ข่าว

คสช.เหวี่ยงมะกัน! ปัดละเมิดสิทธิ ยันหน้าเดิมเคลื่อนไหวมีนัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คสช.โต้สหรัฐ ยันไม่ได้ละเมิดสิทธิประชาชน ชี้ต้องแยกเป็นเรื่องกระทำผิดก.ม.-เคลื่อนไหวมีนัยปล่อยข้อมูลเท็จทำลายผู้อื่น 2พรรคเชื่อมีใบสั่งสนช.ล้มกระดานกสทช.

          รัฐบาลคสช.ออกมาตอบโต้ แถลงรายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ 200 ประเทศทั่วโลก ประจำปี 2560 ของกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ที่รายงานส่วนของประเทศไทย อ้างอิงข้อมูลปี 59-60 พบมีการจำกัดเสรีภาพพลเมืองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายปัญหา เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ จับกุมผู้เห็นต่างทางการเมือง และยังจำกัดสิทธิเสรีภาพทางสื่อออนไลน์ โดยระบุว่า รัฐบาลไทยไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และยืนยันดำเนินการตามกฎหมาย

          วันที่ 22 เมษายน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า เป็นเรื่องขององค์กรแต่ละประเทศที่จะคิดอย่างไร ซึ่งเราห้ามไม่ได้ แต่รัฐบาลยืนยันว่าสิ่งที่เราทำในปัจจุบันนี้ ทำตามข้อกฎหมาย กรณีที่ระบุว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิเสรีภาพ เช่นการเคลื่อนไหวหรืออะไรก็ตาม คงต้องไปดูในรายละเอียดว่า บุคคลที่เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการตามกฎหมายนั้นเป็นผู้ที่กระทำผิดตามกฎหมาย ดังนั้น ต้องแยกแยะออกจากกันระหว่างสิทธิเสรีภาพกับการทำผิดกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่าใครจะทำอะไรก็ได้ ที่เป็นสิทธิและเสรีภาพ แต่ต้องคำนึงด้วยว่าสิ่งที่ทำแล้วบอกว่าเป็นสิทธิเสรีภาพขัดหลักกฎหมายหรือไม่ เพราะถ้าขัดกับหลักกฎหมาย ก็ทำไม่ได้ แล้วไม่ใช่ว่ากฎกติกานี้จะใช้ที่ประเทศไทยประเทศเดียวแต่ใช้ทุกประเทศในโลก 

 

คสช.เหวี่ยงมะกัน! ปัดละเมิดสิทธิ ยันหน้าเดิมเคลื่อนไหวมีนัย

 

โต้สหรัฐยันไม่ได้ละเมิดสิทธิปชช.

          “รัฐบาลยืนยันว่าสิ่งที่ดำเนินการไป เป็นการดำเนินการตามข้อกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลแล คสช.ไม่เคยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการดำเนินคดีกับใคร ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วนำเข้าสู่กฎหมายปกติเป็นผู้พิจารณาว่าถูกหรือผิด ถ้าผิดก็ต้องถูกลงโทษตามกฎหมายแต่ถ้าไม่ผิดก็คือไม่ผิด” พล.ท.สรรเสริญ ระบุ

          ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลไทยควรทำหนังสือชี้แจงหรือทักท้วงอย่างไรหรือไม่ พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ไม่ทราบว่าทางกระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินการอย่างไรบ้าง โดยปกติทางกระทรวงต่างประเทศจะมีวิธีการปฏิบัติอยู่แล้ว แต่โดยหลักพื้นฐานอย่างที่บอกแล้วว่ารัฐบาลไม่ได้ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันเราพยายามที่จะปรับปรุงเรื่องราวเหล่านี้ด้วยซ้ำไป

          ต่อข้อถามกรณีที่ถูกระบุว่ามีการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อออนไลน์ พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อออนไลน์ตรงไหนหรือ ทั้งหมดเป็นข้อกฎหมายทั้งนั้น คนที่ถูกดำเนินคดีคือคนที่ปล่อยข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าไปในโลกโซเชียล เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นคนนั้นคนนี้ ซึ่งก็อยู่ในหลักการกฎหมายเช่นกัน หากเกิดข้อมูลอันเป็นเท็จแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินคดีก็จะไม่เกิดความสับสนวุ่นวายในบ้านเมืองอย่างนั้นหรือ อะไรจริง อะไรใส่ร้ายป้ายสี ใส่ความเท็จกันไปเรื่อย เป็นการปล่อยข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่คอมพิวเตอร์ ซึ่งบ้านเราก็มีการออก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กันมาแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายควบคุมคอมพิวเตอร์ อเมริกาก็มีไม่ใช่หรือ ทุกประเทศก็มีเหมือนกัน

 

คสช.เหวี่ยงมะกัน! ปัดละเมิดสิทธิ ยันหน้าเดิมเคลื่อนไหวมีนัย

 

ชี้กลุ่มเคลื่อนไหวมีนัยทั้งสิ้น

          เมื่อถามถึงกรณีคสช.จับกุมผู้เห็นต่างทางการเมืองตามที่ถูกกล่าวอ้างข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ ระบุ เดือนสิงหาคม 2560 มีจำนวน 135 ราย พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ในเวลานี้ประเทศไทยมีข้อกฎหมายอยู่ เพราะประเทศเราได้ผ่านวิกฤติของความขัดแย้งทางการเมืองมาเมื่อปี 2557 และขณะนี้อยู่ในโรดแม็พ สิ่งที่ คสช.ออกมาคือกฎหมายและไม่ได้เป็นอย่างนี้ตลอดชาติ แต่มีตารางเวลาของมันอยู่แล้วอย่างชัดเจนว่าภายในไม่เกินกุมภาพันธ์ 2562 ก็จะมีการเลือกตั้งหรืออาจเร็วกว่านั้น ซึ่งถ้าประสานงานกับพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองได้ เพื่อหารือว่าจะกำหนดกรอบการเลือกตั้งอย่างไร หรือมีข้อสังเกตข้อห่วงใยอะไรบ้างจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล คสช. พรรคการเมือง ที่จะคุยหารือกัน ซึ่งเมื่อกำหนดวันเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างจะค่อยๆ คลาย ซึ่งเรื่องนี้เป็นหลักเกณฑ์ที่ทุกคนยอมรับได้อยู่แล้ว ส่วนจะกำหนดวันไหนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือ

          “กลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ลองย้อนกลับไปดูว่าแต่ละคนเป็นคนหน้าเดิมและมีนัยอยู่ด้วยทั้งสิ้น เรื่องแบบนี้ไม่ต้องเล่าก็รู้ใช่หรือไม่” 

          เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าถึงขณะนี้รัฐบาลและคสช.ยังต้องจับตาดูกลุ่มเคลื่อนไหวอยู่ใช่หรือไม่ พล.ท.สรรเสริญ ตอบว่า ไม่ถึงขนาดนั้น ไม่ได้เป๊ะขนาดนั้น ปัจจุบันนี้ขอให้ย้อนตรวจสอบดูว่าพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองก็ทำกิจกรรมของเขากันอยู่ เพียงแต่อย่าให้ประเจิดประเจ้อจนเกินไป มีการไปร่วมกิจกรรมอะไรกันก็สุดจะแล้วแต่ ก็ต้องถามว่าเขาไม่คุยเรื่องการเมืองกันบ้างหรือ คุยกันแต่เรื่องสนุกสนานกินข้าวกันอย่างเดียวอย่างนั้นหรือ ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันอยู่ แต่คสช.หรือรัฐบาลไม่ได้ไปกำหนดกฎกติกาที่หยุมหยิมมากเกินไป

เชิญคนเข้าค่ายแค่ปรับความเข้าใจ

          ด้าน พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะสมาชิกคสช. กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐตำหนิรัฐบาลคสช.ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการเชิญตัว “คนคิดต่าง” เข้าค่ายทหารนั้นว่า ปกติการเชิญตัวคนคิดต่างนั้น เราแค่เชิญไปพูดคุยทำความเข้าใจ ซึ่งไม่ได้ไปทำร้าย หรือใช้ความรุนแรงอะไร 

          “ที่สำคัญหากพิจารณาสถานการณ์ในปัจจุบันจะพบว่าคสช.และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้เห็นต่างในการเชิญมาพูดคุยอย่างนุ่มนวล เป็นการทำความเข้าใจเท่านั้น และในระยะหลังๆ นี้ จะเห็นได้ว่า คสช.ก็ไม่ได้กระทำการในลักษณะนั้น ไม่ค่อยมีการเชิญมาปรับทัศนคติแล้ว” ผบ.ทสส.ระบุ

          ขณะที่นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ทาง กสม.ได้ทำรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนปี 2560 และรายงานการปฏิบัติงานประจำปี 2560 ซึ่งพบกรณีที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กันนี้ เช่น กรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้กำลังเกินกว่าเหตุ การวิสามัญฆาตกรรมที่เกิดขึ้นแล้วถูกเป็นประเด็นคำถามในระดับชาติ และระดับอาเซียน ซึ่งไทยยังไม่มีความชัดเจนเรื่องนี้ อาทิ กรณีนายชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนลาหู่ 

          “พ.ร.ป.กสม.ฉบับใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงว่าเมื่อกสม.ทำรายงานการตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสนอมาตรการทางนโยบายและกฎหมายให้คณะรัฐมนตรีแล้ว คณะรัฐมนตรีจะต้องแจ้งกลับมาที่ กสม. แต่ล่าสุดการประชุม 2–3 สัปดาห์ คณะรัฐมนตรีแจ้งกลับมา กสม.เพียงว่า รับทราบเท่านั้น ไม่มีการตอบในรายละเอียดว่าจากข้อเสนอดังกล่าวหน่วยงานได้นำไปปฏิบัติอย่างไร” นางเตือนใจกล่าว

 

คสช.เหวี่ยงมะกัน! ปัดละเมิดสิทธิ ยันหน้าเดิมเคลื่อนไหวมีนัย

 

เชื่อมีใบสั่งสนช.ล้มเลือก“กสทช.”

          ส่วนกรณีที่สนช.ล้มกระดานการเลือกผู้เข้ารับการสรรหาเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ทั้ง 14 คน นั้น 

          นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้น่าจะมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นที่คณะกรรมการสรรหาจนได้รายชื่อจำนวนหนึ่งมาให้คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้สมควรได้รับเลือกตั้งเป็นกสทช. และเข้าสู่การพิจารณาเลือกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพราะมีความพยายามที่จะผลักดันบุคคลที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับธุรกิจกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อเข้ามาเป็นกสทช. ดังนั้นการสรรหากสทช.ครั้งนี้จึงมีความเคลือบแคลงสงสัยหลายประการ ดังนี้

           1.กระบวนการสรรหาที่เริ่มต้นจากคณะกรรมการสรรหาตามที่กฎหมายกำหนดได้ทำหน้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ ได้มีความพยายามบล็อกโหวตดังที่มีการกล่าวหาหรือไม่ อย่างไร 2.สนช.ได้ทำหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 บัญญัติไว้หรือไม่ เพราะกฎหมายบัญญัติให้ สนช.มีหน้าที่ลงมติเลือกเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ เหมือนกับกรณีการพิจารณาเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่นๆ การที่ สนช.ไม่เลือกแต่ใช้วิธีมีมติล้มการเลือก กสทช. จะทำให้มีปัญหาตามมาอีกหลายด้านหรือไม่

          3.มีการส่งสัญญาณจากนายกรัฐมนตรี หรือผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ให้ล้มการเลือก กสทช.ครั้งนี้ เพราะมีคนไม่พอใจบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อหรือไม่ เพราะตามปกติการทำหน้าที่ของสนช.ก็ถูกมองว่าเป็นสภาตรายาง พร้อมที่จะทำตามความต้องการของผู้มีอำนาจอยู่แล้ว ยิ่งมีคลิปเสียงที่มีคำพูดอ้างว่านายกฯ ไม่พอใจบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ ก็ยิ่งทำให้ถูกสงสัยว่าสนช.กำลังทำหน้าที่สภาตรายางอีกครั้งเพื่อสนองตอบผู้มีอำนาจ

          “เหตุผลที่ สนช.อ้างว่าต้องล้มการเลือก กสทช. เพราะผู้สรรหามีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ก็เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากการวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ สนช.ไม่ควรทำหน้าที่เป็นศาลตัดสินเสียเอง เนื่องจาก กสทช.เป็นคณะกรรมการที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล และมีอำนาจหน้าที่ที่จะให้คุณให้โทษได้อย่างมาก การสรรหา กสทช. จึงต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และก่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่าเราจะได้กสทช. ที่มีหิริโอตตัปปะในทำงานด้วยความซื่อสัตย์ จึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสรรหา กสทช. ทั้งคณะกรรมการสรรหา และ สนช. ถ้าทำหน้าที่ด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมโปร่งใส ไม่มีลับลมคมในข้อเคลือบแคลงสงสัย เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง” นายองอาจกล่าว

 

คสช.เหวี่ยงมะกัน! ปัดละเมิดสิทธิ ยันหน้าเดิมเคลื่อนไหวมีนัย

ชี้หวังตั้งคนของตัวเองเข้ามาคุม

          นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ตั้งคณะกรรมาธิการสอบข้อเท็จจริงในการเผยแพร่คลิปเสียงสนทนาที่มีการพาดพิงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งล้มกระดานว่า การโหวตคว่ำกสทช.ยกเข่งเป็นลักษณะเดียวกับการโหวตคว่ำกกต. จึงตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพราะผู้มีอำนาจต้องการควบคุมกสทช.เบ็ดเสร็จ ให้ได้คนที่ตัวเองสั่งการได้เพื่อใช้ควบคุมสื่อมวลชนหรือไม่ เหมือนกับต้องการคนที่ตัวเองสั่งการได้มาเป็นกกต. เพราะเมื่อมีการเลือกตั้งสื่อจะมีความสำคัญและกสทช.ชุดเดิมก็เคยปิดสื่อทีวีที่เห็นต่างกับรัฐบาลมาแล้ว เป็นการสร้างความได้เปรียบให้ตัวเองทุกทางเพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งใช่หรือไม่

          นายวรชัย กล่าวต่อว่า ที่สนช.ออกมาปฏิเสธว่าคลิปเสียงดังกล่าวไม่เป็นความจริง นายกฯ ไม่เคยสั่งการใดๆ นั้น จึงเป็นเรื่องที่แปลก เพราะผลโหวตที่ออกมาเป็นไปตามคลิปที่หลุดออกมา ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมาชี้แจงในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะทางการเมืองมองเป็นอย่างอื่นไปได้ยาก อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาใครที่มาทำงานตอบสนองผู้มีอำนาจให้ได้เปรียบทางการเมือง ก็จะได้รับการต่ออายุให้ทำงานต่อไป เช่นเดียวกับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่พอมาคัดสรรองค์กรอื่น เมื่อไม่ได้คนดั่งใจก็ให้คัดกันใหม่ แบบนี้ท่านต้องการจะควบคุมให้ทุกอย่างเป็นดั่งใจเพื่อปูทางรอวันเลือกตั้งใช่หรือไม่

พท.ชี้ดูดให้สุดแบ่งฝ่ายไปเลย

        ส่วนการเคลื่อนไหวด้านอื่นๆ นั้น นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการดึงตัวนักการเมืองเข้าร่วมงานกับรัฐบาลคสช.อย่างต่อเนื่องว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.จะประกาศเลื่อนการเลือกตั้งไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่ก็มีตัวแปรและปัจจัยแทรกซ้อนอีกมาก ดังนั้นระหว่างการรออะไรที่ไม่มีเป้าหมาย กับการรีบร้อนเข้าไปรับตำแหน่งตามที่เป็นการรับมัดจำเพื่อให้มีหลักประกัน แม้เสี่ยงกับการขึ้นรถผิดคัน แต่เมื่อกลัวตกรถก็ต้องยอม

          “การโชว์พลังดูดแม้จะดูเป็นการเมืองโบราณย้อนยุค แต่ใครอยากดูดใคร พรรคไหน กลุ่มใด อยากถูกดูด อยากเข้าไปหางานทำ เอาให้เต็มที่ ดูดกันให้สุดๆ ไปเลย ซึ่งทำให้เกิดความชัดเจนว่าแต่ละพรรคมีจุดยืนอย่างไร พรรคการเมืองจะได้แบ่งแยกกันอย่างชัดเจน ประชาชนจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ระหว่างพรรคที่ต้องการสนับสนุนให้มีการสืบทอดอำนาจกับพรรคที่ชูธงประชาธิปไตยต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิเสรีภาพความเสมอภาคสร้างโอกาสด้วยนโยบายที่นำพาประเทศชาติและประชาชนให้หลุดพ้นจากกับดักความยากจน” นายอนุสรณ์กล่าว

          นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลอยู่มา 4 ปี ปัญหาข้าวยากหมากแพง ปากท้องของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในระดับเศรษฐกิจฐานรากได้รับผลกระทบ ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นระบาด หยิบตรงไหนเจอตรงนั้นหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ โชคดีที่คนไทยมีความอดทนสูง ลูกจะเปิดเทอม ยังไม่รู้เลยว่าจะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย ตนดีใจที่ นายแจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท อาลีบาบา มาลงทุนในประเทศไทย แต่อย่าไอโอหรือพีอาร์เกินเหตุ เพราะมันยิ่งสะท้อนว่ารัฐบาลคสช.ทำอะไรไม่ได้แล้วหรือ เลยต้องไปหาคนอื่นมาช่วย เกาะกระแสละคร เกาะดารา เกิร์ลกรุ๊ปก็เอา ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่านั่นไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหา 

          “ทางที่ดี พล.อ.ประยุทธ์ลองหาเวลาไปเดินตลาดแบบไม่จัดฉากหรือไม่ผักชีโรยหน้าดูบ้าง จะได้รู้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจบางตัวที่ออกมาเหมือนจะดี แล้วรัฐบาลเอามาโหนนั้น มันไม่ได้สะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง รัฐบาล คสช.และแม่น้ำ 5 สายไม่เดือดร้อน เพราะมีตำแหน่งมีรายได้กินกัน 2-3 ทาง ใช้มหัศจรรย์ทางกฎหมายยื้อการเลือกตั้งเอื้อประโยชน์พวกพ้องและพยายามสืบทอดอำนาจก็ทำหรือไม่ แต่ขอเตือนว่าอย่าเหยียบย่ำหัวใจประชาชน รัฐบาล คสช.ควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดรายจ่าย ลดค่าครองชีพที่ชัดเจน ไม่ใช่มุ่งแก้แต่ปัญหาตัวเองแล้วละทิ้งประชาชน” นายอนุสรณ์กล่าว

ยันอดีตส.ส.อีสานเหนียวแน่น

          ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง อดีตรมช.คมนาคม และแกนนำพรรคเพื่อไทย จ.นครราชสีมา และภาคอีสาน กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าเป็นการเล่นการเมืองแบบเดิม ไม่ได้เป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่หรือมิติใหม่ทางการเมืองแต่อย่างใด และก็เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ เพราะฉะนั้นพรรคเพื่อไทยจึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศตัวให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจนไปเลยว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย เพื่อเข้าสู่ถนนการเมืองอย่างสง่างามเพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจง่ายว่าจะเลือกพรรคคสช.หรือจะเลือกพรรคการเมืองที่ยืนหยัดอยู่ข้างประชาธิปไตยมาตลอดอย่างพรรคเพื่อไทย

           “ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีความพยายามจะดูดอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยเข้าไปร่วมกับพรรคคสช.และพรรคพันธมิตรคสช. แต่จนถึงขณะนี้ทุกคนก็ยังยืนหยัดเหนียวแน่นกับพรรค โดยเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา อดีตส.ส.ของพรรคก็ได้มีการยืนยันตัวตนและยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยครบ 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังมีนักการเมืองหน้าใหม่และคนรุ่นใหม่แจ้งความจำนงจะลงสมัครส.ส.ในนามพรรคเพื่อไทยอีกจำนวนมาก” นายประเสริฐกล่าว และว่าเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมาอดีตส.ส.ของพรรคและผู้ที่ประสงค์ร่วมอุดมการณ์กับพรรคเพื่อไทยทุกภาคก็ได้ลงพื้นที่พบปะรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากประชาชนทุกด้านเพื่อเก็บข้อมูลเตรียมกำหนดเป็นนโยบายของพรรค เมื่อคสช.ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ ทางพรรคเพื่อไทยก็จะประกาศนโยบายที่จับต้องได้ แก้ปัญหาให้แก่พี่น้องประชาชนในแต่ละด้านได้จริง ซึ่งมั่นใจว่านโยบายของพรรคจะโดนใจประชาชนอย่างแน่นอน

 

คสช.เหวี่ยงมะกัน! ปัดละเมิดสิทธิ ยันหน้าเดิมเคลื่อนไหวมีนัย

 

ซัดดูดย้อนยุคก่อระบบอุปถัมภ์

           นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการเคลื่อนไหวจับขั้วการเมืองในขณะนี้ว่า ในอดีตมี 2 รัฐบาลที่เคยใช้โมเดลการรวมกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ จัดตั้งรัฐบาล แม้จะสำเร็จได้เป็นรัฐบาลแต่ได้สร้างระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองและการผูกขาดทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมล้มเหลว เพราะฐานการเมืองเหล่านั้นส่วนใหญ่ต้องใช้ทุนในการเลือกตั้งจึงหาเงินด้วยการคอร์รัปชั่นพร้อมกับรับเงินและหากินกับทุนใหญ่โดยผู้นำรัฐบาลต้องปิดตาข้างเดียวทำอะไรไม่ได้เพราะต้องพึ่งพาเสียงสนับสนุนในสภา จึงเกิดระบอบประชาธิปไตยที่เป็นของกลุ่มการเมืองและกลุ่มนายทุนผูกขาด หาใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่

           ทั้งนี้ ระบบอุปถัมภ์รูปแบบนี้มีมาอย่างยาวนานสร้างการผูกขาดทางเศรษฐกิจและการเมืองการปกครองโดยอาศัยอำนาจรัฐและความเป็นรัฐบาล ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและการผูกขาด กลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำและการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงสูงมาก เป็นสาเหตุของการรัฐประหารและวงจรอุบาทว์ถึง 13 ครั้ง นับแต่พ.ศ.2475 ด้วยเหตุนี้การปฏิรูปการเมืองจึงเสนอแนวทางปฏิรูปเชิงโครงสร้างและระบบเพื่อสร้างระบบการเมืองใหม่สนับสนุนนักการเมืองและพรรคการเมืองที่มีคุณภาพและคุณธรรมเพื่อให้เกิดระบอบประชาธิปไตยของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน ถ้าสร้างระบบการเมืองที่ดีไม่ได้นักการเมืองจะถูกระบบกลืนกินสูญสิ้นอุดมการณ์ถึงกับต้องทุจริตโกงภาษีของประชาชน โดยเฉพาะในระยะหลังในสภาผู้แทนฯ ต้องขายงบขายโครงการกินเปอร์เซ็นต์ จะปล่อยให้ประเทศชาติเป็นแบบนี้และจะทำเช่นนี้อีกต่อไปหรือ

         “กว่า 20 ปีที่อยู่กับระบบการเมืองแบบนี้จึงไม่เชื่อว่าการเมืองเก่าจะสร้างระบบการเมืองใหม่ได้ในระยะยาว ลองทบทวนความผิดพลาดในอดีตก็จะมองเห็นและเข้าใจโจทย์ใหญ่ข้อนี้ ประการสำคัญคือความสำเร็จของประเทศชาติควรเป็นเป้าหมายหลักไม่ใช่ความสำเร็จของผู้นำทางการเมืองบางคนบางพรรคเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเช่นบทเรียนของ 2 รัฐบาลในอดีต เราไม่ควรเดินหลงทางอีกต่อไป” นายอลงกรณ์ กล่าว

จี้คสช.อีก1ปีเร่งปฏิรูปก่อนเหลว

          นายวิทยา แก้วภราดัย อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า ผิดหวังกับคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดนี้อย่างมากเนื่องจากได้ยกร่างการปฏิรูปที่ขัดกับรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ยกร่างให้สอดคล้องกับการถ่วงดุลกันระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ รวมทั้งการจัดให้มีการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์จากสองหน่วยงานที่มีศาสตร์แตกต่างกันเช่นเดียวกันที่ไม่มีออกมา ไม่มีสองประการนี้เท่ากับข้อเสนอการปฏิรูปขัดกับรัฐธรรมนูญไปแล้ว เช่นเดียวกับการปรับปรุงโครงสร้างอำนาจหน้าที่ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 7-8 หน่วยงานไม่ได้สะท้อนอยู่ในรายงานฉบับนี้ 

          ทั้งนี้หลักของการปฏิรูปมีสองเรื่อง คือ 1.รายงานฉบับนี้ประชาชนได้อะไร แนวทางการปฏิรูปทั้ง 7 ด้านนั้นทำเพื่อประเทศชาติและประชาชน แต่รายงานของคณะกรรมการฉบับนี้ทำได้แค่ปรับปรุงระเบียบในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้ปฏิรูปอะไรเลย 2.คสช.ควรหันกลับมาดูรัฐธรรมนูญกำหนดปฏิรูปไว้ 7 ด้าน มาถึงวันนี้ล้มเหลว เช่นเดียวกับการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการเมืองที่ไปในทิศทางเดิม การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ไม่ได้เริ่มต้นเลย 

          “คสช.ต้องเดินให้จบ ก้าวแรกปฏิรูปตำรวจล้มเหลว คณะกรรมาธิการไม่ยอมทำ จะปล่อยให้ตามกระแสไม่ได้ ต้องเอาจริงเอาจังจะปล่อยให้รัฐบาลหน้าทำก็ถือว่าจบ จะไปฝากความหวังกับรัฐบาลหน้ายาก เพราะจะเป็นรัฐบาลผสมแน่” นายวิทยากล่าว

          ต่อข้อถามการระบุถึงการปฏิรูปที่กำลังล้มเหลวมองได้หรือไม่ว่า คสช.กำลังพาไปในทิศทางที่เรียกว่าเสียของอีกครั้ง นายวิทยา กล่าวว่า คสช.ยังมีเวลาและยังไม่หมดความหวังไปเสียทีเดียว คสช.ยังมีเวลาเกือบปีถือว่ายาวจะปฏิรูปตำรวจเอาจริงเอาจัง ยังพอได้ ส่วนการปฏิรูปการศึกษายังไม่ทำอะไรเลยยิ่งต้องเร่งขยับคุณภาพบุคลากรทางการศึกษาต้องปรับปรุง ซึ่งวันนี้ยังไม่เห็น กฎหมายด้านอื่นๆ ยังไม่ขยับ 

 

คสช.เหวี่ยงมะกัน! ปัดละเมิดสิทธิ ยันหน้าเดิมเคลื่อนไหวมีนัย

 

         “ยุคนี้ราชการใหญ่สุด ยุคนี้ไม่มีนักการเมือง มีแต่ท้องถิ่น ยุคนี้เป็นยุคข้าราชการครองเมืองมีอำนาจสูงทั้งหมด ถ้า คสช.ไม่ปฏิรูประบบราชการ ดังนั้นหวังยากว่าได้รัฐบาลในวันข้างหน้าว่าการปฏิรูปจะเกิด ฝากความหวังไว้กับ คสช. เวลาที่เหลืออีกหนึ่งปี ถ้าการปฏิรูปไม่เกิดเท่ากับการปฏิวัติเสียของแน่นอน”

          นายวิทยา ยังกล่าวถึงการทุจริตที่กำลังเกิดขึ้นแทบทุกหน่วยงานด้วยว่า ต้องยอมรับว่าไม่ได้เป็นการทุจริตเกิดขึ้นใหม่ทั้งหมด แต่ทุจริตที่ยังเงียบอยู่คือการกระจายอำนาจใส่ระบบราชการ ผ่านผู้ว่าฯ ผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กระจายรอบแรกๆ กำนันผู้ใหญ่บ้านมีการก้มกราบกันที่ประชุมนายอำเภอ อย่าเรียกเปอร์เซ็นต์จนมีการโยกย้าย หลังจากนั้นมีการกระจายลงไปซ้ำๆ ผ่านระบบราชการ ยืนยันว่ามีการทุจริตกันมากไม่ได้น้อยกว่าองค์กรท้องถิ่นบางหน่วยงาน มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

แนะปชป.หานักการเมืองรุ่นใหม่

          นายวิทยา อดีตแกนนำ กปปส. กล่าวอีกว่า ปัจจุบันได้เข้ายืนยันการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมาแล้ว อย่างไรก็ตาม มาถึงวันนี้เราต้องปรับปรุงกระบวนพรรคทั้งหมด สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือการรักษาคนเก่าไว้และแสวงหาคนใหม่เข้ามาสู่พรรค แต่ไม่ใช่วิธีการไปเร่ตระเวนหานักการเมืองเก่าแก่รุ่นลายครามเข้ามาแล้วมีพฤติกรรมอย่างเดิม พรรคประชาธิปัตย์ควรเปิดทิศทางใหม่และแสวงหาคนรุ่นใหม่อย่างจริงจัง

          เมื่อถามถึงการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปภายในพรรคประชาธิปัตย์ นายวิทยา กล่าวว่า โดยทิศทางที่หัวหน้าพรรคกล่าวครั้งล่าสุดคือให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งต่อไป โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอแนวคิดให้สมาชิกพรรคทั้งประเทศเลือกหัวหน้าพรรคเองจะเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมด สำหรับแคนดิเดตตำแหน่งหัวหน้าพรรคนั้น ก็ดูอย่าง นายชวน หลีกภัย มาจากลูกชาวบ้านสามารถก้าวขึ้นสู่หัวหน้าพรรคได้ ซึ่งพรรคมีหัวหน้ามาแล้ว 7 คนมีกระบวนการมาทุกคน ถ้าคิดกันจริงๆ พรรคนี้เป็นของประชาชนลูกหลานของประชาชนคนใดคนหนึ่งก็เป็นได้ เพราะไม่ได้เป็นพรรคของใคร

 

คสช.เหวี่ยงมะกัน! ปัดละเมิดสิทธิ ยันหน้าเดิมเคลื่อนไหวมีนัย

 

“สมชัย”ถอนตัวสมัครเลขาฯกกต.

          นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือถอนตัวจากการสมัครในตำแหน่งเลขาธิการกกต. ต่อประธานคณะกรรมการสรรหาเป็นที่เรียบร้อยแล้วในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับการประสานว่าขาดคุณสมบัติเพราะตำแหน่งงานในอดีต ในฐานะรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ไม่ใช่ตำแหน่งนักบริหารระดับต้น ตามประกาศของกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ติดใจที่จะอุทธรณ์ร้องทุกข์ใดๆ แม้ว่าประกาศดังกล่าวเป็นการออกประกาศคุณสมบัติที่เกินกว่าสิ่งที่กำหนดใน มาตรา 55 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยกกต.ก็ตาม ซึ่งหากไปต่อสู้ในขั้นศาลปกครอง ก็จะทำให้เกิดการเสียเวลาแก่ทุกฝ่าย สำนักงานที่จะได้คนดีมีความสามารถมาเป็นเลขาธิการก็จะล่าช้าออกไปอีก 

           "อีกทั้งประเมินว่า ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองคงไม่ปรารถนาจะเห็นผมทำงานในสำนักงานกกต. เนื่องจากเป็นคนตรงไปตรงมาทำตามกฎหมายไม่เกรงใจใคร กล้าวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นที่ลำบากใจแก่กรรมการสรรหา และกรรมการการเลือกตั้ง 4 คนที่อยู่ในปัจจุบัน จึงคิดว่าการส่งจดหมายถอนตัวน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในสถานการณ์ดังกล่าว ส่วนอนาคตข้างหน้าคงหางานทำที่เหมาะสมกับความสามารถในหน่วยงานที่มีความต้องการรับ โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นงานวิชาการหรืองานการเมือง” นายสมชัย กล่าว

โพลล์ชี้ปชช.หนุนปลดล็อกพรรค

           วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,088 คน ระหว่างวันที่ 18-21 เมษายน ในหัวข้อ “ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ในทัศนะประชาชน” โดยเฉพาะประเด็นการแต่งตั้งนักการเมืองเข้ามาทำงานกับรัฐบาล  พบว่าส่วนใหญ่ 50.42% ระบุว่าเป็นสิทธิของทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ รองลงมา 33.89% ระบุว่าประชาชนได้รับรู้ข้อมูลหลากหลายแง่มุม ขณะที่ 29.69% ระบุว่า น่าเบื่อ เป็นเกมการเมือง ทะเลาะ โจมตีกันไปมา และอีก 18.21% อยากให้มีการเลือกตั้ง ปลดล็อกพรรคการเมือง

          เมื่อถามถึงกรณีแต่งตั้ง นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พบว่า 40.20% มองว่ารัฐบาลต้องการดึงพรรคการเมืองเข้ามาร่วมทำงาน สร้างแนวร่วม รองลงมา 33.01% มองว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมือง ขยายอำนาจ รวมถึงการแต่งตั้ง นายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าส่วนใหญ่ 40.78% ระบุว่า ไม่อยากให้มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง รองลงมา 30.14% ระบุว่าเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลต้องการสร้างฐานเสียง นอกจากนี้ในการแต่งตั้ง นายสกลธี ภัททิยกุล จากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 35.85% ระบุว่า เป็นประเด็นที่ถูกจับตามอง เพราะมีความใกล้ชิดกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

          สำหรับทิศทางการเมืองไทยกับการเลือกตั้งครั้งหน้า พบว่า ประชาชน 39.33% มองว่ามีพรรคการเมืองหลากหลาย มีการแข่งขันกันมากขึ้น รองลงมา 28.87% มองว่า อาจเกิดความเคลื่อนไหว ขัดแย้ง วุ่นวาย และอีก 21.34% อยากให้มีนักการเมืองที่เป็นคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่คนกลุ่มเดิมๆ สุดท้ายเมื่อถามว่าสถานการณ์ในขณะนี้สมควรให้อิสระกับพรรคการเมือง หรือปลดล็อกพรรคการเมืองหรือยัง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 44.47% ระบุว่า ควรปลดล็อกโดยไม่มีเงื่อนไขเพราะเป็นประชาธิปไตย เกิดความเท่าเทียม พรรคการเมืองมีอิสระทำกิจกรรมได้ ช่วยให้สถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้น รองลงมา 36.45% ควรปลดล็อกแต่มีเงื่อนไข มีกฎเกณฑ์ร่วมกัน ไม่สร้างความขัดแย้ง วุ่นวาย กำหนดขอบเขต บทลงโทษที่ชัดเจน ขณะที่ 19.08% ไม่ควรปลดล็อก เพราะอาจเกิดการเคลื่อนไหว ชุมนุม ประท้วง บ้านเมืองไม่สงบ วุ่นวาย รัฐบาลอาจควบคุมดูแลยาก

3เดือนแรกปีนี้คนมองศก.แย่ลง

          ด้าน “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “เศรษฐกิจไทยดีขึ้นหรือไม่ ใน 3 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2561 ?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9&

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ