ข่าว

ผู้สูงวัยโชว์ดนตรีพื้นเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้สูงวัยโชว์ดนตรีพื้นเมือง หวังอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น : โดย...ศุภชัย วิเศษสรรค์

               ถนนคนเดินวันอาทิตย์ของจังหวัดเชียงใหม่ ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งซื้อขายสินค้าหัตถกรรมขนาดใหญ่ แต่อีกมุมหนึ่งของถนนสายนี้ยังเป็นจุดศูนย์กลางของชมรมผู้สูงอายุเมืองเชียงใหม่ ที่มีสมาชิกจากหลากหลายอาชีพพร้อมใจเข้ามารวมกลุ่มกันใช้ความสามารถและความรักในดนตรีพื้นเมือง มาเป็นช่องทางในจัดกิจกรรมอนุรักษ์ในการละเล่นและการประดิษฐ์เครื่องดนตรีพื้นเมือง ควบคู่ไปกับการหารายได้เสริมให้แก่ตัวเอง

               "อานนท์ จันทร์น้อย"  ผู้ก่อตั้ง "คณะสนั่นศิลป์" อายุ 58 ปี เล่าว่า ได้มีการรวมตัวของผู้สูงอายุจากที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยวัยรุ่น แต่ละคนสามารถเล่นดนตรีพื้นเมืองได้อยู่แล้ว มีใจรักในเสียงดนตรีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเมื่อก่อนแต่ละคนก็มีสังกัดวงดนตรีเป็นของตนเอง แต่เมื่ออายุมากขึ้นหลายคนในวงดนตรีเดิมก็เสียชีวิตไปบ้าง เลิกเล่นไปบ้างเพราะอายุที่มากขึ้น การเดินเหินก็ไม่สะดวก คนที่ยังมีแรงมีไฟอยู่ก็เลยมารวมตัวกันตั้งเป็น "ชมรมผู้สูงอายุ" จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยาวนานกว่า 10 ปีแล้ว

               สมาชิกของ "ชมรมผู้สูงอายุ" มีทั้งสิ้น 5 คน  ประกอบด้วยตนซึ่งรับหน้าที่เป็นหัวหน้า, นางไพริน วงสายะ หรือ ป้าไพริน อายุ 60 ปี นายนิพล ศรีกุลรัตน์ หรือ ลุงพล อายุ 56 ปี นายอินหวัน นามคำ หรือ ลุงหวัน อายุ 65 ปี และนายบุญส่ง กาวิชัย หรือ ลุงส่ง อายุ 67 ปี ทุกคนที่มารวมกลุ่มกันต่างมีใจรักในการเล่นดนตรีและอยากใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม รวมถึงต้องการที่จะหารายได้เสริม เพื่อไม่ให้เป็นภาระของลูกหลาน

               สมาชิกแต่ละคนมีอาชีพที่หลากหลายแตกต่างกันไป ตนจะรับหน้าที่เป็นคนประดิษฐ์และจำหน่ายเครื่องดนตรีพื้นเมือง ทั้งกลอง สะล้อ ซึงและขลุ่ย, ป้าไพริน เป็นแม่ค้าขายผัก, ลุงพล เป็นลูกจ้างรายวันของเทศบาลนครเชียงใหม่, ลุงหวัน ทำอาชีพประดิษฐ์โมเดลบ้านทรงไทยขาย และลุงส่ง มีอาชีพรับจ้างซักเสื้อผ้า อีกทั้งสมาชิกชมรม ทั้ง 5 คนนี้ ก็อยู่คนละหมู่บ้านด้วย แต่มีเป้าหมายที่เหมือนกันคือ การเดินทางมาเล่นดนตรีพื้นเมืองด้วยกันทุกวันอาทิตย์

                "ลุงอานนท์" เล่าให้ฟังถึงสาเหตุของการมาเล่นดนตรีพื้นเมืองที่ถนนคนเดินวันอาทิตย์ ว่า ทางเทศบาลนครเชียงใหม่จัดเวทีให้ประชาชนที่มีแนวคิดและไอเดียในการอนุรักษ์ความเป็นล้านนาและก็เป็นหนึ่งในเจตนารมณ์นี้ที่ต้องการใช้พื้นที่นำเสนอการเล่นดนตรีพื้นเมืองให้พี่น้องชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เข้ามาเดินบนถนนแห่งนี้ได้รับความเพลิดเพลิน และมีส่วนร่วมในการร่วมอนุรักษ์ดนตรีพื้นเมืองไปพร้อมกันๆ

               การเล่นดนตรีพื้นเมืองของเรา จะเล่นด้วยใจรักและได้รับสินน้ำใจจากผู้ที่ผ่านไปมาเป็นรายได้ให้เราทั้ง 5 คน มีรายได้เสริมไว้เลี้ยงชีพตัวเอง ไม่เพียงเท่านี้ ยังเป็นช่องทางที่ทำให้คนสนใจจ้างไปเล่นในงานต่างๆ เช่น งานวัด, งานในโรงแรม และเป็นวิทยากรสอนให้แก่เยาวชน ทำให้รู้สึกว่า อย่างน้อยแม้ว่าจะเป็นเพียงผู้สูงอายุ แต่ก็นำความรู้ที่มีติดตัวถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่มีใจรักดนตรีพื้นเมือง และเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ไปพร้อมๆ กัน

               "ลุงเล่นดนตรีมาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ แล้ว มันอยู่ในสายเลือด นอกจากจะได้เงินแล้ว ยังเพลิดเพลินไปกับเสียงดนตรีและได้เล่นให้คนอื่นๆ ฟัง ทุกวันนี้อายุมากแล้ว รายได้น้อย ได้เงินสนับสนุนจากทางรัฐบาลเดือนละ 600 บาทก็ไม่พอใช้ จึงมาเล่นดนตรี ทำให้มีรายได้พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แม้จะไม่ได้มากมายวันละ 300-500 บาทต่อคน ในการมาเล่นดนตรีแต่ละครั้ง แต่ก็พอใจ อีกทั้งบางครั้งยังมีรายได้จากการประดิษฐ์เครื่องดนตรีพื้นเมืองไปด้วย" นายอานนท์ กล่าวด้วยความภูมิใจ

               ก่อนหน้านี้เคยไปสอนดนตรีไทยให้แก่โรงเรียนต่างๆ ใน จ.เชียงใหม่ เช่น โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง โรงเรียนชุมชนเทศบาลวัดศรีดอนไชยและโรงเรียนเทศบาลวัดศรีสุพรรณ เป็นต้น แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีเวลา อีกทั้งร่างกายเริ่มอ่อนล้า ต้องทำเครื่องดนตรีขายด้วย จึงเลิกเป็นครูสอนดนตรีไทยตามโรงเรียนต่างๆ อีกทั้งที่ผ่านมาเคยสอนเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เล่นดนตรีและสร้างรายได้เสริมให้แก่เยาวชนเหล่านี้ ตั้งแต่เด็กๆ อายุประมาณ 7-8 ปี แต่เมื่อเด็กๆ รุ่นใหม่เหล่านี้โตขึ้นอายุประมาณ 15-16 ปี ก็เริ่มทอดทิ้งการเล่นดนตรีไทยไป

               ทุกวันนี้จึงเสียดายและหวังว่าเวทีการละเล่นดนตรีพื้นเมืองบนถนนคนเดินวันอาทิตย์ จะช่วยกระตุ้นให้เยาวชนคนรุ่นหลังหันกลับมาสนใจเล่นดนตรีพื้นเมือง 

               
................................

(ผู้สูงวัยโชว์ดนตรีพื้นเมือง หวังอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น : โดย...ศุภชัย วิเศษสรรค์ )

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ