Lifestyle

“หลักการทรงงาน” ของ “ในหลวง” (III)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คลินิคคนรักบ้าน : โดย ... ดร.ภัทรพล


               สวัสดีครับแฟนๆ ชาว “คนรักบ้าน” สำหรับสาระน่ารู้ในสัปดาห์นี้ก็เป็นความเดิมที่ต่อจากสองตอนที่แล้วที่ว่าด้วย “หลักการทรงงาน” ทั้ง 23 ข้อ ของ “ในหลวง” ซึ่งรวบรวมโดย “ศาตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย” ( องคมนตรี) หากใครสามารถปฏิบัติตามครบถ้วน ก็ถือได้ว่าเป็นมงคลสูงสุดของชีวิต ทั้งยังจะนำพาไปสู่ชัยชนะในการพัฒนาหรือทำกิจการงานน้อยใหญ่ ซึ่งความเดิมตอนที่แล้ว ผมได้นำเสนอไปแล้ว 15 ข้อ เหลืออีก 8 ข้อ ดังมีสาระต่อไปนี้ครับ

               “หลักการทรงงาน” ข้อที่ 16. คือ “ขาดทุนคือกำไร” ดังกระแสพระราชดำรัสที่ว่า “...ขาดทุนคือกำไร Our Loss is our Gain การเสีย คือ การได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุขนั้น เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้...” กระแสพระราชดำรัสดังกล่าว คือ หลักการของ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ การให้ และ การเสียสละ เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร คือ ความอยู่ดีมีสุขของราษฎร

               “หลักการทรงงาน” ข้อที่ 17. คือ “การพึ่งตนเอง” เมื่อพัฒนาตามแนวกระแสพระราชดำรัสเพื่อการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นหรือเฉพาะหน้าให้มีความแข็งแรงพอดำรงชีวิตได้ต่อไปแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการพัฒนาให้อยู่ในสังคมได้ตามสภาพแวดล้อมและพึ่งตนเองได้ในที่สุด ดังกระแสพระราชดำรัสที่ว่า “...การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพ และตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่น เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด เพราะผู้มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งพาตนเองได้ ย่อมสามารถสร้างความเจริญในระดับสูงขั้นต่อไป...”

               “หลักการทรงงาน” ข้อที่ 18. คือ “การ พออยู่ พอกิน” ทรงเข้าพระราชหฤทัยในสภาพปัญหาได้อย่างลึกซึ้ง ว่ามีเหตุผลมากมายที่ทำให้ราษฎรตกอยู่ในวงจรแห่งทุกข์เข็ญ จากนั้นได้พระราชทานความช่วยเหลือแก่พสกนิกร มีความกินดีอยู่ดี มีชีวิตอยู่ในขั้น พออยู่พอกินก่อน แล้วจึงขยับขยายให้มีขีดสมรรถนะที่ก้าวหน้าต่อไป

               “หลักการทรงงาน” ข้อที่ 19. คือ “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่ง “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่ ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 30 ปี “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน “ทางสายกลาง” โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุค “โลกาภิวัตน์” ซึ่ง “ความพอเพียง” หมายถึง “ความพอประมาณ”, “ความมีเหตุผล” รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมี “ระบบภูมิคุ้มกัน” ในตัวที่ดีพอสมควร ทั้งนี้ จะต้องอาศัย “ความรอบรู้”, “ความรอบคอบ” และ “ความระมัดระวัง” อย่างยิ่ง

               “หลักการทรงงาน” ข้อที่ 20. คือ “ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน” ดังกระแสพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 ที่ว่า “...ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณเป็นประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ...” และ “...ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อย ก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้ มากกว่าผู้มีความรู้มากแต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ...” กระแสพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2533

               “หลักการทรงงาน” ข้อที่ 21 คือ “การทำงานอย่างมีความสุข” ทรงพระเกษมสำราญและทรงมีความสุขที่ช่วยเหลือประชาชน ดังกระแสพระราชดำรัสที่ว่า “...ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากมีความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น...”

               “หลักการทรงงาน” ข้อที่ 22. คือ “ความเพียร” พระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” หนังสือเล่มนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ หากคนไทยน้อมรับมาศึกษาวิเคราะห์และปฏิบัติตามรอย “พระมหาชนก” กษัตริย์ผู้เพียรพยามยาม แม้จะไม่เห็นฝั่งก็ยังว่ายน้ำต่อไป เพราะถ้าไม่เพียรว่ายก็จะตกเป็นอาหารปูปลา และไม่ได้พบกับเทวดาที่มาช่วยเหลือมิให้จมน้ำไป เช่นเดียวกับที่ทรงริเริ่มทำโครงการต่าง ๆ ในระยะแรกที่มีความพร้อมในการทำงานไม่มากนัก และทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แต่มิได้ทรงท้อพระราชหฤทัย ทรงมุ่งมั่นพัฒนาบ้านเมืองให้บังเกิดความร่มเย็นเป็นสุข

               “หลักการทรงงาน” ข้อที่ 23. คือ “รู้ รัก สามัคคี” มีกระแสพระราชดำรัสในเรื่อง “รู้ รัก สามัคคี” มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นคำสามคำที่มีค่า และมีความหมายลึกซึ้ง พร้อมทั้งสามารถปรับใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย

               รู้ : การที่เราจะลงมือทำสิ่งใดสิ่งนั้น จะต้องรู้เสียก่อน รู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหา และรู้ถึงวิธีการแก้ปัญหา

               รัก : คือ ความรัก ที่เมื่อเรารู้ครบด้วยกระบวนความแล้ว จะต้องมีความรักการพิจารณาเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้น ๆ

               สามัคคี : การที่จะลงมือปฏิบัตินั้น ควรคำนึงเสมอว่า เราจะต้องทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานร่วมมือร่วมใจเป็นองค์กร เป็นหมู่คณะ จึงจะมีพลังเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

               ทั้งหมดนี้คือ “หลักการทรงงาน” ของ “ในหลวง” ซึ่งบรรดาพสกนิกรหากได้น้อมนำไปปรับประยุกต์ใช้ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างยิ่งทั้งกับตนเองและผู้อื่นครับ

 

 

------------------------------

(คลินิคคนรักบ้าน : “หลักการทรงงาน” ของ “ในหลวง” (III) : โดย ... ดร.ภัทรพล)

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ