Lifestyle

จักสานไม้ไผ่'บ้านแสงอุดม'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ ทำมาหากิน - จักสานไม้ไผ่ 'บ้านแสงอุดม' งานคุณภาพ...สานภูมิปัญญา - โดย ... กวินทรา ใจซื่อ

          หวดไม้ไผ่ลายสองที่สานขึ้นอย่างประณีตสวยงาม จนได้รับรางวัลชนะเลิศถึง 2 ปีซ้อน เป็นฝีมือและภูมิปัญญาของนางนุกูล ปริบาล วัย 53 ปี เกษตรกรบ้านแสงอุดม อยู่บ้านเลขที่ 12 หมู่ 12 ต.คอแลน อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี ที่ใช้เวลาว่างจากการทำนาและการทำสวนยางพารา สานหวดส่งขายให้กลุ่มสานหวดบ้านแสงอุดม สร้างรายได้เสริมแต่ละเดือนไม่น้อย

          นางนุกูล เล่าว่า เดิมมีอาชีพทำไร่ ทำนา เหมือนกับคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน ส่วนเรื่องงานจักสานปู่ย่าตายายสอนมาตั้งแต่เป็นเด็ก เป็นงานฝีมือภูมิปัญญาดั้งเดิม ซึ่งมักจะสานกระติบใส่ข้าวเหนียวและหวดนึ่งข้าวใช้กันในหมู่บ้าน แต่ไม่เคยนำไปขายสร้างรายได้เสริมอย่างปัจจุบัน เพราะสมัยก่อนงานสานไม้ไผ่จะทำเป็นทุกคน

          “ชาวบ้านเรามีภูมิปัญญาในการสานไม้ไผ่กันอยู่แล้วทั้งการสานกระติบใส่ข้าวเหนียว หวด ไซ และตะกร้า รูปแบบการสานอยู่ในแบบเดิมๆ จึงคิดว่าต้องพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายขึ้น เพื่อให้น่าสนใจ จากนั้นมีหน่วยงานรัฐเข้ามาให้การสนับสนุนพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์งานสาน ปัจจุบันชาวบ้านสามารถสานได้ทั้งกล่องทิชชู แจกัน และโคมไฟไม้ไผ่ ทำให้ดูแปลกใหม่และมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกมากขึ้น” นางนุกูล แจง

          กว่า 30 ปีแล้วที่นางนุกูลคลุกคลีอยู่กับสานไม้ไผ่แล้วนำมาต่อยอดมาทำเป็นอาชีพเสริมจนเมื่อปี 2542 เกษตรกรบ้านแสงอุดมได้รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มแม่บ้านสานหวดบ้านแสงอุดมขึ้น มีนางนุกูลเป็นประธานกลุ่ม โดยมีสมาชิกถึงปัจจุบัน 38 คน ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มจึงเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับมากขึ้น ในปี 2551-2552 ได้ส่งผลงานการสานหวดเข้าประกวด จากฝีมือที่ประณีต ความละเอียด ลวดลายสวยงาม และความทนทาน ทำให้กลุ่มแม่บ้านสานหวดบ้านแสงอุดมได้รับรางวัลชนะเลิศถึงสองปีติดต่อกัน 

          “ตอนนี้กลุ่มได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มี 3 รูปแบบ คือ แบบหยาบ แบบลวดลาย และแบบตอกเล็กจะเป็นงานฝีมือที่ละเอียดมาก ซึ่งเป็นรูปแบบที่เราได้รับรางวัลมาแล้ว ทำให้มีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้าน จากนั้นผลิตภัณฑ์ของเราได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้าโอท็อปของตำบล และได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมด้วย ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เดือนละ 1,000-4,000 บาท” ประธานกลุ่มเล่าด้วยความภาคภูมิใจ

          สำหรับวัตถุดิบใช้ไม้พุง จากเดิมต้องสั่งซื้อหาจากประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันชาวบ้านหันมาปลูกไม้พุงตามหัวไร่ปลายนาของแต่ละคน นอกจากจะขายเครื่องจักสานแล้ว บางรายยังมีรายได้จากการขายไม้พุงที่มีราคาลำละ 20-30 บาท ขึ้นกับขนาด 

          ส่วนขั้นตอนการผลิตเริ่มจากการนำไม้พุงไปตากแดด นำมาจักตอกให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ แช่น้ำก่อนนำไปสานขึ้นรูปผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอกมีความนิ่ม สามารถดัดขึ้นรูปได้ตามแบบที่ต้องการ 

          “แต่ละคนจะมีความถนัดการสานลายที่ต่างกัน แต่ก็เรียนรู้กันได้ไม่ยากนัก ส่วนตลาดนั้นนอกจากจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้านแล้ว ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มยังนำไปวางขายที่ศูนย์สินค้าเศรษฐกิจชุมชน ศูนย์จำหน่ายสินค้าโอท็อปที่สนามบินใน จ.อุบลราชธานี และที่ศูนย์โอท็อปในปั๊มน้ำมัน จ.อำนาจเจริญ ก็มีวางจำหน่ายเช่นกัน” 

          นอกจากนี้กลุ่มจักสานบ้านแสงอุดมยังเป็นจุดเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวอีสานที่สำคัญ ได้เผยแพร่ความรู้ส่งต่อให้ลูกหลานคนรุ่นใหม่ ให้เห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาปู่ย่าตายาย เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รู้จักสร้างงาน สร้างรายได้ เกิดความรักและสามัคคีในชุมชนด้วย 

          สนใจอยากเรียนรู้วิธีจักสาน ต้องการหาซื้อผลิตภัณฑ์จักสานงานคุณภาพ ติดต่อได้ที่กลุ่มแม่บ้านสานหวดบ้านแสงอุดม หรือโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดได้ที่ 08-0724-6163

 

 

----------

(หมายเหตุ : คอลัมน์ ทำมาหากิน - จักสานไม้ไผ่ 'บ้านแสงอุดม' งานคุณภาพ...สานภูมิปัญญา - โดย ... กวินทรา ใจซื่อ)

----------

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ