Lifestyle

เด็กไทยต้องรับมือโลกVUCAการศึกษาไทยต้องตอบโจทย์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected]

 


          TEPForum 2019 ภาพใหม่การศึกษาไทย ต้องปรับตัวตอบโจทย์โลก VUCA ความรู้มีอายุสั้นลงแต่คนอายุยืนยาวมากขึ้น เปลี่ยนระบบการศึกษาทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ ยืดหยุ่น และปรับตัวได้ง่าย โรงเรียน ครู พ่อแม่เปิดกว้างให้เด็กได้ลองได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และเด็กเองต้องกล้าคิด กล้าลอง กล้าลงมือทำ กระทรวงศึกษาธิการต้องรับฟังปัญหา นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริง

 

 

          กลุ่มภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership :TEP) ได้จัดเวที TEPForum 2019 ภาพใหม่การศึกษาไทย : New Education Landscape ที่หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ เปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนร่วมคิด ร่วมตั้งเป้าหมายเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้ทันโลก ไม่เน้นเนื้อหา แต่ต้องสร้างสมรรถนะเด็กให้ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ เมื่อวันที่ 8-9 มิถุนายน ที่ผ่านมา 


          การจัดงานครั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนร่วมพลังและผลักดัน โดยภาพใหญ่ของการศึกษาไทยต้องการชักชวน 26 องค์กร มาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากคนรุ่นใหม่ ทำให้เกิด 3 อย่างเกิดขึ้นมา เป็นการสร้างเครือข่าย ให้กำลังใจ และขับเคลื่อนจากข้างล่างสู่ข้างบน เกิดเป็นนโยบายได้ เป็นความหวังการศึกษาที่เดินไปด้วยกัน

 

 

 

เด็กไทยต้องรับมือโลกVUCAการศึกษาไทยต้องตอบโจทย์

 


          สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และเลขานุการภาคีเครือข่ายเพื่อการศึกษา กล่าวว่า ภาพใหม่การศึกษาไทย ต้องมองจากตลาดแรงงาน และโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างไร ถึงจะรู้ว่า ต้องจัดการศึกษาอย่างไร ต้องรับมือกับโลกยุคใหม่ที่มีการพลิกผัน ปั่นป่วนมากมาย โลกที่มีความพลิกผัน หรือที่ในวงการธุรกิจ เรียกว่าโลก VUCA นั้นมาจากการเปลี่ยนไว (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity) ซึ่งการเปลี่ยนไวคือ โลกอดีตเปลี่ยนช้ามาก แต่โลกที่มีการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างตอนนี้ เปลี่ยนไว เกิดความไม่แน่นอน ไม่สามารถคาดการณ์ได้ มีคำกล่าวของอาจารย์เฮนรี มินทซ์เบิร์ก ศาสตราจารย์ด้านกลยุทธ์ มหาวิทยาลัยแมคทิลด์ ว่า เมื่อโลกพยากรณ์ได้ เราต้องการคนฉลาด แต่เมื่อโลกพยากรณ์ไม่ได้ เราต้องการคนที่ปรับตัวได้ คำกล่าวนี้ จะทำอย่างไรให้เด็กของเราสามารถเรียนรู้และปรับตัวได้


 

 

เด็กไทยต้องรับมือโลกVUCAการศึกษาไทยต้องตอบโจทย์

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

 


          ดังนั้นต้องสร้างทักษะให้เด็กอยู่ในศตวรรษที่ 21 มีทักษะ มีทัศนคติ มีอุปนิสัย อาทิ เด็กต้องใฝ่หาความรู้ อดทน มีทักษะความคิดเชิงวิพากษ์ การสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม และต้องมีทักษะพื้นฐานอย่างน้อย 3 อย่าง คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อาจไม่เพียงพอ ต้องเป็นทักษะศตวรรษที่ 21 บวกๆ โดยคนที่อยู่รอดต้องมีใจเปิดกว้าง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเสมอ โจทย์โลกธุรกิจเหมือนกับโลกการศึกษา คือ คนต้องกล้าทดลอง กล้าล้มเหลว กล้ามีความผิดพลาด เรียนรู้จากความผิดพลาดได้ และมีใจแห่งการเติบโต 


          ต้องสร้างระบบการเรียนรู้ใหม่ เพื่อสร้างทักษะให้เด็กอยู่ได้ในศตวรรษที่ 21 บวกๆ และต้องไม่จำกัดการเรียนรู้ในห้องเรียน ต้องมีการเรียนรู้ที่จะทำให้คนยืดหยุ่น ปรับตัวได้ง่ายขึ้น ในห้องเรียนอาจเป็นการทดลอง การเล่น การเรียนรู้ การคิดขั้นสูง การคิดเชิงออกแบบ แต่ต้องทำให้ทุกคนเริ่มต้นด้วยความหลงใหล การที่เด็กคนหนึ่งอยากเรียนรู้ต้องเกิดจากความชอบ ความหลงใหล ไม่ใช่เพียงแรงผลักดันภายนอกเท่านั้น

 

 

เด็กไทยต้องรับมือโลกVUCAการศึกษาไทยต้องตอบโจทย์

 


          ขจรเกียรติ เก่งจันทร์วรกุล ศิษย์เก่าโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม ตัวแทนคนรุ่นใหม่ กล่าวว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทุกคนเรียนรู้ได้มากขึ้น การศึกษาต้องช่วยให้เด็กได้ค้นพบแนวทาง รู้ว่าตนเองถนัดอะไร ซึ่งหน่วยงานอย่างโรงเรียน ครู ต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย ช่วยค้นหาตัวเอง พ่อแม่ควรเปิดกว้างให้เด็กได้ลองได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และเด็กเองต้องกล้าคิด กล้าลอง กล้าลงมือทำ และอยากให้กระทรวงศึกษาธิการรับฟังปัญหา นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริง


          อานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการเครือข่ายภาคีเพื่อการศึกษาไทย หรือ TEP กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการจึงควรเปลี่ยนบทบาท และไม่จำเป็นต้องเป็นกระทรวงใหญ่ที่รวมศูนย์อำนาจ แต่ควรกระจายอำนาจการศึกษาไปยังท้องถิ่นและทำหน้าที่อำนวยความสะดวก เพื่อให้เกิดโรงเรียนดีที่มีความหลากหลาย

 

 

 

เด็กไทยต้องรับมือโลกVUCAการศึกษาไทยต้องตอบโจทย์

อานันท์ ปันยารชุน

 


          โดยเฉพาะภาคธุรกิจ และพ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของการศึกษา ในพื้นที่ที่ตนเองเกี่ยวข้องโดยเข้าร่วมกำหนดวิถีทางของการศึกษา สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ และช่วยกันสร้างเครือข่ายต่อไป ที่สำคัญคือ ผู้อำนวยการโรงเรียน และครู ควรเปลี่ยนบทบาทของตนเองใหม่ ให้เป็น Active Teacher ที่สร้าง Active Learning ที่ทำให้เด็กรักการเรียนรู้ และเป็น Active Citizen


          โจทย์ใหญ่ของการศึกษาไทย คือ ทำอย่างไรระบบใหญ่ของการศึกษาจะเป็นพลังหนุนทำให้เกิดภาพการทำงานของคนในพื้นที่ และขยายวิธีทำงานไปสู่ระบบใหญ่ของประเทศได้ และชี้ว่าคำตอบของการปฏิรูปการศึกษาอยู่ที่การปลดพันธนาการให้คุณครูและโรงเรียน การลดวิธีคิดและสั่งการจากบนลงล่าง และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้คิดและทำ และสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันให้มากที่สุด


          ทั้งนี้ในงานมีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ TEP Group Discussion “ร่วมรับฟังและเสนอความคิดเห็น ต่อเส้นทางการสร้างสมรรถนะเด็กไทย” ของทั้ง 7 ประเด็นที่ขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาที่จะนำไปสู่การพัฒนาสมรรถนะเด็กไทย เริ่มตั้งแต่ ปฐมวัย การปรับระบบที่สร้างพื้นฐานเด็กที่พร้อมสำหรับการเรียนรู้ โรงเรียน การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ “Whole school transform” ครู การปรับระบบการผลิตครู ที่ไม่เน้นเนื้อหาแต่เน้นที่สมรรถนะ หลักสูตรการศึกษา การปรับหลักสูตรเป็นหลักสูตรอิงสมรรถนะ การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง แนวทางการปรับวิธีการเรียนการสอนของอาชีวะ มหาวิทยาลัย และการเรียนแบบใหม่

 

 

เด็กไทยต้องรับมือโลกVUCAการศึกษาไทยต้องตอบโจทย์

 

 


          พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อเรียนรู้การสร้าง sandbox ทางการศึกษาจากพื้นที่ที่ทำจริง ภาพใหม่การศึกษาไทย เวทีเพื่อระดมสมอง ร่วมกันมองภาพใหม่ของระบบการศึกษาทั้งระบบ ส่วนในวันรุ่งขึ้น เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นการเปลี่ยนการศึกษา ได้มาเล่าแนวคิดและวิธีการทำงาน เพื่อให้คนรุ่นใหม่คนอื่นๆ ได้เรียนรู้ และเกิดแรงบันดาลใจในการลุกขึ้นมาทำ โดยครั้งนี้มี 12 องค์กรของคนรุ่นใหม่ เช่น inskru, a-chieve, ก่อการครู มานำเสนอ และร่วมจัดเวิร์กช็อป เพื่อให้เห็นมิติใหม่ของการเปลี่ยนแปลงของคนที่กล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยอีกด้วย 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ