ข่าว

"ราเมศ" บอก สนช. อย่าเกรงใจใคร!! ดูร่าง ก.ม.ทุจริตให้ละเอียด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รองโฆษก ปชป.ห่วงร่าง ป.ป.ช. ด้อยประสิทธิภาพตรวจสอบ ชี้มาตรา "104,127" วางหลักตรวจสอบทรัพย์สินไม่ให้เปิดหมด ผิดปกติขัดแย้งในตัว ย้ำทุกระดับต้องพร้อมป้องกันทุจริต

           9 ธ.ค.60 - นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกและคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ สนช. ว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ได้ตรวจสอบแล้วมีหลายประเด็นที่จะทำให้กระบวนการตรวจสอบป้องกันการทุจริต ด้อยประสิทธิภาพอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งประชาชนอาจจะคิดโดยหลักทั่วไปว่าเมื่อกฎหมายที่ออกมาเพื่อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองและนักการเมืองในอนาคต ความจริงแล้วนักการเมืองหรือพรรคการเมืองก็ไม่ต้องออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านเพราะถ้าเกิดคนที่คิดร้าย คิดที่จะทุจริตในภายภาคหน้าพรรคการเมืองหรือนักการเมืองเหล่านั้นก็จะเงียบเพื่อประโยชน์จากกฎหมายที่ด้อยประสิทธิภาพ แต่พรรคประชาธิปัตย์เราไม่ได้คิดเช่นนั้น เหตุผลเพราะว่าพรรคยืนยันมาโดยตลอดว่าในการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมืองการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตคือสาระที่สำคัญที่สุด นโยบายของพรรคในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลในฐานะฝ่ายค้านในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ชัดว่าเราต่อต้านและให้ความสำคัญการป้องกัน ต่อต้านการทุจริตอย่างชัดเจน นี่คืออุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาท้วงติงเสนอแนะ เพื่อให้มีการยกร่างกฎหมายเพื่อให้เกิดสมบูรณ์ให้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติการเพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตอย่างแท้จริง ซึ่งหลายประเด็นเหล่านี้ก็จะมีการท้วงติงกฎหมายฉบับดังกล่าวหลายประเด็น เป็นระยะๆ 
            นายราเมศ คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตยื กล่าวอีกว่า วันนี้มี 2 ประเด็น ที่จะชี้ให้พี่น้องประชาชน ได้เห็นว่าการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ชอบมาพากล มีพิรุธในการยกร่างไม่มีเหตุและผลประกอบการยกร่างที่เพียงพอ โดยร่างมาตรา 104 กรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สินมาตราดังกล่าวนี้ให้คณะกรรมการ ปปช.เปิดเผยข้อมูล โดยสรุปของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี , สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)  , สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และตำแหน่งอื่นอีก 2 ตำแหน่ง โดยมีข้อยกเว้นว่าให้มีการเปิดเผยโดยสรุป และไม่ต้องระบุถึงรายละเอียดทางทะเบียนของทรัพย์สินซึ่งเหตุผลของการยกร่างจะด้วยเหตุผลประการใดไม่ทราบได้ แต่หลักการของร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อหลักการป้องกันและปราบปรามการทุจริตการป้องกันที่ดี เมื่อเข้ามาสู่ตำแหน่งทางการเมืองแล้วย่อมจะต้องพร้อมต่อการตรวจสอบ บรรทัดบนบอกว่า "เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน" แต่พออีกบรรทัดบอกว่า "ให้เปิดเผยให้ประชาชนทราบโดยสรุปและไม่ต้องบอกรายละเอียดทางทะเบียนของทรัพย์" นี้คือความผิดปกติของการร่างกฎหมายขัดแย้งกันในตัว 
           และร่างมาตรา 127 ในหมวดที่ 7 เรื่องการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่จะให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพราะเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายเรียกร้องมาโดยตลอด แต่ในหลักการของกฎหมายกลับไม่เป็นการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างแท้จริง เพราะใน "วรรคสี่" กลับบอกว่า "บัญชีทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่เป็นความลับทางราชการจะเปิดเผยไม่ได้" ผิดหลักการเปิดให้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและเปิดเผย ควรที่จะยกร่างให้มีกระบวนการตรวจสอบอย่างแท้จริง เปิดเผยตรวจสอบได้
            โดยทั้ง 2 มาตรานี้ เห็นได้ชัดว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 233 ที่ให้มีการตรวจสอบและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของทุกตำแหน่งที่ยื่น สนช ควรพิจารณาเรื่องนี้ให้ละเอียดรอบคอบ อย่าเกรงใจใคร เพราะท้ายที่สุดคนที่จะเป็นสมาชิกวุฒิสภา ( ส.ว.) ที่ได้รับการแต่งตั้งก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ รับราชการมากี่ปี รวมทรัพย์สินแล้วเป็นจำนวนเท่าใด นี้คือสิ่งที่ต้องเปิดเผยในวันข้างหน้า


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ