ข่าว

 ครม. ผ่านร่างกม.คุ้มครองปชช. ต้านทุจริต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ครม." เห็นชอบ "ร่างกม.คุ้มครองปชช." ให้รวมตัวต้านทุจริต ตั้ง "คตป." มี "เลขาฯป.ป.ท." นั่งประธาน กำหนดหลักเกณฑ์ ยาแรง "ขรก." เพิ่มโทษอีกครึ่ง ถ้าไปข่มเหงคนที่ชี



          24 ต.ค. 60 - พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม. ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.การส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ... ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) เสนอ โดยเป็นการยกร่างขึ้นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 และมาตรา 278 ที่ระบุว่ารัฐจะต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการทุจริตประพฤติมิชอบและต้องจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพที่จะส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกัน เพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแสการทุจริตประพฤติมิชอบ มาตรการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์แก่ผู้ชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบ
          พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ(คตป.) ให้เลขาธิการป.ป.ท. เป็นประธานโดยตำแหน่ง ส่วนกรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม และให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวน 4 คน กรรมการผู้แทนภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมที่ได้รับการสรรหาจากเครือข่ายต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบภาคประชาชน โดยความเห็นชอบจากนายกฯ จำนวน 4 คน และให้รองเลขาธิการป.ป.ท. ซึ่งเลขาธิการป.ป.ท. มอบหมาย จำนวน 1 คนเป็นกรรมการและเลขานุการ
          พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ของคตป. คือกำหนดนโยบายตามหลักเกณฑ์ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันที่จะมีส่วนร่วมรณรงค์ ให้ความรู้กับประชาชนเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบว่าเป็นโทษเป็นภัยต่อสังคมอย่างไร มีกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง ถ้าประชาชนแจ้งเบาะแสแล้วจะทำให้ประเทศชาติปราศจากการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างไร ต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ เป็นการรวมตัวกันต่อต้าน ชี้เบาะแสการทุจริตประพฤติมิชอบให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ป.ป.ช. ป.ป.ท. ศอตช. ได้เข้าไปดำเนินการ 
          พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ทั้งนี้ต้องมีการตั้งศูนย์ประสานความร่วมมือการต่อต้านการทุจริตขึ้นในสำนักงานป.ป.ท. โดยรัฐต้องจัดสรรเงินงบประมาณในประเภทเงินอุดหนุนให้เพียงพอที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนดำเนินการ พร้อมกำหนดโทษว่าหากใครที่เป็นเจ้าหน้าที่ราชการพอมีประชาชนรวมตัวกันไปชี้เบาะแส แล้วไปกดขี่ข่มเหง รังแก ใช้อิทธิพล ทำให้ประชาชนหวาดกลัวไม่กล้าที่จะชี้เบาะแส ไม่กล้าต่อต้านทุจริต จะต้องมีโทษเพิ่มอีกครึ่งหนึ่งตามที่กฎหมายอาญากำหนด เช่น ถ้าใครไปทำร้ายคนที่ชี้เบาะแส กฎหมายกำหนดไว้ว่าติดคุก 3 ปี ก็เพิ่มไปอีกปีครึ่ง รวมเป็นโดนโทษติดคุก 4 ปีครึ่ง เพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยต้องขับเคลื่อนปกป้องไม่ให้มีการทุจริตประพฤติมิชอบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อย่างไรก็ตาม เมื่อ ครม.เห็นชอบแล้วจะได้ส่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจทานก่อนเสนอสภานิติบัญญัติ (สนช.) พิจารณาต่อไป.

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ