ข่าว

ศาลปัดไม่พอใจ“สนช.”คว่ำ“7กกต.”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลปัดกระเเสข่าวไม่พอใจ สนช.ตีตก ‘ว่าที่7กกต. ยันศาลยุติธรรมดำเนินการเต็มความสามารถด้าน“มาร์ค” แนะผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้น

 


          ความคืบหน้ากรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติไม่รับรองรายชื่อบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 7 ราย ซึ่งเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าการกระทำเช่นนี้เพื่อให้การเลือกตั้งลากยาวออกไปอีก อีกทั้งก่อนหน้านี้ นางสดศรี สัตยธรรม อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาเเละกรรมการการเลือกตั้ง ออกมาระบุให้ติดตามความขัดเเย้งระหว่างสถาบันศาลเเละสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เนื่องจากศาลไม่พอใจ กรณีที่สนช.คว่ำ 7 ว่าที่ กกต.

          ศาลปัดกระแสข่าวไม่พอใจสนช.
          ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ นางสดศรี สัตยธรรม อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาเเละกรรมการการเลือกตั้ง ออกมาระบุให้ติดตามความขัดเเย้งระหว่างสถาบันศาลเเละสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เนื่องจากศาลไม่พอใจกรณีที่สนช.คว่ำ 7 ว่าที่ กกต.ว่าการดำเนินงานของศาลยุติธรรมเป็นการทำตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ฉะนั้นการทำหน้าที่ของศาลจะไม่นำความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจมาใช้ ส่วนกรณีที่ว่าที่ผู้ผ่านการสรรหาทั้ง 7 คนไม่ผ่านการเห็นชอบของ สนช.ก็เป็นมติที่ประชุม สนช.เชื่อว่าทุกฝ่ายคงทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่เช่นกัน ในส่วนของศาลฎีกาก็จะปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนี้ตามขั้นตอนก็ต้องรอให้ สนช.ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับการมีมติดังกล่าว ส่งถึงศาลฎีกาเพื่อให้เริ่มกระบวนการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นว่าที่ กกต.ในสัดส่วนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คนใหม่ ซึ่งหลังจากได้รับหนังสือแล้ว ประธานศาลฎีกาก็จะได้กำหนดนัดประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด 176 คน ต่อไปเพื่อเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่ตามขั้นตอน โดยต้องติดตามต่อไปว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะพิจารณาใช้ระเบียบเดิมในการคัดเลือกพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครเสนอตัวสรรหาเป็น กกต.หรือจะพิจารณาออกระเบียบใหม่

          เสรีอัดต่อไปไม่มีใครกล้าสมัครกกต.
          นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติไม่รับรองรายชื่อบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 7 ราย ว่า การที่สนช.ไม่รับรองผู้สมัครเป็นกกต.ทั้ง 7 คน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ก็ตาม แต่เนื่องจากวิกฤติที่เกิดจากตัวรัฐธรรมนูญเองที่วางหมากไว้หลายชั้นจนพันตัวเองหรือสร้างปัญหาให้ตัวเอง จึงอาจมีมติล้มกระดานไม่เอาผู้สมัครกกต.ทั้ง 7 คน เหมือนที่เพิ่งผ่านมาอีกก็ได้ จะเสนอชื่อมากี่ครั้งก็ตามมีโอกาสถูกล้มกระดานได้ตลอด และคุณสมบัติขั้นเทพจะไม่มีใครอยากสมัคร เพราะสมัครแล้วอาจจะเสียประวัติสูง ซึ่งคนดีขั้นเทพจริงๆ คงไม่เอาชีวิตทั้งชีวิตที่สร้างสมมา มาเสี่ยงให้ตรวจคุณสมบัติและความประพฤติและในที่สุด เพราะสมัครแล้วเหมือนถูกจับมาแก้ผ้าโชว์ความงามแล้วบอกไม่เอา และเชื่อได้ว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเองก็ไม่อยากเลือกใคร เพราะเลือกไปแล้วก็ไม่รู้ว่าสนช.จะเอาหรือไม่เอาอีกหรือไม่

          ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวเห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เพราะกระบวนการสรรหา กกต.ถูกตั้งข้อสังเกตถึงความหมิ่นเหม่ต่อข้อกฎหมายหลายประการ และประสบการณ์ในการจัดการเลือกตั้งที่หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าจะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เกิดความบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมได้ ฉะนั้นมติสนช.ถือว่าทำถูกแล้ว และเชื่อว่าตามกรอบเวลาสรรหาใหม่ภายใน 160 วัน จะไม่กระทบกับโรดแม็พเลือกตั้งอย่างแน่นอน ทั้งนี้ เรื่องนี้ก็ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของคสช.และผู้เกี่ยวข้องว่าอย่าเข้าไปแทรกแซง ครอบงำกระบวนการสรรหา หรือพยายามผลักดันคนที่มีส่วนได้เสียเข้าไปจนกลายเป็นจุดอ่อนและเกิดปัญหาซ้ำรอยเดิมอีก

          “พท.”จวกยิ่งกว่าเด็กเล่นขายของ
          ขณะที่นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ยิ่งกว่าเด็กเล่นขายของ เพราะสนช.เป็น 1 ในแม่น้ำ 5 สายของคสช. จะปฏิเสธไม่รู้ ไม่เห็น ไม่มีใบสั่ง ก็ไม่มีใครเชื่อ ถึงขนาดผู้ใหญ่บางคนที่รัฐบาลนี้เคยเชิญให้มาร่วมงานยังกล่าวว่าคนไทยไม่ได้กินหญ้า นอกจากนี้ยังมีร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.ป.การได้มาซึ่งส.ว.ที่ยังค้างคาอยู่ในสนช.ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือออกก้อย ทั้งหมดทั้งมวลที่เกี่ยวกับกระบวนการนำพาประเทศสู่ประชาธิปไตยปรากฏว่า คสช.และรัฐบาลไม่มีการดำเนินการที่ชัดเจนที่คาดการณ์ได้ ฉะนั้นคสช.และรัฐบาลอย่าโทษใครที่ประเทศขาดความเชื่อมั่น ทำตัวเองทั้งสิ้น และในฐานะคนไทยคนหนึ่งขอเสนอทางออกให้รัฐบาลมีความจริงใจ สร้างความชัดเจนทางการเมืองที่จะนำพาประเทศสู่ประชาธิปไตย ให้ประชาชนและชาวโลกคาดการณ์อนาคตของประเทศไทยได้ด้วย
 
          ‘จาตุรนต์’ เชื่อทำให้เลือกตั้งเลื่อน
          ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการล้ม 7 ว่าที่กกต.จะเป็นการพยามยื้อการเลือกตั้งหรือไม่ ว่า โดยผลของมันจะเป็นการทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปอยู่แล้ว และอาจจะยืดได้มากด้วย เพราะไม่รู้ว่าจะมีใครมาสมัคร หรือสรรหา กกต.ใหม่ได้สำเร็จเมื่อไหร่ คนที่มีคุณสมบัติอาจจะไม่อยาก หรือไม่กล้ามาสมัคร และหากเมื่อได้ตัวบุคคลที่มีคุณสมบัติมาแล้ว ถ้าไม่ใช่คนตามสเปกของผู้มีอำนาจก็อาจจะมีใบสั่งไม่ให้เห็นชอบอีกก็ได้ เพราะเรื่องทั้งหมดอยู่ที่กกต.ใหม่จะต้องเป็นคนที่ผู้มีอำนาจมั่นใจว่าจะควบคุมสั่งการได้ เพราะกกต.ใหม่ตามรัฐธรรมนูญนี้จะมีอำนาจมาก ซึ่งจะให้คุณให้โทษต่อการเลือกตั้งได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้เกิดการแบ่งกันระหว่างคนนอก กับคนที่เป็นส.ส.ว่าใครจะได้เป็นนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาล หาก กกต.เข้าข้างใครข้างหนึ่งก็จะมีผลมาก

          องอาจชี้ผู้มีอำนาจไม่ควรแทรกแซง
          ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่แปลกเหมือนกัน ที่บุคคลซึ่งผ่านการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหามาเรียบร้อยแล้วไม่มีใครที่เหมาะสมพอที่สนช.จะเห็นชอบได้เลย ถ้าผลการลงมติออกมาว่ามีทั้งเห็นชอบและไม่เห็นชอบน่าจะสมเหตุสมผลมากกว่า หากบอกว่าเพราะผู้ได้รับการสรรหาส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์ในการจัดการเลือกตั้งนั้น น่าจะไม่ใช่เหตุผลหลักในการพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เพราะกกต.เกือบทุกชุดที่ผ่านมาก็มีทั้งกกต. ที่มีประสบการณ์และไม่มีประสบการณ์ในการจัดสรรการเลือกตั้งคละเคล้ากันไป และครั้งนี้ย่อมทำให้คณะกรรมการสรรหาทำงานยากลำบากมากขึ้น เพราะไม่รู้ว่าสนช.ต้องการกกต.แบบไหน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์กติกาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมืองรวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ กกต.จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้มีอำนาจไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องแทรกแซงโดยเด็ดขาด และไม่ควรมีการกระทำใดๆ ทั้งจากผู้มีอำนาจและเครือข่ายที่ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย เพราะจะก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในการเลือกตั้งซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกไม่รู้จบ

          “มาร์ค”แนะทบทวนปัญหาปม 7 กกต.
          ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติไม่รับรองรายชื่อบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 7 ราย ว่าคณะกรรมการสรรหาและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหาทั้งหมดจะต้องมาทบทวนเกี่ยวกับปัญหาที่ผ่านมาว่าเกิดอะไรขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีก และทำให้เกิดความราบรื่นในการสรรหารอบใหม่ ขณะที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ควรจะต้องสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้ทุกอย่างสามารถเดินตามโรดแม็พได้ ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่านายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการกกต. จะลาออกจากตำแหน่งนั้น มองว่าตามกฎหมายก็มีเขียนไว้ชัดเจนว่าหากจำนวนที่เหลือสามารถทำงานได้ก็ทำต่อไป แต่ถ้าทำงานไม่ได้ก็จะต้องสรรหาเข้ามาแทนได้ ส่วนกรณีที่มองว่าการกำหนดสเปกของ กกต.ใหม่สูงเกินไปจึงเป็นอุปสรรคในการสรรหานั้น คิดว่าไม่ใช่เป็นประเด็นหลัก เพราะมีบุคคลที่มีคุณสมบัติอีกมากมายไม่กล้าเข้ามาดำรงตำแหน่ง ดังนั้นคณะกรรมการสรรหาจะต้องสร้างความเชื่อมั่น เพื่อให้บุคคลอื่นๆ สามารถกล้าที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง อย่างไรก็ตามแม้เรื่องดังกล่าวจะไม่กระทบโรดแม็พเพราะหากไม่มี กกต.ชุดใหม่ กกต.ชุดปัจจุบันยังสามารถทำงานได้ แต่ก็อยากให้มีกกต.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อเนื่องมารับผิดชอบ

          ไม่สนสุเทพเทือกตั้งพรรคใหม่
          นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปท.) และแกนนำ กปปส. เตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ว่านายสุเทพได้ประกาศลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปนานแล้ว ดังนั้นก็ถือเป็นสิทธิของนายสุเทพ หากจะมีการตั้งพรรคใหม่ก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมายในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งจะต้องหาผู้ร่วมจัดตั้งและประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และหากมีการตั้งพรรคใหม่จริงก็จะต้องแข่งขันกันในการเลือกตั้ง ซึ่งก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร และไม่มีความกังวลว่ากรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสมาชิกพรรคที่ยังมีบางส่วนศรัทธาในตัวนายสุเทพ เพราะถือเป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะตัดสินใจจะอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ต่อหรือไม่ ส่วนพรรคของนายสุเทพมีอุดมการณ์สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ถือว่าตรงกับอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์หรือไม่นั้น อุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องสนับสนุนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

          วิทยาฟันธงคงอยู่แค่เบื้องหลัง
          ขณะที่นายวิทยา แก้วพลาดัย อดีตแกนนำกปปส. กล่าวถึงกระแสข่าวการตั้งพรรคการเมืองใหม่ของนายสุเทพ ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งพรรค เพราะมีหน้าที่เป็นกรรมการมูลนิธิเท่านั้น ดังนั้นก็ต้องเป็นหน้าที่ของคนที่จะมาตั้งพรรค ซึ่งคิดว่านายสุเทพ คงไม่รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคหรอก จึงไม่ทราบว่าเตรียมการตั้งพรรคกันอย่างไร พร้อมทั้งคิดว่าการตั้งพรรคการเมืองเป็นเรื่องดี ทั้งนี้คิดว่าภารกิจการปฏิรูปประเทศถือเป็นภารกิจหลักของกปปส. เพราะรับความเห็นของประชาชนมาว่าต้องปฏิรูปให้สำเร็จ แม้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะพยายามดำเนินการก็ตามแต่ก็ยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร ดังนั้นถ้ามีพรรคการเมืองที่เน้นการปฏิรูปร่วมกันกับรัฐบาลก็จะทำให้อะไรต่างๆ ดีขึ้น

          เมื่อถามว่าการที่นายสุเทพเคยประกาศชัดว่าจะไม่ลงเล่นการเมือง แล้วปรากฏว่าจะตั้งพรรค นายวิทยา กล่าวว่า คิดว่าไม่ได้ลงสมัครเลือกตั้ง และไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค แต่คิดว่าคนเราก็ควรมีสิทธิ์ที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองได้ ซึ่งน่าจะวางบทบาทแบบนี้ ส่วนที่ถามว่าพรรคดังกล่าวจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ หรือไม่นั้น เบื้องต้นต้องย้อนไปก่อนว่าถ้าให้พรรคเพื่อไทยมาปฏิรูปคงยาก ตราบใดที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยังเป็นผู้บงการพรรคแบบนี้ และต้องรอฟังคำสั่งอะไรต่างๆ จะมาบิดเบือนว่าไม่ใช่ ก็ไม่จริง ดังนั้นพรรคที่จะมาปฏิรูปการเมืองจะสมคบคิดกับระบอบทักษิณไม่ได้เด็ดขาด ตนเองก็ไม่เอาด้วย ส่วนจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ใช่หรือไม่นั้น ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดตอนนี้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่คิดว่าทิศทางควรจะเป็นเช่นนั้น

          โพลล์ชี้ค้านตั้งพรรคใหม่สืบอำนาจ
          วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,185 คน ระหว่างวันที่ 21-24 กุมภาพันธ์นี้ ในหัวข้อ “พรรคการเมืองใหม่ในสายตาประชาชน” เนื่องจากมีกระแสข่าวการตั้งพรรคการเมืองใหม่ ส่งผลให้บรรยากาศทางการเมืองไทยคึกคัก โดยเฉพาะการจัดตั้งพรรคใหม่ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ถูกจับตาและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ซึ่งผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 53.87 ไม่รู้ว่าจะมีการตั้งพรรคการเมืองใหม่ เนื่องจากไม่ได้ติดตามข่าวสารการเมืองร้อยละ 46.13 รู้ เพราะอยากรู้ความคืบหน้า ติดตามข่าวเป็นประจำ

          ขณะที่ร้อยละ 58.95 ไม่เห็นด้วยหากตั้งพรรคใหม่เพื่อสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะพรรคการเมืองควรเป็นอิสระ เป็นกลาง มีนโยบายชัดเจน เน้นทำเพื่อประชาชน พัฒนาบ้านเมือง ไม่ควรสนับสนุนใครที่เป็นการสืบทอดอำนาจ ส่วนร้อยละ 35.37 เห็นด้วย เพราะเป็นสิทธิที่ทำได้ ทำให้มีพรรคใหม่ๆ ตัวเลือกมากขึ้น ส่วนประชาชนคิดอย่างไรกับการที่มีการจัดตั้งพรรคมวลมหาประชาชนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นั้น ประชาชนร้อยละ 45.69 เห็นว่าเป็นทางเลือกให้ประชาชาชน ขณะที่ร้อยละ 38.25 มองว่า กระทบกับฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์

          เมื่อถามว่าการจัดตั้งพรรคใหม่มีผลต่อการเมืองไทยอย่างไร พบว่าประชาชนร้อยละ 48.88 มองว่าเป็นการเพิ่มสีสันทางการเมือง บรรยากาศคึกคัก ร้อยละ 41.38 มีพรรคเพิ่มมากขึ้นหลากหลาย ประชาชนมีตัวเลือก และร้อยละ 35.23 มองว่า เกิดการแข่งขันนำสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อย่างไรก็ตามการตั้งพรรคการเมืองใหม่ไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกส.ส.เพราะอยู่ที่นโยบายพรรคและตัวผู้สมัคร
สมชัยยืนยันไม่ลาออกแน่

          ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกระแสข่าวเตรียมลาออกจากตำแหน่งกกต. เพราะไม่อยากเป็นคดีความหากจัดการเลือกตั้ง ว่าจะไม่ลาออกจากตำแหน่งแน่นอน เพราะวิธีการดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดผลดี และยังทำให้สถานการณ์บ้านเมืองหลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติไม่รับรอง 7 กกต.ใหม่อยู่ในภาวะที่ติดขัดมากยิ่งขึ้น เพราะหากมีกกต.ชุดปัจจุบันลาออก 2 คนจะเป็นการนำไปสู่ภาวะสุญญากาศ คือไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่างๆ ที่เป็นภารกิจหน้าที่เตรียมการเลือกตั้งของกกต.ได้ ดังนั้นจึงไม่ควรตัดสินใจใดๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อบ้านเมือง อย่างไรก็ตามในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 14.00 น. ที่ว่าจะมีการแจ้งผลการตัดสินใจบางอย่างต่อผู้สื่อข่าวนั้น เป็นเรื่องของการตัดสินใจส่วนตัว ไม่ใช่มติ กกต.และไม่ใช่เรื่องลาออก แต่เป็นการตัดสินใจเพื่อให้เกิดผลที่ดีที่สุดแก่ทุกฝ่าย และน่าจะทำให้การส่งต่องานระหว่างกกต.ชุดใหม่และชุดเก่า ไม่ว่าจะมาเมื่อใด หรือเข้าใกล้การเลือกตั้งเพียงใด ก็น่าจะช่วยให้การส่งมอบงานมีความราบรื่นมากขึ้น

          แหล่งข่าวอย่างไม่เป็นทางการรายงานว่า คำพูดของนายสมชัยน่าจะเป็นการตัดสินใจในการลงสมัครรับคัดเลือกเป็นเลขาธิการ กกต. ซึ่งเป็นการยอมลดตำแหน่งตนเองไปสู่ตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานภายใต้การบังคับบัญชาของ กกต.ที่เหลือ ซึ่งสามารถเป็นตัวเชื่อมระหว่างกกต.ใหม่และกกต.เก่า แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า กกต.อีก 4 คนที่เหลือจะตัดสินใจเลือกหรือไม่ เรื่องนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้

          เพื่อไทยยก3ข้อเสนอทางออกปท.
          วันเดียวกัน นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สถานการณ์บ้านเมืองยังอึมครึม ต่างฝ่ายต่างยึดแนวคิดของตน ยังจูนกันไม่ค่อยติด แต่เชื่อว่ายังมีทางออกของประเทศที่เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายวินวิน คือ 1.เปิดให้ประชาชนและพรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น โดยการยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ห้ามคนชุมนุมตั้งแต่ 5 คน และยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม 2.คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลควรสร้างความชัดเจนทางการเมืองให้เกิดขึ้น เนื่องจากเลื่อนโรดแม็พซ้ำๆ ทำให้คนไม่เชื่อ ไม่ไว้วางใจ และเสนอให้รัฐบาลและคสช.สร้างฉันทานุมัติ 2561 ร่วมกันของฝ่ายต่างๆ ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด การปล่อยให้กำหนดการเลือกตั้งคลุมเครือต่อไปไม่เป็นผลดีต่อใคร แม้แต่รัฐบาลและคสช.เอง และ 3.เหตุผลของการรัฐประหารเรื่องหนึ่งคือเพื่อสร้างความรักความสามัคคีในชาติ แต่ขณะนี้ยังไม่สำเร็จ ดังนั้นประเทศยังมีทางออกที่ดี ง่ายและตรง อยู่ที่ผู้มีอำนาจจะทำหรือไม่ การคุ้มครองสิทธิเป็นการแสดงออกที่เข้มแข็ง ไม่ใช่อ่อนแอ การทำให้บ้านเมืองกลับมาเป็นปกติสุขและสร้างความชัดเจนทางการเมือง ทุกคนมีแต่ได้

          โพลล์ปลื้ม 3ปีครึ่ง‘บิ๊กตู่’ยังทำงานได้ดี
          ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “3 ปี 6 เดือน ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ระหว่างวันที่ 19–21 กุมภาพันธ์ 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่างเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการดำรงตำแหน่งครบ 3 ปี 6 เดือน ซึ่งผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 20.16 ระบุว่า ทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ดีมาก เพราะมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงานได้ดี มีความเด็ดขาดในการทำงาน มีความโปร่งใส ส่วนร้อยละ 19.68 ระบุว่าทำงานได้ไม่ค่อยดี เพราะการทำงานยังมีจุดบกพร่อง คือรัฐบาลไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และมีการปกป้องพวกพ้องการบริหารงานต่างๆ ล่าช้า ไม่สามารถทำตามโรดแม็พได้

          เมื่อถามถึงลักษณะการทำงานในรอบ 3 ปี 6 เดือน ของพล.อ.ประยุทธ์ ในด้านต่างๆ พบว่าด้านอุดมการณ์ในการทำงานประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 71.60 ระบุว่ามีอุดมการณ์และความตั้งใจทำงานเพื่อชาติและประชาชน รองลงมาร้อยละ 24.24 ระบุว่า ไม่มีอุดมการณ์คิดแต่จะทำงานเพื่อรักษาอำนาจของตนเองและ คสช.เท่านั้น ด้านความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในการทำงานนั้น พบว่า ร้อยละ 55.28 ระบุว่า การทำงานมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ขณะที่ร้อยละ 32.40 ระบุว่า การทำงานไม่มีความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในเดือนสิงหาคม 2560 พบว่ามีสัดส่วนของผู้ที่ระบุว่าการทำงานมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ลดลง

          “วิษณุ”ติดอับดับ1-ไร้ชื่อบิ๊กป้อม
          ส่วนความประทับใจในการทำงานของครม. รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 5 อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.68 ระบุว่า ประทับใจในการทำงานของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 38.72 ระบุว่าเป็น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อันดับ 3 ร้อยละ 36.24 ระบุว่าเป็น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย อันดับ 4 ร้อยละ 34.56 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน และร้อยละ 34.48 ระบุว่าเป็น พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ยุติธรรม ซึ่งเมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อปี 2560 พบว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ได้รับคะแนนความประทับใจในการทำงานเป็นอันดับ 1

          “บิ๊กฉัตร”แจงเด้ง“ปลัด-รองปลัดพม.”
          ที่สนามกีฬาแห่งชาติ พล.อ.ฉัตรฉัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดตัวนักวิ่งในกิจกรรม “วิ่งด้วยกัน 123” ว่า วันนี้เป็นวันดีที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับบริษัทกรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และภาคีเครือข่ายในการจัดกิจกรรมวิ่งนี้ขึ้นมาเพื่อประกาศให้โลกได้รู้ถึงความสำคัญของการออกกำลังกาย และที่พิเศษคือวันนี้เป็นการออกกำลังกายร่วมกับผู้พิการ อย่างไรก็ตามได้หารือกับทพ.ปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส.ถึงการสนับสนุนโครงการแบบนี้อีกทั่วประเทศ เพราะรัฐบาลสนับสนุนส่งเสริมให้คนไทยออกกำลังกาย

          พล.อ.ฉัตรชัย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีคำสั่งย้ายนายพุฒิพัฒน์ เชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และนายณรงค์ คงคำ รองปลัด พม.ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นการสั่งย้ายไปเพื่อเปิดทางให้มีการสอบข้อเท็จจริงกรณีมีการทุจริตเงินช่วงเหลือคนยากไร้ ให้มีความโปร่งใส เพราะทั้ง 2 คนมีชื่อที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รายงานมา การย้ายจึงถือเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ได้ขาดจากตำแหน่งปัจจุบัน และตนยังไม่มีงานอะไรที่จะมอบหมายให้ทั้ง 2 คนทำเป็นพิเศษ เชื่อว่าการตรวจสอบจะเป็นไปตามกระบวนการ และขออย่าไปเร่งรัดมาก ขณะเดียวกันได้กำชับไปยังรมว.พัฒนาสังคมฯ แล้วในเรื่องของการดูแลขวัญกำลังใจของข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ว่าทุกองค์กรมีทั้งคนดี และคนไม่ดี คนที่ทำดีเราก็ต้องให้กำลังใจกันต่อไป ส่วนคนที่ทำไม่ดีก็ต้องมีการลงโทษ

          แฉป.ป.ช.ส่ออุ้มนายกฯ-ครม.
          วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า ได้รับจดหมายของป.ป.ช. และเมื่อเปิดอ่านดูจึงเห็นข้อมูลที่ป.ป.ช. ชี้แจงผลการตรวจสอบกรณีที่ร้องว่า นายกฯ ครม. และสนช. การจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณ 61 จำนวน 2.9 ล้านบาท ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น ซึ่ง ป.ป.ช. ยอมรับว่า การจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณ 61 นั้นทำขึ้นในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่ร้องจริง และขอให้ตนไปให้ข้อมูลเพิ่มตามในเช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ด้วย โดยในจดหมายดังกล่าว ป.ป.ช.กลับชี้แจงเหตุผลในลักษณะที่ส่อไปในทางอุ้มหรือเพื่อช่วยนายกฯ ครม. และสนช. ไม่ต้องถูกชี้มูลความผิด โดยระบุว่า “การที่รัฐธรรมนูญกำหนดหลักการให้มีการตรากฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ และการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติไว้ดังกล่าว มีความชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญยินยอมให้มีการจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีในช่วงเวลาระหว่างการตรากฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ และการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติได้”

          นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า การที่ป.ป.ช.ไปทำหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญว่ายินยอมให้มีการฝ่าฝืนหรือไม่ทำตามรัฐธรรมนูญได้นั้น เป็นการตีความที่ขัดรัฐธรรมนูญและไม่ใช่หน้าที่ของป.ป.ช. กรณีนี้จึงทำให้ตนเชื่อว่า ป.ป.ช.ไม่กล้าตรวจสอบหรือชี้มูลรัฐบาลและสนช.ชุดนี้ด้วยการไม่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งถ้าเป็นรัฐบาลหรือสภาชุดก่อนๆ ไม่ทำตามกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ คงโดนชี้มูลความผิดไปแล้ว อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ตนต้องไปโต้แย้งความเห็นของป.ป.ช. อย่างแน่นอน พร้อมทั้งจะร้องเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญต่อไปว่า การที่รัฐบาลเตรียมจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมอีก 1.5 แสนล้านบาท จะผิดต่อรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่ เพราะงบเพิ่มเติมดังกล่าวมีแผนการที่นายกฯ อนุมัติไว้อย่างชัดเจนว่าจะให้ ครม.อนุมัติในวันที่ 13 มีนาคม 2561 และให้สนช.อนุมัติสามวาระรวดในวันที่ 22 มีนาคม 2561

          "การใช้จ่ายเงินแผ่นดินของรัฐบาลสำหรับงบปี 2561 จำนวน 2.9 ล้านล้านบาท และงบเพิ่มเติมปี 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท จึงเป็นกรณีที่เห็นได้ว่ารัฐบาลและสนช.ตรากฎหมายเพื่อใช้เงินแผ่นดินในงบปี 2561 โดยขัดรัฐธรรมนูญ และความเห็นของ ป.ป.ช.ที่ยินยอมให้รัฐบาลและสนช.ทำได้นั้น ไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญ ผมจึงจะไปให้ถ้อยคำและยื่นร้องเพิ่มเติมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 09.30 น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ” นายเรืองไกร กล่าว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ