Lifestyle

‘บำรุงราษฎร์’ติดปีกเทคโนโลยี CardioInsight (จบ)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘บำรุงราษฎร์’ติดปีกเทคโนโลยี CardioInsight (จบ) : คอลัมน์ ดูแลสุขภาพ 

 
          นอกจากนี้ ความอัจฉริยะของอุปกรณ์นี้ ยังสามารถนำข้อมูลคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ตรวจจับได้ ไปประมวลผลร่วมกับข้อมูลกายวิภาคของหัวใจที่ได้จากเครื่องซีทีสแกน แพทย์ก็จะสามารถเห็นภาพที่ชัดเจน ทั้งจังหวะการเต้นของหัวใจทุกๆ จังหวะ เห็นภาพเส้นทางการเดินทางของกระแสไฟฟ้าทั่วหัวใจทั้งดวงว่าออกจากจุดไหนไปยังจุดไหน และเกิดความผิดปกติในจุดไหน

          “ถ้าเป็นคนปกติ หัวใจจะเต้นในห้องบนแล้วส่งสัญญาณไปหัวใจทั้ง 4 ห้อง ทั้งซ้ายและขวา ในกรณีแบบนี้เราก็จะสามารถเห็นได้เลยว่าทุกจังหวะของหัวใจที่เต้นมันเริ่มจากหัวใจห้องบนลงมาห้องล่าง แล้วกระจายออกไปอย่างไร ถ้านับจากต้นกำเนิดไฟฟ้าหัวใจจนทั่วห้องข้างบน ส่วนใหญ่จะเสร็จสิ้นกระบวนการทำงานประมาณ 0.2 วินาที จากนั้นสัญญาณไฟฟ้าจะผ่านจุดเชื่อมระหว่างหัวใจข้างบนข้างล่าง ประมาณ 0.18-0.2 วินาที แล้วก็ลงไปหัวใจห้องล่างประมาณ 0.1 วินาที อันนี้คือหัวใจปกติ แต่ถ้าเป็นหัวใจเต้นผิดปกติเราก็จะเห็นได้ทันทีว่ามันออกมาจากที่ไหน แล้วแพร่ขยายไปอย่างไร จะแพร่กระจาย (spread) แบบเริ่มจากจุดหนึ่งแล้วแซงหรือซ้อนกับคลื่นไฟฟ้าปกติตามธรรมชาติ หรือเป็นวงจร วนกลับไปมาตรงไหน ก็ทำให้แพทย์เข้าใจอาการผิดปกติของคนไข้ได้ว่าเกิดจากอะไร” นพ.กุลวี กล่าว

          ที่สำคัญเครื่องมือชนิดนี้สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องมีการผ่านหรือสอดใส่เครื่องมือเข้าไปในร่างกายคนไข้ (non-invasive procedure) และยังช่วยเป็นส่วนเสริมให้แก่การทำหัตถการที่เป็น invasive procedure เช่นการสวนหัวใจให้ทำได้ง่าย เข้าถึงตำแหน่งเฉพาะได้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น
“เมื่อรู้จุดที่เป็นปัญหาแล้วก็ไปทำ invasive procedure ได้ วิธีการในการรักษาเราเรียกว่า Radio Frequency Ablation ซึ่งเป็นเครื่องจี้ด้วยความถี่วิทยุเพื่อสร้างความร้อนลงไปบนจุดที่มีปัญหา อย่างผมเวลาสวนหัวใจเพื่อรักษาคนไข้ก็ให้คนไข้สวม CardioInsight ไว้ เราก็สามารถใช้ข้อมูลจากทั้ง 2 ส่วนนี้ร่วมกัน เรารู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหนเราก็ไปตรงนั้นเลย ไม่ต้องไปค้นในทุกๆ แห่ง นี่คือสิ่งที่คนไข้และแพทย์ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ ทำให้กระบวนการรักษามีความแม่นยำ มีประสิทธิภาพ และไม่เสียเวลามากเกินไป”

          ๐เดินหน้างานวิจัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
          เครื่องมือ CardioInsight ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ อยู่ในช่วงริเริ่ม ซึ่งปัจจุบันมีใช้ในโรงพยาบาลเพียงไม่กี่แห่งในโลก คือที่โรงพยาบาลในเมืองบอร์กโดซ์ ประเทศฝรั่งเศส และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ของไทยที่ใช้งานเครื่องมือนี้อย่างจริงจังในการรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ นอกจากนี้ยังมีในโรงพยาบาลบางแห่งในอังกฤษ แต่การใช้งานยังไม่จริงจัง เท่า 2 แห่งแรก ส่วนในอเมริกาซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีนี้ ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าใดนัก แม้ว่าองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) จะอนุญาตให้ใช้เครื่องมือนี้ก็ตาม มีเพียงโรงพยาบาล Mount Sinai ที่มีใช้งานและเริ่มใช้หลังจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

          “โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลไม่กี่แห่งในโลกที่นำเครื่องมือนี้มาใช้ในการรักษา ผมดีใจมากเราที่ได้อุปกรณ์นี้มาไว้ที่ Electrophysiology Lab ของเรา เราไม่ได้นำ CardioInsight มาเพื่อรักษาผู้ป่วยอย่างเดียว อีกเหตุผลหนึ่งที่บำรุงราษฎร์นำเครื่องมือนี้เข้ามา เพราะโรงพยาบาลต้องการวิจัยองค์ความรู้ในเรื่องหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วย ขณะที่ทางผู้พัฒนาอุปกรณ์ก็เห็นว่าเราทำได้ดีก็เลยอยากให้เป็นพาร์ทเนอร์ช่วยเหลือในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งอย่างที่บอกว่ามีโรงพยาบาลไม่กี่แห่งในโลกที่มีเครื่องมือนี้และเราก็ภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในนั้น”

          ทั้งนี้ นพ.กุลวี วางแผนโครงการวิจัยสำคัญๆไว้ 2 เรื่อง คือ 1.การนำอุปกรณ์มาช่วยในการรักษาผู้ป่วย Brugada Syndrome หรือโรคใหลตายในภาษาไทย และ 2.วิจัยว่าเครื่องมือชนิดนี้จะเป็นประโยชน์ในการพยากรณ์ความเสี่ยงอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะได้หรือไม่

          สำหรับการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์อื่นๆ เช่น เครื่อง CardioInsight จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยหรือย่นเวลาการรักษาได้มากน้อยพียงใดเมื่อเทียบกับเครื่องมือ EKG นพ.กุลวีกล่าวว่า อาจต้องใช้เวลาอีก 5-6 เดือน เนื่องจากอุปกรณ์นี้ยังเป็นของใหม่ ถือเป็น Learning Curve ที่บุคลากรยังอยู่ในช่วงของการเรียนรู้การทำงานร่วมกับเทคโนโลยี แต่เชื่อว่าช่วยย่นเวลาการวินิจฉัยอาการได้แน่นอน

          ขณะเดียวกัน ประมาณกลางปี 2560 หรือต้นปี 2561 นพ.กุลวียังเตรียมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งใหญ่ เกี่ยวกับการรักษาโรคสำคัญๆ อย่างภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation) หรือ หัวใจห้องล่างสั่นพลิ้ว (Ventricular Fibrillation) และจะใช้การรักษาด้วยวิธีการจี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Ablation) ให้มีประสิทธิภาพอย่างไร รวมไปถึงจะนำเครื่องมือ CardioInsight มาช่วยคนไข้และแพทย์ได้อย่างไร ซึ่งจากกระแสขณะนี้ก็มีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก

          “เรานำเอา CardioInsight เข้ามา เพราะเราอยากเป็น Arrhythmia Center ที่ทำวิจัยที่ดีที่สุดและเป็นแห่งหนึ่งในโลกที่ดีที่สุดในการรักษา ซึ่งเครื่องมือนี้จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ทำให้เราเรียนรู้มากขึ้น เข้าใจโรคมากขึ้น และวินิจฉัยดีขึ้น ทั้งหมดนี้เพื่อให้คนไข้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดนั่นเอง”
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ