ข่าว

“เคทิส”บนเส้นทางท้าทายยุค4.0

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ต่อยอดงานวิจัย-พัฒนาไร่อ้อยยั่งยืน

 
          ว่ากันว่า... ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ ภายใต้นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ที่หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า “เพื่ออะไรและคนไทยจะได้อะไร”
          คำตอบที่ได้ในระยะเริ่มต้นและยังไม่เห็นภาพชัดเจนนั้น คือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ท่ามกลางกระแสการค้าของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในที่สุดแล้ว ประโยชน์ก็จะตกแก่คนไทยโดยรวม ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
          ขณะที่ “การวิจัยและพัฒนา” จะเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย ซึ่งเราจะได้เห็นความร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยมากขึ้น แน่นอนว่า ผลจะสำเร็จได้ก็ต้องอยู่ภายใต้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐอีกด้วย
          บริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่องรายใหญ่ของไทย คือตัวอย่างจากภาคเอกชนที่กำลังเดินหน้าไปสู่เส้นทางดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0
          ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ทั้งการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพื่อสนับสนุนการทำการเกษตรแบบยั่งยืน การต่อยอดงานวิจัยใหม่ๆ จากสถาบันวิจัยให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการบริโภคของผู้คนในยุคปัจจุบัน หรือแม้แต่การตอบโจทย์ในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
          จากนี้ไป จึงเป็นที่น่าติดตามว่า “เรา” จะได้เห็นอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย อย่างที่ผ่านมาได้ตอบโจทย์กันไประดับหนึ่งแล้ว เพราะหากพูดถึง “อ้อย” ในภาคของอุตสาหกรรมแล้ว ปัจจุบันไม่ได้มีแค่คำว่า “น้ำตาลทราย”

 

“เคทิส”บนเส้นทางท้าทายยุค4.0


          “อภิชาต นุชประยูร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา ยกตัวอย่างของบาย โพรดักส์ หรือผลพลอยได้จากอ้อยว่า สมัยก่อนกากอ้อยจะถือเป็นภาระที่จะต้องนำไปเผาทิ้ง แต่ปัจจุบันเราไม่นำไปเผาทิ้งแล้ว แต่นำไปเผาเพื่อให้เป็นพลังงานใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งโรงงานน้ำตาลหลายๆ แห่งในปัจจุบันได้ทำกันแล้ว
          “แต่สิ่งที่เรามี คนอื่นไม่มี คือการนำชานอ้อยไปทำเป็นเยื่อกระดาษ ซึ่งกลุ่มเคทิส เป็นผู้ผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อยรายเดียวในประเทศไทย ถือเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม โดยกระดาษจากชานอ้อยที่บริษัทเราผลิตได้นั้น สามารถลดการตัดต้นไม้ได้ 32 ล้านต้นต่อปี”
          นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปผลิตเป็นสารสกัดอื่นๆ ได้อีก ส่วนกากตะกอนจากหม้อกรองของโรงงานน้ำตาล ก็นำไปผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ กากน้ำตาล สามารถนำไปผลิตเอทานอลได้ รวมถึงซีอิ๊ว ผงชูรส หรือนำไปผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งในส่วนของบริษัทเรา เน้นการทำเป็นเอทานอลเป็นหลัก และจากเอทานอลก็ยังสามารถต่อยอดเป็นอย่างอื่นได้อีก เป็นต้น
          นั่นจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยและพัฒนาที่ผ่านมา แต่เมื่อมีการตั้งบริษัทเคทิส ขึ้นมาแล้ว มีวัตถุประสงค์ที่ขยายขอบเขตการวิจัยและพัฒนาให้กว้างมากขึ้น
          ล่าสุด บริษัทจึงได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยรวม 4 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งแต่ละแห่งนั้น พบว่ามีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ความร่วมมือก็จะต่างกันไป
          อย่างเช่น มช. แม้ขณะนี้โครงการยังไม่ตกผลึก ไม่สรุปแน่ชัดว่าจะมีความร่วมมือกันในด้านใด แต่เราก็พบว่า มช.มีจุดแข็งด้านไบโอเคมิคอลและฟู้ด ขณะที่ มน. มีจุดเด่นตรงที่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการเข้าไปช่วยเหลือชาวไร่ในการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต และการนำบาย โพรดักส์ไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น
          ส่วนความร่วมมือกับมจธ. น่าจะมีความชัดเจนที่สุด คือโครงการวิจัยการใช้น้ำเสียที่บำบัดได้คุณภาพแล้ว ไปใช้ประโยชน์ในการปลูกหญ้าเนเปีย ซึ่งโครงการนี้จะใช้เวลา 1-2 ปี และคาดว่าปีหน้าน่าจะมีข้อมูลมาเปิดเผยกันมากขึ้น และความร่วมมือกับ วว. จะเน้นไปที่เรื่องไบโอเทคโนโลยี ซึ่งเราเห็นศักยภาพของ วว. ในเรื่องการผลิตปุ๋ยชีวภาพ หรือสารปรับปรุงดิน ว่าเขามีจุดเด่นและมีความพร้อมในด้านนี้ ที่จะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่เกษตรกรได้
          อภิชาตกล่าวว่า การที่เราเลือกทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษานั้น เพราะเห็นแล้วจากที่เราทำเองมาตลอด 10-20 ปีในแผนกวิจัยของบริษัทเอง สิ่งสำคัญที่สุดคือ “บุคลากร” และคิดว่ากับงานวิจัย เราต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายแขนงมาก หากเราทำการวิจัยเฉพาะด้านอ้อย หรือวัตถุดิบเท่านั้น การศึกษาวิจัยด้วยตัวเอง สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ตอนนี้เราต้องการขยายขอบเขตของการวิจัยให้กว้างมากขึ้น ทั้งกระบวนการผลิต เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ และของเสีย จึงคิดว่าความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาน่าจะเป็นช่องทางที่ทำให้การวิจัยและพัฒนาเห็นผลได้เร็ว เป็นประโยชน์ต่อองค์กร และประเทศ
          นอกจากนี้ สถาบันการศึกษามีคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถเยอะมาก และบางสถาบันมีองค์ความรู้ที่เราสนใจอยู่แล้ว ก็สามารถนำมาต่อยอดได้ โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ คือเขามีองค์ความรู้ไว้ระดับหนึ่งแล้ว เราแค่มาเลือกและต่อยอดให้ตรงกับสิ่งที่เราต้องการ
          อย่างไรก็ตาม จากที่ได้สัมผัสมา เห็นว่าคนไทยมีความสามารถมาก และมีความคิดที่กว้างไกล แต่อาจจะด้วยนโยบาย ทำให้บางครั้งงานวิจัยที่สถาบันการศึกษา หรือสถาบันวิจัยทำไว้ ไม่ได้ตอบโจทย์ภาคธุรกิจนัก แต่กลับตอบโจทย์ของสถาบันการศึกษาเอง ที่ทำเพื่อให้มีองค์ความรู้เก็บไว้เท่านั้น แต่จะใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ ยังเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่หลายส่วน แต่ตอนนี้ภาครัฐมีนโยบายให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ซึ่งก็ตรงกับเรามากๆ เพราะบริษัทมีความตั้งใจที่จะทำงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่กรณีไม่สำเร็จก็อาจจะเป็นไปได้ แต่หากสำเร็จแล้ว จะต้องใช้ประโยชน์ได้จริง
          “ตอนนี้เราเหมือนมีสะพานข้ามที่นำทั้งสองฝ่ายมาร่วมมือกัน และเชื่อว่างบประมาณภาครัฐที่เคยมาสนับสนุนสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็จะเข้ามาแบบก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติจริงๆ สามารถนำไปใช้กับภาคเศรษฐกิจได้ ส่วนภาคเอกชน จากสมัยก่อนที่ไม่ค่อยลงทุนหรือใช้จ่ายด้านงานวิจัย ก็จะเข้ามามากขึ้น เพราะรู้แล้วว่าภาครัฐได้ให้การสนับสนุนและตรงกับสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการจริงๆ” อภิชาต กล่าว
          ทั้งนี้ ภายโครงการประชารัฐ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น บริษัทยังเตรียมที่จะลงนามเอ็มโอยูกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในส่วนของไบโออีโคโนมี หรือเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ที่เน้นนำสินค้าเกษตรมาเพิ่มมูลค่า โดยจะมีสถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมด้วย และเป้าหมายของเราคือเรื่องไบโอพลาสติก
          แต่เรื่องนี้ การจะเปลี่ยนผู้บริโภคมาให้เห็นความสำคัญ หรือใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเปลี่ยนจากการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ มาเป็นพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้เร็ว ก็ต้องการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

 

“เคทิส”บนเส้นทางท้าทายยุค4.0


          สำหรับบริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด อภิชาต บอกด้วยว่า เป้าหมายของเราในระยะ 3-5 ปี คืออยากจะใช้ศักยภาพของสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยที่มีอยู่ในประเทศ ซึ่งมีศักยภาพ มีองค์ความรู้ มีบุคลากรอยู่แล้ว ให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่ทำขึ้นมาอยู่แล้ว แต่ไม่เคยมีใครนำมาใช้มาก่อน เราจึงจะเริ่มต้นจากตรงนี้ แทนที่จะเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ซึ่งเชื่อว่ามีงานวิจัยอีกมากที่ทำไว้แล้ว แต่ยังไม่มีการรวบรวมทำให้เรายังไม่เห็นภาพ
          นอกจากนี้ ยังคิดว่าเมื่อมีการเข้าไปสนับสนุนมากขึ้นแล้ว ก็จะสะท้อนไปยังนักวิจัยที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพ และส่งเสริมการผลิตนักวิจัยในประเทศให้มีมากขึ้นด้วย
          “บริษัทเอง ก็จะมีโครงการสนับสนุนให้นักวิจัยที่ยังเป็นนักศึกษาเข้ามาช่วยในโครงการ เข้ามาทำงานในโรงงาน ให้ได้เห็นสถานที่จริง เห็นกระบวนการผลิตจริง ใครมีงานวิจัยที่ตรงกับความต้องการของบริษัทก็จับแมทชิ่งกันต่อไปได้ อีกทั้งความร่วมมือที่มี ก็ยังจะต่อเนื่อง คือจากเดิมเมื่อจบรุ่นหนึ่ง อาจจะไม่มีการต่อยอด แต่เมื่อร่วมมือกันแล้ว นักศึกษารุ่นเก่าจบไป ก็จะมีรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อ หรือต่อยอดต่อไปได้” อภิชาต กล่าว
          อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ก็คือต้นน้ำ บริษัทเรายังเน้นให้ความสำคัญกับต้นน้ำ แม้ว่าบริษัทวิจัย จะมีอยู่ 3 ฝ่าย 1.วัตถุดิบ คืออ้อยและพืชพลังงาน 2.กระบวนการผลิต และ 3.ผลิตภัณฑ์ที่มีการต่อยอด
          “ต้องยอมรับว่าเรายังเน้นเรื่องวัตถุดิบ เพราะเราพูดเสมอว่าน้ำตาลผลิตที่ไร่ การจะได้น้ำตาลที่ดีหรือไม่ดีนั้น เริ่มต้นที่ไร่ ถ้าปลูกอ้อยไม่ประสบความสำเร็จ อ้อยเข้ามาน้อย โรงงานก็ผลิตน้ำตาลได้น้อย เพราะฉะนั้นเราก็ยังเน้นในเรื่องการพัฒนาภาคเกษตรเป็นหลัก ที่เป็นต้นน้ำของเรา ส่วนนี้ก็จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ปลูกอ้อยได้ผลผลิตมากขึ้น เกษตรกรจะเห็นความยั่งยืนและไม่ปรับเปลี่ยนไปมาในการปลูกพืชชนิดอื่น อย่างที่บริษัทเรามีคำขวัญก็คือ ชาวไร่อ้อยมั่งคั่ง เคทิส มั่นคง” อภิชาต กล่าว

 

“เคทิส”บนเส้นทางท้าทายยุค4.0

 


เดินเครื่องเรื่องงานวิจัย-พัฒนา
          เกี่ยวกับบริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด นั้น อภิชาตกล่าวว่า จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำให้งานวิจัยและพัฒนาของกลุ่มบริษัทมีความชัดเจนมากขึ้น และเต็มรูปแบบ โดยจะเน้นนำองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วมาต่อยอดให้เป็นรูปธรรม และมีสมมุติฐานการวิจัยที่เป็นมาตรฐานสากล สามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาได้
          นอกจากนี้ ยังจะเน้นในด้านกระบวนการผลิต ซึ่งจากการที่เรามีองค์ความรู้ดีๆ ก็จะนำมาต่อยอด เช่น เครื่องจักร ซึ่งกลุ่มบริษัทสร้างเครื่องจักรเอง จึงคิดว่าน่าจะเป็นจุดแข็งของเรา จึงจะดูว่าจะมีงานวิจัยด้านเครื่องจักรที่จะสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดธุรกิจเราเองได้มากน้อยแค่ไหน
          สุดท้ายคือผลิตภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันเราเตรียมที่จะพัฒนาสินค้าที่เรามีอยู่ให้หลากหลายมากขึ้น มีทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น ตลอดจนบริษัทมีหลักการในการลดกากของเสียให้เป็นศูนย์ จากเดิมนำไปกำจัดทิ้ง แต่หากมีการวิจัยและพัฒนา ก็อาจจะสามารถนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ซึ่งตอนนี้ก็เตรียมที่จะนำวัสดุเหล่านี้มาสร้างประโยชน์เพิ่มขึ้น
          “บริษัทเคทิส เพิ่งจะเริ่มก่อตั้งมาได้ราว 1 ปี คาดว่ากลางปีหน้าน่าจะเริ่มมีรายงานของโครงการที่เราออกมา 10 โครงการแรกก่อน และปีหน้าก็จะมีเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ แต่ในเรื่องการวิจัยและพัฒนานั้น กว่าจะเห็นผลก็จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-8 ปี เหตุผลคือการวิจัยด้านผลผลิตทางการเกษตร จะต้องดูกันยาวๆ เนื่องจากมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงด้านดิน ฟ้า อากาศ กว่าจะศึกษาให้ได้ผลที่แน่นอนก็จะต้องใช้เวลา อย่างการวิจัยเรื่องการปลูกอ้อยด้านวัตถุดิบ ก็จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี เป็นต้น” อภิชาต กล่าว

 

          เรื่อง อนัญชนา สาระคู

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ