ข่าว

ข้าวแกงและก๋วยเตี๋ยว...

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ข้าวแกงและก๋วยเตี๋ยว...: กระจกเงา โดยอัศศิริ ธรรมโชติ [email protected]

               “เดิมกินข้าวไม่ได้ โกรธว่ากับข้าวไม่อร่อยบ่อยๆ จนครั้งหนึ่งวานให้กรมหมื่นปราบซื้อข้าวแกงมากิน”
   
               พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ฉบับนี้ยังมีความต่ออีกว่า “เผอิญไปถูกข้าวอย่างนี้เข้า กินได้ติดใจ จึงได้วานให้กรมปราบจัดซื้อแลชักชวนให้ลูกเมียกินก็พากันชอบ”
   
               กล่าวกันว่าพระพุทธเจ้าหลวงนั้น โปรดเสวยข้าวแกงยิ่งนัก เมื่อเสด็จประพาสต้นตามท้องที่ต่างๆ ก็มักจะมีผู้จัดหาข้าวแกงมาถวายให้เสวยอยู่เสมอ
   
               ประวัติข้าวแกงหรือข้าวราดแกงในหนังสือเก่าเท่าที่ค้นพบ ลาวัณย์ โชตามระ นักเขียนหญิงผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้เขียนเล่าเอาไว้ว่า เมื่อกว่าร้อยปีก่อนในกรุงเทพฯ ตรงที่สี่แยกบ้านหม้อมีศาลาใหญ่หลังหนึ่ง เรียกกันว่าศาลาตาเพ็ง เป็นร้านขายข้าวแกงของตาเพ็ง ยายพุก สองผัวเมียคู่นี้ได้ชื่อว่าเป็น “ราชาข้าวแกง” แห่งเมืองหลวงสมัยนั้น ที่ขายข้าวแกงอย่างเดียวจนร่ำรวยเป็นเศรษฐี
   
               ข้าวแกงเมื่อแรกเริ่มนั้นก็มีทั้งที่ขายเป็นจานและเป็นชุดตั้งโต๊ะเหมือนอย่างทุกวันนี้ มีแกงเผ็ด แกงจืด ถ้าหากสั่งเป็นชุดก็มีพร้อมทั้งน้ำพริกผัก ปลาดุกย่าง กินได้ถึง 3-4 คน ราคาโต๊ะละ 2 สลึง แถมข้าวสุกข้าวสวยไม่คิดราคาด้วย
   
               ส่วนพวกต้องกินเจียมอยู่เจียม ข้าว 1 จาน กับ 1 อย่าง จานละ 3-4 สตางค์ มีเสื่อปูให้นั่งกิน ถ้าไม่อิ่มก็สั่งเพิ่มทั้งข้าวปลาและกับข้าว คิดราคาเพิ่มเข้าไปอีก
   
               ว่าร้านข้าวแกงตาเพ็ง ยายพุก นับเป็นจุดเริ่มต้นของร้านข้าวแกงในกรุงเทพฯ ที่ทำให้เกิดมีร้านข้าวแกงขึ้นอีกมากมายในเวลาต่อมา
   
               การคิดควบคุมราคาข้าวแกง หรือว่าอาหารสำเร็จรูปของรัฐบาลปัจจุบัน เพราะของแพงและค่าครองชีพสูง ทำให้คิดถึงก๋วยเตี๋ยว ของกินอีกอย่างที่เคยมีบทบาทในทางการเมืองสูง ขณะที่รัฐบาลในอดีตต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและข้าวยากหมากแพง
   
               ว่าก๋วยเตี๋ยวเป็นภาษาจีน คนจีนนำเข้ามาในไทยนานแล้ว นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นแป้งข้าวเจ้าที่นำมาทำเป็นเส้นลวกปรุงด้วยน้ำซุป ใส่หมู ผัก ถั่วงอก ลงไปเอาตามใจชอบ ในสมัยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม ช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 สินค้าอาหารขาดแคลนและมีราคาแพง นอกจากก๋วยเตี๋ยวเท่านั้นราคาถูกชามละ 50 สตางค์
   
               จอมพลป. นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ถึงกับต้องลุกขึ้นมาประกาศเรียกร้องเชิญชวนให้ประชาชนช่วยกันกินก๋วยเตี๋ยวเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจของชาติยามยาก เพราะเงิน 1 บาท ในขณะนั้นแทบจะซื้ออะไรไม่ได้ แต่ยังกินก๋วยเตี๋ยวได้ถึง 2 ชามใหญ่
   
               ก๋วยเตี๋ยวมีคุณประโยชน์และมีรสครบ ทั้งเปรี้ยว หวาน เค็ม ผู้นำของประเทศบอกถึงสรรพคุณก๋วยเตี๋ยวกับประชาชนแล้ว ก็ประกาศให้การกินก๋วยเตี๋ยวเป็นนโยบายรัฐบาลเป็นวาระแห่งชาติ อันเป็นเหตุให้หน่วยราชการกรมกองและข้าราชการทั้งหลายในเวลานั้นต่างก็ต้องหันมาทำก๋วยเตี๋ยว ขายก๋วยเตี๋ยวและกินก๋วยเตี๋ยวกันเป็นการใหญ่ เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล ที่ทำสวนครัวปลูกผักเพาะถั่วงอก ก็มีอีกมากต่างหาก
   
               จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างไปจากนโยบาย “ร้านธงฟ้า” ของรัฐบาลทุกวันนี้ ต่างกันก็ตรงที่พวกปลัด อธิบดีและข้าราชการใหญ่น้อยในกระทรวงพาณิชย์ ไม่ต้องไปยืนตักข้าวแกงหรือว่าปรุงก๋วยเตี๋ยวขายด้วยตัวเองเท่านั้น
   
               อย่างไรก็ตามการควบคุมราคาอาหาร อย่าง ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยวไม่ว่าจะในยุคสมัยไหนและรัฐบาลใดนั้น นับเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะเป็นอาหารปลายทางที่ต้นทุนการผลิตทั้งราคาสินค้า ค่าเช่าพื้นที่ขายและค่าแรงหาความแน่นอนไม่ได้ เช่นเดียวกับราคาพืชผักและมะนาวที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และฤดูกาลที่ต่างกัน
   
               นอกจากนี้แล้ว เรื่องของรสชาติและความอร่อยก็ยังเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่อย่างสำคัญด้วย อย่างเช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกงร้านดังมีชื่อที่ผู้คนนิยมกินกันทั่วไป ชามจานละ 40-50 บาท จะควบคุมกันอย่างไร บางร้านแค่ลูกชิ้นลูกเดียวก็ปาเข้าไป 4 บาทแล้ว
   
               เรื่องอาหารการกินบางครั้งก็เป็นเรื่องสมยอมกันระหว่างคนกินกับคนขาย ถึงได้ซื้อขายกันอยู่ได้ ก๋วยเตี๋ยวผัดไทยจานละ 100 บาท ราดหน้าจานละ 200 บาท และแม้แต่ข้าวต้มปลาริมทางเท้าถ้วยละ 200-300 บาท ก็ยังมี
   
               ข้าวแกงก๋วยเตี๋ยวต่อไปคงจะไม่ใช่อาหารของคนจนอีกแล้ว ที่ราคาถูกส่วนใหญ่ก็เหมือนว่ามีเอาไว้สำหรับผู้ไม่มีทางเลือกกินกันตายเท่านั้นครับ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ