Lifestyle

“เชจู” ดูวิถีชาวเกาะเลาะเที่ยวธรรมชาติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“เกาะเชจู” จังหวัดที่ได้ชื่อว่า “สายลม ผู้หญิง และหินลาวา”

 

       ท่องเที่ยวฉบับนี้ยังคงไม่พ้นเขตน่านน้ำ “เกาหลีใต้” แต่ขอเปลี่ยนบรรยากาศจากท่องเที่ยวกลางเมืองหลวงไปที่ “เกาะเชจู” จังหวัดที่ได้ชื่อว่า “สายลม ผู้หญิง และหินลาวา” กันบ้าง ซึ่งการเดินทางไปที่ “เชจู” สามารถทำได้ทั้งนั่งเครื่องบินจากท่าอากาศยานนานาชาติคิมโพ ไปลงที่สนามบินเชจู ในเมืองโซ-กวิโพ โดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง หรือถ้าเลือกเดินทางด้วยการนั่งเรือเฟอร์รี่ใช้เวลานานประมาณ 5-6 ชั่วโมง เนื่องจากเชจูเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสภาพอากาศจึงไม่หนาวจัดเหมือนภาคอื่นๆ กล่าวคืออุณหภูมิเฉลี่ย 15 องศาเซลเซียสตลอดปี แต่เรื่องลมนี่ต้องบอกว่าแรงได้ใจ!!

“เชจู” ดูวิถีชาวเกาะเลาะเที่ยวธรรมชาติ ปากปล่องยอดเขาซองซาน อิลชุบง

       ถ้าพูดถึง “เชจู” อันดับแรกต้องยกให้เรื่องความอุดมสมูบรณ์ทางธรรมชาติ พนักงานขับรถบัสซึ่งพาคณะเราตะลอนเที่ยวตลอดระยะเวลา 2 คืน 3 วัน เล่าให้ฟังว่า เพราะที่นี่มีภูเขาไฟเป็นจำนวนมากผลพวงของการปะทุขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่านั้นก่อให้พื้นดินอุดมสมบูรณ์จากแร่ธาตุต่างๆ ที่ไหลมากับลาวาจนกลายเป็นทรัพย์ในดินที่มีคุณค่ามหาศาล เหมาะแก่การประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้นทั่วบริเวณเกาะไม่ว่าเราจะมองทางไหนจึงเห็นแต่สวนส้มเต็มไปหมด นี่ยังไม่รวมทรัพย์ในน้ำ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าอาหารทะเลจะเป็นจานเด่นขึ้นชื่อประจำท้องถิ่น โดยเฉพาะ “หอยเป๋าฮื้อ” มาที่เชจูต้องได้กินสักครั้ง

“เชจู” ดูวิถีชาวเกาะเลาะเที่ยวธรรมชาติ ป้าฮันยอ หรือป้านักดำน้ำโชว์การจับสัตว์ทะเล

       เมื่อเอ่ยถึงอาหารทะเลแล้ว ขอเล่าเรื่อง “ป้านักดำน้ำ” หรือ ป้าฮันยอ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดำน้ำจับสัตว์ทะเลด้วยอุปกรณ์ธรรมดา อย่างชุดยางสีดำ ตีนกบ หน้ากากดำน้ำ ทุ่นสีส้ม และถุงตาข่าย ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมากว่า 2,000 ปี จนกระทั่งยูเนสโกขึ้นทะเบียนให้ “ฮันยอ” เป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเมื่อปี 2559 เรื่องเล่าของผู้หญิงบนเกาะเชจูนั้นมีหลายกระแส แต่ที่เราได้ยินจากปากของชายหนุ่มเจ้าถิ่น เล่าว่า เหตุที่ผู้หญิงต้องลุกขึ้นมาทำงานหนักดูแลครอบครัวสารพัด ส่วนหนึ่งในอดีตผู้ชายเองก็ทำหน้าที่ออกทะเลหาปลานี่ล่ะ แต่มักสูญหายไปในเกลียวคลื่นคนแล้วคนเล่า บวกกับในยุคสมัยสงครามผู้ชายบนเกาะถูกกวาดล้างไปอีกเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเพื่อปกป้องผู้ชายมิให้หมดสิ้นไป หญิงสาวจึงเลือกเก็บผู้ชายไว้ในบ้าน แล้วเป็นฝ่ายออกมาทำหน้าที่ทุกอย่างแทน ไม่เว้นแม้แต่ดำน้ำจับสัตว์ทะเล กระนั้นก็ใช่ว่าผู้ชายที่นั่งกินนอนกินอยู่ในบ้านเฉยๆ นั้นจะมีศักดิ์มีสิทธิ์ใดเหนือเหล่าอิสตรี เพราะเมื่อบทบาทหน้าที่ตกเป็นของฝ่ายหญิงแล้วไซร้ ในเรื่องการตัดสินใจรวมไปถึงเรื่องเศรษฐกิจการเงินในครัวเรือนล้วนอยู่ในกำมือของพวกเธอทั้งสิ้น

“เชจู” ดูวิถีชาวเกาะเลาะเที่ยวธรรมชาติ หมู่บ้านวัฒนธรรมซงอึบ

       ขอต่อเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตอีกสักเรื่อง ที่เชจูมี “หมู่บ้านวัฒนธรรมซงอึบ” ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาถึงภูมิปัญญาทางความคิดอันแยบยลที่สะท้อนออกมาทางสถาปัตยกรรมของตัวบ้าน เนื่องจากภูมิประเทศเป็นที่ราบล้อมรอบด้วยน้ำทะเล สภาพอากาศมีลมแรงและฝนตกถี่ ชาวเชจูจึงเลือกปลูกบ้านแบบทรงต่ำหลังคามุงด้วยหญ้าคา ช่วยกันลมและคุ้มฝนได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันสภาพพื้นดินเป็นดินภูเขาไฟไม่อุ้มนำ ชาวพื้นถิ่นจึงนำหญ้ามาถักเป็นเปียขนาดใหญ่แขวนพิงไว้กับต้นไม้อีกด้านวางไว้ที่ปากโอ่ง เวลาฝนตกก็จะไหลลงมาตามเชือกเปียเส้นนี้ลงในโอ่งเพื่อเก็บไว้ใช้สอยในครัวเรือน ที่เด็ดกว่านั้นในโอ่งน้ำเหล่านี้แม่บ้านเลี้ยงลูกอ๊อดไว้สำหรับกินแมลงต่างๆ พอโตได้ที่ก็จับมาปรุงอาหารเลี้ยงสามี...เห็นว่าเป็นยาชูกำลังอย่างดี 

“เชจู” ดูวิถีชาวเกาะเลาะเที่ยวธรรมชาติ รั้วบ้านชาวเชจูประกอบด้วยไม้กั้น 3 อัน

       อีกสิ่งหนึ่งในบริเวณบ้านที่ขาดไม่ได้นั่นคือ “รั้ว” แต่สำหรับชาวเชจู รั้วบ้านไม่ได้มีเพื่อป้องกันขโมยขโจรเหมือนอย่างบ้านเรา แต่ “รั้ว” ซึ่งประกอบด้วยไม้กั้น 3 อัน มีไว้สื่อความหมายกับผู้ไปมาหาสู่ เช่น ถ้ายกไม้กั้น 1 อัน หมายถึงเจ้าของบ้านไม่อยู่แต่เพียงระยะเวลาสั้นๆ เดี๋ยวก็กลับบ้านสามารถรอได้ ถ้ายกไม้กั้น 2 อัน เจ้าของบ้านไม่อยู่จะกลับเข้าบ้านอีกทีตอนเย็น และถ้ายกกั้น 3 อันหมายถึงเจ้าของบ้านไม่อยู่ยาวชนิดข้ามวันข้ามคืน ถ้าเห็นแบบนี้กลับได้เลยไม่ต้องรอให้เมื่อยตุ้ม ทีนี้ในทางกลับกันถ้าหากไม้ทั้ง 3 ถูกพักลง หมายถึงมีคนอยู่บ้าน...เก๋ดีมั้ยล่ะ!!!  อ่อๆๆ ส่วนที่เห็น “ตุ๊กตาหินสลักคู่” ​มีชื่อเรียกว่า “โทลฮารุบัง” หรือ “ตุ๊กตาหินปู่” แกะสลักจากหินลาวา ตามความเชื่อของชาวพื้นเมืองว่าเป็นเทพผู้พิทักษ์ประจำเกาะ

“เชจู” ดูวิถีชาวเกาะเลาะเที่ยวธรรมชาติ วัดยักชอนซาหรือวัดน้ำศักดิ์

“เชจู” ดูวิถีชาวเกาะเลาะเที่ยวธรรมชาติ ไหว้พระขอพรแล้วอย่าลืมแวะดื่มน้ำในบ่อศักดิ์สิทธิ์

       อีกหนึ่งความเชื่อของชาวเชจู คือ “วัดยักชอนซา" หรือ วัดน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นศาสนสถานที่เก่าแก่สร้างตั้งแต่สมัยเริ่มต้นราชวงศ์โชซอน นอกจากนี้ยังเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่มากโดยตัววัดสูงถึง 30 เมตร และมีพื้นที่กว่า 3,305 ตารางเมตร วัดยักชอนซาทั้งหมด 3 อาคารหลักคือ พระอุโบสถ ศาลเจ้า และเจดีย์ ภายในวัดจะมีพระพุทธรูปพระไวโรจนพุทธะสูงที่สุดในเกาหลีตั้งอยู่ มีความสูงถึง 5 เมตร ด้านซ้ายและขวาเป็นพระพุทธรูปสูง 4 เมตรตั้งอยู่สองฝั่งซึ่งทั้ง 3 องค์เป็นสิ่งแทนถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต....ผู้คนนิยมมากราบไหว้และขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ 

“เชจู” ดูวิถีชาวเกาะเลาะเที่ยวธรรมชาติ เขาซองซาน อิลชุบง มองจากด้านล่าง

   นอกเหนือจากเรื่องวิถีชีวิต ความงามของธรรมชาติที่ “เชจู” ไม่น้อยหน้าที่ใดในโลก และหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ไม่ควรพลาด ได้แก่ “ยอดเขาซองซาน อิลชุบง” ซึ่งเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟเมื่อประมาณ 100,000 ปีก่อน ปากปล่องมีขนาดค่อนข้างใหญ่ กว้างประมาณ 600 เมตร สูง 90 เมตร บริเวณรอบๆ ปากปล่องนั้นเป็นหินแหลมเกือบ 100 ยอดขึ้นอยู่ ทำให้ดูคล้ายกับมงกุฎ ยอดเขานี้อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของเกาะเชจู วิวที่ยอดเขานี้สวยงามมากในช่วงเช้าตรู่ตอนพระอาทิตย์ขึ้น เป็นหนึ่งในวิวที่สวยงามมากที่สุดของเกาะเชจู...สำหรับที่นี่นักท่องเที่ยวต้องมีทั้งความฟิตและใจเกินร้อยเพราะระยะทางค่อนข้างไกล แน่นอนว่าไม่ใช่ทางราบแม้ทางเดินค่อนข้างสะดวกแต่บอกเลยว่าเหนื่อยเอาเรื่องเชียวล่ะ และถ้าพลังยังเหลือก็สามารถเดินลงเขาไปอีกนิดใกล้ๆ กันมีโชว์ของ “คุณป้านักดำน้ำ” นอกจากจะสาธิตให้ดูวิธีการจับสัตว์ทะเลแล้ว อาจุมม่ายังนั่งแกะหอยเป๋าฮื้อขายให้นักท่องเที่ยวได้ชิมกันสดๆ...อีกแห่งที่ต้องออกแรงเดินจึงจะได้สัมผัสความงดงามของธรรมชาติ คือ “ประภาคารซอพจิโกจิ” ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง จะมีทางเดินขึ้นไปยังประภาคารซึ่งเป็นจุดชมวิวที่สวยงามซึ่งสามารถมองเห็นยอดเขาซองซาน อิลชุบง ที่มีลักษณะเหมือนช้าง

“เชจู” ดูวิถีชาวเกาะเลาะเที่ยวธรรมชาติ ประภาคารซอพจิโกจิ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ