Lifestyle

แอพพลิเคชั่นS-Childป้องกันลืมทิ้งเด็กไว้ในรถ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แอพพลิเคชั่นS-Childป้องกันลืมทิ้งเด็กไว้ในรถ : รายงาน  โดย.... ชุลีพร อร่ามเนตร  [email protected]


 

          เปิดตัว S-Child บัตรประจำตัวนักเรียนอัจฉริยะ แอพพลิเคชั่น ป้องกันการลืมทิ้งเด็กนักเรียนไว้ในรถรับ-ส่งของโรงเรียน ทำงานบนมือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ส่งตำแหน่งของเด็ก ระบุสถิติในอเมริกาเด็กเสียชีวิตในรถเหตุถูกลืมทิ้งไว้เฉลี่ยปีละ 30-40 คน มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เผยผลวิจัยป้องกันการลืมทิ้งเด็กไว้ในรถรับ-ส่งได้เป็นอย่างดี ครูตรวจสอบจำนวนเด็กได้ทันที

 

 

          นายหิรัญปกรณ์ ทองเหม บริษัท อาร์ติฟิเชียล อินเทลลิเจนซ์ เทคโนโลยี จำกัด เปิดเผยถึงโครงการ S-Child บัตรประจำตัวนักเรียนอัจฉริยะ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพื่อสนับสนุนโครงการ Innovation Hubs ภายใต้โครงการ Smart City Startup Development สร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ว่าการพัฒนาแอพพลิเคชั่นระบบรักษาความปลอดภัย S-child Smart Student Card เพื่อป้องกันการลืมทิ้งเด็กนักเรียนไว้ในรถรับ-ส่งของโรงเรียนที่อาจเกิดขึ้นเพราะความประมาท เลินเล่อของคนขับรถ ซึ่งสถิติในอเมริกาได้ชี้ให้เห็นว่า มีเด็กเสียชีวิตในรถเพราะถูกลืมทิ้งไว้เฉลี่ยปีละ 30-40 คน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น

 

 

แอพพลิเคชั่นS-Childป้องกันลืมทิ้งเด็กไว้ในรถ


       

          ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่นนี้จะทำงานบนมือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และจะส่งตำแหน่งของเด็กในทุกๆ ครั้งที่มีการใช้บัตร เช่น ขณะขึ้น-ลง รถรับส่ง หรือเข้า-ออกประตูโรงเรียน ผ่านการทำงานของระบบจีพีเอสที่มีข้อมูลเป็นชื่อสถานที่และตัวเลขพิกัดบนแผนที่กูเกิล ส่งไปยังผู้ปกครอง คุณครู และผู้เกี่ยวข้องที่ได้กำหนดไว้ ให้ทราบว่าขณะนี้เด็กกำลังทำอะไรอยู่ที่ไหน เข้าโรงเรียนหรือยัง หรือยังไม่ลงจากรถ เป็นต้น
นายหิรัญปกรณ์ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนา S-Child Smart Student Card มีการออกแบบแอพพลิเคชั่นเป็นสองส่วน โดยส่วนแรกคือ การออกแบบแอพพลิเคชั่นฝั่งผู้ใช้งานทั่วไป สำหรับติดตั้งบนมือถือ โดย S-Child จะคอยรับคำสั่งจากการแตะบัตร S-Child Smart NFC ที่มีการบันทึกข้อมูลของนักเรียนไว้แล้วกับมือถือ ซึ่งติดตั้ง S-Child เรียบร้อยแล้ว จากนั้น S-Child จะส่งตำแหน่งของการแตะบัตรนั้นเข้าเซิร์ฟเวอร์กลางเพื่อประมวลผลตำแหน่งของสถานที่และพิกัดบนแผนที่กูเกิล และแจ้งกลับไปยังผู้ปกครองและคุณครูให้ทราบผ่านระบบจัดการสื่อสารระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครองแบบพุชเมสเสจ, กล่องข้อความ และข้อมูลข่าวสาร


 

 

แอพพลิเคชั่นS-Childป้องกันลืมทิ้งเด็กไว้ในรถ

 


          ส่วนการพัฒนาส่วนที่สองคือ การออกแบบเว็บแอพพลิเคชั่นที่ทำงานบนพีซี สำหรับผู้ดูแลระบบของโรงเรียน ใช้สำหรับจัดการฐานข้อมูลของนักเรียน คุณครู ผู้ปกครอง คนขับรถ ระบบส่งข่าวสารและข้อความถึงผู้ปกครอง รวมถึงการประมวลผลและรายงานผลการลงเวลาของนักเรียนและบุคลากรต่างๆ ของโรงเรียน เป็นต้น


          “จากการทดลองใช้ระบบ S-Child Smart Student Card ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถป้องกันการลืมทิ้งเด็กไว้ในรถรับ-ส่ง ได้เป็นอย่างดี คนขับรถรู้สึกทำงานได้อย่างสบายใจมากขึ้นเพราะสามารถทราบได้ทันทีว่ายังมีเด็กตกค้างอยู่หรือไม่ คุณครูสามารถตรวจสอบจำนวนของเด็กที่ขาด ลา มาสาย มาเรียนได้ทันที ส่วนผู้ปกครองก็สามารถทราบความเคลื่อนไหวของเด็กได้ในแต่ละวัน” นายหิรัญปกรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ ในส่วนของผลการวิจัยนั้น แบ่งเป็น ด้านการป้องกัน ระบบทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถมอนิเตอร์จำนวนเด็กที่ขึ้นและลงรถได้แบบปัจจุบัน สามารถรู้ได้ทันทีว่ามีเด็กตกค้างอยู่บนรถหรือไม่ ทำให้คุณครูและผู้ปกครองคลายความกังวลลงได้มาก ขณะที่ด้านการแจ้งเตือน เมื่อทดสอบระบบด้วยการจำลองสถานการณ์ลืมเด็กไว้ในรถ ปรากฏว่า ระบบสามารถแจ้งเตือนได้อย่างรวดเร็ว ผู้ปกครอง คุณครู ผู้จัดการโรงเรียน และคนขับรถ สามารถรู้ได้ทันที

 

แอพพลิเคชั่นS-Childป้องกันลืมทิ้งเด็กไว้ในรถ

 


          ด้านคุณภาพการจัดการเรียน ระบบสามารถกำหนดตารางเรียนและการลงเวลามาเรียนของเด็กได้อย่างเป็นปัจจุบัน ทำให้เห็นความคืบหน้าของการเรียนของเด็ก คุณครูสามารถประหยัดเวลาในการทำรายงานเวลาเรียนประจำวันของเด็กได้อย่างมาก ผู้ปกครองแลคุณครูสามารถสื่อสารกันได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้นผ่านระบบจัดการข่าวสารและกล่องข้อความของ S-Child ได้ และด้านผลิตภัณฑ์ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจีพีเอส ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานกันอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ระบบจึงมีความเสถียรสูง ใช้ฮาร์ดแวร์น้อย ต้นทุนในการผลิตและดำเนินการต่ำ ต้นทุนการดูแลบำรุงรักษาต่ำ ทำให้ค่าบริการต่ำลงไปด้วย

 

แอพพลิเคชั่นS-Childป้องกันลืมทิ้งเด็กไว้ในรถ

 


          งานวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่าระบบมีความเหมาะสมที่จะใช้งานกับเด็กและผู้ปกครองได้ทั้งประเทศ เนื่องจากอุปกรณ์ติดตามตัวดังกล่าวอยู่ในรูปของบัตรประจำตัวนักเรียนที่นักเรียนคุ้นเคย ไม่เป็นที่สนใจของมิจฉาชีพแต่อย่างใด ทั้งการติดตามตัวด้วยวิธีนี้ยังไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้ด้วย เพราะจะติดตามตำแหน่งเฉพาะจุดที่ได้กำหนดเท่านั้น ไม่ได้ติดตามทุกที่ทุกเวลาแบบระบบติดตามอื่นๆ


          10ทักษะเด็กไทยต้องมี
          รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์  ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เปิดเผยว่าในแต่ละปีเด็กไทยอายุ 1-14 ปี จะเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุจำนวนกว่า 2,500 รายต่อปี หรือเฉลี่ย 200 รายต่อเดือน ในแต่ละปีพบว่าเดือนที่มีเด็กตายจากอุบัติเหตุสูงสุดคือเดือนเมษายน (เฉลี่ย 350 รายต่อเดือน) อันดับรองลงไปเป็นเดือนมีนาคม พฤษภาคม และตุลาคม


          ทั้งนี้เด็กไทยควรมี 10 ทักษะความปลอดภัยได้แก่ทักษะการพูดคุยกับคนแปลกหน้า การปฏิเสธความใกล้ชิดและการสัมผัสไม่เหมาะสม อายุที่ต้องทำได้ 4-6 ปีทักษะความปลอดภัยในบ้าน ของมีคม ของร้อน ไฟฟ้า สารพิษ ที่สูง ที่ลื่น ช่องรู เส้นสาย และสัตว์เลี้ยง อายุที่ต้องทำได้ 4-6 ปี

 

 

แอพพลิเคชั่นS-Childป้องกันลืมทิ้งเด็กไว้ในรถ

 


          ทักษะความปลอดภัยทางน้ำ และการวิเคราะห์ความเสี่ยงในชุมชน อายุที่ต้องทำได้ 6-7 ปี(ทักษะความปลอดภัยทางน้ำเพื่อป้องกันการจมน้ำ 5 ประการ ได้แก่ รู้จุดเสี่ยง ลอยตัวได้ 3 นาที เคลื่อนตัวในน้ำได้ 15 เมตร ช่วยผู้อื่นโดยการตะโกน โยน ยื่น และใช้ชูชีพเมื่อต้องเดินทางทางน้ำ ที่อายุ 7 ปี หรือ ป.1 เป็นต้นไป)


          ทักษะการเดินถนนโดยลำพัง การขี่จักรยานอย่างปลอดภัย และการโดยสารรถยนต์ รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย อายุที่ต้องทำได้ 6-7 ปี (พฤติกรรมการไม่ขับขี่ก่อนวัย โดยก่อนอายุ 15 ปี หรือไม่มีเด็กชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยม 3 ขับขี่รถจักรยานยนต์ พฤติกรรมการใส่หมวกนิรภัยเมื่อโดยสารรถจักรยานยนต์ เริ่มที่อายุ 3 ปี หรืออนุบาล 1 เป็นต้นไป)

 

แอพพลิเคชั่นS-Childป้องกันลืมทิ้งเด็กไว้ในรถ

 


          ทักษะการเล่นของเล่น สนามเด็กเล่น กีฬา อย่างปลอดภัย อายุที่ต้องทำได้ 6-7 ปีทักษะการใช้ไอที อย่างปลอดภัย อายุที่ต้องทำได้ 6-7 ปี (การส่งเสริมการใช้ไอทีของเด็กอย่างปลอดภัย ให้เด็กรู้-ยอมรับ-และใช้ ระบบการควบคุมสื่อไอที และระบบการรายงานสื่ออันตรายและการถูกรังแก เพื่อให้เกิดการใช้อย่างปลอดภัยจากภัย 5 ด้าน ได้แก่ ภัยจากการใช้นานจนเสียสุขภาพ โอกาสพัฒนาการ และเกิดอาการเสพติด ภัยจากการถูกผู้อื่นรังแกและการมีพฤติกรรมรังแกผู้อื่น ภัยจากการติดการใช้เนื้อหารุนแรงและเนื้อหาทางเพศจนพฤติกรรมเบี่ยงเบน ภัยจากการถูกล่อลวงทางการค้า)

 

แอพพลิเคชั่นS-Childป้องกันลืมทิ้งเด็กไว้ในรถ

 


          ทักษะการปฐมพยาบาล ทำแผล ตามหน่วยฉุกเฉิน รู้และร่วมฝึกซ้อมแผนภัยพิบัติ ชุมชนได้ อายุที่ต้องทำได้ 7-8 ปี


          ทักษะการกู้ชีพเบื้องต้น และเรียนรู้ความรับผิดชอบต่อสังคมในการมีส่วนร่วมในการกำจัดความเสี่ยงในระดับชุมชน อายุที่ต้องทำได้ 9-10 ปี ทักษะการข้ามถนน อายุที่ต้องทำได้ 9-10 ปี ทักษะโฮมอโลน อายุที่ต้องทำได้ 10-12 ปี
 
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ