ข่าว

เขื่อนที่ลาวแตกสะท้อนอะไร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกิดคำถามหลายข้อกรณีเขื่อนในลาวแตกหลังฝนตกหนักปล่อยน้ำมหาศาลหลายหมู่บ้านจมบาดาล

 

                         กรณีเขื่อน “เซเปียน-เซน้ำน้อย” ในแขวงอัตตะปือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เกิดแตกเมื่อคืนวันจันทร์ ปล่อยน้ำปริมาณมหาศาลทะลักท่วมบ้านเรือนประชาชนแบบตั้งตัวไม่ทัน จำนวนมากต้องหนีขึ้นไปบนหลังคาและต้นไม้รอการช่วยเหลือ  ก่อความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน  โดยที่เกือบ 24 ชม.ล่วงมา ทางการลาวยังไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดถึงขอบข่ายของภัยพิบัติครั้งนี้ 

 

 

 

  เขื่อนลาวแตก!น้ำทะลัก 5 พันล้านลบ.ม.-ระดมช่วยเหลือ

 

                            องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ( International Rivers ) เอ็นจีโอที่เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องแม่น้ำและสิทธิชุมชนที่ต้องพึ่งพาสายน้ำ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เขื่อนแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขื่อนขั้นบันไดเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 5 เขื่อน เป็นเขื่อนลักษณะที่เรียกว่า เขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ (saddle dam) หมายถึงเป็นเขื่อนเสริมพิเศษที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรวบรวมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่เกิดจากเขื่อนหลัก เพื่อให้สามารถยกระดับน้ำให้สูงขึ้นและเก็บน้ำได้

                            โครงการนี้ตั้งอยู่บนลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง จุดที่แม่น้ำเซเปียนบรรจบกับแม่น้ำโขง ที่ปากเซ

                            จากข้อมูลที่องค์กรมีอยู่ บริเวณเขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ ‘D’ ของโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อยได้แตกออกประมาณ 20.00 น. เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 

                            เขื่อนแห่งนี้ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2562 คาดว่า จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 410 เมกะวัตต์ โดยจะขายให้ประเทศไทย 370 เมกะวัตต์ เป็นโครงการที่มีสัญญาก่อสร้างในลักษณะ “สร้าง-ให้บริการ-โอน” (build operate transfer - BOT) โดยมีอายุสัมปทาน 27 ปี

                            เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างกลุ่มบริษัทจากเกาหลีใต้และไทย ได้แก่ บริษัท SK Engineering and Construction (SK E&C) – จากเกาหลีใต้; บริษัท Korea Western Power (KOWEPO) – จากเกาหลีใต้; บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) – จากไทย และ Lao Holding State Enterprise (LHSE)

                            เมื่อวานนี้ (23 กรกฎาคม) หัวหน้าฝ่ายจัดสรรที่อยู่ใหม่ให้ประชาชนของโครงการนี้ ได้ส่งจดหมายไปถึงหัวหน้าแผนกจัดสรรที่อยู่ใหม่ของโครงการที่แขวงจำปาสัก และแขวงอัตตะปือ  โดยระบุว่า สภาพการณ์อันตรายอย่างมาก เนื่องจากมีน้ำหลากจากแนวสันเขื่อน และเขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ D ใกล้จะแตกออก 

                            หากเขื่อนแตก น้ำปริมาณห้าพันล้านตัน จะไหลไปด้านท้ายน้ำเข้าสู่แม่น้ำเซเปียน ในจดหมายระบุให้เร่งแจ้งเตือนฉุกเฉินไปยังหมู่บ้านด้านท้ายน้ำ อพยพและย้ายไปอยู่ในที่สูง

                            ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังออกจดหมายในค่ำวันเดียวกัน เขื่อนได้แตกออก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมทะลักในปริมาณมหาศาลไปด้านท้ายน้ำ การแตกของเขื่อนเป็นผลมาจากฝนที่ตกหนักตามฤดูอย่างต่อเนื่อง และฝนที่ตกหนักโดยเฉพาะในพื้นที่นี้เมื่อวันจันทร์ ส่งผลให้กว่า 4,000 ครอบครัว (บางตัวเลขระบุว่ากว่า 6,600 ครอบครัว) ต้องสูญเสียบ้านเรือนและทรัพย์สินเนื่องจากถูกน้ำท่วม และมีผู้สูญหายกว่า 200 คน

                            มีหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมอย่างน้อย 7 แห่งประกอบด้วย บ้านท่าบก หินลาด สมอใต้ ท่าแสงจัน ท่าหินใต้ ท่าบก ท่าม่วง เขต สนามชัย แขวงอัตตะปือ

                            ผู้ประสบภัยจำนวนมากเหล่านี้ ก็คือชาวบ้านที่ถูกอพยพมาที่อยู่ใหม่ก่อนหน้า  หรือที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบด้านการทำมาหากิน เนื่องจากการก่อสร้างเขื่อน มาในคราวนี้ยังต้องได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ต้องสูญเสียบ้านเรือน ทรัพย์สิน และสมาชิกในครอบครัวไป

                            การแตกของเขื่อนเผยให้เห็นบทเรียนที่ชัดเจนหลายประการ ได้แก่

                            ความเสี่ยงที่สำคัญจากการออกแบบเขื่อน ซึ่งไม่สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่เลวร้ายและอุบัติภัยได้ อย่างกรณีที่เกิดฝนตกหนักมาก ๆ ปัจจุบันความผันผวนด้านสภาพอากาศที่ยากต่อการพยากรณ์และรุนแรง เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากในลาวและในภูมิภาคนี้ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ

                            ข้อบกพร่องของระบบเตือนภัยสำหรับการสร้างและการเดินเครื่องเขื่อน เนื่องจากมีการเตือนภัยที่ดูเหมือนจะล่าช้ามากและไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้ามากเพียงพอ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเองและครอบครัว

                            ทั้งสองประเด็น ต่างทำให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานของเขื่อนและความปลอดภัยของเขื่อนในประเทศลาว รวมทั้งความเหมาะสมของโครงการเหล่านี้ในการรับมือกับสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

( จุดเขื่อนแตก ) 
 

                            ทั้งยังมีคำถามเกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบ การตรวจสอบได้และความสามารถในการบริหารจัดการและรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ในโครงการที่เป็นของและดำเนินการโดยเอกชนร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาล

                            เนื่องจากในปัจจุบันมีการก่อสร้างหรือมีแผนที่จะก่อสร้างโครงการพลังงานไฟฟ้ากว่า 70 แห่งตลอดทั่วสปป.ลาว โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการของและดำเนินการโดยบริษัทเอกชน (ในรูปแบบสัญญา BOT) เหตุการณ์ครั้งนี้จึงทำให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับการวางแผนและการบริหารจัดการเขื่อน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบโดยทันที

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ