ข่าว

"พลเมืองเสวนา" ทำประชามติจำลองเท! ไม่รับ “ร่างรธน.”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เครือข่ายพลเมืองเสวนา ชำแหละ“ร่างรธน.6ประเด็น” เขียนปราบโกงแบบใจไม่ถึง ห่วงคงประกาศ-คำสั่ง คสช.ไว้ตลอดกาล เทคะแนนไม่รับร่างรธน.เช่นเดียวกับ ไม่เอาส.ว.เลือกนายกฯ

 

          23 ก.ค.59 - เครือข่ายพลเมืองเสวนา จัดเวทีหัวข้อ “บ่องตง ประชามติ เทไม่เท” เพื่อวิพากษ์ถึงรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติก่อนการตัดสินใจออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ใน 6 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นปราบทุจริต, ประเด็นสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ, ประเด็นสาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภค, ประเด็นการศึกษา, ประเด็นสิทธิและเสรีภาพ และคำถามประกอบการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีตัวแทนของนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว ที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็นร่วมเวที    

          นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวในประเด็นปราบโกงที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ที่มียอดรวมมาตราทั้งสิ้น 279 มาตราพบว่า มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการปราบการทุจริต วางแนวทางการแก้ไขการคอร์รัปชั่น รวมถึงวางกรอบกำหนดในประเด็นคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งเป็นแนวทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคอร์รัปชั่นทั้งสิ้น 53 มาตรา ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 1.การแก้ปัญหาทุจริต คอร์รัปชั่นในระบบราชการ อาทิ กำหนดให้มีการแจกแจงรายการของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายให้ชัดเจน รวมถึงมีกรอบในส่วนการจัดซื้อจัดจ้าง ที่กำหนดให้ทุกรายละเอียดถือเป็นการใช้เงินแผ่นดินที่ต้องตรวจสอบโดยไม่มีข้อยกเว้น, 2.การป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่นด้านการเมือง ด้วยการกำหนดบทลงโทษอย่างรุนแรงสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีส่วนได้เสียการจัดทำงบประมาณ, มีผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงทำผิดประมวลจริยธรรมและคุณธรรมอย่างร้ายแรงด้วยการตัดสิทธิเข้าสู่การดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตลอดชีวิต 

          นอกจากนั้นได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีที่กำหนดให้ต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีเพื่อกระบวนการตรวจสอบกรณีทุจริตเริ่มต้น, 3.กลไกภาครัฐ ที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน และให้สิทธิประชาชนตรวจสอบหรือถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระได้ผ่านกระบวนการที่กำหนด นอกจากนั้นได้วางกรอบปฏิบัติที่ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระ อย่างไรก็ตามตนขอเรียกร้องให้ภาคประชาชนช่วยตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระ อาทิ ป.ป.ช. เพราะมีข้อครหาตั้งแต่การแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ที่พบว่าผู้ที่ได้รับตำแหน่งเป็นเครือข่ายของนักการเมือง, ผู้มีอำนาจและผู้ใต้บังคับบัญชาของคนมีสี ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นตนมองว่ามีกระบวนการแทรกแซง ดังนั้นประชาชนต้องช่วยตรวจสอบการทำงาน, 4.กลไกประชาชนที่มีส่วนร่วมต่อกระบวนการตรวจสอบของภาครัฐ     

          “ผมมองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติมีหลายเรื่องที่ใจไม่ถึงเพราะไม่ได้บัญญัติสิ่งที่ดีเหมือนอย่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ผ่านมา อาทิ การแต่งตั้งข้าราชการด้วยระบบคุณธรรม, การกำหนดคุณธรรมจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สูงกว่ามาตรฐานข้าราชการทั่วไป , พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของสมาชิกพรรค ทั้งนี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นมองว่า เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติพยายามปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการปราบคอร์รัปชั่น แต่ต้องขึ้นอยู่กับการใช้สิทธิของประชาชนที่จะใช้โอกาสการตรวจสอบทุกฝ่ายหรือไม่ ซึ่งผมมองว่า ประชาชนไม่ช่วยเปิดพื้นที่ความโปร่งใส การแก้ปัญหาทุจริตตามร่างรัฐธรรมนูญจะทำไม่ได้จริง” นายมานะ กล่าว    

   "พลเมืองเสวนา" ทำประชามติจำลองเท! ไม่รับ “ร่างรธน.”

 

ชี้ "สิ่งแวดล้อม" ขาดหลักประกัน-มีส่วนร่วม ปชช. 

          ด้านนายศุภกิจ นัทะวรการ นักวิจัยมูลนิธินโยบายสุขภาพกล่าวในประเด็นสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติมีเพียงประเด็นเดียวที่พอรับได้​ นั่นคือ ในหมวดของการปฏิรูป มาตรา 258 ช. ด้านอื่นๆ ที่กำหนดให้มีการบริหรจัดการทรัพยากรนำ ธรรมชาติที่ยั่งยืน และจัดระบบกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีส่วนที่ขาดคือการให้ประชาชนมีส่วนร่วม นอกจากนั้นในประเด็นที่เกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่บัญญัติไว้ในหลายมาตรา อาทิ มาตรา 43(2) ว่าด้วยสิทธิชุมชนและบุคคลในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ, มาตรา 57(2) ที่กำหนดให้รัฐต้องอนุรักษ์​ คุ้มครอง บริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งระบุว่าประชาชนและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนรวม เป็นต้น มีเนื้อหาที่ไม่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะขาดการให้น้ำหนักของความเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินการของภาครัฐ รวมถึงขาดบทบัญญัติเพื่อรับรองสิทธิของประชาชนเพื่อแสดงความเห็นก่อนที่รัฐจะวางแผนการพัฒนาด้านต่างๆ ขณะที่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่ปรับเนื้อหาเดิมซึ่งเคยเป็นสิทธิของประชาชนไปเป็นหน้าที่ของรัฐ แม้จะให้สิทธิประชาชนฟ้องร้องรัฐได้เมื่อไม่ปฏิบัติหน้าที่ถือเป็นประเด็นที่ไม่เหมาะสมเช่นกัน เนื่องจากจะเป็นภาระต่อประชาชนในการเรียกร้องสิทธิซึ่งเดิมเป็นสิทธิของประชาชนโดยตรง        

          “เมื่อเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญไม่โอ.เค แล้วต้องทำอย่างไรต่อ มีหลายคนบอกว่า ให้ยอมๆ ไปเหอะ แต่ส่วนตัวผมมองในเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ควรจะยอม และควรพยายามในสิ่งที่ควรเป็น เพราะประเทศเราพัฒนาเศรษฐกิจได้ เมื่อสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ดังนั้นเมื่อเนื้อหาไม่ได้ดี ไม่ควรยอม ผมมองว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน การทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนจะอยู่ในภาวะลำบาก” นายศุภกิจ กล่าว       

 

"นัก กม.สิ่งแวดล้อม" ห่วงคำสั่ง คสช. กระทบความผาสุขปชช.

          ขณะที่นายอัมรินทร์ สายจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายประจำมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวในประเด็นสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติว่า เสรีภาพในการชุมนุมหรือการจัดการชุมชนที่เป็นกลไกของภาคประชาชนต่อการแสดงความเห็นหรือแสดงความกังวลต่อการดำเนินงานของภาครัฐในโครงการต่างๆ ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ที่มีเนื้อหาเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งเพิ่มการห้ามชุมนุมที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง สงบเรียบร้อย เป็นต้น ทำให้ตนกังวลว่า จะทำให้การขยายกรอบจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมมากขึ้นและทำให้เสรีภาพของการชุมนุมโดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของหน่วยงานรัฐทำได้อย่างจำกัด นอกจากนั้นในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อความผาสุกของประชาชน ที่เขียนไว้ในมาตรา 3 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุขของประชาชนโดยรวมนั้น ตนมองว่าหลักประกันดังกล่าวจะมีความเข้มข้นและได้รับการปฏิบัติมากน้อยหรือไม่ เพราะในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ไปจนมี ครม.ชุดใหม่มาบริหาร และระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ คสช. มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดยเฉพาะมีอำนาจตามมาตรา 44 ที่สามารถออกประกาศและคำสั่งใดๆ ได้โดยไม่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมไปถึงการรับรองประกาศและคำสั่งของคสช. ที่ให้มีผลต่อไปจนกว่าจะยกเลิก ตนมองว่าอาจกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชหลังจากมีรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ได้       

 

ประกาศโหวตไม่รับ เหตุเนื้อหาเพิ่มความเหลื่อมล้ำ 

          ส่วนนางสุรีรัตน์ ตรีมรรคา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวในประเด็นสาธารณสุข ว่าร่างรัฐธรมนูญฉบับลงประชามติ มีเนื้อหาที่ทำให้ระยะห่างของความเหลื่อมล้ำมีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นกลุ่มคนรักประกันสุขภาพมีมติร่วมกันว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ตามเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแม้จะไม่ทำให้ระบบสุขภาพที่มีอยู่ปัจจุบันหายไป เพราะมีกฎหมายรองรับ แต่ต้องจับตาว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องจะถูกแก้ไขในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือไม่สำหรับประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการกำหนดสวัสดิการของประชาชนมีเนื้อหาที่เกินความจำเป็น อาทิ สิทธิของมารดาที่ได้รับความคุ้มครองช่วงก่อน ระหว่าง และหลังคลอดบุตรตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมถึงสิทธิของผู้สูงอายุ ที่อายุ 60 ปี และสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ที่ไม่ควรเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเพราะจะทำให้เกิดการตีความและก่อปัญหาในการเลือกปฏิบัติได้ กรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ระบุว่าการจัดสงเคราะห์ผู้ชราที่ยากไร้ เพื่อต้องการนำเงินจากผู้ชราที่ร่ำรวยมาเฉลี่ยให้คนจนนั้น ตนกังวลว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบหลักสวัสดิการถ้วนหน้าอื่นๆ เช่น การศึกษาและสุขภาพ ที่อาจถูกเลือกปฏิบัติทั้งที่ประชาชนต้องเสียภาษีเท่ากัน

บ่ายชำแหละต่อ ร่างรธน.ขาดการกระจายการศึกษาที่มีคุณภาพ

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่าย มีหัวข้อเกี่ยวกับประเด็นการศึกษา, ประเด็นสิทธิและเสรีภาพและคำถามประกอบการลงประชามติ ซึ่งนายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติขาดมุมมองที่ทำเพื่อลดระดับความเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพการศึกษา เพราะในเนื้อหาของบทบัญญัติมองเพียงแค่การลงทุนจำนวนมาก แต่ได้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้มีกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตนมองว่าประเด็นดังกล่าวคือการเน้นการสงเคราะห์มากกว่าการกระจายคุณค่าการศึกษาหรือปฏิรูปการศึกษาที่เป็นรูปธรรม และทำให้ติดกับดักของการกดขี่ทางชนชั้นมากกว่าคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่สามารถพัฒนาศักยภาพตนเองได้

          "ในบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ปรับเปลี่ยนการเรียนฟรีจากระดับก่อนวัยเรียน หรืออนุบาล จนถึงระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 แทนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 เพราะเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งกรณีการขยายการเรียนฟรี แต่ตัดการศึกษาฟรีระดับมัธยมตอนปลาย หรือระดับอาชีวะออก ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของสังคมไทย ที่ต้องการการลงทุนเพื่อการศึกษาอย่างจริงจัง ไม่ใช่มองเฉพาะประเด็นว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากแต่ไม่เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้ตนมองว่าการมีประสิทธิภาพการศึกษาคือการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคม สำหรับการดูแลเด็กเล็กก่อนวัยเรียนมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลแทนการให้รัฐส่วนกลางแบกรับภาระไว้ผู้เดียว กรณีที่ผู้เกี่ยวข้องกังวลว่าการดูแลดังกล่าวจะไม่มีคุณภาพควรใช้วิธีประเมินผลหรือมีดัชนีชี้วัดจะเหมาะสมมากกว่า" 

          ด้านนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กล่าวประเด็นการศึกษาด้วยว่า บทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญต่อประเด็นการศึกษาถูกเขียนไว้อย่างเหมาะสม ยกเว้นประเด็นสำคัญเพียงประเด็นเดียว คือ การเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือระดับที่สูงกว่านั้นซึ่งกำหนดให้ผู้ต้องการต้องยื่นความประสงค์ทางกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทั้งที่สิทธิการเรียนฟรีเป็นสิทธิของคนไทยทุกคนไม่ใช่การร้องขอการสงเคราะห์จากรัฐ ซึ่งกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญวางบทบัญญัติดังกล่าวไว้ ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสถาบันการศึกษาจะมากขึ้น​

          ส่วนนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กล่าวในประเด็นสิทธิและเสรีภาพว่าการตัดสินใจลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนตนเชื่อว่าจะนำรายละเอียดในบทเฉพาะกาลมาพิจารณา โดยส่วนตัวมองว่าการเขียนบทเฉพาะกาลให้ กรธ.อยู่ต่อ 8 เดือน เพื่อยกร่างพระราชบัญญัติประกอบร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ฉบับ คือการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ จะหมายถึงการให้ตีเช็คเปล่าให้กรธ.ไปเขียนรายละเอียดของกฎหมายตามต้องการได้ โดยประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมได้ ขณะที่การเลือกตั้งส.ส.ครั้งแรกหลังมีรัฐธรรมนูญใหม่ เชื่อว่าเกิดขึ้นได้ปลายเดือนธันวาคม 2560  

    

คำถามพ่วง ซ่อนปม นายกฯ มาจากใบสั่ง คสช.      

          ขณะที่นายปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัทบัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวในประเด็นคำถามประกอบการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า จากการถอดรหัสเนื้อหาของคำถามประกอบการออกเสียงประชามติ พบเนื้อความที่เข้าใจได้ง่ายว่า ในระยะ 5 ปีหลังมีรัฐธรรมนูญใหม่ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีอำนาจร่วมเลือกนายกฯ ซึ่งกรณีที่คำถามประกอบการลงประชามติผ่านความเห็นชอบ ทำให้ ส.ว.ซึ่งมาจากการสรรหาของคสช. มีสิทธิร่วมเลือกนายกฯ ได้2รอบ ซึ่งรวมเวลาบริหารของรัฐบาลทั้งสิ้น 8 ปี โดยมีความเป็นไปได้ว่าบุคคลที่จะถูกเลือกจะเป็นผู้ที่มีอำนาจปัจจุบันต้องการ เพราะมีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องเป็นบุคคลที่ทำให้การปฏิรูปมีความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่รัฐบาลคสช. ได้กำหนดไว้แล้ว ขณะที่การเผยแพร่เอกสารชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พบว่ามีหลายประเด็นที่ไม่ได้บอกให้ประชาชนรับทราบ อาทิ ที่มาของส.ว. ชุดแรก ที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ หรือข้าราชการสามารถดำรงตำแหน่งได้ รวมถึงบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่ประชาชนไม่สามารถเห็นรายชื่อก่อนตามที่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญกำหนด เพราะเมื่อคำถามประกอบการออกเสียงที่ให้สิทธิ ส.ว. ร่วมเลือกนายกฯ ได้รับความเห็นชอบเงื่อนไขดังกล่าวไม่ชัดเจนว่าจะบังคับใช้ได้หรือไม่ 

   "พลเมืองเสวนา" ทำประชามติจำลองเท! ไม่รับ “ร่างรธน.”

 

เทคะแนนไม่รับร่างรธน. - ไม่เอาส.ว.เลือกนายกฯ 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงท้ายของเวทีเสวนา มีกิจกรรมจำลองการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และลงมติผ่านทางแอพพลิเคชั่นพีเพิล โพลล์ ไทยแลนด์ เป็นเวลา 3 นาที โดยประเด็นการลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ผลปรากฎว่ามีผู้ร่วมลงมติ 68 คน ซึ่งลงมติเห็นชอบ 59 เปอร์เซ็นต์ หรือ 4 คน, ไม่เห็นชอบ 89.2 เปอร์เซ็นต์ หรือ 60 คน และไม่ไปใช้สิทธิ 2.9เปอร์เซ็นต์ หรือ 2 คน ขณะที่คำถามประกอบการออกเสียงประชามตินั้น ผลปรากฎว่า เห็นชอบ 4.4 เปอร์เซ็นต์ หรือ 3 คน, ไม่เห็นชอบ 92.6 เปอร์เซ็นต์ หรือ 63 คน และไม่ไปใช้สิทธิ 1.5เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 คน 

    

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ