ข่าว

ประธาน กสม. โวย “กรธ.” รีเซ็ต กสม. “คิดได้ยังไง” !?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประธาน กสม .ชี้เหตุผลรีเซ็ตของ ”มีชัย ฤชุพันธุ์” ไม่ถูกต้อง วอนผู้มีอำนาจเขียน พรป.กสม.เปิดใจให้กว้าง พิจารณาให้รอบคอบ และให้ความเป็นธรรมแก่ผู้อื่นด้วย

 

               17 มิ.ย.60 - นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ว่าด้วย กสม. ที่ให้ประธาน กสม. และ กสม.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ พรป.กสม.ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ พรป.กสม.ใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า กสม.ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

               สำหรับเหตุผลของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่บอกว่า ต้องรีเซ็ต กสม.เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล ที่ประเทศไทยถูกทักท้วงว่ามีปัญหาว่าด้วยกระบวนการได้มาซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (หลักการปารีส) ซึ่งตรงกับเหตุผลในร่าง พรป.กสม.ของ กรธ.ที่ระบุว่า กสม.ชุดปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับหลักการสากลเกี่ยวกับกระบวนการได้มา ซึ่ง กสม.จะต้องมาจากความหลากหลายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนั้น ประธาน กสม.กล่าวว่า เป็นเหตุผลที่ไม่ถูกต้อง เพราะหลักการปารีสไม่ได้กำหนดกระบวนการสรรหาว่าต้องมีกระบวนการเช่นนั้น

               กฎเกณฑ์ตามร่าง พรป.กสม.ของ กรธ.ดังกล่าว ไม่มีปรากฏในหลักการปารีส ประธาน กสม.กล่าว

               ประธาน กสม.ย้ำอีกว่า หลักการปารีสกำหนดแต่เพียงว่า การกำหนดองค์ประกอบของสถาบันแห่งชาติควรประกอบด้วยสมาชิกของสถาบัน ไม่ว่าจะด้วยวิธีการเลือกตั้งหรือด้วยวิธีอื่นใด จะต้องเป็นกระบวนการที่มีหลักประกันที่ทำให้มั่นใจได้ว่าสถาบันจะเป็นตัวแทนที่หลากหลายของพลังทางสังคม หรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจที่จะทำให้สถาบันได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีกับตัวแทนของกลุ่มต่างๆ หรือโดยผ่านการเข้าร่วมของตัวแทนกลุ่มต่างๆ เช่น องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ รวมทั้งองค์กรวิชาชีพต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมทนายความ แพทย์ สื่อมวลชน

               นอกจากนั้นก็เป็นกระแสแนวคิดทางปรัชญา ศาสนา รวมทั้งมหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติเหมาะสม รัฐสภา และหน่วยงานต่างๆของรัฐ ซึ่งควรมีส่วนร่วมในการพิจารณาที่มีหน้าที่เพียงการให้คำแนะนำเท่านั้น

               กรธ.คิดร่าง พรป.กสม. ดังกล่าวมาได้อย่างไร เพราะเป็นการกำหนดที่เกินเลยจากหลักการปารีสค่อนข้างมาก ไม่ยืดหยุ่น และสรรหามาได้ยาก รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ กรธ. สร้างมาได้กำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหาไว้ระดับเทพแล้ว ยังกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะได้รับการสรรหามาเป็น กสม. ให้เกินเลยไปจากมาตรฐานสากล ซึ่งจะกลายเป็นปัญหายุ่งยากในการสรรหาทั่วไปและสรรหาซ่อมในอนาคตต่อไปได้” ประธานกสม.กล่าว

ประธาน กสม. โวย “กรธ.” รีเซ็ต กสม. “คิดได้ยังไง” !?

               ส่วนประเด็นที่อ้างว่าการทำงานของ กสม.มีปัญหา หรือที่มาของ กสม.ชุดปัจจุบันขาดความหลากหลายจึงต้องรีเซ็ต กสม.ทั้งชุดนั้น ประธาน กสม. เห็นว่า ไม่ถูกต้องทั้งในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เพราะ กสม. ชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็นชุดที่ 3 นี้ มีผลงานออกมาทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศมากขึ้นและต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งองค์ประกอบของกสม.ชุดปัจจุบันก็มีความหลากหลาย มีทั้งอดีตข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับงานสิทธิมนุษยชน ผู้พิพากษา นักจิตอาสา และภาคประชาสังคม

               ประธาน กสม. กล่าวอีกว่า กสม.ชุดปัจจุบันสามารถทำงานให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างชัดแจ้งทั้งด้านการคุ้มครองสิทธิฯและด้านส่งเสริมสิทธิฯ

               เมื่อเร็วๆนี้นายกรัฐมนตรียังได้มาปาฐกถาพิเศษในหัวข้อหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกับการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ กสม. ร่วมกับ 8 องค์กรพันธมิตรจัดการสัมมนาวิชาการเรื่อง การเผยแพร่และขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก จนเป็นที่ชื่นชมทั้งภายในและระหว่างประเทศอันเป็นผลดีต่อประเทศโดยรวม” ประธาน กสม. ย้ำ

               นอกจากนี้ประธาน กสม. กล่าวอีกว่า การรีเซ็ตองค์กรอิสระใดๆจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุจำเป็นโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ รวมทั้งต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อผู้ที่อาสาเข้ามาทำงานที่ต้องละทิ้งงานเดิมมาทำงานให้องค์กรอิสระ

               งานของ กสม. น่าจะมีผลกระทบกระเทือนแน่นอน เพราะโครงการต่างๆกำลังเดินไปด้วยดี จะหยุดชะงักทันที” ประธาน กสม. ตอบคำถามที่ว่าหาก กสม.ถูกรีเซ็ตจะกระทบต่อการทำงานหรือไม่

               ประธาน กสม. ชี้ให้เห็นทางออกของเรื่องนี้ที่จะทำได้มากที่สุดคือ เขียนในบทเฉพาะกาลของ พรป.องค์กรอิสระให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่งเฉพาะรายที่เป็นบุคคลผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใหม่ ไม่ใช่ให้พ้นไปทั้งชุด เพราะไม่เป็นธรรมต่อผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระนั้น

               ประธาน กสม. กล่าวย้ำในที่สุดว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาทั้งในด้านหลักการเขียนและการนำไปใช้ในทางปฏิบัติ จึงขอให้ผู้มีอำนาจในการเขียน พรป.กสม.เปิดใจให้กว้าง พิจารณาให้รอบคอบ และให้ความเป็นธรรมแก่ผู้อื่น ควรคิดแก้ไขปัญหาอื่นๆที่รอการแก้ไขอยู่ก่อนจะมาคิดรีเซ็ตองค์กรอิสระให้เกิดปัญหาเพิ่มไปอีก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ