ข่าว

โลกจับตาเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำไมการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส จึงมีความน่าสนใจ ผู้สมัครมือวาง 4 อันดับ มีใครกันบ้าง


  

               ชาวฝรั่งเศสเตรียมออกไปใช้สิทธิใช้เสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรก ในวันอาทิตย์ที่ 23 เมษายนนี้ หากยึดตามผลหยั่งเสียงตลอดเวลากว่าสองปีที่ผ่านมา บ่งว่า มารี เลอ เพน นักการเมืองหญิงชาตินิยมขวาจัด ที่ชูนโยบายพาฝรั่งเศสออกจากสหภาพยุโรปผ่านการจัดลงประชามติ  จะทะลุผ่านเข้ารอบ 2 แต่จะไปพ่ายให้กับ เอมมานูเอล มาครง อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่ลงเป็นผู้สมัครอิสระ  

             กระนั้น นอกจากสองชื่อที่กล่าวมาแล้ว ยังมี ฟรังซัวส์ ฟียง อดีตนายกรัฐมนตรีที่เจอเรื่องอื้อฉาวทุจริตสกัดดาวรุ่งระหว่างทาง และฌอง ลุค เมลองชง ตัวแทนของฝ่ายซ้ายจัด ก็มีคะแนนนิยมไม่ทิ้งห่างมากนัก ต่างยังมีโอกาสเข้าสู่รอบชิงได้เช่นกัน เนื่องจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากถึงเกือบ 1 ใน 3 ที่ยังไม่ตัดสินใจ 


           

โลกจับตาเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส

 


            ในภาพรวม ศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2017 เป็นการเลือกตั้งยากฟันธงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ และถูกจับตาจากทั้งโลกว่าสมาชิกรุ่นเดอะของอียูจะไปทิศทางใด หลังเกิดปรากฎการณ์การเมืองเขย่าโลกอย่าง เบร็กซิท และชัยชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐของโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างเหนือคาดหมายเมื่อปีที่แล้ว  หากได้ประธานาธิบดีฝรั่งเศสชื่อ มารี เลอ เพน มาอีกคน จะเหมือนฝันร้ายกลายเป็นจริงของยุโรป แต่จะเป็นอีกก้าวคืบหน้าของพลังประชานิยมและกระแสคนท้องถิ่นต้องมาก่อน

 

4 ผู้สมัครตัวเก็งมีใครกันบ้าง

 

 

โลกจับตาเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส

            เต็งหนึ่ง เอมมานูแอล มาครง อดีตนักธนาคาร วัย 39 ปี


            ลาออกจากรัฐมนตรีเศรษฐกิจในรัฐบาลประธานาธิบดีฟรองซัส์ ออลลองด์เมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว เพื่อมาลงสมัครและก่อตั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อ En Marche  มาครงไม่เคยผ่านสนามเลือกตั้งมาก่อน เขาพูดถึงตัวเองว่าไม่ใช่พวกขวาหรือซ้าย แต่เป็นเสรีนิยมด้านเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่พรรคการเมืองกระแสหลักไม่ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 มาครงเป็นผู้สมัครฝ่ายหนุนอียู ตรงข้ามกับคู่แข่งสำคัญ มารี เลอ เพน และมีจุดยืนแข็งกร้าวกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน


            นักวิชาการมองว่ามาครงเป็นผู้สมัครที่เสนอความหวังเปลี่ยนแปลง และหนีความแตกแยกระหว่างขวาหรือซ้ายแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง  ในด้านเศรษฐกิจ เขาประกาศว่า จะทำให้ฝรั่งเศสเป็นประเทศนวัตกรรมและพร้อมเสี่ยง ประเทศควรเป็นมิตรกับเศรษฐกิจมากขึ้น ควรมุ่งสร้างบุคคลากรสำหรับงานใหม่ แทนพยายามรักษางานเก่าในอุตสาหกรรมที่กำลังจะตาย ชูนโยบายลดภาษีนิติบุคคล ผ่อนปรนกฎหมายแรงงาน มีแผนจะทุ่มงบ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ฝึกอบรมเพิ่มทักษะ และหันไปใช้พลังงานหมุนเวียน

 

โลกจับตาเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส
.
มารี เลอ เพน ผู้นำพรรคขวาจัด-ฝรั่งเศสต้องมาก่อน 


            พรรคแนวหน้าแห่งชาติ ไม่เคยแข็งแกร่งระดับนี้มาก่อน กระทั่งได้ มารี เลอ เพน วัย 48 ปี เข้ามากุมบังเหียนพรรคต่อจากพ่อเมื่อปี 2554 เธอนำพาพรรคขวาจัดตกขอบที่พ่อก่อตั้งในปี 2515 ผงาดเป็นพรรคการเมือง ที่ไม่อาจมองข้ามได้สำเร็จ หลังจากทำสิ่งที่เรียกว่า ล้างพิษให้กับพรรค ด้วยการตัดขาดกับฝ่ายต่อต้านชาวยิว เกลียดกลัวต่างชาติและรังเกียจเกย์ ปัจจุบัน พรรคแนวหน้าแห่งชาติ มาถึงจุดที่มีผู้สนับสนุนมากมายเป็นผู้หญิง และคนรุ่นใหม่  ที่ชุมนุมหาเสียงของเธอยังเต็มไปด้วยชนชั้นกลาง และคนทำงานสายอาชีพเฉพาะด้าน ไม่ใช่เพียงแรงงานหาเช้ากินค่ำที่โกรธแค้นกับระบบที่เป็นอยู่


            หากชนะเลือกตั้ง นักการเมืองหญิงกล่าวว่า ชาวฝรั่งเศสจะได้ลงประชามติตัดสินอย่างแน่นอนว่าจะอยู่หรือไปจากอียู สถาบันที่เธอเรียกว่าไม่เป็นประชาธิปไตยและทรราชย์  ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในรุ่นก่อตั้งของอียู หากมีอันต้องถอนตัว หรือ Frexit กลายเป็นจริง  อียูอาจอยู่ได้ยาก  นอกจากนี้  ยังชูนโยบายเสริมสร้างชายแดน ควบคุมผู้อพยพอย่างเข้มงวด สกัดกั้นการขยายตัวของอิสลาม เธอมีความมั่นใจว่ากระแสลมเปลี่ยนทางมาอยู่กับเธอแล้ว ทุกวันนี้ คนต้องการหันกลับไปหารัฐชาติที่เข้มแข็ง อัตลักษณ์วัฒนธรรมฝรั่งเศสต้องกลับมา เช่น ห้ามถือสองสัญชาติ เธอส่งเสริมเศรษฐกิจชาตินิยม ซื้อ ใช้ และกินของฝรั่งเศส อันเป็นสิ่งต้องห้ามในอียู ส่วนนโยบายสังคม ฝรั่งเศสต้องมาก่อน ในแง่ที่พักอาศัย การศึกษา สาธารณสุขและจ้างงาน

 

โลกจับตาเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส


.
            ฟรังซัวส์ ฟียง นักการเมืองกระแสหลักหนึ่งเดียว


            อดีตนายกรัฐมนตรีวัย 63 ปี ในยุคประธานาธิบดีนิโกลาส ซาร์โคซีนอกจากเป็นผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน พรรคใหญ่ดั้งเดิมคนเดียวแล้ว ยังเป็นคนเดียวที่เคยมีประสบการณ์งานบริหารประเทศอย่างแท้จริง เดิม ฟียงถูกยกเป็นตัวเก็งในศึกเลือกตั้งครั้งนี้มาโดยตลอดกระทั่งเมื่อเดือนมกราคม มีข้อกล่าวหาครึกโครมว่าเขาจ้างภรรยาเป็นผู้ช่วยเขาในฐานะสมาชิกรัฐสภา และเวลานี้ กำลังถูกสอบสวนอยู่ นอกจากนี้ ยังยอมรับว่า รับสูทและนาฬิการาคาแพงจากเพื่อนคนหนึ่ง
            จากภาพลักษณ์แฟมิลีแมน จึงกลายเป็นคนติดหรูไปในสายตาคนฝรั่งเศส เรื่องอื้อฉาวทำให้ฟียงเสียศูนย์ แต่อดีตนายกฯฝรั่งเศสยังมีคะแนนนิยมตามหลังเบอร์หนึ่งและเบอร์สองไม่กี่จุด สะท้อนว่ายังมีผู้สนับสนุนเหนียวแน่นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะสายแคธอลิกที่ยึดมั่นรักษาค่านิยมครอบครัว ฟียงต่อต้านการทำแท้ง การอุ้มบุญและไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน
            หากชนะเลือกตั้ง ผู้สมัครสายอนุรักษ์นิยมทางการเงิน ระบุว่าจะพลิกฟื้นสถานะการเงินประเทศ ด้วยการลดตำแหน่งงานภาครัฐครึ่งล้านตำแหน่ง ลดใช้จ่ายภาครัฐกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ ลดภาษี เพิ่มอายุเกษียณ ปลดล็อกกฎหมายแรงงาน แต่ที่เหมือนกับเลอ เพนคือลดจำนวนผู้อพยพ เรียกร้องเป็นพันธมิตรกับรัสเซียเพื่อกวาดล้างไอเอส และถอดสัญชาติชาวฝรั่งเศสที่กลับจากไปรบกับสุดโต่งในตะวันออกกลาง

 

โลกจับตาเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส


            ฌอง ลุค เมลองชง ซ้ายจัดมาแรง


            มีคะแนนนิยมพุ่งทะยานในช่วงโค้งสุดท้าย หลังออกทีวีโต้วิสัยทัศน์อย่างดุดันพ่วงอารมณ์ขัน เมเลนชองเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยในรัฐบาลพรรคสังคมนิยมช่วงปี 2543-2545 ก่อนลาออกจากพรรคที่อยู่มานาน 30 ปีเพื่อมาก่อตั้งพรรคเอง บางคนเรียกเขาว่า “เบอร์นีแซนเดอร์สของฝรั่งเศส”

            อันที่จริง แนวคิดหลายอย่างของเขาคล้ายกับเลอ เพน ทั้งคู่ต่อต้านโลกาภิวัฒน์ สนับสนุนเพิ่มการคุ้มครองแรงงาน นโยบายสังคมเอื้ออาทร และต่างก็ไม่ชอบอียู 
             ที่เหมือนกับส.ว.แซนเดอร์สของสหรัฐ คือการดึงดูดคนหนุ่มสาวที่เชื่อว่าผู้สมัครคนนี้น่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงได้ นโยบายหลักของผู้สมัครวัย 65 ปี อาทิ ลดชั่วโมงทำงาน ลดอายุเกษียณ ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ปรับปรุงระบบประกันสังคม  เก็บภาษีผู้มีรายได้สูงอัตราสูงสุดถึง 90% เลิกระบบประธานาธิบดีหันไปใช้ระบบรัฐสภา ยกเลิกพลังงานนิวเคลียร์ ถอนตัวจากนาโต ยกระดับความสัมพันธ์กับรเสซียและเจรจาเงื่อนไขการเป็นสมาชิกอียูใหม่ ทั้งสัญญาว่าจะจัดประชามติหลังจากนั้น

 

            เกร็ดเลือกตั้ง
            ผู้สมัครประธานาธิบดีฝรั่งเศสมีทั้งหมด 11 คน แต่ละคนได้รับการรับรองจากนายกเทศมนตรี ส.ส. หรือส.ว.อย่างน้อย 500 คน จึงมีสิทธิสมัครในรอบแรก ใครได้เกิน 50% จะชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ยากจะเกิดขึ้นได้ ผู้สมัครสองคนที่มีคะแนนสูงสุดจะเข้าไปชิงในอีกสองสัปดาห์ให้หลัง ในครั้งนี้คือ 7 พฤษภาคม 
            การเลือกตั้ง 2 รอบ ซึ่งใช้กับการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาและการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย เป็นระบบที่ประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอ โกล นำมาใช้ในตั้งแต่ปี 2505 และประสบผลสำเร็จในการสกัดผู้สมัครหัวสุดขั้วออกไป

            คนฝรั่งเศสกล่าวกันว่า ในรอบแรก คนใช้หัวใจโหวต ต่อมาจะใช้สมองโหวต แต่น่าสนใจว่า คราวนี้จะเป็นข้อยกเว้นหรือไม่ 
            ที่ผ่านมา เมื่อผ่านรอบแรก ผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งซ้ายและขวา จะจับมือกันเป็นแนวร่วมต้านผู้สมัครขวาจัดที่เข้ามาเป็นคู่ชิงในรอบสอง แต่ผลสำรวจเมื่อไม่นานมานี้พบว่า ชาวฝรั่งเศสมากถึง 89% มองว่านักการเมืองไม่เคยฟังพวกเขาเลย สะท้อนความเบื่อหน่ายความไร้ประสิทธิภาพและทุจริต เป็นไปได้ว่า จากที่เคยรวมตัวกันเหนียวแน่นเพื่อรักษาสถานภาพตัวเองมากกว่าจะยอมให้สุดโต่งเข้ามา อาจเริ่มสั่นคลอน ทั้งยังมีเรื่องของการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน อาจทำให้วิธีคิดต่อการโหวตเปลี่ยนไปทั้งหมดก็เป็นไปได้ 

            ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ยังไม่ธรรมดาตรงที่มีความเป็นไปได้สูงว่า พรรคกลางซ้ายและกลางขวาที่ผลัดกันเป็นรัฐบาลฝรั่งเศสมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1950 น่าจะตกรอบมากกว่าได้ไปต่อ และอาจได้เห็นนักการเมืองอิสระที่ลงเลือกตั้งโดยไม่มีพรรคการเมืองหนุนหลัง หรือผู้สมัครจากพรรคซ้ายจัดหรือขวาจัด ได้ครองทำเนียฌองเอลิเซ่เป็นครั้งแรก
           แต่สุดท้ายแล้ว ฝรั่งเศสจะได้ผู้สมัครสองคนไหน ไปชิงดำในรอบสุดท้าย ต้องลุ้นที่ผลนับคะแนนอย่างเดียว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ