Lifestyle

'มทล.น่าน'เพาะปลาภูเขาสำเร็จแห่งแรก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เพาะปลาภูเขาสำเร็จแห่งแรก ฝีมือทีมนักวิจัยจาก มทล.น่าน : โดย...เอกพงศ์ ประดิษฐ์พงษ์

                         ในที่สุดทีมวิจัย มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาน่าน นำโดย อมรชัย ล้อทองคำ อาจารย์ประจำภาควิชาประมง ที่ลงพื้นที่ปักหลักที่หมู่บ้านผาคับ หมู่ 2 ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เพื่อศึกษาวิจัยและทดลองการเพาะพันธุ์ "ปลาเลียหิน" (Garra cambodgiensis) จนประสบผลสำเร็จได้เป็นอย่างดี หลังจากที่ปลาชนิดนี้มีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ราคาสูงกว่า กก.ละ 200 บาท ล่าสุดได้รวบรวมผู้นำชุมชนใน อ.บ่อเกลือ กว่า 40 คน เข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์จนสามารถปล่อยพันธุ์ปลาลงสู่ลำน้ำน่านถึง 6 แสนตัว

                         สำหรับปลาเลียหินนั้น ชาวบ้านเรียกว่าปลามันเพราะเป็นปลาที่มีรสชาติอร่อย ถือเป็นปลาภูเขาชนิดหนึ่งที่แพร่กระจายอยู่ตามลุ่มน้ำโขงตั้งแต่มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ลงมาถึงประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบกระจายอยู่ในระบบแม่น้ำเจ้าพระยา แต่พบมากที่สุดในลุ่มน้ำน่านในเขต อ.บ่อเกลือ จ.น่าน โดยเฉพาะในแม่น้ำว้าและแม่น้ำมาง เป็นปลาขนาดเล็กที่สามารถบริโภคได้ทั้งตัว ทำให้ราคาสูง กก.ละกว่า 200 บาท

                         ในช่วงหลายปีก่อนแหล่งเพาะพันธุ์ของปลาเลียหินถูกรบกวนอย่างหนัก ไม่เพียงแต่จากธรรมชาติที่ถูกทำลาย หากแต่เกิดจากการขุดลอกแม่น้ำด้วย ถือเป็นการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาเลียหิน รวมถึงการจับปลาหินมาบริโภคในช่วงฤดูเพาะพันธุ์ปลาเลียหินจะพากันอพยพจากแหล่งน้ำเข้าไปในวางไข่ ในท้องนา หรือที่เรียกว่า "ปลาขึ้นนา" ชาวบ้านไปจับกินเป็นเหตุให้ปลาเลียหินหายไปจากลุ่มน้ำน่านลดลงอย่างน่าตกใจ กระทั่งเข้าขั้นวิกฤติใกล้สูญพันธุ์ ทำให้ มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาน่านส่งทีมวิจัยลงพื้นที่ อ.บ่อเกลือ เพื่อหาทางอนุรักษ์และขยายพันธุ์ปลาภูเขา ชนิดนี้ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

                         อมรชัย บอกว่า ได้เริ่มต้นภารกิจการอนุรักษ์พันธุ์ปลาภูเขาชนิดนี้ด้วยการเลือกหมู่บ้านผาคับ หมู่ 2 ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ ด้วยการคัดเลือกพันธุ์ปลาจากธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์เพศ ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของงานวิจัยในประเทศไทยที่ยกห้องแล็บไปทำในหน้างานทั้งอุปกรณ์เครื่องมือทุกอย่างขึ้นไปทำการศึกษาวิจัยในหมู่บ้านบนดอยภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนด้วย

                         "จากการวิจัยพบว่าปลาเลียหินตัวเมียจะมีไข่ประมาณ 4 พันฟอง แต่เนื่องจากเป็นปลาที่มีขนาดเล็ก ทำให้ต้องใช้เทคนิคและกระบวนการในการฉีดฮอร์โมนต่างจากปลาชนิดอื่น โดยต้องใช้เข็มสำหรับฉีดฮอร์โมนขนาดเล็กเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันไข่ปลาเลียหินยังมีลักษณะแบบครึ่งจมครึ่งลอยจึงต้องประยุกต์อุปกรณ์เพื่อควบคุมสภาพน้ำในบ่อทดลองเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมเนื่องจากใน อ.บ่อเกลือ มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปีด้วย"

                         นักวิจัยคนเดิมระบุอีกว่า หลังจากได้ปลาที่มีความสมบูรณ์เพศเป็นแม่พันธุ์ กระบวนการเพาะพันธุ์จึงเริ่มขึ้น แต่หลายครั้งที่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากสภาพน้ำและอุณหภูมิไม่เหมาะสม แต่หลังจากใช้ความพยายามนานกว่า 2 เดือนการเพาะพันธุ์ก็ประสบผลสำเร็จ โดยพบว่าปลาเลียหินได้ใช้เวลาฟักไข่นานถึง 38 ชั่วโมง จึงออกมาเป็นลูกปลา จากนั้นได้ เข้าสู่กระบวนการอนุบาลกระทั่งโตเต็มวัยที่ 40 วัน หลังจากนั้นได้ขยายพันธุ์อย่างต่อเนื่องจนได้ลูกปลาเลียหินที่แข็งแรงนำไปปล่อยตามแหล่งน้ำใน อ.บ่อเกลือ 6 แสนตัว จนเวลาผ่านไปไม่ถึงปีพบว่างานวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์ปลาครั้งนี้ได้ทำให้จำนวนปลาเลียหินใน อ.บ่อเกลือ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

                         ล่าสุดได้เชิญผู้นำชุมชนใน อ.บ่อเกลือ กว่า 40 คน เข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์ จนทำให้วันนี้หลายชุมชนสามารถเพาะพันธุ์และปล่อยปลาเลียหินลงสู่แหล่งน้ำได้เอง และผลสำเร็จจากงานวิจัยครั้งนี้ ไม่เพียงแต่อนุรักษ์พันธุ์ปลาภูเขาใกล้สูญพันธุ์ที่จพนำไปสู่การเสริมสร้างความมั่นทางอาหารในท้องถิ่นเท่านั้น แต่การขยายพันธุ์ปลาเลียหินยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากปลาเลียหินมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 200-300 บาท

 

 

--------------------

(เพาะปลาภูเขาสำเร็จแห่งแรก ฝีมือทีมนักวิจัยจาก มทล.น่าน : โดย...เอกพงศ์ ประดิษฐ์พงษ์)

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ