ข่าว

นาฬิกาส่อมวยล้ม 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ป.ป.ช.” คาดปมนาฬิกาหรู สรุปได้ภายใน ก.พ. แบไต๋หากสอบได้ว่าเป็นของบุคคลอื่น “บิ๊กป้อม” ไม่ต้องแสดงในบัญชีทรัพย์สิน ด้าน “วัชรพล” ขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีแล้ว

 

          “ป.ป.ช.” คาดปมนาฬิกาหรู สรุปได้ภายใน ก.พ. แบไต๋หากสอบได้ว่าเป็นของบุคคลอื่น “บิ๊กป้อม” ไม่ต้องแสดงในบัญชีทรัพย์สิน ด้าน “วัชรพล” ขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีแล้ว ขณะที่ “ประวิตร” รูดซิปปาก ทีมรปภ.6 คนประกบติดกันสื่อเข้าใกล้ “สุเทพ” พร้อมแกนนำ กปปส.สู้คดีกบฏ ด้านศาลให้ประกันตัวสั่งห้ามออกนอกประเทศ สหรัฐแถลงจุดยืนหวังไทยจัดเลือกตั้งพ.ย.61 ขณะที่ “บิ๊กตู่” ตั้งคณะกรรมการไทยนิยมยั่งยืน “ขนครม.-ปลัด-ผบ.เหล่าทัพ-สมช.” ร่วมทีม

         ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงถึงความคืบหน้าการตรวจสอบนาฬิกาและแหวนเพชร ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ว่า ปัจจุบันมีภาพนาฬิกาปรากฏผ่านสื่อทั้งหมด 25 เรือน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่จะต้องตรวจสอบความมีอยู่จริง การตรวจสอบเบื้องต้นได้ให้รองนายกฯ ชี้แจง ซึ่งมีการชี้แจงผ่านสื่อว่าไม่ใช่ของท่าน ก็เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ต้องตรวจสอบเพื่อยืนยันข้อมูล ทั้งนี้จากการที่สื่อนำเสนอข้อมูลนาฬิกาทั้ง 25 เรือนนั้น บางเรือนมีรูปที่ไม่ชัดเจน บางเรือนเห็นเพียงแค่สาย จึงต้องตรวจสอบว่าข้อมูลเท็จจริงเป็นอย่างไร มี 25 เรือนจริงหรือไม่ หรืออาจเป็นภาพซ้ำ ซึ่งความจริงแล้วอาจมีแค่ 15 เรือน และต้องตรวจสอบว่าเป็นนาฬิกาของใคร ใครเป็นเจ้าของ ส่วนการสอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้น สัปดาห์ที่ผ่านมาสอบพยานไปทั้งหมดแล้ว ยังเหลือพยานอีก 1 ราย ซึ่งเป็นพยานสำคัญ ขณะนี้อยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ โดยจะกลับมาสัปดาห์หน้าและมีการนัดหมายที่จะไปรับฟังการชี้แจงในสัปดาห์หน้า

          ป.ป.ช.แจงนาฬิกาหรูบิ๊กป้อม
          นายวรวิทย์ กล่าวว่า นอกจากนั้นได้สอบถามไปยังตัวแทนจำหน่ายด้วยแต่ยังตอบมาไม่หมด คิดว่าต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบสักพัก คาดว่าถ้ารวบรวมข้อมูลครบถ้วนเรียบร้อยข้อเท็จจริงยุติตามแผน ก็สามารถสรุปได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ อย่างไรก็ตาม ถ้านาฬิกาเป็นของบุคคลอื่น พล.อ.ประวิตรก็ไม่ต้องแสดง แต่หากเป็นของท่านต้องถามว่าท่านได้มาเมื่อไหร่ และถ้าได้มาก่อนรับตำแหน่งทำไมไม่แจ้งในบัญชีทรัพย์สิน แต่หากได้มาหลังจากรับตำแหน่งก็ยังไม่ถึงเวลายื่น ส่วนการให้ยืมจะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 103 หรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงเขายังไม่บอกว่าเป็นการให้หรืออะไร แต่ ป.ป.ช.ก็ดูครอบคลุมทั้งหมด หากเกี่ยวข้องกับกฎหมายเรื่องไหน เจ้าหน้าที่ก็ดูรอบด้านอยู่แล้ว ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา ได้นำเสนอความคืบหน้าในการรวบรวมข้อมูลกรณีดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ได้แถลงต่อที่ประชุมว่าเมื่อสำนักงาน ป.ป.ช.ได้รวบรวมข้อมูลเรื่องดังกล่าวแล้วเสร็จ และเสนอให้ ป.ป.ช.พิจารณา จะขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีนี้

          ชี้ผิดตามม.103ต้องตีเป็นเงินได้
          นายวรวิทย์ ให้สัมภาษณ์อีกครั้งกรณีนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุ พล.อ.ประวิตรอาจเข้าข่ายความผิดกฎหมายป.ป.ช. มาตรา 103 กรณีการให้หรือรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาทนั้นว่า การจะตีความกรณีการรับประโยชน์อื่นใดนั้น ต้องตีราคาเป็นตัวเงินได้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่เป็นข่าวเจ้าหน้าที่ไปใช้บริการสถานบริการวิคตอเรีย ซึ่งได้รับส่วนลดกี่เปอร์เซ็นต์ก็ว่าไปตามนั้น ซึ่งสามารถตีเป็นเงินได้ อาจเข้าข่ายความผิด แต่ในกรณีนาฬิกาหรูนั้น ไม่สามารถให้ความเห็นได้ว่า จะเข้าข่ายหรือไม่ ต้องให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเป็นผู้พิจารณาวิเคราะห์ อย่างไรก็ตามยืนยันว่า ป.ป.ช.จะพิจารณาทุกประเด็น เรื่องการเอาผิดตามมาตรา 103 ที่ผ่านมา ป.ป.ช. เคยเอาผิดประเด็นดังกล่าวมาแล้ว แต่จำไม่ได้จึงไม่สามารถบอกว่ามีกรณีใดบ้าง

          ส่องสัมพันธ์ลึกวัชรพล-บิ๊กป้อม
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาเหตุที่ พล.ต.อ.วัชรพลต้องถอนตัวจากการสอบสวนปมนาฬิกาหรู เพื่อลบข้อครหาที่สังคมจับตามอง เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าสายสัมพันธ์ของประธานป.ป.ช.กับพล.อ.ประวิตรสนิทแนบแน่นกันมายาวนาน ตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พล.ต.อ.วัชรพล ได้รับการวางตัวให้มาปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แทน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ถูกคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิก สนช. และได้รับตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ก่อนจะลาออกจาก สนช. และรองเลขาธิการฯ เพื่อลงสมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช. จนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธาน ป.ป.ช.ในที่สุด
ความสัมพันธ์นี้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อ พล.อ.ประวิตรส่งสัญญาณไปยังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และ สนช. ไม่ให้มีการเซตซีโร่ ป.ป.ช.ชุดนี้ ต่างจากองค์กรอิสระอื่นๆ ดังนั้นการชี้ขาดแหวนเพชรและนาฬิกาหรู ของ ป.ป.ช.ครั้งนี้ จึงมีผลต่อความเชื่อมั่นในสายตาประชาชนเป็นอย่างมาก รวมไปถึงภาพลักษณ์ข้อครหาเดิมที่มององค์กรอิสระในอดีตว่าถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง

          ยิ่งเมื่อเจาะลึกลงไปถึงการทำงานของ ป.ป.ช. 9 คน ยังแบ่งเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ที่ยังอยู่ในตำแหน่ง 4 คน ประกอบด้วย นายปรีชา เลิศกมลมาศ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง นายณรงค์ รัฐอมฤต และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กับกรรมการ ป.ป.ช.ที่เพิ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุม สนช.อีก 5 คน คือ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ และนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร ซึ่งแรงกดดันนี้ไม่ได้พุ่งเป้าไปเฉพาะ ป.ป.ช.เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อรัฐบาล นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศเดินหน้าปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นถึงขั้นหยิบยกให้เป็นวาระแห่งชาติ และไม่คบคนโกง

          “วีระ”สวนทำไมไม่แจงทรัพย์สิน
          ด้านนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กแสดงความเห็นกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ยุติปมนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร ปล่อยให้เป็นหน้าที่ ป.ป.ช.ตรวจสอบ เพราะมองเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทุจริตงบประมาณแผ่นดินว่า พล.อ.ประยุทธ์บอกนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตรเป็นเรื่องส่วนตัว พูดออกมาอย่างไม่มีสำนึกและความรับผิดชอบ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องที่จงใจปกปิด ถ้าสุจริตและโปร่งใสทำไมไม่แจ้งบัญชีต่อ ป.ป.ช. ประชาชนสงสัยพล.อ.ประวิตรว่าทำไมจึงร่ำรวยผิดปกติ และอยากรู้ที่มาของเงินที่เอามาซื้อนาฬิกาหรู หากเป็นเงินที่ได้มาจากการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ นั่นไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเพราะรัฐและประชาชนเสียหาย
ทีมรปภ.เข้ม“บิ๊กป้อม”สกัดสื่อ

          ด้านความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประวิตร พบว่าได้เดินทางมาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อมาถึง ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงการที่รัฐบาลจะซื้อลิขสิทธิ์ให้คนไทยได้ดูบอลโลก และเรื่องที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน “ฮิวแมนไรท์ วอทช์” เสนอรายงานต่อสภาของสหภาพยุโรป(อียู) โดยแนะนำว่าถึงเวลาที่ต้องปิดตลาดประมงไทยแล้ว เพราะรัฐบาลไทยแก้ปัญหาไม่ถึงแก่น แต่พล.อ.ประวิตรเดินหน้าอมยิ้ม ไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ทีมรักษาความปลอดภัยของพล.อ.ประวิตร มีการเตรียมการอย่างดี โดยใช้ทีมรักษาความปลอดภัยถึง 6 คน ในการสกัดกั้นไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าใกล้ หลังจากเมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา ทีมรปภ.ถูกตำหนิว่าทำไมไม่กันผู้สื่อข่าว ปล่อยให้เข้ามาได้อย่างไร จากนั้นเวลา 12.00 น. ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พล.อ.ประวิตรได้เดินลงจากตึกบัญชาการ 1 ด้วยสีหน้าเรียบเฉย มุ่งหน้าขึ้นรถยนต์เพื่อออกจากทำเนียบรัฐบาล โดยมีคณะผู้ติดตามและเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย 6 คน เดินตามขนาบข้างซ้ายขวาตั้งแต่ประตูเข้า-ออกตึก จนถึงประตูรถ

          “เพื่อไทย” แถลงต้านยืดกฎหมายส.ส.
วันเดียวกัน พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์เรื่องขอคัดค้านการเลื่อนระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทยเห็นว่าการมีมติดังกล่าวขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยมีวาระทางการเมืองแอบแฝง เปิดช่องให้มีการสืบทอดอำนาจและอยู่ในตำแหน่งต่อไป กล่าวคือ 1.คสช.ใช้เทคนิคหรืออภินิหารทางกฎหมายหลายครั้ง ซึ่งอาจทำให้เข้าใจว่าต้องการอยู่ในอำนาจให้ยาวนานที่สุดหรือไม่ 2.เมื่อพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ประกาศใช้แล้ว กฎหมายได้กำหนดให้พรรคการเมืองที่มีอยู่ คงเป็นพรรคการเมืองต่อไป และรับรองสมาชิกพรรคให้เป็นสมาชิกพรรคต่อไป และได้กำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงานด้านธุรการของพรรคเพื่อเตรียมพร้อมในการเลือกตั้ง แต่ คสช. และ กกต.กลับตีความว่าประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองมีผลใช้บังคับอยู่ ทำให้พรรคการเมืองไม่อาจปฏิบัติตามกฎหมายได้ แทนที่ คสช.จะยกเลิกประกาศและคำสั่งดังกล่าว กลับออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ซึ่งมีแต่เกิดผลเสียต่อพรรคการเมืองเดิม แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มการเมืองที่เตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่หรือไม่

          3.ระหว่างมีการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ของสนช. คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กลับเสนอให้มีการเลื่อนระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก 90 วัน โดยอ้างเรื่องเงื่อนไขและกรอบเวลาตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ทำให้ คสช. สนช. รวมถึง องค์กรในเครือข่ายของ คสช.ได้อยู่ในอำนาจต่อไป เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง และเปิดโอกาสให้หัวหน้า คสช.ใช้ทรัพยากรของรัฐในการหาเสียงล่วงหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ หรือไม่ 4.การขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมาย เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถจัดประชุม จัดหาสมาชิก เตรียมผู้สมัคร อาจรวมถึงการหาเสียงล่วงหน้าได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 แล้ว การขยายเวลาไปอีก 90 วัน ย่อมทำให้กลุ่มการเมืองนี้ มีเวลาเตรียมการสำหรับส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งถึงหนึ่งปีเต็ม ขณะที่พรรคการเมืองเดิมยังไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ เมื่อมีการยืดเวลาบังคับใช้กฎหมายต่อไปเท่าใดก็จะมีผลกระทบต่อพรรคการเมืองเดิมมากยิ่งขึ้นเท่านั้น 

          5.อาจเห็นชัดเจนแล้วว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นย่อมมิได้เป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรมตามหลักการสากลหรือไม่ และ 6.การที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ต่อประชาชนและนานาชาติและยืนยันคำประกาศดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง ว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 การเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งออกไปจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น พรรคเพื่อไทยจึงขอคัดค้านและไม่เห็นด้วยต่อการเลื่อนระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งออกไปอีก 90 วัน และขอให้เร่งคืนอำนาจให้แก่ประชาชนตามโรดแม็พที่ประกาศไว้

          “วิษณุ”ชี้สนช.ต้องแจงให้ชัด
          ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์คัดค้านการขยายเวลาบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตามข้อเสนอของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากมองว่า ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ว่า ไม่ขอออกความเห็นในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องของ สนช. ที่จะพิจารณากฎหมายนี้ในวันที่ 25 มกราคมนี้ ทั้งนี้การทำงานทุกอย่างมีขั้นตอนอยู่แล้ว อีกทั้งทาง สนช.ก็ยังไม่ทราบว่าจะมีการปรับแก้หรือไม่ ซึ่งเมื่อเข้าที่ประชุมใหญ่ก็มีทางอยู่ 3 ทาง คือ 1.ตามร่างเดิมที่ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ในวันถัดไปหลังมีมติเห็นชอบ 2.ตามที่กรรมาธิการฝ่ายข้างมากเสนอให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วัน และ 3.ตามที่ฝ่ายกรรมาธิการฝ่ายข้างน้อยเสนอให้เลื่อนบังคับใช้กฎหมายออกไป 120 วัน ซึ่งก็อาจจะกระทบโรดแม็พการเลือกตั้งหรือไม่ก็ได้ และอาจต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกประมาณ 1 เดือน แต่จะต้องอธิบายและชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบเหตุผลว่าเพราะอะไรถึงเลื่อนออกไป เชื่อว่าทุกคนเข้าใจในส่วนนี้

          ชี้พรรคการเมืองใช้ทุกวิธีปลดล็อก
          ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีพูดแล้ว นายกฯ ตอบว่าไม่เป็นไร ว่าไปตามขั้นตอน ไม่มีความผิดที่จะสงสัยหรือจะยื่น ส่วนยื่นไปแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่ก็ว่าไป ถ้าบอกว่าขัดก็ปรับแก้ ถ้าไม่ขัดก็ใช้ไป

          เมื่อถามว่าการใช้วิธีไปยื่นเรื่องเพราะต้องการให้ปลดล็อกทางการเมืองหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ทราบมานานแล้วว่าพรรคการเมืองต้องการให้ปลดล็อก จึงใช้ทุกวิธี

          “บิ๊กป๊อก”ลั่นงานเดินไม่ได้ต้องใช้ม.44
          ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสมาคมรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า จัดโครงการเสวนาเรื่อง “การปฏิรูประบบราชการ 4.0 ประชาชนอยากได้อะไร” โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานเปิดการเสวนา ตอนหนึ่งว่า การบริหารราชการแผ่นดินของทุกรัฐบาลต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนในทุกเรื่องโดยผ่านกลไกราชการเป็นระบบสำคัญ ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันพยายามนำพาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยใช้แนวทางประชารัฐ และใช้ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปของรัฐลงไปข้างล่าง โดยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 เป็นกรอบให้หน่วยงานต่างๆ ใช้ดำเนินงาน ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังพัฒนาระบบราชการคือ 1.พัฒนาการให้บริการประชาชน 2.ปฏิรูปกฎหมายที่ยังไม่สามารถให้บริการประชาชนได้ดี 3.การใช้ดิจิทัลเข้ามาในระบบราชการ รวมถึงการพัฒนาคนไปสู่ศตวรรษที่ 21 โดยต้องพัฒนาเรื่องการเรียนรู้ วิเคราะห์และสังเคราะห์ได้ ถ้าทำได้ครบก็จะพัฒนาไปสู่ไทยแลนด์ 4.0

          พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการทำงานของกรรมาธิการศึกษาระบบข้อมูลกำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินแบบประชารัฐ มองว่าถือเป็นเรื่องดี เพราะจะสะท้อนให้เห็นถึงการใช้งบประมาณ ใช้กลไกที่มีอยู่ว่าคุ้มค่าหรือไม่ ตอบสนองประชาชนหรือไม่ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีโครงสร้างการบริหารงานผ่านกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งให้รองนายกฯ เป็นผู้ขับเคลื่อน ติดตาม ดูแลและกำกับทุกแผนงาน โดยแบ่งการดูแลรัฐมนตรีเป็นกลุ่มๆ และแต่ละประเภท เช่น กลุ่มงานความมั่นคง กลุ่มเศรษฐกิจ นอกจากนี้รัฐบาลได้ตั้งกลไกป.ย.ป.ขึ้นมาอีกกลไกหนึ่งเพื่อให้ทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อนงานมากยิ่งขึ้น มาเสริมสิ่งที่มีอยู่ และถ้างานไปไม่ได้ก็ต้องใช้มาตรา 44

          ยันไม่มีใบสั่งให้ สนช.ยืด90 วัน
          นอกจากนี้ พล.อ.อนุพงษ์ ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ สนช.จะพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.โดยให้เลื่อนออกไป 90 วัน หลังมีผลบังคับใช้ ว่า “เป็นเรื่องของ สนช.จริงๆ ต้องบอกจริงๆ ว่า ไม่รู้เรื่อง เพราะเป็นหน้าที่ของ สนช.ที่ต้องพิจารณา” ส่วนที่ฝ่ายการเมืองออกมาระบุว่าไม่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าวนั้น เป็นหน้าที่ของ สนช.ที่จะต้องรับฟังข้อมูลตรงนี้ให้ถ้วนถี่ ทั้งนี้เมื่อเรียนเรื่องนี้ต่อนายกฯ ในที่ประชุม ครม. นายกฯ ก็บอกให้ยึดโรดแม็พเดิม ใครมีหน้าที่อะไรก็ให้ทำงานไปตามหน้าที่ของตนเอง ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาล คสช.เป็นผู้ตั้ง สนช.ขึ้นมานั้น อย่างนี้ไม่ใช่ข้อสังเกต แต่เป็นการกล่าวอ้าง ตอบได้เพียงว่า นายกฯ ยืนยันว่าให้ยึดตามโรดแม็พเดิม และยืนยันว่าไม่มีใบสั่งจากรัฐบาลอย่างแน่นอน ส่วนที่ สนช.ไปเสนอหรือคิดอะไรมา ก็ต้องตอบสังคมให้ได้

          ไม่แน่ใจเลือกท้องถิ่นก่อนเลือกตั้งใหญ่
          พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องกฎหมายท้องถิ่นหลังจากเมื่อวันที่ 23 มกราคม มีการนำเรื่องเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ว่า กฎหมายท้องถิ่นแบ่งออกเป็น 2 เรื่อง คือ เรื่องที่จะมีการปฏิรูปโครงสร้างท้องถิ่น เช่น การยุบ ควบรวม ฯลฯ ซึ่งส่วนนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่คาดว่าจะใช้เวลาตรงนี้ประมาณ 1 ปี อีกเรื่องคือเรื่องที่เข้าที่ประชุม ครม.เมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยสาระสำคัญว่าด้วยเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเข้ารับการเลือกตั้ง ขณะนี้ที่ทราบคือยังขาดความเห็นในส่วนของ กกต. หากส่งมาเมื่อใดทางกฤษฎีกาคงจะได้รวบรวมความเห็นและนำเข้าสภาต่อไป

          พล.อ.อนุพงษ์กล่าวต่อว่า สำหรับที่ถามถึงปฏิทินการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะต้องรอให้กฎหมายเสร็จก่อน และยังไม่สามารถระบุได้ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดก่อนหรือหลังการเลือกตั้งใหญ่ ส่วนประเด็นที่จะยุบ ส.ข.นั้น รายละเอียดส่วนนี้อยู่ในกฎหมายใหญ่ที่ได้บอกได้ คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี

          องอาจ ชี้่ปลดล็อกพรรคทุกอย่างจบ
          ขณะที่นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีมติขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วัน เป็นเพราะคำสั่ง คสช. 53/2560 จึงต้องแก้ไขร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส.ให้สอดคล้องกับคำสั่งคสช. เพื่อทำให้พรรคการเมืองมีเวลาจัดการประชุมใหญ่ เพื่อทำตามที่กฎหมายกำหนด การทำไพรมารีโหวตเพื่อเลือกผู้สมัครส.ส.ว่า ถ้าต้องการให้พรรคการเมืองมีเวลาเพียงพอที่จะปฏิบัติตามกฎหมายตามที่กล่าวอ้างจริง ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งส.ส.ออกไป 90 วันแต่อย่างใด เพราะวิธีการที่เหมาะสมคือการคลายคำสั่งประกาศคสช.ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ ถ้าคสช.กังวลว่าการคลายคำสั่งคสช.จะกระทบต่อความมั่นคง คสช.ก็อาจกำหนดกิจกรรมที่ไม่กระทบต่อความมั่นคง เช่น การรับสมัครสมาชิกพรรค การบริจาคเงินบำรุงพรรค การจัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรครวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่พึงกระทำได้ตามกฎหมาย ถ้าคสช.คลายคำสั่งประกาศคสช.ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม ก็ทำให้ไม่ต้องเขียนกฎหมายให้ขยายเวลาบังคับใช้ออกไป 90 วัน แต่อย่างใด

          “ในความเป็นจริงแล้วถ้าปลดล็อกคำสั่งประกาศคสช.หลังจากประกาศใช้กฎหมายพรรคการเมืองตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2560 ที่ผ่านมาเพื่อให้พรรคการเมืองทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ทุกอย่างก็เป็นไปตามโรดแม็พ และสามารถทำตามคำประกาศคำมั่นสัญญาของนายกฯ ที่จะมีการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2561 ได้โดยไม่มีปัญหา การขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งออกไปอีก 90 วันได้ ย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อนายกฯ และเกิดผลกระทบต่อประเทศโดยรวม ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจทั้งต่อคนไทย ที่รอคอยการเลือกตั้ง และเชื่อว่าการเลือกตั้งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจ ปากท้องที่กำลังย่ำแย่อยู่ขณะนี้ดีขึ้น จึงอยากฝากให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องการคลายคำสั่งคสช.จะช่วยแก้ปัญหาไม่ทำให้ต้องไปหาอภินิหารทางกฎหมายมาก่อให้เกิดความยุ่งยากต่างๆ มากมาย และอาจจะบานปลายก่อให้เกิดปัญหาตามมาในที่สุด” นายองอาจ กล่าว

          สหรัฐแถลงจุดยืนไทยเลือกตั้งปี61
          วันเดียวกัน นายจิลเลียน บอนนาร์โด โฆษกสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย แถลงถึงท่าทีและจุดยืนต่อการเลือกตั้งของประเทศไทยว่า สหรัฐยังมีท่าทีต่อการเลือกตั้งยังไม่เปลี่ยนแปลง สหรัฐยินดีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แสดงพันธกรณีต่อสาธารณชนในการจัดเลือกตั้งไม่เกินเดือนพฤศจิกายน 2561 และสหรัฐยังรอให้ประเทศไทยกลับคืนสู่การบริหารงานโดยรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยผ่านทางการเลือกตั้งที่เสรียุติธรรมเร็วที่สุด เรื่องนี้จะทำให้สหรัฐสามารถสร้างเสริมความสัมพันธ์เพื่อที่ประเทศไทยจะสามารถเป็นประเทศที่แข็งแกร่งและเป็นผู้นำในภูมิภาค

          “สุเทพ”รายงานตัว-ลั่นพร้อมสู้คดี
          ที่ศาลอาญา และสำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก อัยการคดีพิเศษ 4 นัดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส.และแกนนำ และแนวร่วมอีก 43 คน ผู้ต้องหาคดีกบฏ เข้ารายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งคดี ซึ่งบรรยากาศบริเวณศาลอาญาพบว่า เจ้าหน้าที่จัดกำลังตำรวจ-รปภ.พร้อมแผงกั้นเหล็กอย่างเข้มงวด เพื่อรอรับการส่งตัวผู้ต้องหาที่อัยการจะสั่งฟ้อง โดยวันนี้มีสื่อมวลชนและผู้ที่มาให้กำลังใจ มารอติดตามการส่งตัวผู้ต้องหาอย่างคึกคัก บริเวณทางเข้าอาคารสำนักงานอัยการที่อยู่ด้านข้างศาลอาญา ซึ่งเป็นสถานที่แรกรอผู้ต้องหามารายงานตัว แล้วหากอัยการสั่งฟ้องรายใด ก็จะนำตัวขึ้นรถตู้ที่เตรียมไว้ หรือเดินผ่านทางเชื่อมไปยังศาลอาญา แล้วแต่กรณีที่ผู้ต้องหาสมัครใจ โดยเวลา 08.00 น. นายอิสสระ สมชัย อดีตแกนนำ กปปส.เวทีห้าแยกลาดพร้าว เดินทางมาถึงสำนักงานอัยการฯ เป็นคนแรก จากนั้นเวลา 09.20 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. และแกนนำ กปปส.รายอื่นๆ อาทิ นายถาวร เสนเนียม นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมาถึงสำนักงานอัยการฯ พร้อมกันเป็นขบวนแกนนำ 9 คน

          ปัดเป็นกบฏ-ตรวจพยาน19มี.ค.
          นายสุเทพ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า พร้อมสู้คดี วันนี้เตรียมตัวมาแล้ว อัยการคงสั่งฟ้องแน่นอน รับสภาพเป็นจำเลยเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทุกคนอยู่กันครบไม่หนีไปไหน

          นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า หลังจากที่ผู้ต้องหาบางส่วนมาตามนัดที่สำนักงานอัยการคดีพิเศษ หลังจากขึ้นไปประสานงานพร้อมแล้ว จะแถลงขั้นตอนการดำเนินการต่อไป

          ต่อมาพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 นำตัว นายสุเทพและแกนนำ รวม 9 คน ยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญาในความผิดร่วมกันเป็นกบฏ ก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยศาลอาญาประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำ ที่ อ.247/2561 จากนั้น ศาลได้นำจำเลยทั้ง 9 คน ไปสอบคำให้การว่าจะรับสารภาพหรือจะให้การปฏิเสธในความผิด ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 9 คน ได้แถลงให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอต่อสู้คดี ศาลจึงนัดแนะตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 19 มีนาคม เวลา 09.00 น.

          ศาลให้ประกันห้ามออกนอกปท.
          อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทนายความของ 9 แกนนำ กปปส. ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันภัย บ.วิริยะประกันภัย คนละ 8 แสนบาท รวม 7.2 ล้านบาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีที่อัยการคดีพิเศษ 4 ได้ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำอีก 8 คน ร่วมกันกบฏและก่อการร้าย รวมทั้งความผิดอื่นรวม 9 ข้อหา โดยศาลพิจารณาคำร้องแล้ว อนุญาตให้จำเลยทั้ง 9 ราย ประกันตัวไป โดยตีราคาประกันคนละ 6 แสนบาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้งหมดออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้มีจำเลยจำนวนมากเพื่อให้กระบวนการพิจารณาเป็นไปโดยปราศจากอุปสรรค จึงเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขกับจำเลยซึ่งได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา ดังนี้ 1.ให้จำเลยดำเนินการแต่งตั้งทนายความเป็นที่เรียบร้อยก่อน หรือในวันนัดพร้อมเพื่อประชุมคดี ตรวจพยานหลักฐาน

          2.กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์–จำเลย ให้ถือวันนัดของศาลเป็นหลักสำคัญ หากทนายความจำเลยติดภารกิจหรือเจ็บป่วย ก็ให้จำเลยแต่งตั้งทนายความคนใหม่ ศาลจะไม่ให้อนุญาตให้เลื่อนคดีเพราะเหตุขัดข้องเรื่องทนายความ และศาลจะถือว่าเป็นพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางประวิงคดีอันเป็นอุปสรรคแก่การดำเนินคดีในศาลที่ศาลจะมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการสั่งปล่อยชั่วคราว

          อดีต 40 ส.ส.โต้ปมนิรโทษกรรม
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย 1 ใน 40 ส.ส.ที่ถูกยื่นฟ้องกรณีเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเมื่อปี 2556 ให้สัมภาษณ์ว่า ตัวแทน 40 ส.ส.ประมาณ 20 คน อาทิ นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ นางสมหญิง บัวบุตร อดีต ส.ส.อำนาจเจริญ นายธวัชชัย สุทธิบงกช อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นต้น จะเข้ายื่นเอกสารต่อป.ป.ช. ในวันที่ 25 มกราคมเวลา 10.00 น. เพื่อขอความเป็นธรรมและคัดค้านการไต่สวนกรณีที่ ป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมไต่สวนฯ ชุดที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธาน ทั้งนี้ อดีต 40 ส.ส.ไม่เห็นด้วยที่ ป.ป.ช.ตั้งอนุคณะกรรมการไต่สวนเรื่องดังกล่าว เพราะพวกเราใช้สิทธิในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติในการเสนอขอออกกฎหมาย และได้รับการคุ้มครองตามเอกสิทธิ์ ดังนั้น ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจในการตั้งอนุกรรมการไต่สวนเช่นนี้

          “บิ๊กตู่”ตั้งกก.“ไทยนิยม ยั่งยืน”
          วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 21/2561 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ลงวันที่ 23 มกราคม 2561 โดยเนื้อหาในคำสั่งระบุว่า ด้วยนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่ตามแนวทางประชารัฐ โดยให้ส่วนราชการ หน่วยงานที่มีหรือจะมีโครงการกิจกรรมลงดำเนินการในพื้นที่ระดับตำบล หมู่บ้าน ใช้ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” ระดับตำบลเป็นแกนหลัก และให้ทุกส่วนราชการ หน่วยงาน สนับสนุนกลไกขับเคลื่อนในพื้นที่ทุกระดับตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน

          จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และแก้ไขเพิ่มเติม จึงแต่งตั้งคณะกรรมการในระดับต่างๆ โดยมีองค์ประกอบในระดับต่างๆ และมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

          1.คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศโครงการไทยนิยมยั่งยืน จำนวน 61 คน มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ พ ล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ยุติธรรม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ มีกรรมการที่ประกอบด้วย นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมว.ทุกกระทรวง รวมทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงทุกกระทรวง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

          ครม.-ปลัด-ผบ.เหล่าทัพร่วมทีม
          ขณะที่ รมว.มหาดไทย เป็นกรรมการและเลขานุการ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และรองปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ สำหรับคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการบูรณาการขับเคลื่อนงานโครงการของส่วนราชการของหน่วยงานต่างๆ ที่มีเป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ในระดับหม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ