Lifestyle

“จะอุ๊ - ชัยภูมิ ป่าแส” จากไป...ใบไม้ป่าปลิดปลิว!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“จะอุ๊” จากไป...ใบไม้ป่าปลิดปลิว!

 

"...ขอให้เธออย่ายอมแพ้ อย่าท้อแท้ในสิ่งที่เราเป็น ขอให้เธอจงมั่นใจ จงภูมิใจในสิ่งที่มี
  ...แม้ว่าเราจะเกิดชายแดน อยู่บนดอยตามป่าตามเขา แม้ว่าเราไม่มีสัญชาติ แต่เราก็ยังมีลมหายใจ
  ...คนไร้สัญชาติไม่ใช่คนที่ไร้ตัวตน คนไร้สัญชาติไม่ใช่คนที่ไร้โอกาส
  ...ถึงไม่มีสัญชาติ แต่เราก็ยังมีลมหายใจ มีชีวิต มีความฝันเป็นเหมือนกัน"

          เสียงเพลง “จงภูมิใจ” เนื้อหาเรียบง่ายแต่ความหมายลึกซึ้งกินใจเพื่ถ่ายทอดถึงความภาคภูมิใจให้กำลังใจและเป็นแรงบันดาลให้แก่น้องๆ ในชนเผ่าผู้ไร้สัญชาติยังก้องดัง แต่ทว่าเจ้าตัวคนร้องคนเขียนเพลง “ชัยภูมิ ป่าแส” ถูกตำรวจวิสามัญจากไปแล้ว ทิ้งไว้เพียงเรื่องราวของหนุ่มน้อยผู้มีอนาคตไกลเป็นอดีตอย่างน่าเสียใจเป็นที่สุด

          ชัยภูมิ ป่าแส หรือ “จะอุ๊” เป็นเยาวชนนักกิจกรรมชนเผ่าชาติลาหู่ ชุมชนบ้านกองผักปิ้ง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เกิดปี 2543 อายุ 17 ปี ถือบัตรเลข 0 -บัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน เรื่องราวของเขาตกสำรวจตั้งแต่เกิด แม้กระทั่งในข้อมูลบัตรยังระบุว่าเกิดปี 2539 แต่เขาไม่เคยให้สิ่งเหล่านั้นมาเป็นอุปสรรคในชีวิต พร้อมยิ้มสู้มาตลอด

          วัยเด็กของเด็กชายจะอุ๊ไม่ต่างจากเด็กๆ คนอื่นๆ ในบ้านกองผักปิ้ง ที่เติบโตมาพร้อมกับความยากไร้ และชุมชนยังถูกแวดล้อมด้วยภัยยาเสพติด เนื่องด้วยภูมิประเทศติดแนวชายแดนทำให้กองผักปิ้งเป็นพื้นที่เสี่ยง จะไปไหนมาไหนก็ลำบากเพราะไม่มีบัตรประชาชนเหมือนคนอื่นเขา

          แต่หนักยิ่งกว่านั้นคือเด็กชายจะอุ๊ ต้องดูแลตัวเองมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากแม่ไม่ค่อยสบาย ส่วนพ่อเลี้ยงก็ไม่ค่อยสนใจ เรื่องได้กินข้าวครบมื้อครบหมู่ไม่ต้องพูดถึง แต่ไม่ทำให้ตัวเองเป็นภาระใคร เข้าป่าหาเห็ดหาผักและรับจ้างแบกข้าวโพดบ้างทำไร่บ้างเพื่อดูแลน้องชายอีกคนหนึ่ง

          รอบชุมชนมีเรื่องราวของยาเสพติดมากมายยั่วยวนใจ แต่ด้วยใฝ่ดี เขาได้ยินดนตรีที่ดังมาจาก ไมตรี จำเริญสุขสกุล หรือ “พี่ไมตรี” ผู้ก่อตั้งกลุ่มรักษ์ลาหู่ซึ่งเป็นรุ่นพี่คนบ้านเดียวกัน เขาจึงตัดสินใจตามเสียงนั้นไปในวัย 9 ขวบ

          ที่นั่นเขาได้พบกับโลกใหม่ ได้ทำกิจกรรมมากมาย สิ่งที่เขาชอบมากที่สุดคือดนตรี และยังได้เรียนหนังสือด้วย โดยมีคริสตจักรกลางหมู่บ้านเป็นจุดนัดหมาย อย่างน้อยคือวิชาภาษาลาหู่ นอกจากนี้ยังได้ตามพี่ไมตรีไปเล่นคอนเสิร์ตตามต่างจังหวัดอีกด้วย จากชื่อ “จะอุ๊” เพื่อนชาวกิจกรรมจึงรู้จักในอีกชื่อหนึ่งคือ “ชัย”

          พี่ไมตรีของน้องๆ นอกจากใช้ดนตรีเป็นสื่อสัมพันธ์และห่างไกลยาเสพติดแล้ว ยังนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเสริมสร้างให้น้องๆ ได้ผลิต “สื่อชุมชน” อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น การถ่ายภาพ, หนังสั้น ไปจนถึงคอมพิวเตอร์ ทำให้น้องๆ ในกลุ่มมีความสามารถหลายด้าน กลุ่มรักษ์ลาหู่และชุมชนบ้านกองผักปิ้ง จึงเป็นพื้นที่เป้าหมายของกิจกรรมสังคมต่างๆ ที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่นี้ดีจัง สสส. หรือ นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส ฯลฯ เยาวชนในกลุ่มจึงได้ฝึกฝนฝีมือไปด้วย

          อย่างชัยเองนอกจาก เล่นดนตรีและร้องเพลงเป็น จึงได้เป็นตัวแทน จ.เชียงใหม่ เขต 5 ไปแข่งร้องเพลงที่จ.แพร่ และคว้าเหรียญทองแดงมาฝากด้วย ตามพี่ไมตรีซึ่งเป็นต้นแบบในใจไปติดๆ พอมีกิจกรรมใดมาก็รับมาทำอย่างสนุกสนาน

          อย่างหนังสั้นที่กลุ่มรักษ์ลาหู่ได้ลงมือทำ เขาก็เป็นหนึ่งในทีมงานด้วย ตั้งแต่อายุ 12 ปี ทั้ง “เข็มขัดกับหวี” รางวัลช้างเผือกพิเศษดีเด่น เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 16 มูลนิธิหนังไทย, “ทางเลือกของจะดอ” รางวัลชมเชยรัตน์ เปสตันยี และ และ “จะโบแปลว่าผู้มีวาสนา” รางวัลขวัญใจซามูไร เทศกาลภาพยนตร์บินข้ามลวดหนามครั้งที่ 4, รวมถึงร่วมเป็นทีมงานในสารคดีที่ผลิตโดยกลุ่มรักษ์ลาหู่ เช่น รายการบ้านเธอก็บ้านฉัน ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส และอื่นๆ อีกหลายสื่อ

          ด้านฝีไม้ลายมือด้านบทเพลงไม่ธรรมดา เคยแต่งเพลง “เด็กมีสิทธิ มีชีวิตบนโลกนี้” ก่อนยืนยันถึงเรื่องราวไร้สัญชาติผ่านบทเพลง “จงภูมิใจ” นอกจากนี้ก็ยังมีมุมวัยรุ่นหนุ่มาวอย่างเพลง “ขอโทษ” ให้ชมผ่านยูทูปอีกด้วย

          บนเวทีเสวนา ชัย เป็นอีกเสียงของเยาวชนที่ร่วมรณรงค์เรียกร้องการแก้ปัญหาภาวะไร้สัญชาติของชาติพันธุ์ โดยเป็นตัวแทนเครือข่ายเยาวชนเข้าร่วมในการประชุมสัมมนาในระดับประเทศมาหลายครั้ง จากการเป็นแกนนำในการจัดค่ายเยาวชนชนเผ่าเพื่อสร้างสรรค์สังคมเสมอมา เขาจึงได้รับเลือกเป็น “ประธานเครือข่ายต้นกล้าเยาวชนพื้นเมือง” ด้วย

          “...เด็กชนเผ่ามีปัญหาอยู่ 4 ด้าน คือ ด้านการศึกษา ด้านสถานะส่วนบุคคล ด้านการสื่อสาร และด้านความรู้ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ที่เด็กชนเผ่าอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา เราไม่ได้ต้องการอยากเป็นฝ่ายที่จะรับ และเรียนรู้ในสิ่งที่เขาให้มาอย่างเดียว เราไม่ต้องการแบบนี้ แต่อยากเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา อยากเผยแพร่ ในสิ่งที่เราเป็นและอยากให้เขารับรู้เหมือนกัน”

          "ในเรื่องสถานะส่วนบุคคล ต้องยอมรับว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ชายแดนส่วนใหญ่จะไม่ได้รับสถานะส่วนบุคคล ซึ่งผมเองขณะนี้ก็ยังไม่มีสถานะบุคคล ทั้งที่เกิดในประเทศไทย แต่มีปัญหาที่ตอนเกิดแม่เดินทางเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ เลยไม่ได้สัญชาติตามแม่ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมามากมาย เช่น การเดินทางออกนอกพื้นที่ก็ต้องทำเรื่องขออนุญาตทางอำเภอ เวลาจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลก็ไม่ได้สิทธิเหมือนคนไทย ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง แรงจูงใจในการเรียนสูงๆ ก็ไม่มี เนื่องจากจบมาสูงแค่ไหนก็ไม่สามารถเข้าทำงานในหน่วยงานของราชการได้ เพราะไม่มีสถานะทางบุคคล จึงอยากให้ส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ด้วย” ชัยกล่าวเมื่อครั้งหนึ่ง

          ด้านศิลปวัฒนธรรม ชัยยังเป็นผู้นำเยาวชนในการฟื้นฟูการเต้นแจโก่ของชาวลาหู่จนได้รับการยอมรับในหมู่บ้าน และนำคณะเด็กและเยาวชนกลุ่มรักษ์ลาหู่จากบ้านกองผักปิ้งออกแสดงในหลายพื้นที่ ไปออกงานไหนก็สวมใส่ชุดประจำชนเผ่าลาหู่เสมอ กลายเป็นอีกแรงหนึ่งสื่อสารเรื่องราวและวิถีชีวิตของชาวลาหู่ให้กับสังคมได้รับรู้

          ชัยเป็นกำลังเยาวชนคนสำคัญในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ไม่ว่าเล่นดนตรี ตีกลอง เสวนาบนเวที เบื้องหลังกองถ่ายทำภาพยนตร์-สารคดี ไปจนจับตะหลิวทอด “อ่อฟุ” ขนมพื้นบ้านลาหู่ เพื่อถ่ายทอดวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาติพันธุ์ลาหู่ให้กับภายนอกได้รับรู้ ชัยภูมิ จากเด็กตัวน้อยๆ จึงกลายมาเป็นอีกแรงในการช่วยพี่ไมตรีประสานงานกลุ่มรักษ์ลาหู่ด้วย ถือเป็นอีกคนหนึ่งในกลุ่มรักษ์ลาหู่ที่ “พี่ไมตรีของเด็ก ๆ” ภาคภูมิใจ และวาดหวังให้เขามีอนาคตที่ดี

          ถึงแม้ว่าชัยไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนอย่างคนไทยทั่วไป แต่ชัยไม่เคยหยุดที่จะมีความหวังในชีวิต เขาฝันว่าจะเรียนให้จบปริญญาตรีแล้วกลับมาเป็นครูสอนหนังสือให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้าน

          ที่ผ่านมาจึงมุ่งมั่นตั้งใจทำกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับตัวเองและรุ่นน้องๆ ควบคู่ไปกับเรียนหนังสือที่โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม

          และเหลือเพียงอีกไม่กี่ปีเท่านั้นที่จะถึงฝั่งฝัน...แต่แล้วทุกอย่างก็ดับสิ้นเมื่อกระสุนนัดนั้นดังขึ้น!!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ