ข่าว

"มีชัย" นั่งหัวโต๊ะคุมแก้ร่างรธน.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"มีชัย"คุมแก้ร่างรธน.ประชามติ "วิษณุ"ไม่ตอบแก้เนื้อหาใด ยันไม่มีเรื่องการเมืองแน่ ปัดตอบปมข้อสังเกตในม.5  ลั่นต้องทำให้เสร็จภายใน 7 วัน

          17 ม.ค. - คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษเพื่อปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ กรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขหรือเติมข้อความใด ได้ประชุมเป็นนัดแรก โดยมีผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง นำโดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ, นายวิษณุ เครืองาม รองนายก, นายอำพน กิตติอำพน, นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ, นายนรชิต สิงหเสนี, นายอภิชาติ สุขัคคานนท์, นายดิสทัต โหตระกิตย์ เป็นต้น

            ก่อนการประชุม นายวิษณุ เปิดเผยว่า ตนได้รับข้อสังเกตมาจากสำนักราชเลขาธิการแล้ว แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดของเนื้อหา การแก้ไขข้อความของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามตินั้น คาดว่าเมื่อเห็นข้อสังเกตแล้วจะเริ่มดำเนินการได้ โดยตนมองว่าควรทำให้แล้วเสร็จ ภายใน 7  วัน เพื่อให้มีเวลาดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ต่อไป อย่างไรก็ตามข้อสังเกตที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับนั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษต้องยกร่างเนื้อหาที่แก้ไขตามข้อสังเกต เบื้องต้นคณะกรรมการฯ อาจยกร่างเนื้อหาหลายรูปแบบ จากนั้นจะนำเสนอให้นายกฯ ได้พิจารณาและเลือกเนื้อหาที่เห็นสมควรต่อไป ขณะที่ขั้นตอนการปรับแก้เนื้อหาตามข้อสังเกต ยอมรับว่าต้องพิจารณารายละเอียดมาตราอื่น ๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับมาตราที่ได้ปรับแก้ไขไปแล้ว เช่น กรณีแก้ไขมาตรา 16 และมีมาตราอื่นที่เชื่อมโยงกับมาตรา 16 ด้วยต้องตามแก้ไขส่วนดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกัน

         นายวิษณุ ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดถึงการแก้ไขรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติส่วนของมาตรา 5 ว่าด้วยกรณีที่ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญเรียกผู้นำทุกฝ่ายหารือต่อประเด็นที่ไม่มีบัญญัติของรัฐธรรมนูญเขียนรองรับไว้ ระบุเพียงว่าอย่าให้พูดถึงตอนนี้ พร้อมย้ำว่าการแก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติจะเป็นไปตามข้อสังเกตเท่านั้น โดยไม่มีการแก้ไขส่วนที่ว่าด้วยพรรคการเมือง,การเลือกตั้งส.ส., การได้มาซึ่งส.ว.  หรือการยืด หรือย่นเวลาใด ๆ ทั้งสิ้น

         ส่วนที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า กรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษที่เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการเลือกตั้งเข้าร่วมด้วยอาจแก้ไขประเด็นอื่น ๆ นั้น ยืนยันว่าไม่ใช่ และการคัดเลือกบุคคลให้เข้าร่วมนั้น ยึดคุณสมบัติของการเป็นกรรมการกฤษฎีกาเป็นหลัก ขณะที่มีฝ่ายบริหาร, ตุลาการ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้าร่วมด้วยนั้น เพราะต้องการให้มีส่วนร่วมในฐานะพยานรู้เห็น ส่วนที่ตั้งให้มีจำนวน 11 คนนั้น ไม่ใช่กรณีที่อาจจะมีการลงมติเกิดขึ้นแต่อย่างใด และตนยืนยันว่าการพิจารณาเรื่องดังกล่าวจะไม่มีการโหวตเพื่อลงมติใด ๆ อย่างแน่นอน.

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ