บันเทิง

เป็นคุ้งเป็นแคว อาทิตย์ 25 ก.ย. 59

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ลิขสิทธิ์เผยแพร่ 

โดย เคน สองแคว

          ข่าวหน้าบันเทิงลูกทุ่ง “คมชัดลึก”สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเรื่องของนักร้องเสียงดี จีระพันธ์ วีระพงษ์ เจ้าของเสียงเพลงอมตะ “ไก่นาตาฟาง” “เมษาเศร้า” “มาดามดิงดอง”ฯลฯ และพิเศษสุดๆเพลงที่ผมชอบมาก คือ “ฝากใจไว้พิษณุโลก” ที่ครูชลธี ธารทอง แต่งให้ร้อง และจีระพันธ์ ก็ได้ขับร้องทุกเพลงได้อย่างยอดเยี่ยมในระดับที่เรียกว่าครูเพลงได้เลยทีเดียว

         จีระพันธ์ออกมาให้สัมภาษณ์ในเชิงตำหนิ เจ้าของลิขสิทธ์ครอบครองเพลง (ซึ่งบางเพลง ไม่ใช่นักแต่งเพลง เพราะได้มอบสิทธิ์ขาดให้กับบริษัทดูแลแล้วตลอดไป) ว่า นักร้องต้นฉบับไม่สามารถนำเพลงที่ตนเองเป็นต้นฉบับไปขับร้องออกโทรทัศน์บางรายการ เพราะเจ้าของลิขสิทธิ์เก็บค่าเผยแพร่ ทำให้บางรายการไม่กล้านำเพลงหรือศิลปินที่ติดลิขสิทธิ์เหล่านี้มานำออกอากาศ

        ในส่วนตัวผม ที่คลุกคลีโดยตรงกับการผลิตรายการโทรทัศน์มานาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเพลงลูกทุ่ง มีความคิดเห็นที่อยากจะร่วมนำเสนอ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ผู้ชมที่อาจจะไม่เข้าใจว่า ทำไมไม่มีเพลงโน้นเพลงนี้นำมาออกอากาศบ้าง ถือว่า แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ไม่ได้ตั้งใจมาตำหนิฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

          เราต้องเข้าใจกันก่อนว่า ธุรกิจค่ายเพลงทุกวันนี้ ไม่ได้อาศัยการขายแผ่นซีดีหรือเพลงในรูปแบบสื่อบันทึกใดๆก็ตาม เพราะการเกิดของสื่อใหม่ๆ ทำให้คนสามารถฟังเพลงได้ฟรี และการลักลอบแจกเพลงผ่านอินเตอร์เน็ต การไม่จริงจังในการปราบปรามแผ่นผี ทำให้ธุรกิจแผ่นซีดี กำลังจะล่มสลายในไม่กี่ปีนี้ 

          ค่ายเพลงต่างๆที่แบกรับต้นทุนมากมายในการทำธุรกิจ ต้องหาวิธีการชดเชยรายได้ สิ่งหนึ่งก็คือ การเก็บลิขสิทธิ์เผยแพร่งาน หรือการนำไปทำซ้ำ (กรณีนำไปให้นักร้องประกวดหรือประกอบรายการใดๆก็ตาม) ซึ่งก็น่าจะเป็นส่วนที่เขาพึงจะได้รับจากการลุงทุนซื้อลิขสิทธิ์หรือทำเพลงมาและสามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

          รายการวิทยุที่เราฟังกันนั้น ก็ต้องจ่ายค่าเผยแพร่เพลง และการแสดงสดบนเวทีก็ต้องจ่ายเช่นกัน ซึ่งจะมาอ้างล้ำเลิกเหมือนสมัยก่อนว่า นำเพลงมาเปิดมาขับร้อง ช่วยให้เพลงโด่งดังมากขึ้น ไม่ได้แล้ว เพราะค่ายเพลงก็มีวิธีการโปรโมทงานของเขาอยู่แล้วตามสื่อต่างๆทั้งฟรีและเสียเงิน 

          เท่าที่ได้คุยกับค่ายเพลงเก่าที่ถือลิขสิทธ์เพลงดีๆไว้ ส่วนใหญ่ก็จะยืดหยุ่นให้นักร้องต้นฉบับหรือทายาท (กรณีที่ศิลปินต้นแบบเสียชีวิตไปแล้ว) สามารถนำผลงานไปขับร้องทำมาหากินได้ โดยบอกกล่าวกันเป็นลายลักษณ์อักษร หรือโทรขออนุญาตกันยตามมารยาท ยกเว้นหากนำไปร้องบนเวทีหรือรายการโทรทัศน์ที่มีรายได้จากการโฆษณา หรือคอนเสิร์ตที่มีผู้นับสนุน ขายบัตรเป็นธุรกิจที่ไม่ใช่การกุศล ก็ต้องมาตกลงกันเรื่องผลประโยชน์กับเจ้าของลิขสิทธิ์ 

          ค่ายเพลงบางค่าย มีหลักการคิดราคาที่ยืดหยุ่น โดยจะดูจากขนาดของธุรกิจ จำนวนโฆษณา รายได้ของรายการมาคิดคำนวณ ซึ่งรายการน้องใหม่หรือช่องเล็กๆก็มีส่วนลดพิเศษให้ หรือบางทีคิดแบบบุปเฟ่ต์ เหมาจ่ายกันไปเลยก็มี 

          ที่สำคัญ ต้องแสดงความจริงใจในการที่จะจ่ายอย่างถูกต้อง ไม่ฉกฉวยไปใช้โดยไม่บอกกล่าว ถ้าเป็นกรณีมีโอกาสถูกฟ้องร้องและต้องจ่ายคืนในจำนวนที่แพงกว่าหลายเท่า ทราบมาว่า รายการดังๆในช่องใหญ่ เคยโดนมาแล้ว 

          ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เพลงในการทำรายการโทรทัศน์ ก็ควรจะมีหูตากว้างไกล หมั่นสืบหาข้อมูล ซึ่งปัจจุบันนี้ ง่ายมาก เพราะมีแสดงให้เห็นในอินเตอร์เน็ต จะอ้างว่า ไม่รู้ไม่ได้แล้ว

          สมาคมเกี่ยวกับเพลงที่ตั้งกันขึ้นมามากมาย ล่าสุดก็เพิ่งจะมีอีกหนึ่ง น่าจะเข้ามามีบทบาท ผลักดันช่วยให้อยู่รอดได้ทั้งนักร้องต้นฉบับ เจ้าของลิขสิทธิ์ และผู้ผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ อยู่ร่วมกันได้ โดยหาราคาที่เป็นกลาง หรือลดหลั่นมาตามขนาดของธุรกิจ 

          ถ้าทำได้สำเร็จ เราคงจะได้เห็นนักร้องอมตะและเพลงดีๆของแผ่นดินได้ออกมาเผยแพร่ในสื่อโทรทัศน์อีกมากมาย ซึ่งผู้ชมสูงวัยจำนวนมากมายต่างรอคอยถวิลหาของดีที่หาดูและฟังได้ยากเหล่านี้
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ