ข่าว

"โอ๊ค"ดอดมอบตัวคดีฟอกเงิน-ปัดทุกข้อหา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“โอ๊ค”พร้อมพวกย่องพบดีเอสไอรับทราบข้อหา “คดีฟอกเงิน” เอื้อประโยชน์กฤษดามหานคร ปฏิเสธทำผิดทุกข้อหา   “มีชัย” เผย ป.ป.ช.ส่งคำท้วง ก.ม.ลูกเกือบทุกมาตรา 

      เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้มีหนังสือถึงดีเอสไอเพื่อส่งข้อมูลและแจ้งผลการดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิด กรณีผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) อนุมัติสินเชื่อให้แก่กลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) โดยมิชอบ และขอให้ดีเอสไอตรวจสอบบุคคลที่รับโอนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคล 4 คน โดยเงินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ในเรื่องนี้มีจำนวน 10 ล้านบาท และจำนวน 26 ล้านบาท ซึ่งดีเอสไอได้รับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 25/2560 ต่อมาพนักงานอัยการ และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาพยานหลักฐานแล้วเห็นชอบร่วมกันว่าคดีมีพยานหลักฐานตามสมควรที่จะแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลจำนวน 4 คน ได้แก่ 1.นางเกศินี จิปิภพ 2.นางกาญจนาภา หงษ์เหิน 3.นายวันชัย หงส์เหิน และ 4.นายพานทองแท้ ชินวัตร ในข้อหา “สมคบกันโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ร่วมกันฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฟอกเงิน เพราะเหตุที่ได้มีการสมคบแล้ว” และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ออกหมายเรียกให้บุคคลดังกล่าวเข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเพื่อรับทราบข้อหา ในวันที่ 24 ตุลาคม 60 นั้น

      พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวอีกว่า ภายหลังจากได้รับหมายเรียก บุคคล 4 รายได้ติดต่อขอเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาก่อนกำหนดเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน ตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 14.00 น. บุคคลทั้ง 4 ได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่อาคารดีเอสไอ โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานอัยการที่ร่วมสอบสวน ร่วมกันแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาและแจ้งข้อหาบุคคลทั้งสี่ในข้อหา “สมคบกันโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ร่วมกันฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิด ฟอกเงิน เพราะเหตุที่ได้มีการสมคบแล้ว” ตามมาตรา 5 และมาตรา 9 วรรคหนึ่ง, มาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยผู้ต้องหาทุกคนปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงได้สอบสวนปากคำไว้ และผู้ต้องหาทั้งสี่คนประสงค์จะส่งเอกสารเพื่อประกอบการแก้ข้อหาและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน ซึ่งจะนำมามอบให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษโดยเร็ว และเนื่องจากบุคคลทั้งสี่ยังไม่มีหมายจับของศาล เมื่อแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินการตามขั้นตอนเสร็จสิ้นจึงเดินทางกลับ เมื่อเวลา 17.00 น.

"โอ๊ค"ดอดมอบตัวคดีฟอกเงิน-ปัดทุกข้อหา

"โอ๊ค-พวก”ปัดดีเอสไอทุกข้อหา

      ด้าน พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะโฆษกดีเอสไอ กล่าวถึงกรณีการเข้ามอบตัวเข้ารับทราบข้อหาฟอกเงิน-สมคบฟอกเงินของนายพานทองแท้ กับพวกรวม 4 คน ว่าในขั้นตอนการมอบตัว ผู้ต้องหาทั้ง 4 รายให้การปฏิเสธ เมื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้วได้เดินทางกลับ ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก โดยคดียังไม่มีหมายจับ พนักงานสอบสวนจะปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งเป็นหลักประกันทั่วไปของประชาชนตามสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ จึงไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกันตัวและไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ นอกจากนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 4 รายยังไม่ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมใดๆ ทั้งนี้ยืนยันว่าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาฟอกเงินตามที่พบหลักฐานปรากฏในเส้นทางการเงิน หากผู้ต้องหาต้องการส่งเอกสารหลักฐานใดเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์สามารถส่งให้พนักงานสอบสวนได้ โดยก่อนหน้านี้ผู้ต้องหาก็เคยส่งข้อมูลบางส่วนให้พนักงานสอบสวนไว้พิจารณาแล้ว‘ทูตเปรู

กสม.-คตง.ขาดคุณสมบัติเป็นกกต.

     ที่รัฐสภามีการประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยมีนายชีพ จุลมนตร์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานภายหลังการประชุมนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาคุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหากกต.โดยมีมติเอกฉันท์ว่าหน่วยงานใดที่ส่งรายชื่อคณะกรรมการสรรหามากกต.ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาไม่ทันภายในเวลา 20 วันนับตั้งแต่ได้รับหนังสือจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา หรือภายในวันที่ 3 ตุลาคม ให้ถือว่าบุคคลมีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอยู่ 2 หน่วยงานคือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ทำให้เหลือคณะกรรมการสรรหากกต. 6 คน แต่ยังสามารถดำเนินการสรรหาต่อไปได้

เปิดรับสมัครกกต. 19 ต.ค..

    นายพรเพชร กล่าวว่า ส่วนคุณบัติของตัวแทนศาลรัฐธรรมนูญที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ระบุว่ามีปัญหาขัดคุณสมบัติเนื่องจากพ้นจากตำแหน่งข้าราชการการเมืองไม่ถึง 10 ปีนั้น จากการตรวจสอบพบว่านายเจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ ตัวแทนศาลรัฐธรรมนูญ มีคุณสมบัติถูกต้องตามรัฐธรรมนูญเนื่องจากไม่เคยดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองมาก่อน ส่วนกำหนดวันรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกกต.จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม-10 พฤศจิกายน ในวันและเวลาราชการ ที่บริเวณห้องโถงชั้น 1 อาคาร 2 สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และที่อาคารสุขประพฤติ ถนนประชาชื่น กทม. เชื่อว่าจะมีผู้สนใจมาสมัครพอสมควร ซึ่งคุณสมบัติการสรรหากกต.ตามรัฐธรรมนูญนั้นไม่ถือว่ามีการกำหนดคุณสมบัติขั้นเทพ เป็นคุณสมบัติธรรมดา อย่างกรณีคณะกรรมการสรรหากกต.ไม่ถือว่าคัดเลือกยาก เพียงแต่บางคนส่งชื่อมาช้าเกินไป

    ด้านนายนัฑ ผาสุข เลขาธิการสำนักงานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหากกต. กล่าวว่า หลังจากที่มีข่าวว่าตัวแทนศาลรัฐธรรมนูญขัดต่อคุณสมบัติการเป็นกรรมการสรรหากกต.นั้น สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ทำหนังสือตรวจสอบไปยังสำนักงานเลขาธิการครม.ให้ตรวจสอบคุณสมบัติคณะกรรมการสรรหาทุกคน พบว่านายเจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ ตัวแทนศาลรัฐธรรมนูญมีคุณสมบัติถูกต้องเพราะไม่เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งได้สอบถามนายนายเจริญศักดิ์ก็ยืนยันไม่เคยดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาก่อน

"โอ๊ค"ดอดมอบตัวคดีฟอกเงิน-ปัดทุกข้อหา

“มีชัย” รับป.ป.ช.ขอแก้เพียบ

     วันเดียวกัน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยถึงการแก้ไขบทบัญญัติร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ว่าได้รับความเห็นจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ท้วงติงเนื้อหาเกือบทุกมาตรา ซึ่งยืนยันว่าการทำเนื้อหาดังกล่าวจะทันตามกรอบเวลาและไม่กระทบการพิจารณาเนื้อหาของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา (ส.ว.) แน่นอน เพราะขณะนี้ได้ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณา

     นายมีชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อท้วงติงของป.ป.ช.นั้น เกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติงาน ระยะเวลา และอำนาจของป.ป.ช. อาทิ การกำหนดให้ป.ป.ช.ไต่สวนภายใน 7 วันหลังได้รับเรื่อง หรือกรณีที่ไต่สวนแล้วเสร็จหากพบว่าผู้ที่ถูกร้องเรียนไม่ได้กระทำความผิดต้องแจ้งไปยังบุคคลภายใน 7 วัน ป.ป.ช.ระบุว่าทำไม่ทัน ซึ่งกรณีดังกล่าวหากป.ป.ช.มองว่าเป็นปัญหาขอให้นำไปเสนอและแก้ไขในชั้นกรรมาธิการของสนช. ส่วนการบัญญัติให้อำนาจหน่วยงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. ซึ่ง ป.ป.ช.ทักท้วงว่ากระทบอำนาจป.ป.ช.นั้น ไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แม้กฎหมายลูกจะไม่บัญญัติไว้แต่ สตง.ยังคงมีอำนาจ

ชี้ปฏิรูปทุจริตเสร็จธ.ค.60

     เวลา 14.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถ.พิษณุโลก นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แถลงความคืบหน้าการจัดทำแผนปฏิรูปที่ต้องแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 60 นี้ว่า กรอบการทำงานประกอบด้วย 4 ด้านหลักคือ 1.การป้องกันและเฝ้าระวัง จะให้ความสำคัญกับภาคประชาชน โดยจะให้ความรู้และสร้างเครือข่ายประชาชนเพื่อช่วยชี้เบาะแสการทุจริต 2.การป้องปรามจะให้ความสำคัญแก่หัวหน้าส่วนราชการ ในส่วนราชการต้องมีมาตรการต่อต้านการทุจริต สร้างวัฒนธรรมองค์กร การเสริมสร้างจริยธรรม หัวหน้าส่วนราชการต้องมีการกวดขันสอดส่องดูแล หากปล่อยปละละเลยหัวหน้าส่วนราชการจะต้องรับผิดชอบทางวินัย ปกครอง และอาญา รวมทั้งต้องมีการประเมินคุณธรรมภายในองค์กร หากไม่ผ่านเกณฑ์หัวหน้าส่วนราชการจะต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ต้องมีมาตรการลดใช้การดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ให้มาก และกำหนดให้ข้าราชการทุกระดับยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

     นายปานเทพ กล่าวว่า 3.การปราบปราม ต้องมีมาตรการที่รวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด องค์กรตรวจสอบต้องยกระดับการทำงานให้สามารถนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็ว ต้องมีมาตรการเชื่อมโยงระหว่างการปราบปรามการทุจริตกับการฟอกเงิน และให้มีมาตรการติดตามทรัพย์สินคืน และ 4.การบริหารจัดการ ในอนาคตจะต้องมีหน่วยงานในลักษณะเดียวกับศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) แต่จะไม่ให้มีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง โดยจะต้องมีหน่วยงานขึ้นมาขับเคลื่อนโดยเฉพาะ นอกจากนี้คณะกรรมการปฏิรูปจะมีการติดตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตว่ามีผลสัมฤทธิ์หรืออุปสรรคอย่างไรบ้าง อาทิ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 พ.ร.บ.การอํานวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ที่บังคับใช้แล้วแต่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่ และร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

"โอ๊ค"ดอดมอบตัวคดีฟอกเงิน-ปัดทุกข้อหา

ขรก.ต้องแสดงทรัพย์สิน

     พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ โฆษกคณะกรรมการปฏิรูป กล่าวถึงการให้ข้าราชการทุกระดับยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินว่า ข้าราชการทุกระดับจะต้องยื่นรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อหัวหน้าส่วนราชการ แต่หัวหน้าส่วนราชการไม่สามารถเปิดดูได้ เว้นแต่กรณีมีการร้องเรียนเข้ามา โดยจะให้หน่วยงานตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบรายละเอียดความมีอยู่จริง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดเรื่องการจะยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินใหม่ว่าจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง 10 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหรือไม่

ชงเสนอความเห็น “ปราบโกง”

     นายประยงค์ ปรียาจิตต์ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูป กล่าวว่า พยายามจะแก้ปัญหาที่สะสมมาเนิ่นนานให้ได้อย่างยั่งยืน อันไหนดีอยู่แล้วจะทำต่อไป อันไหนมาตรการดีแต่ปฏิบัติยังมีปัญหาต้องแก้ไข ส่วนอันไหนยังไม่มีต้องเสริม เพื่อให้ได้มาตรการที่ครบถ้วน โดยคณะกรรมการจะมีการรับฟังข้อมูลจากทั้งภาครัฐ สื่อมวลชนและประชาชนทั่วประเทศ โดยในส่วนต่างจังหวัดจะมีการลงพื้นที่ในเดือนพฤศจิกายน 60 ขณะที่ส่วนราชการต่างๆ ได้มีการเชิญมาให้ข้อมูล เบื้องต้นจะรับฟังผ่านเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและเว็บไซต์ป.ป.ท. และจะผ่านไปยังเว็บไซต์ของทุกส่วนราชการเพื่อรับฟังความคิดเห็นข้าราชการทุกคน จึงเชิญชวนให้แจ้งข้อมูลมา เพื่อเก็บข้อมูลทั้งหมดไปประมวลเพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันปัญหาให้ได้อย่างยั่งยืน

1เม.ย.61 คลอดปฏิรูปตร.แน่

     ที่รัฐสภา พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ว่าวันนี้มีการพูดถึงตำรวจไทยในอนาคต ในยุคไซเบอร์ ซึ่งเป็นการบ้านที่ตนให้อนุกรรมการฝ่ายวิชาการได้ทำรายงานว่าตำรวจไทยในอนาคตต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เรื่องนี้ต้องใช้เวลาพอสมควร ทั้งนี้ตนอยากให้สื่อทำความเข้าใจว่าการทำงานของคณะกรรมการจะยังไม่ถึงข้อสรุปสุดท้าย แต่ในวันที่ 1 เม.ษายน 2561 จะต้องได้กฎหมายออกมาใช้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ที่บอกว่ายังไม่ได้ข้อสรุปเพราะกฎหมายนี้ออกจากคณะกรรมการไปต้องเข้าสู่ครม. และสนช. ดังนั้นหากสื่อมวลชนไปถามคนที่เป็นคณะกรรมการท่านใดก็ตามว่าได้ข้อสรุปอย่างไร อาจจะได้คำตอบที่ดูเหมือนว่ายังไม่มีอะไรเลย แต่เรามีข้อสรุปสำคัญในเรื่องต่างๆ แล้ว ทั้งเรื่องการบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้าย โดยแนวโน้มสำเร็จไปแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเรื่องภารกิจและอำนาจหน้าที่ รวมถึงเรื่องสืบสวนสอบสวน สำเร็จไปแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ ในสัปดาห์หน้าจะมีข้อสรุปในเรื่องการถ่วงดุลอำนาจว่าจะมีหนทางอย่างไร

ย้ำให้อัยการถ่วงดุลแน่นอน

     พล.บุญสร้าง กล่าวว่า เรื่องถ่วงดุลได้ยืดเยื้อมาพอสมควรเพราะเป็นปัญหาที่ไม่ง่าย ถ้าไปศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องนี้จะพบว่ามีการแก้ไขปรับปรุงมากกว่า 10 ครั้ง และข้อเสนอแนะต่างๆ ก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นในสัปดาห์หน้าจะสรุปรวมไปถึงเรื่องอัยการ ยืนยันว่ามีอำนาจการถ่วงการดุลอย่างแน่นอนเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ต่อจากนี้ภายในเวลาเดือนกว่าๆ เราจะต้องออกไปรับฟังความเห็นเรื่องใหญ่ๆ จากประชาชนอีก เพราะต้องการเหตุผลในการปรับแก้เราฟังเสียงประชาชนมากกว่าอยู่แล้ว แต่หากเสียงตำรวจมีเหตุผลมากกว่าเราก็อาจจะทำตามที่ตำรวจให้เหตุผลมา ยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงในวงการตรวจจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพราะทั้งหมดทำเพื่อประชาชนที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่เราก็ต้องดูแลตำรวจด้วยเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการที่จะไปดูแลประชาชน

"โอ๊ค"ดอดมอบตัวคดีฟอกเงิน-ปัดทุกข้อหา

สหรัฐชมปราบค้ามนุษย์เข้าเป้า

     ที่ห้องประชุมชั้น 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่รัฐสภาสหรัฐอเมริกานำโดย นางเอมี ปอร์เตอร์ หัวหน้าสำนักงานของประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ เนื่องในโอกาสการเยือนประเทศไทย และเข้าพบพร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐบาลไทยในการต่อต้านการค้ามนุษย์ตามภารกิจของกระทรวง พม. โดยมี พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ ที่ปรึกษา (สบ.10) ประธานด้านการดำเนินคดี และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเข้าร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย

     นายพุฒิพัฒน์ กล่าวว่า การหารือในวันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐบาลไทยในการต่อต้านการค้ามนุษย์ มีการร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทุกมิติ อาทิ กำหนดนโยบายให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้เป็นวาระแห่งชาติ ปรับปรุงกฎหมาย และคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษย์ ในปี 2560 ทางการไทยได้ดำเนินคดีการค้ามนุษย์ 230 คดี พบว่าเป็นคดีการแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบการค้าประเวณีมากที่สุด และได้ให้การช่วยเหลือผู้เสียหายซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวง พม. 227 ราย

       “สหรัฐอเมริกาชื่นชมความตั้งใจของไทยในการต่อต้านการค้ามนุษย์ และให้ความห่วงใยเรื่องการคุ้มครองพยาน การดำเนินคดี และการตรวจแรงงานเพื่อป้องกันกลุ่มเสี่ยง รวมถึงชื่นชมวิดีโอที่รัฐบาลได้จัดทำขึ้นเพื่อเตรียมเผยแพร่บนเครื่องบนในการรณรงค์ยุติการค้ามนุษย์ และการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศที่แฝงมากับการท่องเที่ยว และยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดแก่ผู้เสียหาย นอกจากนี้หากประชาชนพบเห็นเหตุการค้ามนุษย์สามารถแจ้งเบาะแสมายังศูนย์ช่วยเหลือสังคมสายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากเกิดเหตุที่ต่างประเทศแจ้งข้อมูลผ่านคอลเซ็นเตอร์ หมายเลขโทรศัพท์ 00 หรือกด +66 99 130 1300 ซึ่งเป็นเลขหมายเดียวใช้ได้ฟรีทั่วโลก หรือส่งข้อความเอสเอ็มเอส ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 00 หรือกด +66 99 130 1300 เพื่อทางกระทรวง พม. จะได้ให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที” นายพุฒิพัฒน์ กล่าว

 “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” ไม่มาไทย

    จากกรณีที่มีข่าวว่า มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของเฟซบุ๊ก จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย และเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ โดยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม โฆษกของเฟซบุ๊กแจ้งว่า “ในช่วงนี้ผู้นำระดับสูงของเฟซบุ๊กยังไม่มีแผนที่จะเดินทางมายังประเทศไทย”

     ทั้งนี้ มีรายงานว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจาก ซัคเคอร์เบิร์ก ต้องการเดินทางมาไทยเป็นการส่วนตัว แต่มีการประสานงานผิดพลาด และกลายเป็นข่าวขึ้นมา จึงขอยกเลิกการเดินทาง

สปส. แจงกลไกจ่ายบำนาญชราภาพ

     วันเดียวกัน นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวที่กลุ่มแรงงานเตรียมฟ้องศาลปกครอง เรื่องการให้ความคุ้มครองประกันสังคมกรณีชราภาพ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบทุน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมากกว่าทุกชุดที่ผ่านมา และกำหนดให้นายจ้าง ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ร่วมออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง และขณะนี้ยังไม่มีข้อกำหนดในการปรับฐานเงินสมทบตามสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพ

   นายสุรเดช กล่าวต่อว่า ตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1.เพื่อให้ผู้รับบำนาญไม่ตกอยู่ในภาวะยากลำบากในการครองชีพหรือต่ำกว่าระดับความยากจน และ 2.เพื่อให้ผู้รับบำนาญมีการทดแทนรายได้ประจำต่อเนื่อง ในอัตราที่สอดคล้องกับรายได้ก่อนเกษียณ โดยสนธิสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศกำหนดให้ผู้ทำงาน 30 ปี ควรได้รับบำนาญไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของค่าจ้างก่อนเกษียณ ในขณะที่สำนักงานประกันสังคมให้สูงกว่ามาตรฐานดังกล่าว โดยผู้ที่ทำงานส่งเงินสมทบ 30 ปี จะได้รับบำนาญร้อยละ 41.5 ของค่าจ้างก่อนเกษียณ ทั้งนี้ที่ผ่านมาการส่งเงินสมทบไม่เคยมีการปรับเพิ่มส่งผลทำให้ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน สปส.จึงศึกษาแนวทางการปฏิรูปบำนาญชราภาพ เพื่อดำเนินการแก้ไขเรื่องฐานและเพดานค่าจ้างแล้ว ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้ประกันตนและนายจ้างผ่านการประชาพิจารณ์ให้ขยายฐานค่าจ้างจาก 1,650 บาทเป็น 3,600 บาท และเพดานค่าจ้างจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท

    “สปส.อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการปฏิรูปบำนาญชราภาพในรอบๆ ด้าน โดยคาดว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้อง อีกทั้งจะมีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลปัจจุบันและกระทรวงแรงงานตามที่ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ที่ให้ความสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศพร้อมปฏิรูประบบบำนาญชราภาพให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการของสมาชิกกองทุน" นายสุรเดช กล่าว

 

(ข่าวหน้า1 คมชัดลึก)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ