Lifestyle

"วงการสื่อสาร" ไม่หมดยุคแข่งด้วยเนื้อหา ก้าวสู่สื่อใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected]  

 

 

 

          “วงการสื่อไม่หมดยุค เพราะคนยังโหยหาความน่าเชื่อถือ ความจริง” ปาริชาต สถาปิตานนท์


          ปัจจุบันแม้ผู้คนจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างง่ายดาย และทุกคนสามารถผลิตเนื้อหา ข่าวสารได้ จนทำให้อุตสาหกรรมสื่อเกิดความสั่นคลอน หลายองค์กรต้องปิดตัวลง แต่สำหรับนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน นักนิเทศศาสตร์ ยังคงเชื่อมั่นว่า วงการสื่อสาร ยังไม่ตาย ไม่หมดยุค เพราะต่อให้ทุกคนมีข้อมูลในมือ แต่สิ่งที่ทุกคนต้องการมากกว่า คือ ความน่าเชื่อถือ ซึ่งหน้าที่ของนักสื่อสารมวลชน นักนิเทศศาสตร์ จึงต้องเป็นผู้ผลิตเนื้อหา (Content) ที่น่าเชื่อถือ ตรงกับความเป็นจริง สรุปย่อยอย่างตรงประเด็น และต้องมีความแตกต่างอย่างชัดเจน

 

 

          “ดิจิทัล” ไม่ใช่สื่อใหม่ แต่เป็นมากกว่าสื่อใหม่ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของระบบ Ecosystem หรือระบบนิเวศ ทางการสื่อสารในยุคโลกดิจิทัล ต้องยอมรับว่าเป็นเส้นทางคมนาคมหนึ่งที่ทำให้ทราบได้ว่าข้อมูลข่าวสารไปถึงคนได้อย่างไร จะพัฒนาคนรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างไร แต่ในอดีต สื่อกระแสหลักอย่าง หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ไม่สามารถระบุชี้ชัดว่าผู้รับสารไปถึงใครได้บ้าง ดังนั้น ถนนของวงการสื่อมวลชนขณะนี้ มีทั้งตัวผู้เล่นเดิมส่งต่อช่วงถึงกันและกัน และเปิดตัวผู้เล่นใหม่ ที่เป็นผู้ประกอบการด้านสื่อใหม่ รวมถึงเป็นทั้งผู้เล่นในประเทศและต่างประเทศ

 

 

 

"วงการสื่อสาร" ไม่หมดยุคแข่งด้วยเนื้อหา ก้าวสู่สื่อใหม่

ปาริชาต สถาปิตานนท์

 


          ปาริชาต สถาปิตานนท์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงเส้นทางใหม่ของนักสื่อสารมวลชน และนักนิเทศศาสตร์ ว่าสิ่งสำคัญในวงการสื่อมวลชนคือ ผู้เล่นทั้งเก่าและใหม่ จะได้รับความนิยม ความสนใจ และทำให้องค์กรสื่อของตนเองอยู่รอดได้นั้น ต้องรู้จักการกำหนดกลุ่มเป้าหมายของตนเองว่าเป็นใคร มีพันธมิตรทางการค้า หุ้นส่วนทางธุรกิจร่วมการค้าอย่างไรได้บ้าง เพราะต้องยอมรับว่าสื่อกลายเป็นธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อก่อนสื่อมวลชนอาจจะมองไม่เห็น ว่าจะต้องกลายเป็นธุรกิจสื่อ แต่ด้วยกลไกจากสื่อใหม่ เทคโนโลยีใหม่ การแข่งขันมีมากขึ้น ความอยู่รอดของคนในองค์กร ธุรกิจสื่อเองมีความสำคัญ จึงต้องก้าวให้พ้นความเป็นสื่อใดสื่อหนึ่ง แล้วต้องเชื่อมร้อยบูรณาการสื่อไปด้วยกัน




          “ด้วยกลไกของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป มีนายทุน ผู้ประกอบการ นักธุรกิจจากส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสื่อ เข้ามาซื้อหุ้น มาถือหุ้น ขณะเดียวกันเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดิจิทัล หุ่นยนต์ประดิษฐ์ ล้วนมีบทบาทในการทำหน้าที่ การทำงานของสื่อมวลชน นักนิเทศศาสตร์ทั้งสิ้น ทำให้การเรียนการสอนเพื่อผลิตนักสื่อสารมวลชน นักนิเทศศาสตร์ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาจารย์ผู้สอนไม่ใช่เพียงสอนให้นิสิตก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของสื่อใหม่ เข้าใจและอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างคนและสื่อเทคโนโลยี ความเร็วของข้อมูลให้ได้ แต่ต้องปรับกระบวนการวิจัยมากขึ้น เน้นความเป็นภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น และไม่ใช่เพียงอาจารย์ผู้สอนต้องปรับเท่านั้น คนทำงานด้านสื่อ ไม่ว่าจะเป็นนักข่าว บรรณาธิการ สายวิชาการ สายอาชีพ ต้องปรับทั้งหมด ปรับทุกมิติ และต้องร่วมกัน เพื่อเกิดหลักสูตร วิชาที่ตอบโจทย์ความต้องการของนิสิต สภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” ปาริชาต เล่าเพิ่มเติม

 

 

 

"วงการสื่อสาร" ไม่หมดยุคแข่งด้วยเนื้อหา ก้าวสู่สื่อใหม่

 


          แม้กลุ่มคนที่ทำงานอุตสาหกรรมสื่อ จะได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของสื่อดิจิทัล สื่อใหม่ สื่อออนไลน์มากขึ้น แต่ทางกลับกันเด็กรุ่นใหม่อีกจำนวนมากยังคงเลือกเรียนคณะนิเทศศาสตร์


          คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เล่าอีกว่า เด็กรุ่นใหม่ที่มาเรียนนิเทศศาสตร์ มีเส้นทางของตนเอง ไม่กลัวว่าถ้าสื่อกระแสหลัก หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ นิตยสารปิดตัวลง เนื่องจากโตมาพร้อมกับแพลตฟอร์มดิจิทัล รู้จัก และใช้ดิจิทัล ปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ ขณะนี้เด็กรุ่นใหม่ เรียนนิเทศศาสตร์ เพราะอยากมารู้เทคโนโลยี สื่อใหม่ รูปแบบการนำเสนอแบบใหม่ และการเป็นผู้ประกอบการด้านสื่อมวลชน เช่น อยากเป็นบล็อกเกอร์ เป็นยูทูเบอร์ (YouTuber) พวกเขาสามารถใช้สื่อใหม่สร้างอาชีพให้แก่ตนเองได้ ดังนั้น หน้าที่ของมหาวิทยาลัย คือต้องช่วยให้เด็กรุ่นใหม่ ต่อยอดความรู้บนถนนสายใหม่ด้านสื่อใหม่กับดิจิทัล

 

 

 

"วงการสื่อสาร" ไม่หมดยุคแข่งด้วยเนื้อหา ก้าวสู่สื่อใหม่

 


          "วงการสื่อไม่หมดยุค เพราะคนยังโหยหาความน่าเชื่อถือ ความจริง ซึ่งสื่อเดิมต้องเปลี่ยนแปลงตนเองไปอยู่โครงสร้างใหม่ สื่อใหม่ แต่ยังคงต้องทำให้กลุ่มผู้บริโภคเดิมย้ายตามสื่อใหม่ไปด้วย จึงเป็นความท้าทายของกลุ่มคนวิชาชีพสื่อและผู้ประกอบการด้านสื่อ ที่ต้องค้นคว้าแพลตฟอร์มใหม่ให้ไปไกลกว่าเดิม ที่สำคัญการแข่งขันของสื่อมวลชน ต้องแข่งกันที่เนื้อหา นักสื่อสารมวลชน นักนิเทศศาสตร์ ต้องเป็นผู้ผลิตเนื้อหา สร้างข้อมูล ผลิตเทคโนโลยี หนังโฆษณา รายการบันเทิง ภาพยนตร์ ข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างไปจากแบบเดิม ต้องก้าวข้ามจากสื่อเดิมมาสู่สื่อหลอมรวม” คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ระบุ


          มนุษยนิยมกับสื่อสมัยใหม่ มีความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับสื่อ ซึ่งต้องมีการถกกันว่าอนาคตมนุษย์จะใช้สื่ออย่างไร และในฐานะสื่อมวลชนจะยกระดับการเรียนรู้ สร้างเนื้อหาอย่างไรให้ทันกับสมัยใหม่ ซึ่งวันที่ 17-19 มิถุนายน นี้ คณะนิเทศศาสตร์ ร่วมกับ The Asian Media Information and Communication Centre (AMIC) องค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับนานาชาติจัดประชุมวิชาการนานาชาติ 27 th AMIC Annual Conference ภายใต้หัวข้อ “Communication, Technology and New Humanism” เป็นเวทีสะท้อนให้ประชาชนทั่วโลกได้เข้าใจว่าเมื่อเทคโนโลยีเข้ามา ความอยู่รอดของนิเทศศาสตร์ วงการสื่อสารยังคงเป็นศาสตร์สำคัญอย่างไร คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 300 คน

 

 

"วงการสื่อสาร" ไม่หมดยุคแข่งด้วยเนื้อหา ก้าวสู่สื่อใหม่

 

 


          “การผลิตเนื้อหาของนักสื่อสารมวลชนในอนาคต ไม่ใช่เพื่อคนไทยเท่านั้น แต่ต้องนึกถึงผู้ชมที่มีอยู่ทั่วโลก ในส่วนของภาคการศึกษา จำเป็นต้องมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับการศึกษานานาชาติ เพื่อตอบโจทย์สังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และผลิตนักสื่อสารมวลชน นักนิเทศศาสตร์ทั้งเก่าและใหม่ให้อยู่รอดให้ได้ โดยนักสื่อสารมวลชน นักนิเทศศาสตร์ ผู้ประกอบการด้านสื่อรุ่นใหม่ต้องมีความพร้อมทั้งภาษา เข้าใจเนื้อหาที่ตนเองผลิต รู้จักกลุ่มเป้าหมาย เข้าใจบริบททางวัฒนธรรม จริตผู้บริโภค ซึ่งคณะนิเทศศาสตร์ สื่อสารมวลชนรุ่นเก่าทุกแห่งต้องปรับทุกมิติ และร่วมสร้างนักสื่อสารมวลชนรุ่นใหม่” คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

 

"วงการสื่อสาร" ไม่หมดยุคแข่งด้วยเนื้อหา ก้าวสู่สื่อใหม่

 


          10สิ่งช่วยสื่อมวลชนอยู่รอดในยุคสมัยใหม่
          -ผลิตเนื้อหาที่น่าเชื่อถือ ความจริง
          -เรียนรู้เทคโนโลยีทันสมัย
          -เชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับสื่อใหม่
          -ปรับตัวในทุกมิติ
          -กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ผู้รับสารอย่างชัดเจน 
          -ต้องมีความเป็นผู้ประกอบการสื่อ
          -เข้าใจบริบทสังคม วัฒนธรรม
          -เรียนรู้จริตผู้บริโภคสื่อ 
          -สรุปย่อยอย่างตรงประเด็น
          -ก้าวพ้นความเป็นสื่อใดสื่อหนึ่ง เชื่อมร้อยบูรณาการสื่อไปด้วยกัน
          ที่มา:คมชัดลึก

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ