ข่าว

สื่อนอกตีข่าวม็อบต้าน'นิรโทษ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สื่อต่างประเทศ รายงานข่าวการชุมนุมของผู้ต่อต้าน พรบ.นิรโทษกรรม ที่นอกรัฐสภาไทย

 

                             7 ส.ค. 56  สำนักข่าว AFP รายงานสถานการณ์การชุมนุมคัดค้าน พรบ.นิรโทษกรรม ของประเทศไทย ว่า ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านราว 2,000 คน ได้ไปชุมนุมกันอยู่ใกล้กับอาคารรัฐสภา เพื่อประท้วงต่อต้าน พรบ.นิรโทษกรรม ให้กับบุคคลที่ใช้ความรุนแรงต่อสู้ทางการเมืองในประเทศที่แตกแยกออกเป็นสองฝ่าย

                             ผู้สื่อข่าว AFP ระบุว่า ตำรวจปราบจลาจลจำนวนหลายร้อยนาย ได้ถือโล่และกระบองขวางเส้นทางไปยังรัฐสภา โดยมีแผงคอนกรีตและลวดหนามกั้น เพื่อป้องกันผู้ประท้วงไม่ให้เข้าไปถึงตัวอาคารในย่านพื้นที่ประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ

                             รัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ต้องเผชิญกับการชุมนุมประท้วงมาหลายวัน สร้างความวิตกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบครั้งล่าสุด ในประเทศที่เผชิญความผันผวนทางการเมืองแห่งนี้ ในขณะที่สภาฯ กำลังมีการอภิปรายกันเรื่อง พรบ.นิรโทษกรรม เมื่อช่วงบ่ายของวันนี้

                             บรรดา ส.ส.ฝ่านค้าน รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้นำผู้สนับสนุนเดินหน้าสู่แนวกั้นของตำรวจ ที่อยู่ห่างจากรั้วของรัฐสภาเพียง 200 เมตร และกลายเป็นการเผชิญหน้าที่ตึงเครียดในขณะที่รอฟังผลว่า ตำรวจจะยอมให้ผู้ชุมนุมผ่านไปได้หรือไม่ ซึ่งสรุปว่า ตำรวจยอมให้ผ่านได้เฉพาะ ส.ส. เท่านั้น  ผู้สื่อข่าว AFP ระบุว่า เห็นรถบรรทุกน้ำ 3 คัน และรถของตำรวจอีกหลายคันจอดอยู่ด้านหลังแถวของตำรวจ

                             ผู้ประท้วงที่่ร่วมขบวนกับพรรคฝ่ายค้าน เป็นผู้ที่คัดค้าน พรบ.นิรโทษกรรมสากล ซึ่งเสนอให้นิรโทษกรรมต่อคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงทางการเมือง นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารโค่นอำนาจอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เมื่อเกือบ 7 ปีก่อน  พรบ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ จะลบล้างความผิดให้กับผู้ประท้วงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงการเกิดรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน ปี 2549 ถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2555 ยกเว้นแกนนำ แต่ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลเกรงว่า พรบ.ฉบับนี้จะถูกพรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ ล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ

                             AFP ระบุว่า ประเทศไทยต้องแยกแตกเพราะความตึงเครียดทางการเมือง นับตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกโค่นอำนาจ ซึ่งแม้เขาจะอยู่ในต่างประเทศ แต่ก็ยังคงได้รับความจงรักภักดีจากคนยากจนและชนชั้นแรงงานจำนวนมาก

 

 

'dpa' รายงานข่าวสถานการณ์การต่อต้าน พรบ.นิรโทษกรรม ในไทย

 

                             สำนักข่าว dpa ของเยอรมนี รายงานสถานการณ์การประท้วงคัดค้าน พรบ.นิรโทษกรรมในไทย ว่า ตำรวจปราบจลาจล ได้ขัดขวางไม่ให้ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ฝ่าแนวกั้นเข้าไปที่อาคารรัฐสภา เพื่อชุมนุมต่อต้านพรบ.นิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ นับจากปี 2549

                             dpa ระบุว่า คาดว่าจำนวนของตำรวจปราบจลาจลที่ถูกส่งมารับมือผู้ประท้วงมีจำนวน 4,800 นาย ส่วนผู้ประท้วงมีราว 1,000 คน โดยตำรวจได้ตั้งแผงคอนกรีตกั้นตลอดแนวถนนสายหลัก ที่มุ่งไปสู่เขตที่รัฐบาลประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคง ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2552 - 2554 ได้พยายามเจรจากับตำรวจ เพื่อขอให้ผู้สนับสนุนได้ตามไปส่ง ส.ส.เข้าสภา แต่ไม่สำเร็จ  ตำรวจได้เตือนว่า ให้เฉพาะ ส.ส.และ ส.ว.เท่านั้น ที่เข้าไปในอาณาบริเวณของสภาฯ ได้ และผู้ที่บุกรุกโดยไม่ได้รับอนุญาต จะต้องเผชิญโทษจำคุก 1 ปี และปรับอีก 2 หมื่นบาท

                             หลังจากล้มเหลวในการเจรจาให้ผู้ประท้วงฝ่าแนวกั้นของตำรวจ นายอภิสิทธิ์และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์คนอื่นๆ  ได้เข้าไปในสภาฯ และบอกผู้ประท้วงให้สลายตัว

                             dpa ระบุว่า สภาฯไทยมีกำหนดจะพิจารณาร่าง พรบ.นิรโทษกรรมในวันพรุ่งนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนหลายร้อยคน ที่มีส่วนร่วมในการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ที่ส่งผลกระทบต่อเมืองหลวง นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ซึ่งร่าง พรบ.ฉบับนี้ ได้กันแกนนำและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่่รับผิดชอบต่อการประท้วง ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 94 คน และบาดเจ็บหลายร้อยคน ขณะที่พื้นที่บางส่วนของกรุงเทพฯ ถูกเผา

                             แต่ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลปัจจุบัน วิตกว่า ร่าง พรบ.ฉบับนี้จะถูกแก้ไขให้ล้างผิดอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร รวมถึงคนที่ร่วมก่อเหตุรุนแรงในระหว่างการประท้วงเมื่อปี 2553 ด้วย  การประท้วงต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อปี 2549 และ 2551 นำไปสู่การรัฐประหาร และการยุบสภา ขณะที่ผู้สังเกตการณ์มองว่า การประท้วงในปัจจุบัน ไม่สามารถปลุกคนให้เข้าร่วมได้เท่ากับในสองครั้งนั้น

 

 

'BBC' รายงาน รปภ.เข้มในกรุงเทพฯ ขณะมีการอภิปราย พรบ.นิรโทษกรรม

 

                             สำนักข่าว BBC รายงานว่า ได้มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในเมืองหลวงของไทย ในขณะที่รัฐสภามีการเตรียมเปิดอภิปรายร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ที่นำไปสู่การนิรโทษกรรมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงทางการเมือง นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา

                             บรรดานักวิจารณ์ต่างแสดงความวิตกว่า ร่างพรบ.ฉบับนี้ อาจทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ
ชินวัตร เดินทางกลับประเทศ โดยไม่ต้องรับโทษจำคุกตามที่ศาลได้ตัดสินไปแล้ว // นักเคลื่้อนไหวประมาณ 2 พันคน ได้เดินขบวนกันก่อนหน้าที่จะมีการอภิปรายในสภาฯ โดยมีบุคลากรด้านความมั่นคงจำนวนหลายร้อยนาย ตั้งแนวรับอยู่ด้านนอกสภาฯ  // BBC ระบุว่า นายกรัฐมนตรีทักษิณ เดินทางออกนอกประเทศ หลังถูกโค่นอำนาจเมื่อปี 2549 และนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน

                             BBC ระบุว่า พรบ.นิรโทษกรรมมีวาระซ่อนเร้น // โดยจะนิรโทษกรรมให้บรรดาผู้กระทำผิด หรือถูกตั้งข้อหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารโค่นอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่รวมถึงการชุมนุมประท้วงใหญ่ที่ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นอัมพาต เมื่อปี 2553 และแม้ พรบ.ฉบับนี้จะไม่ขยายไปถึงบรรดาแกนนำการประท้วง แต่นักวิจารณ์ ต่างระบุว่า อาจใช้เป็นหนทางล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ดินทางกลับบ้านโดยไม่ต้องเสี่ยงติดคุก

                             นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน บอกว่า นี่ไม่เกี่ยวกับม็อบจัดตั้ง แต่เป็นการเผยแพร่ความจริงให้ประชาชนได้รับรู้ถึงอันตรายของ พรบ.นิรโทษกรรม ที่มีวาระซ่อนเร้นอยู่

                             ประเทศไทยยังคงแตกแยกร้าวลึก หลังเผชิญความไร้เสถียรภาพมาหลายปี // พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2544-2549 จนกระทั่งถูกกองทัพโค่นอำนาจ ด้วยข้อกล่าวหาคอร์รัปชั่น และใช้อำนาจเผด็จการ เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ เมื่อปี 2551 และถูกตัดสินจำคุก 2 ปี โดยที่ตัวเขาไม่ได้ไปขึ้นศาล

                             พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหา และอ้างว่าเป็นเหตุจูงใจทางการเมือง และในช่วงหลายปีหลังเกิดรัฐประหาร เขายังคงได้รับความนิยมในหมู่คนจนและคนรากหญ้า ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายประชานิยมของเขา

                             การเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหาร พรรคการเมืองของเขาได้รับชัยชนะ และกลุ่มเสื้อเหลืองได้ออกมาชุมนุมต่อต้าน และมีการปิดสนามบินสุวรรณภูมิหลายวัน // นายอภิสิทธิ์ ได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลเมื่อปี 2553 แต่ต้องเผชิญการประท้วงบนถนนนานกว่า 2 เดือน โดยกลุ่มคนเสื้อแดงที่ปักหลักประท้วงในกรุงเทพฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 90 คน รวมทั้งพลเรือนและทหาร

                             รัฐบาลในปัจจุบัน อยู่ภายใต้การบริหารของนางสาวยิ่งลักษณ์ น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ หลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ที่จัดขึ้นหลังเหตุนองเลือด

 

 

-------------------------

(หมายเหตุ : ที่มาภาพ : EPA)

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ