ข่าว

"อสส."ส่งหนังสือย้ำ"ผู้ว่าฯตรัง"ไร้อำนาจตั้งอัยการจ.ตรัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สำนักงานอัยการสูงสุด"ส่งหนังสือตอบ อธ.อัยการภาค 9 ย้ำ ผู้ว่าฯตรัง ไร้อำนาจสั่งอัยการจ.ตรัง ปฎิบัติงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ชี้คำสั่งผู้ว่าฯกระทบความเป็นอิสระ

 

          23 มี.ค. 60 - นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง มีคำสั่งให้อัยการไปเป็นที่ปรึกษาและไปปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง ซึ่งไม่ได้เป็นการให้คำปรึกษาในฐานะกรมการจังหวัดตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 57 (4) และยังออกคำสั่งให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการด้วยว่า  ตามกฎหมายแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ไม่มีอำนาจทำได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 มาตรา 255 ระบุไว้ว่า อัยการมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม อีกทั้งตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 7 ก็ระบุให้อัยการสูงสุด มีอิสระในการบริหารงานบุคคล ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง จึงไม่มีอำนาจกำกับดูแลหรือสั่งการให้อัยการไปปฏิบัติหน้าที่ใดๆได้
          นายธนกฤต กล่าวอีกว่า การออกคำสั่งดังกล่าวของ  เป็นการออกคำสั่งทางปกครอง ซึ่งอาจนำมาซึ่งการฟ้องร้องเป็นคดีพิพาททางปกครองจากการเข้าไปเกี่ยวข้องปฎิบัติหน้าที่ของอัยการได้ด้วย ดังนั้นคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดตรังทั้ง 2 กรณี จึงกระทบต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการ ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังจึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งกำกับดูแลและสั่งการการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการได้ และพนักงานอัยการก็ไม่อาจปฏิบัติตามคำสั่งนี้ได้เช่นกัน
          " เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่สำนักงานอธิบดีอัยการภาค 9  เคยหารือมาที่สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย ของสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งที่ปรึกษากฎหมาย ได้นำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมใหญ่ของสำนักงาน เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในเชิงนโยบาย และได้ส่งต่อเรื่องนี้ไปให้ สำนักงานคณะกรรมการอัยการพิจารณาต่อด้วย เพราะเห็นว่าเกี่ยวข้องกับนโยบายของผู้บริหารสำนักงานอัยการสูงสุด " นายธนกฤต กล่าว
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีดังกล่าวในที่สุด เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีหนังสือจากสำนักงานอัยการสูงสุด ตอบข้อหารือถึงอธิบดีอัยการภาค 9 ว่า กรณีมีคำสั่งจังหวัดตรัง ที่ 2706/2559 ลงวันที่ 28 ก.ย.59 แต่งตั้งอัยการจังหวัดตรัง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตรัง และอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดตรัง เป็นที่ปรึกษา และให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดตรังไปปฏิบัติงาน ณ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง เป็นประจำทุกวันพุธ 
          และคำสั่งจังหวัดตรัง 2786/2559 ลงวันที่ 4 ต.ค.59 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งหรือมติ ครม. ในสำนักงานอัยการจังหวัดตรัง สำนักงานอัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตรัง 
          ซึ่งสำนักอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดตรัง เห็นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ไม่มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการ ออกคำสั่งให้ข้าราชการฝ่ายอัยการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว
          สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการ หรือสั่งการใดๆ ต่อข้าราชการฝ่ายอัยการ ทั้งนี้โดยผลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 255 , พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 7 และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 57 (4) 
          ดังนั้น การออกคำสั่งให้อัยการจังหวัดตรัง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตรัง และอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดตรังเป็นที่ปรึกษาศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง และให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดตรังไปปฏิบัติงาน ณ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง จึงเป็นการกระทำในทางปกครองของจังหวัด มิใช่เป็นการให้คำปรึกษาในฐานะเป็นกรรมการจังหวัด ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 53
          อีกทั้งการกระทำดังกล่าว ยังอาจนำไปสู่การออกคำสั่งทางปกครองอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบอาจฟ้องร้องจังหวัดเป็นคดีปกครอง โดยพนักงานอัยการต้องเป็นผู้แทนแก้ต่างคดีให้จังหวัด ส่งผลกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระและเที่ยงธรรมของพนักงานอัยการได้ รวมทั้งไม่อาจออกคำสั่งให้มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการของข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการฝ่ายอัยการจึงไม่อาจปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะขัดกับงานในหน้าที่ พนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องจึงชอบที่จะหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อปรับปรุงแก้ไขคำสั่งจังหวัดตรังในประเด็นดังกล่าวให้เหมาะสมต่อไป

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ