Lifestyle

“บุพเจตนา” เริ่มต้นทำความดีที่การตั้งจิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

อีกเพียงเดือนกว่าๆ ก็ถึงกาลเข้าพรรษา แต่ก่อนจะถึงเวลานั้นขอให้เราเตรียมตั้งจิตที่ดีงามไว้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ในส่วนของพระสงฆ์ก็เตรียมจิตเตรียมใจ เตรียมพร้อมในการเข้าพรรษาโดยการเตรียมตั้งปณิธานจิตไว้ว่า ตลอดพรรษายุกาลที่จะมาถึงจะปฏิบัติตน จะบำเพ็ญบารมีสิ่งใดบ้างที่จะเป็นพิเศษขึ้นมา

แม้ในฝ่ายของพุทธบริษัทก็เช่นเดียวกัน สามารถอาศัยโอกาสที่พระสงฆ์จะเข้าพรรษา น้อมจิตน้อมใจตั้งเป็นบุพเจตนา (เจตนาก่อนทำ) ไว้ตั้งแต่บัดนี้เป็นเบื้องต้นว่า เมื่อพระสงฆ์เข้าพรรษา เราในฐานะพุทธบริษัท ในฐานะมหาอุบาสก มหาอุบาสิกา จะตั้งปณิธานในการปฏิบัติเช่นใดบ้างจึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธบริษัท ที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในทางพระพุทธศาสนา สำหรับพุทธบริษัท องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านวางหลักไว้อย่างง่ายๆ เกี่ยวกับการทำบุญ ทำกุศล ทำได้สามอย่าง คือ ทาน ศีล และภาวนา เราจะนำหลักสามประการนี้เป็นบุพเจตนาสำหรับเข้าพรรษาที่จะมาถึงนี้ก็วิเศษนัก

เพราะเป็นการทำบุญได้อย่างง่ายๆ ทุกคนสามารถทำได้ หลายคนทำอยู่แล้ว ปฏิบัติจนเป็นอุปนิสัย บางทีเราคิดว่า การทำบุญทำกุศลในทางพระพุทธศาสนานั้นมีความยุ่งยาก สลับซับซ้อนหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ข้อเท็จจริงเมื่อรวมลงแล้วก็มีสามประการนี้เอง

ทาน เราตักบาตร ก็ถือว่าเป็นทาน เราสงเคราะห์ผู้คนที่ยากไร้ก็เป็นทาน  

  ศีล บางท่านก็ตั้งใจสมาทานศีล ๕ ในวันพระ บางท่านก็ตั้งใจสูงขึ้นไปเป็นขั้นอุกฤษฎ์ก็สมาทานศีลอุโบสถ หรือ ศีล ๘ ตลอดวันหนึ่ง กับคืนหนึ่งในวันพระ ก็เรียกว่าเป็นการรักษาศีล 

สูงขึ้นไปคือการได้บำเพ็ญภาวนา 

การบำเพ็ญภาวนา คือ การทำสมาธิ ในส่วนของพุทธบริษัทนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องการให้เราอยู่กับปัจจุบันทุกขณะจิต คือ รู้จิตของเราทุกขณะนั่นเอง รู้ว่า ขณะนี้ เราคิดไม่ดี รู้ว่าขณะนี้ เราคิดดี มีสติ รู้จิตรู้ใจของเราทุกขณะว่า เออ ตอนนี้ เราคิดไม่ดี มีอกุศลจิต มีสติปัญญาขึ้นมารับรู้เช่นนี้ เราก็ตั้งจิตตั้งใจต่อไปว่า เมื่อเราคิดไม่ดี เราจะตั้งจิต ตั้งใจของเราว่า เราจะตั้งใจระงับจิตของเราไม่ให้เป็นอกุศลจิต

  เมื่อความโกรธเกิดขึ้น เราจะระงับความโกรธ ความไม่สบายใจเกิดขึ้น เราก็จะระงับความไม่สบายใจ ความขุ่นเคืองคนรอบข้างของเรา ไม่ว่าจะเป็นบุตร ธิดาก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นความขุ่นเคืองต่อสามี หรือภรรยาก็ตาม ต่อญาติพี่น้องก็ตาม เรามีสติ รู้เท่าทันจิตของเรา เราจะระงับความขุ่นเคืองแก่บุคคลรอบข้างดังกล่าวนี้ลง เช่นนี้ก็เรียกว่า มีสติรู้เท่าทันจิตอยู่กับปัจจุบัน ก็คือ การทำสมาธิ หรือเรียกง่ายๆ ว่า การทำสมาธิอยู่กับปัจจุบันขณะ อยู่กับปัจจุบันธรรม เช่นนี้ ก็เรียกว่าการทำสมาธิ เช่นเดียวกัน  

  การทำสมาธิในทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายสูงสุดคืออย่างนี้นี่เอง 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ