ข่าว

'ยลดา ภูริผล'ได้แรงบันดาลใจจากแม่สืบสานผ้าลาวครั่ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ยลดา ภูริผล'ได้แรงบันดาลใจจากแม่สืบสานผ้าลาวครั่ง : คมคิดธุรกิจนิวเจน โดยสันทนา รัตนอำนวยศิริ 

ด้วยความที่โตมากับ “ผ้าลาวครั่ง” ที่เห็น แม่ทองลี้ คณทา ทำมาตั้งแต่เกิด “ยลดา ภูริผล” จึงไม่อยากให้ภูมิปัญญาเหล่านี้สูญหายไป วิธีหนึ่งที่จะทำให้หัตถกรรมพื้นถิ่นยังคงอยู่ก็คือ งานของเธอต้องไม่หยุดนิ่ง ด้วยเหตุนี้กระบวนการทอเธอจะยึดตามแบบดั้งเดิมทุกขั้นตอน แต่พยายามพัฒนาลวดลายและสีสันเพื่อสร้างความน่าสนใจ เช่น ลายกระต่ายชมจันทร์ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากนิทานที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟัง

ยลดา ภูริผล ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม สาขาเครื่องทอ วัย 27 ปี ทายาทรุ่นที่ 8 ที่สานต่อ ผ้าทอลาวครั่ง จากมารดา คือ แม่ทองลี้ คณทา ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2556 เล่าว่า สมัยที่เธอยังเป็นเด็ก ได้ฟังนิทานเรื่อง “เต่าน้อยล้อมคอก” ที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟัง ทำให้เธอประทับใจและจดจำความประทับใจนั้นมาจนโต เมื่อมาสานต่องานผ้าทอลาวครั่ง จึงนำลายเต่าซึ่งเป็นลายดั้งเดิมมาประยุกต์ รวมทั้งลายดั้งเดิมซึ่งคนสมัยนี้ไม่ค่อยรู้จัก เช่น ลายก่านของ และลายมงคล เช่น ลายดาวค้ำเดือน ลายเอื้อรัฐ นำกลับมาใช้อีก

“ส่วนเรื่องของสีสัน จากเดิมที่ผ้าทอลาวครั่งจะใช้กันเพียง 5 สี คือ เขียว เหลือง ส้ม แดง ดำ เราก็เพิ่มเป็น 9 สี โดยเพิ่มสีเขียวอ่อน ฟ้า ชมพู และม่วง ทำให้สามารถสร้างงานในรูปใหม่ๆ ได้มากขึ้น รวมถึงการทอในโทนสีอ่อนๆ และทอไล่สีแบบสีรุ้ง ทำให้ผ้าทอลาวครั่งของกลุ่มเราได้รับความนิยมอย่างมาก”

ยลดา เล่าอีกว่า แม่ทองลี้ มารดาของเธอ สืบทอดงานทอผ้าลาวครั่งที่ทำต่อกันมานับร้อยๆ ปี จากคุณยายทวด และคุณยาย ทุกวันนี้ชุมชนของเธอยังคงอนุรักษ์วิถีผ้าทอที่สะท้อนถึงรากเหง้าและภูมิปัญญาแห่งบรรพชน เธอเติบโตมาในครอบครัวช่างทอผ้า มีโอกาสได้พบเห็น ได้เรียนรู้ และฝึกฝนจนคุ้นเคยกับกระบวนการที่ซับซ้อนของการผลิตสิ่งทอ ตั้งแต่การปั่นฝ้าย ย้อมฝ้าย มัดหมี่ เก็บตะกอ ไปจนถึงการทอที่ก่อเกิดเป็นผืนผ้างดงาม เธอจึงตระหนักในคุณค่าและผูกพันกับผ้าทอลาวครั่ง จนตั้งปณิธานไว้ว่าจะช่วยสืบสานหัตถกรรมผ้าทอลายโบราณนี้ให้คงอยู่สืบไป

“หนูอยากเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมของปู่ย่า ตายาย อยากให้คนรุ่นหลัง รุ่นน้องของหนู ได้เห็นและเรียนรู้ศิลปเหล่านี้ต่อจากรุ่นของหนูต่อไป”

นอกจากนั้น ยลดา ยังได้พัฒนาการออกแบบลวดลายไปอีกหนึ่งก้าว โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เช่น การพล็อตลายด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้สามารถสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ๆ สำหรับผ้าทอที่สวยงามอย่างมีเอกลักษณ์ พร้อมทั้งได้เผยแพร่เทคนิคเหล่านี้ให้แก่ “กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านผาทั่ง” ที่คุณแม่ทองลี้ มารดาของเธอเป็นประธาน ส่งผลให้ผ้าทอลาวครั่งลายโบราณของกลุ่ม ซึ่งเดิมเป็นที่รู้จักอยู่แล้วนั้น ได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งในกลุ่มคนไทยและชาวต่างชาติ
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ