ข่าว

หมอบัดดี้ดร.ริชาร์ด แฮร์ริสไขปมวางยาสงบภารกิจหมูป่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สัตวแพทย์เพื่อนคู่หูของคุณหมอริชาร์ด แฮร์ริส ที่บินด่วนมาช่วยหมูป่า ยืนยันเรื่องการวางยาเด็กและโค้ชให้สงบที่สุดเพื่อความปลอดภัยในภารกิจสุดเสี่ยง


                        ดร.เครก ชัลเลน สัตวแพทย์เกษียณจากเมืองเพิร์ธ ผู้เชี่ยวชาญดำน้ำในถ้ำและเพื่อนของ ดร.ริชาร์ด แฮร์ริส วิสัญญีแพทย์ ที่มาร่วมภารกิจช่วยพาทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีและโค้ช 13 คน ออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ให้สัมภาษณ์พิเศษในรายการข่าวเชิงสืบสวน “โฟร์ คอนเนอร์ส”  ( Four Corners )ที่จะออกอากาศแบบเต็มคืนนี้เวลา 20.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นช่องเอบีซี เกี่ยวกับการประเมินสุขภาพของเด็กและโค้ช จนถึงเตรียมความพร้อมพาทั้ง 13 คนออกมาในปฏิบัติการกู้ภัยที่นักดำน้ำต่างชาติหลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังไม่อยากเชื่อว่าจะสำเร็จ


                        ในการบอกเล่าเชิงลึกครั้งแรก ดร.ชัลเลน ยืนยันว่า "พวกเขาได้รับยาบางอย่างที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทเพื่อทำให้สงบ เนื่องจากสิ่งเลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้น ก็คือคนใดคนหนึ่งเกิดอาการตื่นกลัวขึ้นมา"


                        "หากคุณสวมหน้ากากเต็มหน้าให้ผมแบบไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนเลย และลากผมออกจากถ้ำ เดินทางราว 3 ชม. ผมก็คงจะผวาและตื่นกลัวเหมือนกัน"  

                       เมื่อตอนได้รับการติดต่อ ดร.ชัลเลน และ ดร.แฮร์ริส เก็บกระเป๋าเตรียมเดินทางไปเที่ยวแล้วในวันรุ่งขึ้น แต่เมื่อเปลี่ยนใจ เขามีเวลา 45 นาที ในการบึ่งไปสนามบิน เขารื้อกระเป๋า วางแผนใหม่ และฉวยอุปกรณ์ที่ต้องใช้สำหรับทริปนี้และเดินทางทันที

                       ทั้งสองเดินทางถึงเชียงรายเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม  ตกบ่ายวันเสาร์ 7 กรกฎาคม ทั้งคู่ดำน้ำเข้าไปในถ้ำเพื่อไปประเมินสุขภาพของเด็กและโค้ช “พวกเขา (เด็กชาย) ดีใจแบบไม่เก็บอาการที่เห็นพวกเรา ผมจินตนาการไม่ออกเลยว่าการที่พวกเขาต้องอยู่ในที่แบบนั้น 9 วัน ตัดขาดโลกภายนอกมันเป็นอย่างไร น่าประหลาดใจและดีใจที่พบว่าพวกเขายังมีขวัญกำลังใจดีมาก”

                       ณ เวลานั้น เด็กและโค้ชมีหน่วยซีลไทยดูแล 4 คน และพวกเขาก็ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม ดูแลและปลุกขวัญตลอดเวลา ดังนั้น สภาพโดยรวม ดีมาก พวกเขาได้กินอาหารมาแล้ว 2 - 3 วัน หลังจากไม่มีอาหารตกถึงท้อง 9 วัน กินแต่น้ำเล็กน้อย กระนั้นบางคนก็ตัวเล็กและผอมมาก มี 2 คน หนักแค่ 30 กก. พวกเขาตัวจิ๋วมากจริงๆ 


                       “ในการดำนำเข้าไปครั้งแรก เราใช้เวลาแค่ 45 นาที แฮร์รี (หมอแฮร์ริส) ตรวจสภาพของพวกเขา มองไปรอบๆ และคิดว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง”

 

หมอบัดดี้ดร.ริชาร์ด แฮร์ริสไขปมวางยาสงบภารกิจหมูป่า

 

                       หมอชัลเลน กล่าวว่า ปฏิบัติการนี้ใช้เวลามาก และต้องต่อสู้กับอันตราย เพราะเพียงแค่คุณผิดพลาดเพียงนิดเดียว ที่ทำให้อุปกรณ์ช่วยหายใจไม่ทำงานอย่างเหมาะสม หรือรั่ว หรือเกิดอะไรทำนองนั้นโดยที่เราอาจไม่รู้ การอยู่ใต้น้ำอีก ชั่วโมงครี่ง ถึงสองชั่วโมง ไม่ต้องสงสัยเลยว่า มันไม่มีทางที่จะกู้ชีพ หรือทำอะไรก็ตามในแบบนั้นได้

                       "ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่เราคิดว่าจะได้ เราคิดว่ามีโอกาสมากที่เราจะต้องทำการกู้ชีพ มากกว่าดึงคนไข้ยังมีชีวิตจากที่ตรงนั้น ผมคิดว่าทุกคนดีใจกันแบบสุดๆเลยเวลานี้"

                       รายการ โฟร์ คอนเนอร์ส ยังอ้างแหล่งข่าวทางการด้วยว่า ดร.ชัลเลน กับ ดร.แฮร์ริส ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองทางการทูต ก่อนเริ่มภารกิจสุดเสี่ยง หลังการเจรจาตกลงกันระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียกับรัฐบาลไทย กรณีมีความผิดพลาดเกิดขึ้น

                       ด้าน  พล.อ.ต.ชาร์ลส ฮอดจส์ จาก ยูเอส มิชชัน คอมมานด์ กล่าวว่า การตัดสินใจช่วยชีวิตเด็กด้วยการให้ดำน้ำ เป็นทางเลือกสุดท้าย หลังจากความคิดจะให้เด็กอยู่ในถ้ำจนกว่าน้ำจะลดถูกตัดออกไป เมื่อประเมินจำนวนรอบของการดำน้ำส่งอาหารให้พวกเขาในช่วง 4 - 5 เดือนข้างหน้า โดยแม้จะส่งเพียงมื้อเดียวต่อวัน ก็ต้องส่งถึง 1,800 มื้อ  และที่ไม่เลือกวิธีนี้ ก็เพราะฝนที่จะตกลงมาอีกไม่ช้า จะทำให้วิธีนี้เป็นไปไม่ได้เลย

 

หมอบัดดี้ดร.ริชาร์ด แฮร์ริสไขปมวางยาสงบภารกิจหมูป่า

                       ตลอด 3 วัน ดร.แฮร์ริส อยู่ที่เนินนมสาว หรือที่เรียกว่า "โถง 9" กับทีมหมูป่า ช่วยเตรียมความพร้อมพาออกจากถ้ำทีละคน

                       เจสัน มัลลิสัน นักดำน้ำของคณะกรรมการกู้ภัยผู้ติดถ้ำแห่งอังกฤษ (BCRC) ให้สัมภาษณ์ว่า "ดร.แฮร์ริส เป็นแกนหลักที่สำคัญของปฏิบัติการทั้งหมด ถ้าไม่มีเขาเราก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ มารยาทข้างเตียง (bedside manner) ถูกนำมาใช้ตอนที่เขาอยู่กับเด็กๆ พูดคุย ทำให้พวกเขาสงบ และเป็นส่วนหนึ่งในการส่งพวกเขาออกไปจากถ้ำ ส่วนเราก็เป็นเพียงแค่ผู้นำส่ง"

                       มัลลินสัน เป็นหนึ่งในทีมนักดำน้ำชาวอังกฤษ 4 คน ที่ทำหน้าที่ลำเลียงเด็กๆ ออกจากโถง 9 ไปยังโถง 3  ซึ่งมัลลิสัน เล่าตอนที่ดำน้ำผ่านความมืด แคบและคดเคี้ยวว่า พวกเราพยุงเด็กอยู่ ไม่ด้านซ้ายก็ด้านขวา จับหลัง หรือจับหน้าอกไว้ ผ่านช่วงน้ำท่วม 5 - 6 จุด ซึ่งในการกู้ภัยวันแรกยังพอมองเห็นทางในระยะ 1 เมตร จึงไม่ต้องจับเชือก แต่ในวันสุดท้าย ไม่เห็นอะไรเลย “มันต้องใช้พลังทางใจแบบเหลือล้น ผมต้องแนบเด็กไว้ติดกับตัวจนศีรษะกระแทกกับหินครั้งแรก ทัศนวิสัยแย่มาก มองไม่เห็นโขดหินเลยจนชนเข้าไปแล้วนั่นแหล่ะ หลังจากดำน้ำยากลำบากเข้าไปในจุดที่  8 จะเป็นทางแห้งยาวๆ จุดนั้น ดร.ชัลเลน ประจำการอยู่  บริเวณตรงนั้นเป็นเนินทรายและกองหินราว 200 เมตร ผมปลดอุปกรณ์ต่างๆ ออก เคลื่อนย้ายพวกเขาข้ามมา ก่อนสวมหน้ากากเต็มหน้าและอุปกรณ์ทุกอย่างกลับไปเข้าใหม่ และพาพวกเขาไปส่งต่อ

 

หมอบัดดี้ดร.ริชาร์ด แฮร์ริสไขปมวางยาสงบภารกิจหมูป่า

 

                       ที่โถงสาม ทีมกู้ภัยจากสหรัฐเข้ามารับช่วงต่อจากนักดำน้ำ พร้อมด้วยทีมแพทย์ของไทย หลังประเมินและปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่โรงพยาบาลสนาม จึงส่งต่อไปที่โรงพยาบาล

                       ขณะที่ จ่าอากาศเอกเดเร็ค แอนเดอร์สัน ซึ่งเป็นผู้บัญชาการปฏิบัติการดำน้ำของสหรัฐฯ กล่าวว่า ทีมของเขากับทีมผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำนานาชาติ มีการซ้อมกันก่อนปฏิบัติการจริง โดยใช้เด็กๆ ในท้องถิ่นไปซ้อมกันในสระว่ายน้ำใกล้โรงเรียนของพวกเขา โดยความช่วยเหลือจากหน่วยซีลไทย จัดหาเด็กที่มีอายุ รูปร่างและความสูงใกล้เคียงกับเด็กๆ ที่อยู่ในถ้ำ ส่วนในพื้นที่จริง ก็มีการฝึกทีมหมูป่ากับโค้ช ซักซ้อมเรื่องการสวมชุดดำน้ำ, เสื้อชูชีพ, สวมหน้ากากดำน้ำแบบเต็มหน้าและตรวจสอบเพื่อความมั่นใจว่า พวกเขาสามารถหายใจได้

                       แอนเดอร์สัน กล่าวด้วยว่า มีเพียงสองอย่างที่จะทำให้เด็กไม่รอด นั่นคือ หน้ากากดำน้ำหลุด และน้ำเข้าไปในหน้ากาก ซึ่งไม่สามารถทำอะไรได้เมื่ออยู่ใต้น้ำ กับอากาศหมด

                      "คุณจะบอกเด็กอย่างไรก็ได้ที่อยากจะพูด แต่พอนำเด็กลงน้ำในสถานการณ์จริง มีความเสี่ยงสูงที่พวกเขาจะตื่นตระหนก"

                       หลังภารกิจลุล่วงวันที่ 3 แอนเดอร์สัน กล่าวว่า วินาทีที่คนสุดท้ายออกจากถ้ำ และทุกคนล้วนยืนอยู่ตรงนั้น พวกเราถึงได้รู้ตัวและอารมณ์หลากหลายประเดประดัง เป็นความรู้สึกกระแทกเข้ามาว่า เราเพิ่งได้ทำอะไรบางอย่างสำเร็จลุล่วงด้วยทีมงานขนาดมหึมา ผมไม่เคยทำอะไรเสี่ยงแบบนี้มาก่อนเลย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ