ข่าว

มหันตภัยม.นอกระบบ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทความพิเศษ : 'มหันตภัย ม.นอกระบบฯ' โดย 'รศ.ดร.พงศ์ประเสริฐ หกสุวรรณ' มหาวิทยาลัยบูรพา

          มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ ม.นอกระบบฯ เปรียบเหมือนไวรัสร้ายที่บ่มเพาะตัวในยุคของรัฐบาลซึ่งมาจากคณะรัฐประหาร(คมช.)นั้น   บัดนี้เริ่มเติบโตแพร่ระบาดสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ  จนน่าเป็นห่วงว่าหากรู้ไม่ทัน  ไม่กำจัดและป้องกันอย่างจริงจังจะลุกลามต่อไปจนเสียหายเกินแก้  จึงขอให้ข้อมูลเชิงประจักษ์แก่ทุกท่านอันอาจช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้บ้าง ดังนี้

 

ที่มาไม่ถูกต้องเพราะผลประโยชน์ทับซ้อน/วาระซ่อนเร้น

          กลุ่มผู้ผลักดันเรื่อง ม.นอกระบบฯ ล้วนเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ในมหาวิทยาลัย  เป็นนายกสภา/กรรมการสภามหาวิทยาลัย  นับตั้งแต่ “นายกฯ เขายายเที่ยง” พลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ดำรงตำแหน่งซ้ำซ้อนมากมายคือโต้โผใหญ่ผลักดันมาตั้งแต่ต้น และเมื่อมาดำรงตำแหน่ง รมว.ศธ. จึงผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติทันที 

          นายมีชัย  ฤชุพันธุ์ประธานสภานิติบัญญัติเองก็มีตำแหน่งในสภามหาวิทยาลัยร่วม 10 แห่ง  อธิการบดีแทบทุกมหาวิทยาลัยก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ  ล้วนเป็นผู้มีประโยชน์ทับซ้อนซ่อนเร้น  จึงร่วมกันเร่งผลักดันพรบ. มหาวิทยาลัยนอกระบบฯ ไปได้หลายมหาวิทยาลัย  ทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540 และปี 2550 คือองค์ประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาฯ ที่มีอยู่ 

          (ขณะนี้คณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งมีนายประสบ  บุษราคัม เป็นประธาน  ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติยกเลิก พรบ.ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติตราออกใช้โดยไม่ชอบเหล่านี้ จำนวน 191 ฉบับ)

 

ผลกระทบ

          การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบฯ โดยอ้างลอย ๆ ถึงความอิสระคล่องตัวและความเป็นเลิศทางวิชาการบังหน้านั้นได้ส่งผลร้ายต่อหน่วยงาน  ระบบราชการ  ข้าราชการและประชาชนจำนวนมาก  ที่ร้ายไปกว่านั้นคือผู้คนส่วนใหญ่มักไม่มีโอกาสหรือช่องทางรับรู้ความจริงอันเลวร้ายของมันได้เท่าที่ควร  เช่น การเพิ่มภาระเงินงบประมาณของประเทศโดยไม่จำเป็น ทันทีที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบฯ  

          ข้าราชการซึ่งส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารในมหาวิทยาลัยซึ่งเปลี่ยนเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยจะได้รับเงินเดือนเพิ่มเกือบเท่าตัว  โดยอ้างว่าเพื่อชดเชยการเสียสิทธิจากการเป็นข้าราชการ  แต่ในความเป็นจริงแล้ว  คนเหล่านี้ยังคงเป็นข้าราชการบำนาญ  ได้รับเบี้ยหวัด และสิทธิทางสวัสดิการสำหรับตนและครอบครัว ได้เช่นเดิม  จึงดูไร้เหตุผลว่าทำไมจึงต้องจ้างคนเดิม  ความรู้ความสามารถ สติปัญญาและคุณธรรมเท่าเดิมโดยใช้เงินมากขึ้น 

 

การเพิ่มภาระทางการเงินของนิสิตนักศึกษาและผู้ปกครอง 

          นอกจากเงินงบประมาณจากรัฐแล้ว มหาวิทยาลัยนอกระบบฯ ทุกแห่งยังจะต้องหาเงินมาเลี้ยงตัวเองให้เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้น  เพราะบรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกระดับล้วนได้ปรับเงินค่าตอบแทนตำแหน่งบริหารตามสูตรสารพัดที่จะคิดกันขึ้นมาได้  และเรื่องตลกที่ขำไม่ออกก็คือเงินเดือนและค่าตอบแทนเหล่านี้มีการออกระเบียบว่าเป็นความลับ  ผู้ใดเปิดเผยถือว่ากระทำผิดวินัยขั้นร้ายแรง  ว่ากันว่า ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีจะได้รับเงินแต่ละเดือนมากกว่าเงินเดือนนายกรัฐมนตรีเสียอีก  จึงเป็นที่มาของการขึ้นค่าเรียนและค่าธรรมเนียมทุกประเภท  บางมหาวิทยาลัยก็เลี่ยงไปขึ้นราคาทางอ้อมไม่ให้รู้ตัวโดยเก็บค่าเรียนแบบเหมาจ่าย  ซึ่งผู้ที่รับกรรมไปเต็ม ๆ ก็คือผู้ปกครองและบุตรหลานตาดำ ๆ นั่นเอง

 

การสร้างสังคมธุรกิจการศึกษาลดคุณค่าปริญญา 

          เมื่อมหาวิทยาลัยต้องใช้เงินมากขึ้น  การขึ้นราคาเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอเพียง  จึงต้องแข่งขันกันแย่งลูกค้า  ขยายอาณาเขตเปิดสอนไปทั่วทั้งในเมืองชนบท  เละเทะกันถึงขนาดไปกว้านหาลูกค้ากันไปถึงประเทศด้อยพัฒนารอบข้าง  รับไม่อั้น  โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ  ดังที่มีสมาคมวิชาชีพบางแห่งออกมาประกาศไม่รับรองมาตรฐานบางคณะ  บางสาขาวิชา  เล่นเอาหน้าแตกต้องขายผ้าเอาหน้ารอด  แก้ตัวกันจ้าละหวั่น  น่าเป็นห่วงอนาคตของประเทศที่อุดมไปด้วยบัณฑิตด้อยคุณภาพ  ถ้ายังปล่อยให้ทำธุรกิจการศึกษากันแบบนี้ 

 

การทำลายทรัพยากรบุคคล  

 

          ไม่น่าเชื่อว่าอาจารย์พนักงานมหาวิทยาลัยนอกระบบฯ ทุกวันนี้มีสภาพไม่ต่างอะไรกับลูกจ้างที่ต้องคอยพะวงกับการต่อสัญญาจ้าง  ต้องยำเกรงไม่ขัดใจนายจ้าง  และอาจจะแย่กว่าด้วยซ้ำตรงที่พรบ.มหาวิทยาลัยนอกระบบฯ กำหนดให้ไม่มีสหภาพพนักงานเพื่อปกป้องเรียกร้องสิทธิให้พนักงาน 

          นอกจากนี้มหาวิทยาลัยนอกระบบฯ เกือบทุกแห่งยังกีดกันห้ามข้าราชการเป็นผู้บริหาร  แม้ว่าจะมีความรู้  ความสามารถและประสบการณ์เพียงใดก็ตาม  จึงปรากฏว่าหลายคณะ  หลายภาควิชาต้องเอาพนักงานที่ด้อยทั้งคุณวุฒิ  ความสามารถและประสบการณ์มาบริหาร  ซึ่งดูจะเป็นที่พึงพอใจของผู้บริหารระดับสูง  อาจเป็นเพราะอ่อนน้อม  เชื่อฟัง  ยำเกรง  ต่างกับข้าราชการซึ่งไม่สามารถทำกับเขาตามอำเภอใจได้  เพราะมีกฎหมายข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยกำกับอยู่ 

 

การทำลายระบบคุณธรรม  

          ดังคำกล่าวที่ว่า “ชนชั้นใดออกกฎหมาย  ย่อมเป็นไปเพื่อชนชั้นนั้น”  มหาวิทยาลัยนอกระบบฯ ทุกวันนี้จึงมีกฎระเบียบแปลก ๆ ออกมา เช่น การตั้งคณะหรือหน่วยงานใหม่ ๆ แปลก ๆ ที่ไม่จำเป็น  เพียงเพื่อให้มีตำแหน่งเป็นบำเหน็จรองรับพวกพ้อง  และเพื่อให้มีสิทธิมายกมือเลือกกันเองในตำแหน่งต่าง ๆ เข้าทำนองแบบ“สภาเกาหลัง” 

          การก้าวกระโดดไปรับเงินเดือนสูงกว่าเดิมของผู้บริหารที่มาจากอาจารย์ซึ่งไม่มีตำแหน่งทางวิชาการ  การได้รับเงินเดือนในระดับสูงต่อเนื่องแม้เมื่อพ้นตำแหน่งผู้บริหารและกลับมาอยู่ในสายวิชาการ  รวมทั้งการให้ได้รับเงินค่าตอบแทนตำแหน่งทางวิชาการ(เดิมผู้บริหารต้องเลือกรับค่าตอบแทนตำแหน่งบริหารหรือวิชาการเพียงอย่างเดียว  จึงกำหนดค่าตอบแทนผู้บริหารไว้สูง) ควบกับค่าตอบแทนตำแหน่งบริหาร  โดยงดเว้นไม่ต้องทำภาระงานวิชาการ

          (ตรงนี้สตง.ควรสนใจเข้ามาตรวจสอบบ้างเพราะน่าจะผิดกฎหมายเรื่องเงินประจำตำแหน่งซึ่งให้เฉพาะผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น)  นี่ยังไม่รวมถึงการออกกฎ/ระเบียบกีดกัน  เลือกปฏิบัติกับข้าราชการอีกหลายเรื่อง

 

การทำลายสังคมไทย

 

          มหาวิทยาลัยนอกระบบฯ จะกีดกันคนชั้นกลางและคนยากไร้  ให้ด้อยโอกาสเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา  ทุนนิยมจะครอบงำการผลิตบัณฑิต  อนาคตของชาติจะมีแต่บัณฑิตที่มาจากครอบครัวร่ำรวย  มีเงิน  จ่ายแพง  รีบจบเพื่อมาถอนทุน  ไม่มีเวลาคิดถึงส่วนรวม  ลูกศิษย์คือลูกค้า  ครูอาจารย์จะกลายเป็นผู้รับจ้างสอน  ไม่มีความรักความผูกพันฉันท์ศิษย์กับครู  บทบาทของมหาวิทยาลัยในการชี้นำสิ่งที่ถูกต้องแก่สังคม เช่น ยุค 14 ตุลาฯ ก็จะเลือนหาย

 

แนวทางแก้ไข 

          การแก้ปัญหา ม.นอกระบบฯ ต้องแก้ที่สาเหตุ  และดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากถูกละเลยมาหลายปี  แต่ถ้าไม่เริ่มวันนี้ก็จะยิ่งแก้ยากยิ่งขึ้น  เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ได้รับเลือกมาด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น  ผู้นำรัฐบาลต้องมีสติรู้เท่าทันไม่หลงไปกับวาทกรรมสวยหรูที่ลวงให้เข้าใจว่า  การออกนอกระบบจะเกิดผลดีต่ออุดมศึกษาและประเทศไทย 

          ต้องเริ่มต้นแก้ไขกฎหมายเพื่อประชาชนก่อนทำเพื่อคนในครอบครัว  และต้องให้สัญญาณไฟแดงกับสารพัดมหาวิทยาลัยที่ผู้บริหารเห็นเขาบริโภคกันจนอิ่มแปล้ก็เริ่มลูบท้องร้องจะออกนอกระบบบ้าง  เช่น บางมหาวิทยาลัย ที่ไม่มีปัญญาแก้ปัญหาอาจารย์ลวนลามนิสิต  ตัดเกรดตามความสวย ดังที่เป็นข่าว 

          จงสำรวจตัวเองก่อนว่าบริหารงานแบบนี้  ยังมีหน้าอยากจะออกนอกระบบกับเขาด้วย  เรื่องนี้ขอจบด้วยคำว่า “ม.นอกระบบฯ   จุดจบของชาติ  ตัดโอกาสคนจน”

....................

(หมายเหตุ : บทความพิเศษ : 'มหันตภัย ม.นอกระบบฯ' โดย 'รศ.ดร.พงศ์ประเสริฐ  หกสุวรรณ' มหาวิทยาลัยบูรพา)

......................

(หมายเหต : ภาพประกอบจากแฟ้มข่าว)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ