ข่าว

"คสช.-ตำรวจ"ฟ้อง 5 แกนนำม็อบอยากเลือกตั้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"คสช.-ตำรวจ"แถลง ฟ้อง 5 แกนนำ ม็อบอยากเลือกตั้งผิดคำสั่งคสช. 3/2558 ย้ำดำเนินการตามหลักฐาน ไม่กลั่นแกล้ง ปัดขนกำลังตำรวจ 3000 นาย ขู่ม็อบ   

 

         22 พฤษภาคม 2561 ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ11) ในฐานะทีมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)  

 

          ร่วมกันแถลงถึงการดูแลสถานการณ์การชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่จะเคลื่อนขบวนมาทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้เลือกตั้ง พฤศจิกายน 2561
               

          พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทุกอย่างกำลังเดินหน้าเพื่อไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแมปที่วางไว้ต้นปี 2562  ทุกอย่างดำเนินการไปตามกรอบกฎหมาย รัฐธรรมนูญ 2560 สำหรับกิจกรรมกลุ่มดังกล่าวทางคสช.รับทราบว่าเป็นการจัดกิจกรรมแสดงออกทางการเมือง และทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง จัดกำลังมีแผนงานรองรับอำนวยความสะดวกให้การจัดกิจกรรมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

 

"คสช.-ตำรวจ"ฟ้อง 5 แกนนำม็อบอยากเลือกตั้ง

 

          พร้อมทั้งป้องกันผู้ไม่หวังดีเข้ามาสร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย และความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ และทราบว่าจะเคลื่อนขบวนออกนอกพื้นที่ ซึ่งส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบด้านจราจร ตนจึงขอความร่วมมือกลุ่มผู้ชุมให้ความร่วม มือเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ทุกอย่างเรียบร้อย ทั้งในส่วนผู้จัดกิจกรรม และประชาชนทั่วไป ต้องไม่เกิดการกระทบกระทั่งขึ้น


          พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวต่อว่า การจัดกิจกรรมต่างๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และคำสั่งคสช. และต้องไม่ถูกปลุกเร้าให้เกลียดชังต่อกัน และเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ คสช.และรัฐบาลปัจจุบันจะส่งมอบอำนาจการบริหารประเทศ ให้รัฐบาลใหม่ โดยกลไกต่าง ๆ จะดำเนินการตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ส่วนการดูแลการจัดกิจกรรมวันนี้ ใช้กรอบกฎหมายปกติ และมอบให้ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการหลัก โดยยึดหลักการดูแลอำนวยความสะดวก รักษาความปลอดภัย อีกทั้งการปฏิบัติงานเป็นไปตามขั้นตอนที่เหมาะสมตามอำนาจหน้าที่
                 

           พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ค. นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ผู้ประสานงานกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ยื่นหนังสื่อถึงผู้กำกับการสน.ชนะสงคราม เพื่อขออนุญาตจัดกิจกรรมดังกล่าว ต่อมาวันที่ 17 พ.ค.ผู้กำกับฯ แจ้งสรุปสาระสำคัญ ให้นางสาวชลธิชา รับทราบ เรื่องหน้าที่จัดการชุมนุม  ผู้จัดการชุมนุม และเงื่อนไขต่าง ๆ ตามพ.ร.บ.ชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ พ.ศ.2558

 

           จากนั้นวันที่ 19 พ.ค.นางสาวชลธิชา มีหนังสือถึงผู้กำกับฯ ว่ายืนยันจัดกิจกรรมดังกล่าว แต่ทางผู้กำกับฯแจ้งย้ำให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามกฎหมายชุมนุม ซึ่งมีการทำหนังสือตอบกับไปมา และวันที่ 21 พ.ค.นางสาวชลธิชา ขอเพิ่มเติมพื้นที่จัดกิจกรรม บริเวณฟุตบาทหน้าม.ธรรมศาสตร์ เป็นการเพิ่มเงื่อนไขที่เคยขอไว้ในวันที่ 16 พ.ค. โดยผู้กำกับฯพิจารณาแล้วสาระสำคัญการชุมนุมเห็นว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าว ไม่ใช่การชุมนุมตามนัยยะตามกฎหมายชุมนุม เนื่องจากเป็นการชุมนุมทางการเมืองเป็นกิจกรรมที่ต้องห้าม ตามคำสั่งคสชที่ 3/2558
               

"คสช.-ตำรวจ"ฟ้อง 5 แกนนำม็อบอยากเลือกตั้ง

 

         พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวต่อว่า หลังจากนั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มอบหมาย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล รองผบ.ตรง ดูแลในภาพรวม จัดกำลังตำรวจ 20 กองร้อย ประมาณ3,000 นาย ที่มาปฏิบัติหน้าที่ โดยเฝ้าระวังมือที่3 ที่อาจทำให้สถานการณ์บานปลาย รวมถึงดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้ชีวิตปกติ เนื่องจากแกนนำประกาศว่าจะเดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาล
               

         การจัดกิจกรรมครั้งนี้ขัดคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ดังนั้นผู้จัดชุมนุมยื่นขอจัดกิจกรรมไว้ตั้งแต่ต้น ถือว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมาย ผู้กำกับฯ แจ้งให้แกนนำรับทราบแล้ว อย่างไรก็ตามตำรวจเตรียมพร้อมดูแลสถานการณ์ และยืนยันว่าไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิของผู้ชุมนุมแต่อย่างใด แต่เราพยายามทำให้เกิดความปลอดภัยในภาพรวมมากที่สุด

 

          นอกจากนี้เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายกฎหมายคสช. ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวนสน.ชนะสงคราม เพื่อให้ดำเนินการ จำนวน 5 คน คือ นายรังสิมันต์ โรม นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นายเอกชัย หงส์กังวาน นางสาวณัฏฐา มหัทธนา และนายปิยะรัตน์ จงเทพ ในข้อหาร่วมกันมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆที่มีจำนวนเกิน 5 คน โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตหัวหน้าคสช. หรือผู้ได้รับมอบหมาย


          พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวต่อว่า ล่าสุดศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำร้องที่นางสาวชลธิชา และนายอานนท์ นำภา ทนายความฯ ไปยื่นคำร้องให้คุ้มครองการชุมนุม เมื่อมีคำสั่งศาลออกมา ซึ่ง พล.ต.อ.ศรีวราห์ แจ้งผู้ชุมนุมรับทราบ ทั้งนี้การพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องตนยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามหลักฐานที่ปรากฏ พิจารณาอย่างถี่ถ้วน ไม่ได้มีการกลั่นแกล้งใด ๆ ส่วนการดำเนินใดที่อาจทำให้สถานการณ์บานปลายก็เป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ สำหรับการทำหน้าที่รายงานข่าวสื่อมวลชน ขอให้มีบัตร และปลอกแขน ของบชน. และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
               

"คสช.-ตำรวจ"ฟ้อง 5 แกนนำม็อบอยากเลือกตั้ง

 

           ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม จะให้ตัวแทนมายื่นหนังสือที่ทำเนียบ  พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า หากใช้สิทธิ เสรีภาพตามกฎหมาย ไม่กระทบผู้ใด น่าจะดำเนินการได้ ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่กำลังดูอยู่ ทั้งนี้จากการประเมินกลุ่มผู้ชุมนุมที่ม.ธรรมศาสตร์ประมาณ300-500 คน อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่มีแนวคิดไว้ก่อนว่าสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นบ้าง เพื่อหาทางออกให้ดีที่สุด  


           ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้ผู้ชุมุนมเคลื่อนขบวนออกม.ธรรมศาสตร์ แต่ตอนนี้เคลื่อนขบวนออกจากพื้นที่แล้ว จะมีมาตรการดำเนินการใด ต่อไป  พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า การเคลื่อนออกจากม.ธรรมศาสตร์ เป็นที่ชัดเจนว่ามีความผิด ตามกฎหมาย และขัดคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 ในอนาคตจะมีดำเนินการตามกฎหมายที่เราไม่ได้ไปกลั่นแกล้งใคร จะเมื่อไหร่ หรือรูปแบบใดเป็นเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการ โดยใช้กฎหมายปกติดำเนินการ ขึ้นอยู่กับพยายามหลักฐาน
               

          ส่วนจะใช้มาตรการเช็กบิลย้อนหลัง หรือไม่ พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการเจรจา หากฝ่าฝืนคำสั่งคสช. หรือกฎหมาย อะไรเป็นความผิดซึ่งหน้าต้องถูกดำเนินการ อะไรที่สามารถดำเนินการภายหลัง เนื่องจากเป็นความผิดต้องถูกดำเนินการภายหลัง
               

          "เราพยายามดูแลสถานการณ์ ไม่ได้บอกว่าจะให้เดิน หรือไม่ให้เดิน ต้องดูว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ เพราะการบังคับใช้กฎหมายคงไม่บังคับใช้อย่างเฉียบขาด ตามหลักนิติศาสตร์ และหลักรัฐศาสตร์ควบคู่ไปด้วย"
               

"คสช.-ตำรวจ"ฟ้อง 5 แกนนำม็อบอยากเลือกตั้ง

 

            ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ตำรวจนำกำลังมามาก เป็นการข่มขู่ผู้ชุมนุม พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า ตนไม่ได้มองแบบนั้น ในเรื่องการควบคุมฝูงชน ถ้าดูประเทศอื่นและตามกฎหมายเรา เรื่องจำนวนเจ้าหน้าที่คงไม่มีใครเอากำลังมาน้อยกว่าผู้ชุมนุม เพราะเราประเมินสถานการณ์ ตามหลักการไม่ได้ทำร้ายผู้ชุมนุม เพราะเจ้ารัฐไม่ได้ขัดแย้งกับผู้ใด   
               

          พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวอีกว่า เราก็ประสานว่า  คสช.ยืนยันว่า ไม่ต้องการให้เกิดภาพความรุนแรง และการเผชิญหน้ากันบ้านเมืองในเวลานี้ สิ่งใดที่ยอมรับได้บ้าง พูดคุยกัน ไปสู่จุดหมายและทางออกที่ดีร่วมกัน น่าจะเหมาะสมที่สุด   

           ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นการรับไปเจรจาไปหรือไม่ พล.ต.ปิยพงศ์  กล่าวว่า ไม่ได้รบ เป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้น ยืนยันว่า คสช.ไม่ได้รังแกประชาชนชนตามการประกาศของกลุ่มผู้ชุมนุม  ส่วนที่มีข่าวว่า คสช.ไฟเขียวให้เดินขบวนมาที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น  ความจริงคือตนได้อธิบายว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง โดยมีเจตนาที่จะไปทำเนียบรัฐบาล ใครจะไปกล้าไฟเขียว อีกทั้งทำเนียบรัฐบาลประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม และเจ้าหน้าที่ก็แจ้งแล้วว่าการออกมาชุมนุมนอกมหาวิทยาลัยก็ผิดคำสั่ง คสช.
   

           ส่วนถ้ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมทำตามการเจรจามีการผลักดันเจ้าหน้าที่ที่ดูแลสถานการณ์จะตัดสินใจอย่างไร พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวอีกว่า   พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์  เป็นผู้บัญชาเหตุการณ์ตรงนั้น มีอำนาจในการตัดสินใจในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่  โดยเข้าไปติดตามสถานการณ์ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่ลงไปดูใกล้ชิดให้เกิดความเรียบร้อยตรวจตราลูกน้องทำงาน 
   

           ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการมองว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ มีท่าทีแข็งกร้าว พล.ต.ปิยพงศ์กล่าวว่า  พล.ต.อ.ศรีวราห์ ลงไปดูแลสถานการณ์ ให้ความมั่นใจกับเจ้าหน้าที่ในการทำงาน
   

"คสช.-ตำรวจ"ฟ้อง 5 แกนนำม็อบอยากเลือกตั้ง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ