ข่าว

ปลุกคนไทยตื่นตัวร่วมต้านคอร์รัปชั่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปลุกคนไทยตื่นตัวร่วมต้านคอร์รัปชั่น

               9ธันวาคมของทุกปีถือเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (International Anti-Corruption Day) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 โดยประเทศภาคีสมาชิกยูเอ็น 191 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาฯ ระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม 2546 ณ เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก 

               ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล เพื่อสร้างกระแสรณรงค์การต่อต้านการทุจริตและกล้าที่จะยืนหยัดต่อต้านการทุจริตอย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยลดลง ที่ผ่านมาก็ประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่งเมื่อผลการจัดอันดับขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น ประจำปี 2557 ระบุว่าไทยได้ 38 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 85 (เดิมอันดับที่ 102) ในการจัดอันดับทั้งหมด 175 ประเทศทั่วโลก
 
               นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.กล่าวว่า ที่ประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติต่างเห็นพ้องกันถึงความสำคัญของการต่อต้านการทุจริตและตระหนักถึงภัยของการทุจริตทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ส่งผลเสียหายทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ ดังนั้นเรื่องดังกล่าวจึงเป็นวาระสากลที่นานาประเทศให้ความสำคัญ ทั้งนี้เนื่องในวันต่อต้านการทุจริตสากลจึงนับเป็นโอกาสที่ดีของคนไทยทุกคนที่จะได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตน และรวมพลังเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการต่อต้านการทุจริตควบคู่ไปกับการดำเนินการของสำนักงานป.ป.ช. และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ

               นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและดำเนินคดีการทุจริตและประพฤติไม่ชอบ เร่งดำเนินการพิจารณา และดำเนินคดี 15 คดีสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจ แต่มีความล่าช้าและไม่มีความคืบหน้า เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นรูปธรรมและมีผลงานให้ประชาชนได้ประจักษ์

               "แม้ประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่นดีขึ้น 17 อันดับ มาอยู่ที่ 85 ของโลก การตื่นตัวของภาคเอกชนที่จะต่อต้านความไม่ถูกต้องมากขึ้น แต่จากการติดตามพบว่าคดีการคอร์รัปชั่นหลายคดีไม่มีความคืบหน้าและเงียบหายไป โดยเฉพาะ 15 คดี ที่ประชาชนจับตามอง ทำให้องค์กรต้องออกมาเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งการพิจารณาคดีให้รวดเร็วขึ้น" นายประมนต์ กล่าว

               ใน 15 คดีที่องค์กรจับตามองแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลักๆ คือ 1.กลุ่มคดีที่รอคำอธิบาย ได้แก่ กรณีไมโครโฟนทองคำ กรณีป้ายโฆษณาบนป้อมจราจร กรณีการทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียนสังกัด สพฐ. คดีทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน คดีโกงลำไยในปี 2547-2548 และคดีไฟไหม้รถหรู กลุ่มที่ 2 คดีที่คาราคาซัง และคาใจ ได้แก่ คดีการทุจริตจำนำข้าวทั้งระบบ กรณีอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในการจัดเทศกาลภาพยนตร์ กรณีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม กรณีการทุจริตการก่อสร้างโรงพักทั่วประเทศ และกรณีโครงการไทยเข้มแข็ง

               กลุ่มที่ 3 คดีที่รออัยการดำเนินคดี กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ หรือ ยกเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการปล่อยให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และกลุ่มที่ 4 ที่องค์กรให้ความสำคัญและอยากให้ประชาชนจับตามองมากที่สุด คือกลุ่มคดีที่ต้องไม่กะพริบตา ได้แก่ กรณีบริษัท ไร่ส้ม ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรณี พล.ต.ท. พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และกรณีจดหมายน้อยของเลขาธิการศาลปกครอง

               สำหรับการจับตาการดำเนินคดีในช่วงที่ผ่านมาขององค์กร พบว่า ปัญหาของประเทศไทยมีขั้นตอนการดำเนินคดีหลายขั้นตอน โดยการดำเนินคดีที่ไม่มีการแทรกแซงตามลำดับเวลามาตรฐาน จะเริ่มจาก การทำงานของป.ป.ช. ใช้เวลา 2-5 ปี ขั้นตอนอัยการถึงศาล 1-2 ปี ขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา ใช้เวลา 6-8 ปี ทำให้ใช้เวลามากกว่า 10 ปีในการดำเนินคดี หากผู้ถูกดำเนินคดีเป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางการเมือง หรือมีอำนาจทางราชการ บางคดีใช้เวลายาวนานกว่า 17-20 ปี กว่าจะดำเนินคดีแล้วเสร็จ

               นายประมนต์ กล่าวต่อว่า เราจะเห็นกรณีต่างๆ มากมายที่การดำเนินคดีล่าช้า อย่างในกรณีของคดีไร่ส้ม เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีตั้งแต่ปี 2550 อัยการเพิ่งมีความเห็นส่งฟ้องเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หรือในกรณีทุจริตคลองด่าน มีการส่งเรื่องให้ป.ป.ช.พิจารณาในปี 2542 ใช้เวลากว่า 9 ปี กว่าคดีจะสิ้นสุด หลังจากนี้องค์กรจะรวบรวมข้อมูลของคดีทั้งหมด เสนอต่อศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อเร่งรัดและทำให้เกิดการตัดสินคดี โดยเฉพาะคนที่มีฐานะทางสังคมสูง หรือมีอำนาจทางการเมืองหรือภาคราชการ หากไม่สามารถนำมาลงโทษได้ คนจะไม่เกรงกลัวต่อการกระทำผิด

               ส่วนความคืบหน้าของการขยายเวลาอายุความผู้ที่กระทำการทุจริต ไม่ให้มีอายุความ ยังอยู่ระหว่างการศึกษา โดยแนวทางการเสนอให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ มีอยู่ 2-3 วิธี หากไปดูในข้อตกลงระหว่างประเทศ ของยูเอ็นซีเอซี มีวิธีการปฏิบัติว่าคดีต่างๆ ควรมีอายุความเท่าไหร่ ตั้งแต่ 5 ปี ถึง 25 ปี หากแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับนานาชาติ คดีขนาดใหญ่จะทำให้มีอายุความที่ยาวขึ้น และอีกมาตรการที่มีความน่าสนใจ คือ หากผู้ต้องหาหลบหนีไม่มาดำเนินคดีตามเวลา จะไม่นับอายุความ จนกว่าจะกลับเข้ามาสู่กระบวนการตรวจสอบ

               สำหรับการประเมินการต่อต้านการคอร์รัปชั่นของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั้น ที่ผ่านมาระดับผู้บริหารมีความเอาจริงเอาจังในการเอาผิดผู้คอร์รัปชั่นอย่างแข็งขัน แต่สิ่งที่ทางองค์กรห่วงคือเจ้าหน้าที่ระดับล่างยังไม่มีการเอาจริงเอาจังเท่าที่ควร ดังนั้นควรมีการกวดขันให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างลงมือปฏิบัติหน้าที่มากขึ้น

               ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ใน 3 คดีที่เร่งด่วนนั้น มีความสำคัญที่แตกต่างกัน อย่างกรณีบริษัทไร่ส้ม เกิดขึ้นมานานตั้งแต่ปี 2547 เข้าสู่กระบวนการป.ป.ช. ปี 2550 ใช้เวลาพอสมควรกว่าจะมีความคืบหน้า เป็นตัวอย่างของพฤติกรรมโดยทั่วไปของคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในเมืองไทยใช้เวลาดำเนินคดีนานมาก บางคดีใช้เวลา 16-17 ปีกว่าจะถึงที่สุด ซึ่งเป็นช่องทางของการโอนถ่ายทรัพย์สินเพื่อหลบหนีการกระทำความผิดได้

               ส่วนคดี พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ เป็นคดีที่ทำให้คนไทยเห็นว่า การทุจริตแบบเป็นขบวนการในภาคราชการเป็นเรื่องจริง การเรียกสินบน ซื้อขายตำแหน่งมีอยู่จริง เราต้องเร่งขจัดการกระทำผิดพวกนี้ให้หมดไป

               ส่วนนายสมพล เกียรติไพบูลย์ รองประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน เห็นว่า การดำเนินคดีคอร์รัปชั่นในปัจจุบันอยู่ในบรรยากาศที่กระตือรือร้น และมีความชัดเจนมากขึ้น แต่การเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ไม่รวดเร็วเท่าที่ควร ในต่างประเทศจะมีช่องทางดำเนินคดีที่รวดเร็วตอบโจทย์การเอาผิด

               ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญคือต้องจับปลาตัวใหญ่ให้ได้ เอาผู้ที่กระทำความผิดมาลงโทษให้ประชาชนเห็นชัดเจน จะช่วยปรามการทุจริตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ แต่ตราบใดที่ปลาตัวใหญ่ยังลอยนวลอยู่ หรือเกิดคดีแล้วหนีไปอยู่ต่างประเทศได้ กลับคดีหมดอายุความใช้ชีวิตได้ตามปกติ จะไม่ก่อให้เกิดความเกรงกลัวในการกระทำความผิด

               สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ โลกทุกวันนี้พัฒนาเลยคำว่าการปราบปรามคอร์รัปชั่นแล้ว เขาไปถึงขั้นที่ว่า หากคุณมีหน้าที่ในการรับผิดชอบ แต่คุณละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จนทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เป็นการทุจริตอย่างหนึ่ง ต้องมีการลงโทษด้วย

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ