Lifestyle

หมุดหาย??"เทพมนตรี ลิมปพยอม"มีคำตอบ..อยู่ไหน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หมุดหาย??"เทพมนตรี ลิมปพยอม"มีคำตอบ..อยู่ไหน

 

          ผ่านจากเทศกาลสาดน้ำ มาสู่ดราม่าหมุดหาย เมื่ออยู่ๆ “หมุดคณะราษฎร” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนวันอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 บนลานพระบรมร ด้านสนามเสือป่า ถูกแทนที่ด้วยหมุดใหม่

          สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และความเคลื่อนไหวเพื่อทวงคืนหมุดเดิมคืนมา พร้อมตามหาคนที่นำออก และเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบ

          งานนี้มีทั้งการคาดเดาไปต่างๆ นานาว่า เป็นการกระทำของใคร โดยมีทั้ง กรมศิลปากร และ กทม. ที่ต่างก็ออกมาปฎิเสธ

          กระทั่งโลกออนไลน์ได้มีการเผยแพร่ภาพการโพสต์เฟซบุ๊ก ของ เทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ ที่โพสต์ไว้เมื่อปลายปีที่แล้วเกี่ยวกับหมุดคณะราษฎร ในท่วงทำนองที่ เรียกร้องให้มาขุดเอาออกไปภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2559 ไม่เช่นนั้นตนและเพื่อนจะเอาออกหรือทำให้หมดสภาพไป

          อย่างไรก็ดี ต่อมาเจ้าตัวก็ได้ออกมาปฏิเสธ โดยระบุว่า จากข้อความของตนเมื่อปีที่แล้ว กับการกระทำล่าสุดนี้ เป็นการจับแพะชนแกะ ซึ่งเจ้าตัวไม่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น!!!

          เรื่องนี้เลยเป็นที่มาของคำถามว่า แล้วทำไมเทพมนตรี ถึงต้องโพสต์ข้อความเช่นนั้นออกมา จนกลายเป็นชี้เป้าตัวเองล่วงหน้าเช่นนี้

          กระทั่งเมื่อไล่ดูประวัติของเขา จึงพบว่า คนๆ นี้มีความไม่ธรรมดาทั้งแนวคิด ความเชื่อ ทัศนคติ การพูดจา โดยเฉพาะงานเขียน ที่ใครเห็นต้องถามซ้ำเกือบทุกคนว่า “แบบนี้ก็ได้ด้วยเหรอ?”

          เท่าที่สืบค้นมาได้ เทพมนตรี ลิมปพยอม นั้น จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์จากวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา และมาจบระดับปริญญาโทเมื่อปี 2539 ที่ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

          สำหรับประวัติส่วนตัวแบบ “ส่วนตัวสุดๆ” ของคนๆ นี้ ไม่มีปรากฏที่ไหนว่า เป็นลูกเต้า หลานใคร

          แต่จากผลงานทางด้านวิชาการ พบว่า ช่วงปี 2538 เขากล่าวถึงบุคคลหนึ่งไว้ในกิตติกรรมประกาศของวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตจากรั้วยูงทอง ในหัวข้อ “การเมืองไทยสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ. 2276-2301” โดยกล่าวขอบคุณ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในฐานะเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์

          และยังมี อ.ภูธร ภูมะธน ที่เจ้าตัวระบุว่า เป็นผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยมาตั้งแต่ที่ตนนั้นเรียนระดับมัธยมศึกษา และขอบคุณ รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ที่ระบุว่าเป็นผู้หล่อหลอมแนวคิดทางประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่ได้นำมาใช้ในการรังสรรค์วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ขึ้นมา

          อีกชื่อคือ “สุนันท์ ลิมปพยอม ภรรยาผู้คอยให้กำลังใจมาตลอดทั้งชีวิต”

          ชื่อข้างต้นเหล่านั้น จึงเป็นเหมือนเป็นชื่อของคนที่ดูแล้วจะใกล้ชิดชายคนนี้ที่สุด ส่วนชื่ออื่นๆ ตามข่าวสาร จึงเหมือนคนที่ผ่านเข้ามาเกี่ยวข้อง ในหลากหลายบริบท

        แต่หากจะถามถึงผลงานการเขียนหนังสือของเขา แม้ต้องยอมรับว่ายังมีอีกหลายคนที่เชื่อถือและศรัทธา แต่ก็ทำเอานักประวัติศาสตร์บางคน ต้องแทบกลับไปพลิกตำราใหม่

          อาทิเช่น การบ้านการเมืองเรื่องเจ้าฟ้ากุ้ง เมื่อปี 2541หรืองานเขียนอย่าง “พลิกตำนานเจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่อยุธยา ไม่ใช่สุพรรณบุรี” เมื่อปี 2549 ก็ทำให้หลายคนอ้าปากค้าง

          นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่ไม่รู้จะให้นิยามว่าอะไรดี เพราะช่วงปี 2542 อยู่ๆ เขาก็โดดออกมาเป็นผู้ที่โวยวายว่าทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่ทวงคืนมาสำเร็จเมื่อปี 2531 เป็นของปลอม!!!

          จนกรมศิลปากร ต้องออกมาพิสูจน์รัวๆ เพื่อยืนยันว่า “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” ที่เราได้กลับคืนมา และติดตั้งอยู่ ณ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งมาถึงทุกวันนี้ เป็นของจริงอย่างแน่นอน

          ที่เด็ดๆ ซึ่งหาอ่านได้จากงานเขียนของเขาที่ชื่อ “ย้อนรอยประวัติศาสตร์” พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2554 รวมเรื่องราวให้อ้าปากค้างไว้มากมาย เช่น การเมืองเรื่องพระสุริโยไท จริงแท้แค่ไหน, กรณีท้าวสุรนารี การกลับมาของคุณหญิงโม้ ตัวละครของประวัติศาสตร์ชาตินิยม ฯลฯ

          และที่ต้องพูดถึง คือ ‘ลอกคราบ 14 ตุลาฯ : ดักแด้ประวัติศาสตร์การเมืองไทย’ ซึ่งได้ก่อให้เกิดชนวนการถกเถียงอย่างมาก ด้วยข้อกล่าวหาว่า ข้อมูลของเขามุ่งแก้ต่างให้กับบทบาทของตระกูลกิตติขจร และจารุเสถียร ในช่วงเหตุการณ์วันที่ 6-15 ตุลาคม 2516

          แต่ก้าวย่างของเขาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทย จนเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากที่สุด เห็นจะเป็นตอนช่วงที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประท้วงเรียกร้องรัฐบาล ปกป้องอธิปไตยในคดีปราสาทเขาพระวิหารระหว่างไทย และกัมพูชา ช่วงปี 2551 ยุคที่ สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ

          ทั้งนี้ เขามักขึ้นปราศรัยคู่กับ ปานเทพ พัวพงศ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรขณะนั้น จนมีคนเรียกว่าเป็น “สองเทพแห่งพันธมิตรฯ” ก่อนม๊อบจะแผ่วพลังลงเรื่อยๆ ในช่วงปี 2554

          แต่เทพมนตรีก็เรียกได้ว่ามีที่มีทางใน ASTV ของค่ายพันธมิตรพอสมควร โดยเคยจัดรายการ Tonight entertain talk ในช่วง “โลกของเทพมนตรี” อยู่ที่ 98.75 FM พูดเรื่องประวัติศาสตร์งานถนัด

          จากนั้นไม่นานช่วงปีเดียวกัน เทพมนตรีก็ถูกลอยแพจาก ASTV ว่ากันว่าครั้งนั้น ยามใหญ่หรือนายใหญ่ สั่งให้ถอดรายการของเขาออกจากช่อง ASTV ทั้งหมด ไม่แม้จะให้มาเป็นวิทยากรหรือแขกรับเชิญในรายการ อีกต่อไป !!

          ข่าวของเขาเงียบไปช่วงหนึ่ง จนปีที่แล้ว เขาไปเจอประเด็นการเข้าสมัครเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ แต่มีการร้องเรียนว่า วุฒิการศึกษาไม่ตรง จนเจ้าตัวต้องออกมาชี้แจงว่าตนนั้นจบการศึกษาที่ตรงกับความรู้ที่จะสอนได้

          ขณะที่ ประวิทย์ เขมะสุนันท์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม มธ. ก็ระบุว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ร้องเรียนจึงไม่มาร้องที่วิทยาลัยนวัตกรรมโดยตรง กลับไปร้องผ่านสื่อมวลชน

          แล้วเรื่องก็เงียบหายไป โดยในเวบไซต์ของสถาบัน ก็ยังไม่พบชื่อของเทพมนตรีในรายชื่อคณาจารย์ทั้งประจำและพิเศษ

          จนวันนี้ ชื่อของเขาถูกนำมาโยงกับกรณีหมุดหมายแห่งประชาธิปไตย ที่ถูกฝังติดไว้ตั้งแต่ปี 2479 รวมแล้ว 81 ปีหายไปจากที่เดิม เพราะดันไปโพสต์ว่าจะเอาออก

          แต่ถามว่าใครทำ ต่อให้เป็น เทพมนตรีจริง ก็คงไม่สำคัญมากไปว่า ทำเพื่อจุดประสงค์อะไรกันแน่?

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ