ข่าว

สนช.ไม่กำหนดนำร่างกฎหมายซุปเปอร์โฮลดิ้งเข้าพิจารณา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สนช.ไม่กำหนดนำร่างกฎหมายซุปเปอร์โฮลดิ้งเข้าพิจารณาบอกขอเคลียร์ความเห็นต่างกันปัญหาก่อน"เครือข่ายปชช."โพสต์FB"แจงละเอียดความอันตรายแก้คำนิยามรัฐวิสาหกิจส่อจงใจ

            20 พ.ย. 60 นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมการธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการฯ ว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่มีกำหนดนำเข้าวาระประชุมสนช. ที่ 2 หรือ วาระ 3  ในสัปดาห์นี้หรือเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากขณะนี้เนื้อหายังเป็นประเด็นที่ถกเถียงและมีผู้ที่เห็นต่าง ดังนั้น กมธ.ฯ ต้องทำความเข้าใจต่อเนื้อหากับผู้ที่เห็นต่างก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต
           ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับประเด็นที่ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจที่เป็นประเด็นข้อถกเถียงและมีเครือข่ายภาคประชาชนคัดค้าน อยู่ในร่าง มาตรา 3 ว่าด้วยคำนิยาม ของ รัฐวิสาหกิจ โดย นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คเพื่ออธิบายเหตุผลถึงการแก้ไขคำนิยาม ที่ต่างจาก พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502  ที่ให้ความหมายของคำว่ารัฐวิสาหกิจครอบคลุม 1.ชั้น1 คือ องค์การของรัฐ หรือบริษัท ที่รัฐถือหุ้นเกินร้อยละ 50 2.ชั้น 2  คือ องค์กรของรัฐหรือบริษัทในชั้นที่ 1 ถือหุ้นเกินร้อยละ 50, 3.ชั้น3 คือ บริษัทในชั้นที่ 2 และหรือชั้นที่ 1 ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละ 50, 4.ที่บริษัทในชั้นที่ 3 และหรือชั้นที่ 2 และหรือชั้นที่ 1 ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละ 50  ซื่งในร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ที่ กมธ.สนช. พิจารณานั้น ให้คำนิยามรัฐวิสาหกิจ เพียง ชั้น 1 และ ชั้น2 เท่านั้น และเมื่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้และคำนิยามดังกล่าวมีผลบังคับ จะทำให้รัฐไม่สามารถกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ในชั้นที่ 3 และ ชั้นที่4 ได้ ดังนั้นตนมองว่าการกำหนดคำนิยามรัฐวิสาหกิจควรคงไว้ตาม พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ศ.2502 เช่นเดิม
            "เดิมผมเชื่อว่าเป็นการเขียนให้สอดรับกับร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... หรือเรียกกันว่าร่างกฎหมายซูเปอร์โฮลดิ้ง ที่ กมธ. สนช.พิจารณา  แต่คุยกับพรรคพวกและมีความสงสัยจึงได้ย้อนไปดูอีกครั้ง พบว่า คำนิยามศัพท์ รัฐวิสาหกิจ แยกรัฐวิสาหกิจไว้ 2 ประเภท คือ รัฐวิสาหกิจในกำกับกระทรวงต้นสังกัด และรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัท ดังนั้นต่อให้มีการตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติแล้ว แต่การกำกับยังคงเป็นไปเพียง 2 ชั้นเท่านั้น" นายคำนูณ โพสต์ข้อความ
            นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวเช่นกัน โดยระบุว่า เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจนั้น ต่อประเด็นคำนิยามนั้น คือ หลักฐานที่จะทำให้ซุปเปอร์โฮลดิ้งเพื่อแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และมีความสำคัญต่อหนึ่งระบุว่า การแปรรูปในอนาคตจึงจะเปลี่ยนจากระดับรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นระดับบริษัทแม่ เปลี่ยนลงไปที่ระดับบริษัทลูก ที่ทำได้หลายวิธี เช่น กระจายขายหุ้นแบบ IPO ในตลาดหลักทรัพย์ หรือเชิญให้กลุ่มธุรกิจเอกชนรายหนึ่งเข้ามาร่วมถือหุ้น  อาทิ กลุ่มบริษัท ปตท. ที่มีโครงการจะโอนกิจการด้านขายปลีกเข้าไปที่บริษัทลูก PTTOR ก็ถูกวิจารณ์และต่อต้านว่าจะเข้าลักษณะเป็นการแปรรูปในชั้นบริษัทลูกที่ไม่ต้องปฏิบัติ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และไม่มีกติกาที่จะทำให้แน่ใจได้ว่าไม่มีการโอนสาธารณสมบัติและสิทธิพิเศษไปเป็นประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเอกชน ซึ่งข้อคัดค้านของภาคประชาชนย่อมจะทำให้แผนการทำนองนี้ไม่สะดวก
           "บัดนี้ ได้มีการร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ หรือร่างกฎหมายซูเปอร์โฮลดิ้ง (ซึ่งจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ) ควบคู่ไปกับร่างพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. .... และร่างพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. .... ซึ่งเป็น สามประสานเพื่อเปิดให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในชั้นบริษัทลูกอย่างชัดเจน ทั้งการปลดล๊อกบริษัทลูกในโครงสร้างบรรษัท (ซูเปอร์โฮลดิ้ง) และปลอล็อคการตรวจสอบจากรัฐสภา" นายธีระชัย ระบุ

  
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ