ข่าว

‘HEMP’ผลิตภัณฑ์จากใยกัญชง ชูความ‘เป็นไทย’ในต่างแดน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘HEMP’ผลิตภัณฑ์จากใยกัญชง ชูความ‘เป็นไทย’ในต่างแดน : คมคิดธุรกิจนิวเจน โดยดลมนัส กาเจ

             จากประสบการณ์ที่ได้แลเห็นชาวต่างชาติหลงใหลในสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์แบบไทยๆ ประกอบกับที่ได้พบเห็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอจากใยกัญชงของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ที่มีความคงทน ทำให้ ดวงฤทัย ภูมิพิเชษฐ์ มีแนวคิดว่า ควรจะนำผ้าทอจากใยกัญชงมาต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อจำหน่ายให้แก่ชาวต่างชาติ เน้นเจาะตลาดเพื่อส่งออกเป็นหลัก

             ในที่สุดก็ตัดสินใจร่วมกับเด็กหนุ่มวัยเพียง 20 ปีต้นๆ ที่มีศักดิ์เป็นหลานชาย เมื่อ 10 ปีก่อน “อาทิตย์ ฤทธีราวี” ตั้งบริษัท ดีดี เนเจอร์ คราฟท์ จำกัด (DD Nature Craft) เพื่อผลิตสินค้าแฟชั่นสำหรับคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋า รองเท้า หมวก ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ที่รองนั่ง และสารพัดผลิตภัณฑ์จากผ้าใยกัญชงกว่า 20 รายการ ภายใต้เครื่องหมายการค้า หรือแบรนด์ “HEMP” โดยให้ อาทิตย์ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นผู้บริหารในฐานะกรรมการผู้จัดการ ล่าสุดยึดทำเลบนศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค ถนนศรีนครินทร์ เป็นโชว์รูมในการจัดโชว์สินค้าตัวอย่างเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ส่วนโรงงานผลิตตั้งอยู่ถนนพระราม 2 เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ

             เวลาผ่านไปความฝันของอาทิตย์ ที่มีความตั้งใจในการที่จะผลักดันสินค้าเพื่อส่งออกประสบผลสำเร็จไประดับหนึ่งแล้ว หลังจากนำผลิตภัณฑ์ไปออกบูธตามงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ วันนี้ผลิตภัณฑ์จากใยกัญชง "HEMP" กว่า 90% เป็นการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น บางประเทศในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ในแต่ละปีมีมูลค่าการส่งออกตกปีละหลักสิบล้านบาท และตลาดขยายเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ติดปัญหาในเรื่องของวัตถุดิบที่เป็นเส้นใยกัญชงมีจำนวนจำกัด เพราะกัญชงที่จะให้คุณภาพดีต้องปลูกในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางอย่างน้อย 600 เมตร และมีสภาพอากาศหนาวเย็น ปัจจุบันต้องส่งเสริมให้ชาวเขาเผ่าม้งในพื้นที่ภาคเหนือ ที่เชียงราย และเชียงใหม่ เท่านั้น

             “ในอดีตเข้าใจผิดว่ากัญชงมีสารเสพติดเหมือนกัญชา จึงเคยถูกห้ามปลูก ทำให้ชาวบ้านเสียอาชีพไป แต่หลังจากพิสูจน์แล้วว่าไม่มีสารเสพติด เราเลยไปสนับสนุนให้ชาวบ้านที่เป็นชาวเขาเผ่าม้งปลูก โดยทางเราลงทุนให้ ตอนนี้เกษตรกรเหล่านี้ที่ปลูกกัญชงส่งให้เรามีราว 30 คน” อาทิตย์ กล่าว

             สาเหตุที่เลือกเอาใยกัญชงมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิตย์ยืนยันว่า จากการศึกษาพบว่า ใยกัญชงเป็นเส้นใยธรรมชาติอย่างแท้จริง มีความคงทนกว่าใยพืชอื่นๆ ในอดีตนิยมทำเป็นเชือกสำหรับผูกสมอเรือ ที่สำคัญกัญชงที่ชาวเขาเผ่าม้งปลูกเป็นการปลูกแบบธรรมชาติ ปราศจากสารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น ชาวม้งปลูกกันยาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ ต่อมามีกระบวนการพัฒนาคุณภาพ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่คงทนตอบรับความต้องการของผู้ใช้ เนื่องจากมีจุดเด่นคือ ไม่เป็นเชื้อรา สามารถป้องกันไรฝุ่น ป้องกันแสงยูวีได้ 95% และกันน้ำได้ 100% ระบายกลิ่น และความชื้นได้ แข็งแรงทนทาน กรีดไม่เข้าอีกด้วย

             กระนั้นก็ตาม กว่าจะได้ครองใจลูกค้าในวันนี้ได้ อาทิตย์ บอกว่า ต้องใช้เวลาในการทำการตลาดพอสมควร เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักคำว่ากัญชง เบื้องต้นต้องเดินสายทำการตลาดด้วยการออกงานแสดงสินค้าทั้งที่เมืองไทย โดยเฉพาะงานแสดงสินค้าโอท็อป ไปจนถึงงานแสดงสินค้านานาชาติ อาทิ ในตะวันออกกลางที่ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน และอังกฤษ ทำให้ได้ลูกค้าเป็นชาวต่างประเทศ
 
             ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากใยกัญชง ที่ผลิตโดยบริษัท ดีดี เนเจอร์ คราฟท์ จำกัด มีทั้งหมดกว่า 20 รายการ ในจำนวนนี้ผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดเป็นจำพวกกระเป๋าสะพาย หมวก รองเท้า ผ้าพันคอ หรือผ้าพาดบ่า เป็นต้น ตลาดหลักที่ญี่ปุ่นกว่า 80% ที่เหลือเป็นยุโรป อเมริกา ราวอีก 10% ส่วนที่ขายในประเทศไทยเพียง 10% เท่านั้น โดยผลิตภัณฑ์ที่ขายหน้าร้านมีเพียงแห่งเดียวที่ศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค ถนนศรีนครินทร์ เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ ในราคาขายตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท

             "ปัจจุบันเรามีตัวแทนจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่น 2 แห่ง อยู่ที่โอซากา เพราะญี่ปุ่นจะเป็นตลาดที่ขายดีที่สุด เพราะว่าที่ญี่ปุ่นเคยปลูกกัญชงเหมือนกัน คนญี่ปุ่นบางคนจึงรู้ว่าใยกัญชงมีความคงทน แต่ที่ญี่ปุ่นปลูกแบบคนรุ่นใหม่ ใช้สารเคมี ทำให้คุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร และมีราคาแพงกว่า 3 เท่าด้วย ในบ้านเราเองก็ค่อนข้างหายากแล้วเหมือนกัน เพราะต้องอาศัยชาวเขาเท่านั้น ส่วนที่จีนก็มีการผลิตเสื้อผ้าจากใยกัญชงเหมือนกัน แต่กระบวนการผลิตจะผ่านเครื่องจักรทั้งหมด และใช้เคมีมาทำให้เป็นผ้านุ่ม ใส่สบาย แต่ของเราเป็นเส้นใยกัญชงระดับพรีเมียม ราคายังแพงกว่า" อาทิตย์ สะท้อนจุดยืนในการผลิตสินค้า

             เจ้าของผลิตภัณฑ์ “HEMP” บอกด้วยว่า "ในยุคที่ผลิตภัณฑ์ของใช้ทุกอย่างจะต้องใช้แฟชั่นเป็นตัวนำ แต่สำหรับผลิตภัณฑ์จากใยกัญชงของดีดี เนเจอร์ คราฟท์ กลับเน้นที่ความเรียบง่าย เน้นเอกลักษณ์ที่เป็นแบบไทยๆ ก็พบความจริงว่า ตลาดไปได้เช่นกัน" หลังจากเคยพยายามปรับเรื่องการออกแบบ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนาให้ แต่พบว่าลูกค้ากลับน้อยลง เพราะเขาชอบเรียบๆ ชอบในความคลาสสิกของผ้ามากกว่า ที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์แฟชั่นนำสมัย แต่เป็นผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะกระเป๋าที่ใช้ได้ทุกวันและทุกโอกาสด้วย

             “บนธุรกิจการค้า มีเหลี่ยมพอสมควร ลูกค้าบางประเทศมาสั่งให้เราทำแบบส่งตัวอย่างไปให้ แต่กลับไม่สั่งสินค้าจากเรา มาทราบทีหลังพบว่า เขาไปจ้างให้อินเดียและจีนผลิตให้ เพราะราคาถูกกว่า ต่างกับลูกค้าญี่ปุ่นที่มีความซื่อสัตย์ ตั้งแต่คบกันมา ไม่เคยมีปัญหาเลย สั่งมาก็ส่งไป พร้อมกับการกำหนดราคา ลูกค้าญี่ปุ่นซื่อสัตย์มาก" อาทิตย์ กล่าว พร้อมกับบอกว่า บทเรียนทางธุรกิจ อยู่ที่หัวใจ คือ ความซื่อสัตย์เท่านั้นที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้

             ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากใยกัญชง ภายใต้แบรนด์ "HEMP" ดีดี เนเจอร์ คราฟท์ ขายตั้งแต่ราคา 1,000-5,000 บาท หากเป็นตลาดไทยอาจมองว่าแพง แต่ต่างประเทศ เมื่อเทียบกับคุณสมบัติแล้วถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสม และการตั้งราคาสูงก็สะท้อนถึงวัตถุดิบที่มีราคาสูง หายาก และก็ต้องสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูก เพื่อให้ผลิตภัณฑ์จากใยกัญชงอยู่คู่กับเกษตรกรต่อไป

             นี่คืออีกมุมหนึ่งของธุรกิจเล็กๆ ที่นำผลผลิตของต้นกัญชงมาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่น โดยชูเอกลักษณ์ความเป็นไทยเป็นจุดขาย แม้เบื้องต้นจะมีมูลค่าไม่มากนัก แต่นับวันจะขยายเพิ่มขึ้นทุกปี สะท้อนให้เห็นว่า ในความเป็นไทยนั้น เป็นที่น่าสนใจของชาวต่างชาติอยู่เสมอมิเสื่อมคลาย


กว่าจะเป็นสินค้าที่ถูกใจต่างชาติ

             กัญชง จัดอยู่ในวงศ์ Cannabidaceae ลักษณะต้นคล้ายต้นกัญชา มีต้นกำเนิดมาจากพืชชนิดเดียวกัน แต่ลักษณะภายนอกมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยคือ ต้นกัญชงสูงราว 2-3 เมตร ส่วนของยอด ช่อดอก และใบกัญชงจะมีลักษณะเรียว เล็ก มีการเรียงสลับของใบค่อนข้างห่างกันชัดเจน และมียางเหนียวติดมือ จะขึ้นบนที่สูง และมีอากาศเย็น ต่างกับต้นกัญชาซึ่งจะมีลำต้นเตี้ย กิ่งก้านมาก สูงไม่เกิน 2 เมตร ใบกัญชาจะใหญ่กว้าง ใบออกเวียนตามกิ่งเป็นทรงพุ่ม

             จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับกัญชา ที่มีสารเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับกรอบแนวทางการพิจารณาเพื่อการควบคุมและส่งเสริมการปลูกพืชกัญชง (เฮมพ์) เป็นพืชเศรษฐกิจ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ หลังจากคณะผู้วิจัยได้นำเสนอแนวทางในตรวจสอบทางเคมีและกายภาพโดยอาศัยปริมาณสาระสำคัญและประเมินวิธีมัลติเพล็กซ์ เพื่อแยกเฮมพ์ประเภทเสพติดและประเภทเส้นใยของพืชกัญชง ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
 
             เนื่องจากใยกัญชงถูกนำมาทำเป็นเส้นใยผ้า และถักทอ ตกแต่งลวดลายศิลป์ตามแบบฉบับของชนเผ่าต่างๆ ทางภาคเหนือ ดังนั้นกัญชงจึงเป็นพืชดั้งเดิมที่มีการใช้ประโยชน์ตามประเพณีและรูปแบบชนเผ่า โดยการใช้ลำต้นมาลอกเปลือกออก แล้วนำมาต่อให้ยาว ม้วนให้เป็นเส้น ก่อนนำไปต้มในน้ำเดือดที่ผสมกับขี้เถ้าเพื่อให้เกิดความนุ่มและเหนียวก่อนนำมาใช้ ว่ากันว่าเส้นใยกัญชงเป็นที่นิยมของกลุ่มผู้หลงใหลเสื้อผ้าวัฒนธรรมของพี่น้องชนเผ่า ซึ่งเล่าลือกันว่า ผ้ากัญชงนั้นสวยงามแปลกตาและมีเสน่ห์ เป็นต้น

             ข้อมูลระบุว่า เส้นใยกัญชงเป็นเส้นใยที่มีคุณภาพสูง มีความยืดหยุ่น แข็งแรงและทนทานสูง สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์จากเส้นใยได้กว่า 5,000 ชนิด ตั้งแต่เชือกจนถึงเส้นใยที่ละเอียด ส่วนเส้นใยคุณภาพต่ำหรือกากเส้นใย ซึ่งประกอบไปด้วยเซลลูโลสกว่า 77 เปอร์เซ็นต์ นั้น สามารถใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ กว่า 2.5 หมื่นชนิดทีเดียว

             แต่กว่าจะนำใยกัญชงมาทำเป็นผลิตนั้น หลังจากเกษตรกรปลูกกัญชงได้ 3-4 เดือน จึงตัดเอากิ่งและยอดออกก่อน จากนั้นตากแดด 1 สัปดาห์ พอแห้งแล้วมาปอกเปลือก มาม้วนไว้ ก่อนที่จะต่อให้เป็นเส้นยาวราว 3,000 เมตร จึงนำมาฟอกให้นุ่ม ย้อมสีธรรมชาติ โดยใช้เปลือกไม้ที่มีต่างๆ แล้วมาทอมือ ได้เป็นผ้า จึงนำเข้าสู่โรงงานเพื่อเข้ากระบวนการผลิตเป็นสินค้าต่อไป

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ