ข่าว

ติดอาวุธให้ผู้สูงอายุที่ ร.ร.คนเฒ่าหนองตอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คุยนอกกรอบ : ติดอาวุธให้ผู้สูงอายุที่ ร.ร.คนเฒ่าหนองตอง : เรื่อง ... สินีพร มฤคพิทักษ์

 
                         แม้จะมีการพูดถึงกันบ่อยครั้งว่าอีกไม่นานนัก ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทว่า ดูเหมือนการเตรียมความพร้อมกลับมีน้อยมาก
 
                         ขณะที่เทศบาลหนองตองพัฒนา อ.หางดง จ.เชียงใหม่ กลับสร้างสังคมให้มวลสมาชิกของพวกเขาเองแล้ว
 
                         หลังจบภารกิจเยี่ยมชม การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบ "สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" (สปสช.) ที่องค์การบริหารส่วนตำบลสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ทีมงานได้พาไปชมศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ป่าลาน) เทศบาลตำบลหนองตองพัฒนา ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งมีแนวโน้มจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกินค่าเฉลี่ยมาตรฐาน 
 
                         เทศบาลหนองตองพัฒนาจึงได้จัดเตรียมความพร้อม โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับภาคีเครือข่ายการพัฒนาผ้สูงอายุในพื้นที่จัดโครงการและกิจกรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มผู้สูงอายุ เตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ จัดตั้งศูนย์อเนกประสงค์ผู้สูงอายุประจำตำบล ตั้งกลุ่มอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ตั้งแต่ปี 2551
 
                         มานพ ตันสุภายน รองนายกเทศมนตรีตำบลหนองตองพัฒนา และประธานชมรมผู้สูงอายุ ต.หนองตอง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการสำรวจจำแนกผู้สูงอายุเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่ม 1 ช่วยเหลือตนเองและสังคมได้ กลุ่ม 2 ช่วยเหลือตนเองได้บ้าง แต่มีโรคเรื้อรัง กลุ่ม 3 ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ พิการ
 
                         ในขั้นตอนการทำงาน ท้องถิ่นยึดถือการทำงานแบบบูรณาการและเครือข่ายกล่าวคือ เทศบาลตำบลหนองตองพัฒนา ร่วมกับสำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่  รพ.หางดง รพ.สพ.บ้านบวกครก รพ.สต.หนองไคร้ ฯลฯ เน้นหนักการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่ครอบครัวและชุมชน ครอบคลุมมิติด้านสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม ไม่ให้เป็นภาระแก่โรงพยาบาลประจำตำบลหรือหน่วยงานท้องถิ่น  
 
                         "เราทำงานแบบสามเส้า เส้าแรก-ครอบครัว ชุมชน มีบทบาทในการดูแลสมาชิกภายในครอบครัวในกลุ่มสอง สาม เส้าที่สอง-สสจ. สสอ. รพ.สต. ท้องถิ่นฯลฯ เรากำลังทำงานแบบบูรณาการมีเครือข่าย ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เส้าที่สาม-ชมรมผู้สูงอายุ เราต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้ดีขึ้น ทำงานบนพื้นฐานชุมชนเป็นฐาน ชุมมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ นอกจากนั้นรัฐบาลและท้องถิ่นให้การสนับสนุน..."
 
                         สำหรับการจัดตั้งศูนย์อเนกประสงค์ฯ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ ได้ขออนุญาตใช้อาคารของโรงเรียนที่ถูกยุบ และจัดตั้งเป็นศูนย์ต่างๆ ศูนย์แรก-อยู่ที่โรงเรียนป่าเป้า เปิด 12 เมษายน 2551 ศูนย์นี้มีความเด่นด้านการจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ ศูนย์ที่สอง-ตั้งอยู่ที่วัดหนองตอง มีความโดดเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี เปิด 27 พฤษภาคม 2551
 
                         ภายในศูนย์ข้างต้นมีการทำกิจกรรมบำบัดทุกวัน จัดสอนภาษาอังกฤษสัปดาห์ละครั้ง 
 
                         "คราวก่อนปลัดกระทรวงมาดูงานและถามผู้สูงอายุว่า ทำไมมาเรียนภาษาอังกฤษ ได้รับคำตอบว่าทุกวันไปค้าขายสันป่าตอง ลำพูน หางดง จำเป็นต้องรู้ภาษาอังกฤษ หรือตัวเลข เวลาฝรั่งมาสอบถาม สามารถสื่อสารได้"
 
                         ด้านสุขภาพ-จัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ผู้ป่วย ผู้สูงอายุยืมไปใช้งานเพราะโรงพยาบาลมีจำนวนไม่เพียงพอ เช่น ไม้เท้า วีลแชร์ รวมทั้งเชิญคุณหมอมาบรรยายด้วย
 
                         ประธานชมรมผู้สูงอายุ ต.หนองตอง เล่าถึงที่มาของการจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ ผ่านกิจกรรมการสอนภาษาอังกฤษ สอนภาษาล้านนา ฝึกอบรมอาชีพให้แม่บ้าน บริการมุมหนังสือ-คาราโอเกะ การตรวจสุขภาพเบื้องต้นและคัดกรองเบาหวาน  
 
                         มานพบอกว่า แรงบันดาลใจเกิดจากการเข้ารับการอบรม การตั้งศูนย์อเนกประสงค์จากสำนักส่งเสริมพิทักษ์ผู้สูงอายุ ในปี 2551 
 
                         "เมื่อก่อนในบทบาทภาระหน้าที่ท้องถิ่นมีอยู่ ดูแลตามสถานการณ์ เป็นแบบตั้งรับ แต่หลังเข้ารับการอบรมก็มาหาข้อมูล เห็นข้อมูลเกิดความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ตอนก่อนแค่คิดว่ามีผู้สูงอายุมีกี่คน จะได้เบี้ยผู้สูงอายุกี่คน แต่พอเก็บข้อมูลพบว่ามีผู้สูงอายุมีจำนวนมาก เมื่อแบ่งกลุ่มเริ่มเห็นชัดเจน พอกลับมาก็มาทำศูนย์อเนกประสงค์ให้ผู้สูงอายุแทนที่จะเครียดอยู่บ้าน ใช้ศูนย์เป็นแหล่งเรียนรู้ ถ่ายทอด"
 
                         "เป็นสิ่งที่โชคดีสำหรับผมและผู้สูงอายุหนองตอง เพราะพอเราเสนอท่านนายกเทศมนตรี ประดิษฐ์ วณีสอน ให้ข้อมูล เหตุผล ความจำเป็น ท่านสนับสนุนทันที...งบที่ลงไปถึงผู้สูงอายุ แต่ละปีไม่มากนัก อยู่ที่ผู้บริหารส่วนท้องถิ่นมีวิสัยทัศน์หรือเปล่า อย่างปี 2557 เราใช้งบท้องถิ่นสองเปอร์เซ็นต์"
 
                         โดยกิจกรรมที่จัดทำขึ้น ได้ผ่านการทำประชาคมกับชาวบ้าน เพื่อฟังว่าชาวบ้านต้องการอะไร เช่น ชาวบ้านอยากรู้ภาษาอังกฤษ เพราะมีฝรั่งมาที่หมู่บ้านทุกวัน แต่คุยกันไม่รู้เรื่อง จึงจัดห้องเรียนภาษาอังกฤษสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละสองชั่วโมง โดยครูผู้สอนคือ "มัณฑณา ตันสุภายน" ภรรยาของเขาที่เพิ่งเกษียณอายุราชการเดือนตุลาคม 2556
 
                         "ผมเห็นว่ายังมีกำลัง มีความถนัดภาษาอังกฤษก็บอกว่า ตอนนี้ห้องเรียนโรงเรียนปิดแล้ว มาเปิดห้องเรียนในชุมชนดีกว่าเขาก็มาและตรงกับความต้องการของพี่น้องชาวบ้าน อย่างลูกสองคนเวลาเราไปไหนก็ชวนไปด้วย เป็นการฝึกและสร้างจิตอาสาให้เด็ก ให้บทบาทเขาบ้าง ผิดบ้างถูกบ้างก็ปล่อย" 
 
                         นั่นคงอธิบายได้ว่าทำไมที่ศูนย์แห่งนี้ จึงมีคนในครอบครัวของมานพมาช่วยงานกันทั้งหมด
 
                         โดยภรรยามาสอนภาษาอังกฤษสัปดาห์ละครั้ง มีลูกสาวเป็นผู้ช่วย ขณะที่ลูกชาย-ณฐพล มาเป็นตากล้อง หรือเตรียมงานพรีเซนเตชั่นให้ 
 
                         ส่วนที่ว่าทำอย่างไรจึงชักชวนให้สมาชิกในครอบครัวมาร่วมงานจิตอาสา มานพตอบว่า เวลามีเรื่องอะไรก็พูดคุยกันในครอบครัว 
 
                         "ผมพาให้เด็กไปเห็นของจริง ไม่ต้องนั่งคุย นั่งคุยเด็กไม่เห็น พอออกไปเห็นและมานั่งคุยกันเปรียบเทียบกัน ตัวอย่างเช่น มีผู้สูงอายุนอนในป่าช้า พาไปให้เห็น คนแก่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เมื่อก่อนลูกหลานเยอะ ตอนที่เราตั้งศูนย์ตรงนี้ก็พาลูกสองคนมาดู และถามว่าเมื่อเห็นสภาพผู้สูงอายุแล้วคิดยังไงบ้าง มีแนวทางช่วยเหลือยังไง ให้ลองคิด ลูกชายคนโตอายุ 23 ปี ทำงานแล้ว เรียนทางศิลปะมาช่วยถ่ายรูป ลูกสาวอายุ 21 ปี ทำงานแล้วเรียนจบเอกอังกฤษ มาช่วยแม่สอน ลูกชายเรียนทางศิลปะ มาช่วยถ่ายรูปและทำงานศิลป์"
 
                         ก่อนจะมาทำงานการเมืองท้องถิ่น มานพเป็นครูสอนโรงเรียนประชาบาล โดยเริ่มทำงานตั้งแต่ปี 2520 หลังจบการศึกษาจากวิทยาลัยครูเชียงใหม่ ปี 2544 จึงลาออก
 
                         "ตอนแรกยังไม่มีโครงการเออร์ลี่ก็คิดว่าจะลาออกจากราชการตอนอายุ 55 ปี เพื่อทำงานให้ท้องถิ่น คิดว่าถ้ารอ 60 ปี ไม่มีประโยชน์ ตอนที่เราเป็นครูเราก็ทำงาน ช่วยเหลือสังคม งานสาธารณะช่วยหมด พอเออร์ลี่ออกมา จังหวะพอดีมีการเลือกตั้งบอกแฟนว่าจะเล่นการเมืองท้องถิ่น ลงปีแรกก็ได้เป็นสมาชิกสภา พอสมัยที่สองนายกบอกให้มาเป็นรองนายกเทศบาลตำบลหนองตอง ปัจจุบันอายุ 65 ปี" 
 
-------------------------
 
ห้องเรียนใหม่ของครูจิตอาสา
 
 
                         ภายในศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ มีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมหลายอย่าง อาทิ ห้องให้บริการนวดแผนไทย ย่ำขาง ตอกเส้น ห้องเรียนภาษาล้านนา และห้องเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่ง "มัณฑณา ตันสุภายน" ภรรยาของมานพ มาเปิดห้องเรียนใหม่ในชุมชน ตามคำชักชวนของสามี
 
                         ครูมัณฑณาบอกว่า ผู้สูงอายุเรียกร้องอยากเรียนภาษาอังกฤษ เวลาออกไปค้าขายฝรั่งมาพูดด้วย ชาวบ้านสื่อสารไม่ได้ บางคนไม่มีพื้นฐานเลย 
 
                         "สอนไม่ยากค่ะ เราเคยสอนภาษาอังกฤษมา 30 กว่าปี เราใช้วิธีเริ่มแบบเก่าคือผสมอักษร เขาอ่านได้เร็ว...ที่ปรึกษา-ดร.ยุทธศักดิ์ วณีสอน ให้เงินสนับสนุน 7,000 บาท สำหรับเป็นค่าจัดทำสื่อการสอน ไม่มีค่าจ้างสำหรับครู เราเป็นจิตอาสา สอนทุกวันเสาร์สัปดาห์ละครั้ง มีนักเรียน 50 กว่าคน คนมาเรียนตลอด ไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่ขาด วันไหนไม่เข้าเรียนเพราะติดธุระก็ลาล่วงหน้า น่ารักมาก ทุกคนตั้งใจเรียน มีทั้งเด็ก วัยกลางคน ผู้สูงอายุ เราให้แบบฝึกหัดไปทบทวนด้วย 
 
                         "สอนสัปดาห์ละครั้ง ถ้ายัดเยียดมากเดี๋ยวรับไม่ได้ เริ่มตอนแรกสอนตั้งแต่ เอ บี ซี เสร็จแล้วผสมอักษร ตอนนี้เข้าประโยค นับเลขได้หมดแล้ว เพิ่งสอนได้ 4 อาทิตย์ (นับถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์) มีเพื่อนมาช่วยสอน วันเสาร์มีนักศึกษาที่เรียนเอกภาษาอังกฤษมาช่วย ดูเอกสาร มีครูสอนสองคนสลับกัน...ในศูนย์มีกิจกรรมเยอะ ชาวบ้านออกแบบกันเอง พอชาวบ้านบอกอยากเรียนอังกฤษ อาจารย์มานพมาถามว่าทำไหม ไม่คิดว่าเป็นภาระสบายดี เราอิ่มบุญ (หัวเราะ) มีคนจากบ้านอื่นมาเรียน ใครอยากเรียนก็มา"
 
 
-------------------------
 
(คุยนอกกรอบ : ติดอาวุธให้ผู้สูงอายุที่ ร.ร.คนเฒ่าหนองตอง : เรื่อง ... สินีพร มฤคพิทักษ์)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ