ข่าว

เหตุใดการร้องเรียนเสียงเรียกละหมาดดังไปกลายเป็นคุก 1 ปีครึ่ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การขอให้เบาเสียงเรียกละหมาดในอินโดนีเซีย บานปลายเป็นความผิด ถึงขั้นถูกจำคุก 18 เดือน ได้อย่างไร 

 

                    (คมชัดลึกออนไลน์ 26 ส.ค.) คดีดังในอินโดนีเซียกรณีที่นาง เมเลียนา สตรีเชื้อสายจีนนับถือพุทธ วัย 44 ปี ในเมืองตันจุง บาไล จังหวัดสุมาตราเหนือ ถูกศาลตัดสินจำคุก 18 เดือน ในข้อหาหมิ่นศาสนา จากการที่เธอออกปากบ่นว่า เสียงเรียกละหมาดรบกวนแก้วหู (ตามที่เป็นข่าว) เป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกและเรียกเสียงประณามจากหลายฝ่าย รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงศาสนา และองค์กรศาสนาหลักของอินโดนีเซียเอง ก็ไม่เห็นด้วย 

 

เหตุใดการร้องเรียนเสียงเรียกละหมาดดังไปกลายเป็นคุก 1 ปีครึ่ง


                    เกิดคำถามมากมายว่า เหตุใดการร้องเรียนในเรื่องที่น่าจะรับฟังได้ จึงกลายเป็นการหมิ่นศาสนาในประเทศมุสลิมสายกลางอย่างอินโดนีเซีย

จาการ์ตา โพสต์  ไล่เลียงต้นสายปลายเหตุกว่าจะมาถึงคำตัดสิน 

เรื่องร้องเรียน

                    เริ่มจากเช้าวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 นางเมเลียนา คุณแม่ลูกสี่ บ่นกับ คาสินี เจ้าของแผงใกล้บ้านของเธอซึ่งเป็นมุสลิม โดยคำพูดที่เธอใช้ในวันนั้น มีรายงานไม่ตรงกัน 

                    ทนายของเธอระบุว่า ลูกความพูดแค่ว่า การส่งเสียงผ่านลำโพงเรียกละหมาดจากมัสยิดใกล้บ้าน “ดังกว่าที่เคยเป็น” ขณะในคำฟ้องอ้างคำพูดของเธอกับคาสินี ว่าให้ไปบอกคนดูแลมัสยิดให้ลดเสียงลง เพราะแสบแก้วหู

                    กระนั้น การร้องเรียนหรือเสียงบ่นของเธอ เป็นการบ่นกับคนคนเดียวเท่านั้น แต่ไม่กี่วันต่อมา คำพูดของเธอถูกบิดเบือน ตามด้วยข่าวลือสะพัดว่า หญิงเชื้อสายจีนต้องการให้เลิกเรียกละหมาด

                    เย็นวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม 2559 ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่มีทีมงานมัสยิดรวมอยู่ด้วย ไปที่บ้านของเมเลียนา เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง 

                    ในคำฟ้อง เมเลียนา ตอบว่า “ใช่ เบาเสียงจากมัสยิดลงหน่อย ดังเกินไปและทำร้ายหูของดิฉันเวลาได้ยิน” ซึ่งคนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นคำพูดหยาบคาย และกลับไปที่มัสยิด จากนั้น สามีของเธอเดินทางไปที่มัสยิดเพื่อขอโทษ แต่เวลานั้น ชาวบ้านเริ่มรวมตัวกันแล้ว

 

เหตุใดการร้องเรียนเสียงเรียกละหมาดดังไปกลายเป็นคุก 1 ปีครึ่ง

 

ม็อบอาละวาดบุกเผาวัดพุทธในสุมาตราเหนือ

 

จลาจล

                    หลังการเผชิญหน้ากับเมเลียนา มีการส่งต่อข้อความเชิงยั่วยุและปลุกเร้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์และแอพแชท แพร่ไปไวราวกับไฟป่า บางคนอ้างขนาดว่า ผู้หญิงคนนี้ปาก้อนหินใส่มัสยิด จนทำให้ผู้คนในมัสยิดต้องหยุดละหมาด

                    ในคืนวันเดียวกัน ม็อบที่อยู่ในอารมณ์โกรธแค้น เริ่มรวมตัวหน้าสำนักงานเขต และไปที่บ้านของเธอเพื่อปาก้อนหินใส่ ความรุนแรงลามไปที่วัดพุทธใกล้เคียง ม็อบชาวบ้านบุกจุดไฟเผาและทำลายข้าวของภายในวัดพุทธหรือเจดีย์ 14 แห่งในตันจุงบาไล จนถึงเช้าของวันที่ 30 ก.ค. ไม่มีผู้ใดเสียชีวิตแต่ประเมินความเสียหายหลายพันล้านรูเปียะห์

 

ความไม่เท่าเทียมและพระพุทธรูป

                    มีความเห็นแตกต่างกันว่าอะไรเป็นสาเหตุให้การร้องเรียนในเรื่องปกติธรรมดา ลุกลามเป็นจลาจล

                    นักธุรกิจเชื้อสายจีนมองว่า ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจของคนเชื้อสายจีนกับไม่ใช่เชื้อสายจีนในพื้นที่เป็นสาเหตุหลัก ลีโอ โลปูลิซา นักธุรกิจประมงท้องถิ่น กล่าวว่า ชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนในพื้นที่ มีสัดส่วนเพียง 10% ของประชากรกว่า 1.8 แสนคน ในจำนวนนี้ จัดเป็นกลุ่มรวยมาก 3% ที่เหลือ สถานะการเงินดี

                    ขณะผู้นำชุมชนมุสลิม โทษว่า เหตุจลาจลเป็นความตึงเครียดสืบ เนื่องจากพระพุทธรูปสูง 6 เมตร ก่อสร้างและประดิษฐานเหนือวัดพุทธแห่งหนึ่งในเมือง 

                   ไฮดีร์ ซีเรการ์ ประธานกลุ่มสื่อสารข้ามศรัทธาตันจุงบาไล แสดงความเห็นหลังเกิดเหตุ 1 เดือนว่า การสร้างพระพุทธรูปองค์นี้คือระเบิดเวลาที่อาจจุดชนวนจลาจลขึ้นมาได้ทุกเมื่อ จึงเป็นเหตุผลที่ควรเคลื่อนย้ายออกโดยเร็ว ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในตันจุงบาไล รับไม่ได้ เพราะถือว่าเมืองนี้เป็นเมืองอิสลาม

                    ต่อมา วัดเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปเมื่อตุลาคม 2559

 
การดำเนินคดี

                     ตำรวจจับกุมผู้ก่อเหตุจลาจล 19 คน ถูกแจ้งข้อหาปล้นสะดมภ์ 8 คน ข้อหาทำลายทรัพย์สิน 9 คน และ 2 คนถูกแจ้งข้อหาปลุกระดมความรุนแรง ทั้งหมดถูกตัดสินจำคุก 4 เดือน

คดีของเมเลียนา 

                    โฆษกตำรวจสุมาตราเหนือ กล่าวว่า เมเลียนาหมิ่นศาสนาหรือไม่ ไม่สามารถสืบสาวได้ หากไม่มีแจ้งความกับตำรวจ เพื่อแก้ปัญหานี้ ตำรวจชั้นผู้ใหญ่นายหนึ่งจึงแจ้งความเสียเอง โดยโฆษกอ้างว่า นายตำรวจท่านนี้มีเหตุผลพอที่จะแจ้งความ เพราะเขาอยู่ด้วยตอนม็อบทะเลาะกับเมเลียนาที่หน้าบ้าน หลังได้รับการร้องขอของหัวหน้าชุมชมไปให้ระงับเหตุ  

                    ในรายงานแจ้งความของตำรวจท่านนั้น อ้างว่า การบ่นของเธอ เข้าข่ายหมิ่นศาสนาอิสลาม จากการที่ได้เป็นประจักษ์พยานการโต้เถียงระหว่างเมเลียนากับม็อบหน้าบ้านของเธอเมื่อ 29 กรกฎาคม 

                   ตำรวจเริ่มดำเนินคดีกับสตรีเชื้อสายจีนต่างศาสนากับม็อบแบบขลุกขลัก ขณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่าคำพูดของเธอ ไม่มีอะไรแสดงถึงความเกลียดชัง 

 

เหตุใดการร้องเรียนเสียงเรียกละหมาดดังไปกลายเป็นคุก 1 ปีครึ่ง

 

ฟัตวา 

                    ไม่นานหลังเหตุจลาจล  มารุฟ อามิน ประธานสภาอูเลมาอินโดนีเซีย ตำหนิชาวบ้านที่จุดไฟเผาวัด  โดยระบุว่า “แม้มีการร้องเรียนอย่างโกรธเกรี้ยว แต่ก็ไม่ควรตอบโต้ด้วยความโกรธ สองฝ่ายควรนั่งคุยกันดีๆ ” การลดเสียงจากลำโพงเรียกละหมาด เป็นเรื่องที่เข้าใจได้หากสร้างความรำคาญแก่เพื่อนบ้าน 

                    แต่ปรากฎว่า ในเดือนมกราคม 2560 สภาอูลามาสาขาสุมาตราเหนือ กลับออกประกาศ  หรือฟัตวา ว่า การโวยวายของเมเลียนา คือการลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอิสลาม เพราะอาซาน หรือการเชิญชวนละหมาด เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอิสลาม 

                    จากฟัตวานี้เอง ตำรวจจึงแจ้งข้อหานางเมเลียนาหมิ่นศาสนาในเดือนเดียวกัน แต่เธอหายตัวไป  ก่อนถูกจับกุมเมื่อ 30 พฤษภาคมปีนี้ 

 

เหตุใดการร้องเรียนเสียงเรียกละหมาดดังไปกลายเป็นคุก 1 ปีครึ่ง

คำพิพากษา 
                    การพิจารณาคดีเริ่มเมื่อ 26 มิถุนายนปีนี้ จากนั้น 13 สิงหาคม อัยการขอให้ศาลตัดสินให้นางมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 156 และ 156เอ กับขอให้ลงโทษจำคุก 1 ปีครึ่ง 

                    ทนายจำเลยแย้งว่า อัยการอาศัยคำบอกเล่า พูดต่อๆกันมาในการแจ้งข้อหาเอาผิด ทั้งที่ไม่มีใครได้ยินคำพูดทั้งหมดของเธอโดยตรงว่าเป็นไปตามที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ 

                    ถึงอย่างนั้น เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คุณแม่ลูกสี่ ก็ถูกศาลเมดานตัดสินให้มีความผิด และลงโทษจำคุก 1 ปีครึ่ง แต่ทนายเตรียมยื่นอุทธรณ์ 

ปฏิกริยา 

                    คำพิพากษาคดีนี้จุดกระแสวิจารณ์จากทั้งในและกลุ่มสิทธิต่างประเทศ แม้แต่องค์กรศาสนาใหญ่สุดในประเทศ ทั้ง นาดลาตุลอูลามะ (เอ็นยู ) และ มูฮัมมาดิเยาะห์ ต่างก็ประณาม และยืนยันว่า การบ่นเสียงเรียกละหมาดดังเกินไป ไม่ใช่การหมิ่นศาสนา มาตราเกี่ยวข้องกับข้อหานี้ คลุมเครือและเปิดให้ตีความตามอคติ  สอดคล้องกับสถาบันปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอาญา  ที่ระบุว่าคดีเมเลียนาเป็นอีกตัวอย่างว่า ข้อหาหมิ่นศาสนาถูกนำมาใช้เล่นงานชนกลุ่มน้อยในประเทศ 

                    ด้านคำร้องออนไลน์ถึงประธานาธิบดีโจโก วิโดโด  ที่ริเริ่มเมื่อวันพุธที่ 22 สิงหาคม ขอให้ปล่อยตัว เมเลียนา มีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 1.5 แสนแล้ว 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ