ข่าว

"คนฮั้วทุจริต"โดนคุก-ปรับเงิน"..!!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 งานวิจัยกันทุจริตเชิงนโยบาย เสนอ แก้กฎหมายป.ป.ช. ให้ "คนฮั้ว"​รับผิดด้วย พร้อมเสนอให้ "ป.ป.ช." ตรวจสอบโครงการ-นโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง

 

          คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดงานสัมมนาและเผยแพร่ผลงานวิจัย เรื่อง "การทุจริตเชิงนโยบาย : มาตรการในทางกฎหมายเพื่อควบคุมและป้องกันปัญหาการทุจริตเชิงนโยบายในประเทศไทย" เพื่อให้ สนช. นำไปพิจารณาประกอบการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับเนื้อหา โดยเนื้อหามีข้อเสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และกำหนดแนวทางตรวจสอบนโยบายหรือโครงการของพรรคการเมืองหรือรัฐบาลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำที่ทำให้รัฐเสียหาย

          โดยนายอุดม รัฐอมฤต คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฐานะหัวหน้าคณะผู้ทำวิจัย  กล่าวว่า กระบวนการทุจริตเชิงนโยบาย ถือมีความพิลึก คือ มีการกระทำทุจริตหรือมีความผิดแล้วหรือไม่ แต่ในมุมมองของนักกฎหมายและนักเศรษฐศาสตร์ ถือว่าได้กระทำความผิดแล้ว แต่กระบวนการที่นำไปสู่การลงโทษนั้นค่อนข้างมีปัญหา เนื่องจากการทุจริตเชิงนโยบายนั้น หมายถึงกระบวนการของผู้มีอำนาจและใช้อำนาจไปแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ ที่แสวงหาหลักฐานได้ยากอาจนำไปสู่การตรวจสอบที่นำไปสู่การลงโทษเป็นไปได้ยาก  ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้หาเสียงเลือกตั้ง โดยที่ผ่านมามีโครงการที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง อาทิ การทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งประเด็นการตรวจสอบดังกล่าว ถือว่ามีความซับซ้อนอย่างมาก เพราะเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายภาคส่วนที่นำไปสู่การตัดสินใจของฝ่ายบริหาร

          "การตรวจสอบทุจริตเชิงนโยบายแม้จะตรวจสอบได้ แต่กลับพบว่าได้สร้างความเสียหายกับส่วนรวม ดังนั้นสิ่งที่เพิ่มเติมด้านการตรวจจับได้ อาทิ เมื่อเห็นท่าไม่ดี ก็จัดการได้เลย ขณะที่วิธีการบริหารเพื่อดักทางไม่ให้เกิดความเสียหาย ต้องใช้มิติด้านอื่นๆ เพิ่มเติมจากมิติด้านกฎหมาย เช่น การตรวจสอบฝ่ายที่คิดหรือตัดสินใจในนโยบายของพรรคการเมืองหรือรัฐบาล ผ่านการชี้แจงที่มาของงบประมาณ, ผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคต​ เพราะการจำกัดแนวคิด หรือนโยบายคงทำไม่ได้ แต่ต้องจำกัดความเสียหายในสิ่งที่พรรคหรือรัฐบาลโฆษณาหาเสียง" นายอุดม กล่าว

           ส่วนนายวีระศักดิ์ แสงสารพันธ์ นักวิชาการประจำกรรมาธิการของสนช. กล่าวว่า กระบวนการทุจริตเชิงนโยบายที่นำผลประโยชน์จัดสรรให้พวกพ้องนั้น มีกระบวนการและกลไกดำเนินการที่ผ่านการเตรียมความพร้อมของการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการ ซึ่งประเด็นดังกล่าวสามารถแก้ไขหรือป้องกันได้  โดยปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตที่ตรวจสอบได้ทุกระดับ, เพิ่มมาตรการตรวจสอบนโยบายของพรรคการเมืองตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้ง อาทิ การตัดสินใจทำนโยบาย, ความคุ้มค่าต่อการใช้งบประมาณ ความสอดคล้องกับวินัยการเงินการคลัง ผ่านหน่วยงานที่เพิ่มจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยในต่างประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส มีศาลบัญชีเพื่อตรวจสอบกรณีดังกล่าวเป็นพิเศษ

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการวิจัยดังกล่าวเสนอให้แก้ไข ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยเพิ่มเติมการเอาผิดบุคคลที่ร่วมสมทบทุจริต  หรือบุคคลที่ร่วมฮั้ว ให้เป็นฐานความผิดและสามารถดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ ในฐานความผิดที่มีอันตรายต่อสังคม  ทั้งนี้ต้องกำหนดบทลงโทษให้รุนแรง คือ จำคุก 20 ปี ปรับไม่เกิน 5แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่การแถลงนโยบายหรือการทำโครงการเพื่อหาเสียงเลือกตั้งตั้ง ควรให้อำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจหรือกลไกตรวจสอบนโยบายหรือโครงการดังกล่าวเพื่อไม่ให้นำไปสู่การทุจริตเชิงนโยบาย

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ