก ได้ชักชวนด้วยการปราศรัยและโพสต์เฟซบุ๊กนัดหมายให้กลุ่มมวลชนมารวมตัวกันทำกิจกรรม "22 พฤษภา เราจะหยุดระบอบ คสช." ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยวันที่ 21 พ.ค. เวลาประมาณ 14.00 น. ผู้ชุมนุมเริ่มรวมตัวกันบริเวณสนามฟุตบอล ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มี "นายวิเศษณ์ สังขวิศิษฎ์ " ผู้ต้องหาร่วม ขับรถกระบะเข้ามาในมหาวิทยาลัย กลุ่มมวลชนได้นำเครื่องขยายเสียงมาติดตั้งบนรถดังกล่าว

ต่อมา เวลา 16.00 น. มหาวิทยาลัย ได้ปิดล็อคประตู 3 ฝั่งสนามหลวง แล้ว "นายนิกร วิทยาพันธุ์" ผู้ต้องหาร่วมอีกคน ได้นำคีมมาตัดกุญแจที่ปิดล็อคประตู เพื่ออำนวยความสะดวกให้มวลชนผู้ชุมนุม แล้วเวลา 17.40 น. เป็นต้นไป "นายสิรวิชญ์หรือจ่านิว , นายรังสิมันต์ , น.ส.ณัฏฐา , นายประสิทธิ์ , นายวันเฉลิม และนางศรีไพร...." สลับกันปราศรัยโจมตีรัฐบาล และ คสช.ว่ามีการทุจริต ใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม เลื่อนการเลือกตั้ง พยายามยุยงปลุกปั่นให้เกิดการขับไล่รัฐบาล คสช.อย่างชัดเจน
 
กระทั่งวันที่ 22 พ.ค.61 เวลา 09.00 น. "นายรังสิมันต์" ปราศรัยเรียกผู้ชุมนุมเดินเท้าจาก ม.ธรรมศาสตร์ ไปทำเนียบรัฐบาล แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม โดย พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ผู้ดูแลการชุมนุมแจ้งว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และได้มีการร้องทุกข์ไว้แล้ว ให้เลิกการชุมนุม แต่ "นายรังสิมันต์" กับพวกไม่เลิก นำผู้ชุมนุมประมาณ 50-100 คน ฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมกับสั่งให้รถขยายเสียงชนแผงที่กั้นเพื่อจะได้เดินออกไปได้ แต่เมื่อไม่เป็นผล "นายรังสิมันต์" พร้อมพวกจึงประกาศยุติการชุมนุมและมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และในขณะเดียวกันยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 200 คน เคลื่อนย้ายออกจาก ม.ธรรมศาสตร์ มาตาม ถ.หน้าพระธาตุ เพื่อไปทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่ได้ประกาศให้ทราบว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิก ต่อมาเวลาประมาณ 14.30 น. "น.ส.ณัฏฐาหรือโบว์ มหัทธนา , น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว  , นายอานนท์ นำภา และนายเอกชัย หงส์กังวาน" แกนนำได้นำผู้ชุมนุมประมาณ 50-60 คน เคลื่อนขบวนฝ่าแนวกั้นมาตาม ถ.ราชดำเนิน ถึงบริเวณก่อนขึ้นสะพานมัฆวานฯ เจ้าหน้าที่ได้ประกาศให้เลิกชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมาย แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิกและทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ร่วมกันจับกุม "น.ส.ณัฏฐาหรือโบว์ , น.ส.ชลธิชา , นายอานนท์ , นายเอกชัย , นายพุทไธสิงห์ พิมพ์จันทร์ , นายคีรี ขันทอง , นายประสงค์ วางวัน , นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ , นายภัทรพล จันทรโคตร และนายวิโรจน์ โตงามรักษ์ "

 การกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือ มิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3), ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้าหรือมีหน้าที่สั่งการ ตามมาตรา 215 (1) (3), เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกชุมนุมแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 216

ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3 /2558 ข้อ 12, ร่วมกันเดินขบวนใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร โดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันชุมนุมสาธารณะในลักษณะกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือ การใช้บริการสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐฯ, ร่วมกันชุมนุมสาธารณะในระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุมฯ และร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมฯ โดยไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานที่ดูแล รวมทั้งยุยงส่งเสริมผู้ชุมนุมให้ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กับขัดขวางหรือกระทำการใดอันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานฯ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 8 (1) (3), 15 (2) (4) (5), 16 (1) (4) (7) (9), 19 และความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 108 , 114
 โดยนายรังสิมันต์, นายสิรวิชญ์, นายปิยรัฐ, น.ส.ณัฏฐา, น.ส.ชลธิชา, นายอานนท์ และนายเอกชัย ถูกแจ้งข้อหากระทำการโดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้ง 15 คน ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เหตุเกิดที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กทม., ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงตลาดยอดและแขวงบวรนิเวศ และบริเวณด้านหน้าอาคารยูเอ็น ถ.ราชดำเนินนอก แขวงขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ

กระทั่งเวลา 15.30 น. ศาลพิจารณาคำร้องของพนักงานสอบสวนและคำคัดค้านการฝากขังของผู้ต้องหาแล้ว ก็อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 15 คนได้ โดยสั่งยกคำคัดค้านของผู้ต้องหา

่       ต่อมาทนายความได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดขอปล่อยชั่วคราวแกนนำทั้ง 15 คน ระหว่างสอบสวน  
      โดยศาลพิจารณาคำร้องและหลักทรัพย์แล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้ง15 คนประกันตัวไปโดยตีราคาประกันคนละ 1แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหาทำการชุมนุมทางการเมืองอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายแก่สังคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับผู้ต้องหาทั้ง 15 คนประกอบด้วย 1.นายรังสิมันต์ โรม อายุ 25 ปี
, 2.นายสิรวิชญ์ หรือจ่านิว เสรีธิวัฒน์ อายุ 26 ปี , 3.นายปิยรัฐ จงเทพ อายุ 27 ปี , 4.นายนิกร วิทยาพันธุ์ อายุ 56 ปี , 5.นายวิเศษณ์ สังขวิศิษฎ์ อายุ 61 ปี , 6.น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว อายุ 25 ปี , 7.นายอานนท์ นำภา อายุ 34 ปี , 8.นายเอกชัย หงส์กังวาน อายุ 43 ปี , 9.น.ส.ณัฏฐาหรือโบว์ มหัทธนา อายุ 39 ปี , 10.นายพุทไธสิงห์ พิมพ์จันทร์ อายุ 61 ปี , 11.นายคีรี ขันทอง อายุ 49 ปี , 12.นายประสงค์ วางวัน อายุ 55 ปี , 13.นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ อายุ 42 ปี , 14.นายภัทรพล จันทรโคตร อายุ 55 ปี , 15.นายวิโรจน์ โตงามรักษ์

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ช่วงบ่าย วันนี้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ , นาย ยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก อดีตแกนนำ นปช. และนายพิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ แนวร่วม นปช. ก็ได้เดินทางมายังศาลอาญา เพื่อให้กำลังใจ กลุ่มผู้ต้องหาคนอยากเลือกตั้งด้วย 

โดย "นายณัฐวุฒิ" อดีตแกนนำ นปช. กล่าวว่า มาให้กำลังใจกลุ่มผู้ต้องหาคนอยากเลือกตั้ง ในฐานะ ประชาชนคนธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ ก็จะนั่งรออยู่บริเวณด้านหลังใต้ถุนอาคารศาล ขณะเดียวกัน "นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน" นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปี 2 ม.ธรรมศาสตร์ ที่เคยร่วมกันกับนิสิตจุฬาฯ ชูป้าย "ชาวจุฬาฯรักลุงตู่ (เผด็จการ)" ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกฯ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. และเคยแฝงตัวใส่เสื้อสำนักงานประกันสังคม เมื่อวันแรงงานที่  1 พ.ค.เข้าประชิดนายกฯนั้น ก็เดินทางมาสังเกตการณ์ที่ศาลและมาให้กำลังคนอยากเลือกตั้งด้วย
    

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ