Lifestyle

บัตรทอง..."มานิ"คนไทยต้องเข้าถึงสิทธิ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บัตรทอง..."มานิ"คนไทยต้องเข้าถึงสิทธิ์ : รายงาน  โดย...  พวงชมพู ประเสริฐ - [email protected] -


 

          ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กำหนดให้คนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยได้รับสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ราว 49 ล้านคน แต่ในความเป็นจริงคนไทย “กลุ่มเปราะบาง” อาทิ ผู้ต้องขัง ผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มคนไร้บ้าน และคนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชนจำนวนหนึ่งยังเข้าไม่ถึงสิทธิบริการสุขภาพที่จำเป็น สำนักงานหลักประกันสขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จึงเร่งดำเนินการเพื่อให้เข้าถึงสิทธิ ดังเช่น “กลุ่มมานิ” แห่งเทือกเขาบรรทัด จ.พัทลุง

 

 

          กลุ่มชาติพันธุ์  “มานิ” หรือที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดเรียกว่า “ซาไก” เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของประเทศ มีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาบรรทัดทางภาคใต้ ในพื้นที่ของ จ.ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ด้วยวิถีชีวิตที่อยู่ในป่า บางส่วนจึงไม่มีบัตรประชาชน ไม่ได้รับการรับรองสถานะ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และสปสช.เขต 12 สงขลา จึงได้ร่วมกันดำเนินการรับรองสถานะกลุ่มชาวมานิในความเป็นคนสัญชาติไทย ตามหลักสืบสายโลหิต เช่น การตรวจพิิสูจน์พันธุกรรม(ดีเอ็นเอ) เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันพบว่า “มานิ” มีประมาณ 500 คน มีบัตรประชาชนแล้ว 313 คน และไม่มีบัตรประชาชน 187 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กเกิดใหม่และผู้ที่อาศัยอยู่ในป่าลึก     


          “วิถีชีวิตของพวกเรา เมื่อเจ็บป่วยจะใช้สมุนไพรป่าที่สืบทอดต่อๆ กันมาในการรักษา คลอดลูกก็จะคลอดในทับ หากเป็นการเจ็บป่วยที่รุนแรงเกินกว่าที่จะใช้ภูมิปัญญาของเรารักษาได้หรือคลอดลูกไม่ออกตามธรรมชาติก็มักจะเสียชีวิต แต่หลังจากที่มีบัตรคนไทย เมื่อเจ็บป่วยมากๆ ทำให้สามารถไปรักษาที่ข้างล่างหรือไปรักษาที่อื่น จนอาการดีขึ้นได้ ไม่ต้องตายจากอาการป่วยที่คนข้างล่างเขารักษาได้ แต่เรารักษาเองไม่ได้" คำบอกเล่าของ  กุ้ง  รักษ์ป่าบอน หนึ่งในหญิงมานิซึ่งมี "ทับ” (บ้านของมานิ) อยู่ที่ ต.ทุ่งนารี อ.ป่าบอน จ.พัทลุง     

 

 

บัตรทอง...\"มานิ\"คนไทยต้องเข้าถึงสิทธิ์



          แม้เดิมทีก่อนที่ “มานิ” ราว 34 คนจะมีนามสกุล “รักษ์ป่าบอน” และได้รับบัตรประชาชน จะได้รับการดูแลด้านสุขภาพและรักษาอาการเจ็บป่วยจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) บ้านโหล๊ะหาร และ รพ.ป่าบอน อยู่แล้วโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายตามหลักมนุษยธรรม ขณะที่หน่วยบริการดังกล่าวไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพื่อรองรับการให้บริการรักษาพยาบาลกลุ่มมานิ จะต้องเกลี่ยจากงบที่ได้รับตามประชากรคนไทยมาใช้ในการดูแล ทว่า เมื่อกลุ่มมานิ ได้รับสิทธิ์ “บัตรทอง” ไม่เพียงแต่ทำให้หน่วยบริการในพื้นที่ได้รับการจัดสรรงบมาใช้ในการให้บริการ ที่สำคัญ “กลุ่มมานิ” สามารถเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลได้มากขึ้นตามสิทธิ์ดังเช่นคนไทยคนหนึ่ง               


          ดังเช่น กรณีการรับบริการรักษาพยาบาลของ “เจี๊ยบ รักษ์ป่าบอน” ลูกสาวของกุ้ง ซึ่งกุ้ง เล่าว่า ลูกสาวคลอดลูกที่ทับแต่คลอดไม่ออก  จึงเดินออกห่างจากทับมาราว 1 กิโลเมตรเพื่อใช้โทรศัพท์มือถือที่มีอยู่ 1 เครื่อง โทรเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน 1669 ตามที่ได้รับการแนะนำจากเจ้าหน้าที่ก่อนหน้านี้ว่าหากมีการเจ็บป่วยฉุกเฉินให้โทรที่เบอร์นี้ ก่อนที่รถพยาบาลจะมารับเจี๊ยบนำส่ง รพ.ป่าบอน และส่งต่อไปคลอดที่ รพ.พัทลุง เมื่อหลานกลับมาอยู่ทับได้ราว 3 เดือน กุ้งสังเกตเห็นหลานตาเหลือง ตัวเหลือง และมีอาการที่น่าวิตก จึงแจ้งให้ผู้ประสานของ อบต.ทุ่งนารี ที่ดูแลกลุ่มมานิทราบ และพาลูกไปรักษาที่ รพ.ป่าบอน ส่งต่อรพ.พัทลุง และเข้ารับการผ่าตัด เพราะตับโตจากการที่ท่อน้ำดีอุดตันที่ รพ.ศูนย์หาดใหญ่ จ.สงขลา        

 

 

บัตรทอง...\"มานิ\"คนไทยต้องเข้าถึงสิทธิ์

 


          นราวุฒิ แก้วหนูนวล ผอ.รพ.สต.บ้านโหล๊ะหาร บอกว่า รพ.สต.และอบต.ได้ประสานความร่วมมือในการให้การดูแลสุขภาพของมานิมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้บริการไม่แตกต่างจากสิทธิคนไทยทั่วไป ทั้งการส่งเสริมป้องกันโรค ตรวจรักษา และการเยี่ยมบ้าน แต่ในแง่การบริหารจัดการจำเป็นที่จะต้องมีส่วนที่เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำประวัติการรักษา ที่แม้มานิจะมีบัตรประชาชน แต่เนื่องจากส่วนใหญ่จะมีหน้าตาที่คล้ายคลึงกัน เจ้าหน้าที่จึงยากที่จะตรวจสอบทำให้มีการจัดทำทะเบียนประวัติเฉพาะด้วยการถ่ายรูปมานิแต่ละครัวเรือนแปะไว้หน้าปกด้วย เพื่อป้องกันความผิดพลาด เนื่องจากมีปัญหาเล็กน้อยในเรื่องการสื่อสาร ซึ่งมานิจะมีภาษาพูดของเขาเอง แต่จะมีบางคนที่สื่อสารภาษาไทยได้ค่อนข้างชัดเจน ก็จะเป็นกำลังหลักในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการอธิบาย โดยเฉพาะกรณีที่จำเป็นต้องกินยาตามเวลาที่กำหนด

 

          ในแง่ของความจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไข อาทิ ปรับปรุงเส้นทางคมนาคมที่การเดินทางยังค่อนข้างลำบาก จัดหารถมอเตอร์ไซค์สำหรับเดินทางมารับบริการ สนับสนุนค่าพาหนะในการเดินทางไป-กลับกรณีการเดินทางมารับบริการ  ใช้ล่ามในการสื่อสารกับผู้ป่วย  สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางของญาติ รวมถึงกรณีที่จะต้องเฝ้าไข้ที่โรงพยาบาล และสนับสนุนงบประมาณปรับปรุงสถานที่ให้บริการที่ยังมีความคับแคบ 

 

          ขณะที่ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า มานิเป็นหนึ่งในคนไทยกลุ่มเปราะบางที่ สปสช.จะเร่งดำเนินการเพื่อให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลตามสิทธิ์บัตรทอง  ซึ่งจะทำให้มีงบประมาณสนับสนุนไปยังหน่วยบริการในพื้นที่เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ระดับหนึ่ง โดยชาวมานิที่อยู่ในกลุ่มกึ่งสังคมชุมชนและกลุ่มตั้งถิ่นถาวรจะได้รับการดูแลอนามัยแม่และเด็กเป็นระบบมากขึ้น  และได้รับความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพจากงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น 
       

 

 

บัตรทอง...\"มานิ\"คนไทยต้องเข้าถึงสิทธิ์

 

 

          อย่างไรก็ตาม  ด้วยวิถีชีวิตของชาวมานิที่มักจะย้ายถิ่นที่อยู่บ่อยตามห่วงโซ่อาหาร  ทำให้ไม่สามารถจัดระบบให้บริการเหมือนเช่นคนไทยทั่วไปที่จะต้องมีการกำหนดหน่วยบริการประจำในการเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือแม้แต่การส่งต่อตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ และการเปลี่ยนแปลงหน่วยบริการได้ 4 ครั้งต่อปี ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของมานิ จึงมีข้อเสนอรองรับการให้บริการรักษาพยาบาลมานิ โดยการให้มานิสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ที่หน่วยบริการสุขภาพของรัฐได้ทุกแห่ง ไม่ต้องมีการส่งตัว เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตมานิ 


          “มานิมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากคนไทยส่วนใหญ่  จึงไม่สามารถกำหนดหน่วยบริการประจำได้ จึงมีการตกลงให้เข้ารับการรักษาพยาบาลในหน่วยบริการของรัฐได้ทุกแห่ง เป็นการอำนวยความสะดวกในการเข้ารับบริการให้แก่มานิที่มักจะย้ายที่อยู่บ่อย ต่างจากคนพื้นราบที่มีที่อยู่ที่แน่นอน สิ่งนี้เป็นการกำหนดการให้บริการตามวิถีชีวิตมากกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้จัดตามระบบราชการ" นพ.ศักดิ์ชัยกล่าว 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ