Lifestyle

ป้องกันฝุ่นจิ๋วในสัตว์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง  โดย - นสพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญ หรือหมอเล็ก     [email protected]​ 

 

สวัสดีครับ วันนี้ชาวกรุงเทพฯ กำลังเผชิญกับสิ่งคุกคามสุขภาพ คือ ฝุ่นจิ๋วนั่นเอง ซึ่งเกิดมาจากสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยจากสาเหตุต่างๆ ทั้งจากธรรมชาติ และน้ำมือของมนุษย์ เรามาทำความรู้จักเจ้าฝุ่นจิ๋วว่าคืออะไรกันครับ

 

ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน คือ มลพิษฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ กล่าวคือ เล็กจนสามารถเล็ดลอดขนจมูกเข้าสู่ร่างกายได้ และมีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของขนาดเม็ดเลือด (5 ไมครอน) 

ดังนั้นฝุ่นพิษจึงสามารถเข้าสู่เส้นเลือดฝอยและกระจายไปตามอวัยวะได้ โดยฝุ่นมีลักษณะที่ขรุขระคล้ายสำลี อีกทั้งยังเป็นพาหะนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็งจำนวนมาก ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ยังเป็นมลพิษข้ามพรมแดน และปนเปื้อนอยู่ในบรรยากาศได้นาน เป็นฝุ่นอันตรายไม่ว่าจะมีองค์ประกอบใดๆ เช่น ปรอท แคดเมียม อาร์เซนิก หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) 

ด้วยลักษณะที่กล่าวไปแล้วนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงกำหนดให้ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็งในปี พ.ศ.2556 จะเห็นได้ว่าผลกระทบต่อคนมีมากมาย และในสัตว์ก็เช่นเดียวกันที่ได้รับผลกระทบกับหลายระบบในร่างกายโดยเฉพะระบบทางเดินหายใจรวม ถึงระบบหัวใจ และหลอดเลือด

การป้องกันฝุ่นจิ๋วอาจมีแนวทางคล้ายกับในคน แต่เราคงไม่สามารถใส่หน้ากากกันฝุ่นให้สัตว์ได้ ดังนั้น วิธีป้องกันในสัตว์ควรมุ่งเน้นไปในการหลีกเลี่ยง หรือจัดการสิ่งแวดล้อมโดยการนำสัตว์ออกจากสถานที่ที่มีมลพิษ เช่น หากเป็นไปได้ให้ย้ายสัตว์มาเลี้ยงภายในที่ปิดและมีการกรองอากาศที่เหมาะสม งดกิจกรรมกลางแจ้งที่ไม่จำเป็น ทำความสะอาดพื้นที่อยู่ด้วยผ้าบิดหมาด เพื่อลดปริมาณฝุ่น หรือการจัดการสิ่งแวดล้อมภายนอก 

 

โดยลดปริมาณฝุ่นที่อยู่ในบรรยากาศบริเวณนั้นด้วยการใช้ความชื้น หรือละอองน้ำพ่นในบริเวณที่สัตว์อยู่อาศัยเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นจิ๋ว ในกรณีที่สัตว์มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจระบบหัวใจและหลอดเลือด ให้หมั่นสังเกตอาการ และหยอดน้ำตาเทียมเพื่อลดการระคายเคืองจากฝุ่นจิ๋ว

เราจะผ่านฝุ่นจิ๋วไปด้วยกันนะครับ.

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ