ข่าว

จำคุก 2 เดือน รอลงอาญา 2 ปี ศาลปรับ 'เยาวชนปลดแอก' 3,000 บาท / คน ชุมนุมการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เยาวชนปลดแอก" ชุมนุมทางการเมือง ก.ค.63 ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง สรุปลักษณะการกระทำยังไม่ส่อเจตนาว่าเป็นการทำถึงขนาดเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน พิพากษาจำเลย 12 คน มีความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด

ที่ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง นายพริษฐ์  ชิวารักษ์ หรือ "เพนกวิน" กับพวก รวม 12 คน กรณีชุมนุมทางการเมืองในนาม "เยาวชนปลดแอก"  จัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง18 ก.ค.63 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยพนักงานอัยการโจทก์ ฟ้องจำเลยทั้ง 12 คน เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1688/2564 และคดีหมายเลขดำที่ 2763/2564 โดยศาลมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาทั้งสองสำนวนนี้ไว้ด้วยกัน ขณะที่จำเลยทั้ง 12  คน  ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา

 

 



ศาลอาญา  พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จำเลยทั้ง 12  คน  เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมบนถนนราชดำเนินกลางในลักษณะเดินลงมาบนพื้นผิวจราจร เต็มพื้นที่บนถนนราชดำเนินกลางบริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์ และติดตั้งเวทีบนถนนราชดำเนินกลาง บริเวณขอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และมีการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจำเลยที่ 1-8 ,10,11 ได้สลับกันขึ้นพูดปราศรัยบนเวที โดยไม่ได้คำนึงว่าจะเป็นการฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และกฎหมายใด  ๆ อันเป็นการแสดงให้ปรากฏต่อประชาชนด้วยวาจาหนังสือ  หรือวิธีการอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ

 

 

หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฏหมายแผ่นดิน แต่ลักษณะการกระทำยังไม่ส่อเจตนาว่าเป็นการทำถึงขนาดเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร  พิพากษาว่า จำเลย 12 คน มีความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 การกระทำของจำเลย เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป

 

 

ฐานตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดบนถนน อันเป็นการกีดขวางการจราจร และกีดขวางทางสาธารณะ เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 มาตรา 19, 57 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ปรับจำเลยทั้ง 12 คน  คนละ 1,000 บาท ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปกระทำให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมือง และฐานกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

 

 

 

ลงโทษฐานกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาฯ รวมจำคุกจำเลยคนละ 2 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 12 คน  เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30  ยกฟ้องความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ และฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะช่วงเวลาเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อโคโรนา 19 จึงสามารถจัดกิจกรรมการชุมนุมได้

 

 

 

เพียงแต่ข้อกำหนดฯ บังคับให้ผู้จัดการชุมนุมต้องมีมาตรการป้องกันโรคเท่านั้น และการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมเท่านั้น ซึ่งพยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้ง  12   คน เป็นผู้จัดการชุมนุม จึงไม่มีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ และไม่มีความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

 

ความผิดฐานทำร้ายร่างกายไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยคนใดเป็นผู้กระแทกแผงเหล็กใส่ผู้เสียหาย จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ไม่ได้ ในส่วนของจำเลยที่ 9 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังว่าข้อความตามป้ายที่จำเลยที่ 9 ถ่ายภาพโพสต์ลงในเฟซบุ๊กยังไม่ถึงขนาดที่จะส่อเจตนาเพื่อก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร จำเลยที่ 9 จึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

.

หมายเหตุภาพประกอบข่าว  : แฟ้มภาพ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ