บันเทิง

ศิลปินรุ่นใหม่สร้างความร่วมสมัยถ่ายทอดวรรณคดีไทยผ่านบทเพลง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศิลปินรุ่นใหม่สร้างความร่วมสมัยถ่ายทอดวรรณคดีไทยผ่านบทเพลง : สกู๊ปบันเทิง

 

          เป็นข้อถกเถียงกันในตอนนี้ ในเรื่องการนำวรรณคดีไทยมาดัดแปลงให้เกิดความร่วมสมัย จากเอ็มวีเพลง “เที่ยวไทยมีเฮ” ทำให้คนหันมาสนใจเรื่องของ “วรรณคดีไทย” กันมากขึ้น วันนี้ “บันเทิง คม ชัด ลึก” จะหยิบยกเพลงไทยในปัจจุบันที่หยิบเรื่องราวในวรรณคดีมาเรียงร้อยเป็นบทเพลงออกมา และถ่ายทอดด้วยการผสมผสานดนตรีในยุคปัจจุบัน มีหลายๆ บทเพลงที่ได้รับความนิยมมากๆ

          เริ่มที่เพลงที่ทะลุร้อยล้านวิว อย่าง “I'm sorry (สีดา)” ของวง “เดอะ รู๊บ (The Rube)” ที่นำเรื่องราวจากวรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ์” มาถ่ายทอดออกมา ผสมผสานกับดนตรีสไตล์โมเดิร์น เทรดิชั่นนอล โดยเนื้อหาเป็นเรื่องของความรักระหว่างพระรามและนางสีดา ทางวงถ่ายทอดในมุมของพระรามที่อยากขอโทษสีดา โดยเพลงนี้เป็นตอนหลังจบศึกกรุงลงกา พระรามเกิดความไม่เชื่อใจนางสีดาที่ถูกทศกัณฐ์จับตัวไปอยู่ด้วยเป็นเวลานาน จนถูกครหาว่านางสีดาไม่ได้บริสุทธิ์แล้ว จากวรรณคดีนางสีดารู้สึกเสียใจอย่างมากที่พระรามไม่เชื่อใจและคิดว่านางปันใจให้ทศกัณฐ์ จึงพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองด้วยการลุยไฟต่อหน้าพระราม เดอะ รู้บ นำเรื่องราวในส่วนนี้มาถ่ายทอดในแบบที่ทันยุคทันสมัย ทำให้คนฟังเข้าวรรณคดีไทยได้มากขึ้น จากการฟังเพลงนี้

 

ศิลปินรุ่นใหม่สร้างความร่วมสมัยถ่ายทอดวรรณคดีไทยผ่านบทเพลง

 

          อีกหนึ่งเพลงจากวงเดอะ รู๊บ ที่นำเอาวรรณคดีไทยมาใส่ คือ “FIN (วันทอง)” จากเรื่อง “ขุนช้าง ขุนแผน” เป็นการถ่ายทอดผ่านบทเพลงโดยทำเป็นมิวสิกซีรีส์ ในเพลง “FIN (วันทอง)” จะเล่าถึงความรู้สึกของ “ขุนช้าง” ที่คิดถึงผู้หญิงสาวอันเป็นที่รักอย่าง “นางวันทอง” ที่เขาหลงใหลจนยอมทำทุกอย่างเพื่อได้นางวันทองมาครอบครอง เพลงนี้เป็นการผสมผสานเพลงไทยเดิมของ “เก็ท” ศิวพงษ์ เหมวงศ์ (นักร้องนำวงเดอะ รู๊บ) กับการร้องฮิพฮอพของ “เป้ วงมายด์” บดินทร์ เจริญราษฎร์

 

ศิลปินรุ่นใหม่สร้างความร่วมสมัยถ่ายทอดวรรณคดีไทยผ่านบทเพลง

 

          เมื่อข้างต้นวง “เดอะ รู้บ” ถ่ายทอดวรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ์” ในเพลง “I'm sorry สีดา” ในมุมของพระรามไปแล้ว อีกหนึ่งวงที่หยิบวรรณคดี “รามเกียรติ์” มาทำเป็นเพลงสไตล์ป๊อปปัจจุบัน คือ วง “ทศกัณฐ์” ในเพลง “ตัวร้ายที่รักเธอ” โดยเป็นการถ่ายทอดในมุมของ “ทศกัณฐ์” ที่รักนางสีดามาก และไม่ว่าจะทำดีแค่ไหนก็ไม่ได้ความรักตอบจากนางสีดา และไม่ว่าจะทำยังไงก็สู้พระรามไม่ได้ ในเพลงเปรียบเปรยว่าเป็นทศกัณฐ์ ที่เป็นตัวร้าย ที่ถึงจะร้ายแต่ก็รักนางสีดา เพลง “ตัวร้ายที่รักเธอ” เป็นหนึ่งเพลงที่มีคนเอาไปคัฟเวอร์อย่างแพร่หลาย ซึ่งถ้าเอามายอดวิวมารวมแล้วทะลุร้อยล้านวิวในยูทูบ และหนึ่งในคนที่เอาเพลงนี้ไปคัฟเวอร์คือนางเอกสาวดาวรุ่งวิกหมอชิต “พิม” พิมประภา ตั้งประภาพร

 

ศิลปินรุ่นใหม่สร้างความร่วมสมัยถ่ายทอดวรรณคดีไทยผ่านบทเพลง

 

          ยังอยู่ที่วรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ์” ที่ดูจะเป็นเรื่องยอดฮิตที่คนนำมาถ่ายทอดผ่านบทเพลง โดยเพลงต่อไปนี้ถ่ายทอดอีกหนึ่งตัวละครของเรื่องนี้อย่าง “นางมณโฑ” ชายาของทศกัณฐ์ ถ่ายทอดผ่านเพลง “คนข้างเธอ (เมียทศกัณฐ์)” ร้องโดย “วิรดา วงศ์เทวัญ (อาร์สยาม)” ซึ่งเนื้อหาของเพลงนี้บอกถึงความรักที่นางมณโฑมีต่อทศกัณฐ์ และจะอยู่เคียงข้างตลอดไป

 

ศิลปินรุ่นใหม่สร้างความร่วมสมัยถ่ายทอดวรรณคดีไทยผ่านบทเพลง

          ปิดท้ายด้วย 2 เพลงที่สอดแทรกวรรณคดีจากการร้องของ “มินตรา น่านเจ้า” โดยเพลงแรกชื่อเพลง “ผีเสื้อสมุทร (รักเกินหักใจ)” ที่นำวรรณคดีเรื่องดังของ “สุนทรภู่” อย่าง “พระอภัยมณี” มาใส่ในเพลงโดยถ่ายทอดความรู้สึกของนางผีเสื้อสมุทรที่รักปักใจต่อพระอภัยมณี ถึงพระอภัยมณีจะไม่รัก ในเพลงบรรยายถึงความเสียใจของนางผีเสื้อสมุทรในตอนที่พระอภัยมณีหนีจาก ทำให้นางผีเสื้อสมุทรใจสลาย ร้องไห้เป็นสายเลือด และถึงพระอภัยมณีจะตีจาก แต่นางก็ยังรักในตัวพระอภัยไม่เสื่อมคลาย และอีกหนึ่งเพลงของมินตราที่นำวรรณคดีเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” มาใส่ในบทเพลง “อาญาสองใจ (วันทอง)” ในข้างตันวง “เดอะ รู๊บ” นำวรรณคดีเรื่องดังกล่าวมาถ่ายทอด โดยสะท้อนมุมของขุนช้าง ในส่วนของมินตราขอถ่ายทอดความรู้สึกของ “นางวันทอง”  ที่ถูกประณามว่าเป็นผู้หญิงสองใจ จนต้องถูกลงโทษ

 

ศิลปินรุ่นใหม่สร้างความร่วมสมัยถ่ายทอดวรรณคดีไทยผ่านบทเพลง


          นี่แค่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะว่ามีหลายๆ บทเพลงที่หยิบเอาเนื้อเรื่องในวรรณคดีมาถ่ายทอดเป็นเพลงในยุคปัจจุบัน ทั้งแนวป๊อป ร็อก ลูกทุ่ง ฯลฯ ซึ่งถือเป็นอีกทางที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้วรรณคดีมากกว่าการอ่านในหนังสือเท่านั้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ