Lifestyle

เด็กหรือสูงวัย"ไม่ต่างใจ"เพราะทุกคนอยากมีความสุข

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เด็กหรือสูงวัย"ไม่ต่างใจ"เพราะทุกคนอยากมีความสุข : รายงาน  โดย...  พวงชมพู ประเสริฐ [email protected] 

 

          วันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น “วันผู้สูงอายุสากล” ในปี 2561 รณรงค์ภายใต้แนวคิด “Celebrating Older Human Rights Champions” แต่สำหรับในประเทศไทยข้อมูลจากรายงานการติดตามและประเมินผลแผนผู้สูงอายุชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2555–2559) พบว่า มีประชาชน 38.7% ที่ยังไม่ตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ หรือยังมีทัศนคติเชิงลบต่อผู้สูงอายุ 
ภายในงาน “ต่าง GEN ไม่ต่างใจ” ดูหนัง-ฟัง-คุย เพื่อคนทุกวัย ในโครงการฉายภาพยนตร์สั้นและเวทีเสวนาสาธารณะ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่สังคม โดยใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อเพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย ซึ่งมีการเปิดตัวภาพยนตร์สั้น 4 เรื่อง จัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า ต่าง GEN หมายถึงคนที่ต่างช่วงอายุกัน ส่วนไม่ต่างใจ คงเพราะทุกคนไม่ว่าอยู่ในช่วงวัยใดล้วนอยากมีความสุขทั้งสิ้น ซึ่งความสุขของคนธรรมดาก็เหมือนการรับประทานอาหารที่อร่อยจะต้องประกอบด้วยหลายอย่าง

 

 

เด็กหรือสูงวัย"ไม่ต่างใจ"เพราะทุกคนอยากมีความสุข

 

          ดังนั้น ความสุขจะประกอบด้วยหลายอย่าง ได้แก่ 1.สุขภาพต้องดี 2.ต้องทำงานโดยไม่เบียดเบียนตนเองเกินไป ไม่เบียดเบียนผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม มีรายได้มากกว่ารายจ่าย 3.ต้องมีความมั่นคงในชีวิต โดยเฉพาะมั่นคงใน 4 อย่าง ทั้งทางเศรษฐกิจ ทางครอบครัว มั่นคงในชีวิตทรัพย์สินและมั่นคงในสิ่งแวดล้อม เช่น บ้านจะต้องปรับปรุงให้เพิ่มความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ “แต่สำหรับสูตรการเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุขของตนเอง จะต้องกินน้อยเพื่อไม่ให้ร่างกายอ้วนเกินไปจนส่งผลต่อข้อเข่าหรือโรคอื่นๆ ต่อยมากคือต้องทำงาน พวกมากเพื่อจะได้คอยช่วยเหลือกันและกัน และเตรียมตัวดี เตรียมทุกอย่างให้พร้อม” นพ.บรรลุกล่าว

 

 

เด็กหรือสูงวัย"ไม่ต่างใจ"เพราะทุกคนอยากมีความสุข

 

          ประมวล เพ็งจันทร์ นักปรัชญา กล่าวว่า สังคมไทยไม่ควรให้ความหมายว่าสังคมผู้สูงอายุเป็นการสร้างภาระ แต่ควรให้ความหมายว่าเป็นความงดงามทางสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งการที่ตีความหมายเป็นภาระอาจพิจารณาจากมูลค่าและรายได้เท่านั้น แต่หากคนรุ่นใหม่เห็นความหมายของผู้สูงอายุ ก็จะเป็นการเชื่อมร้อยกับผู้สูงอายุ ทำให้เกิดความรู้สึกต่อกันในเชิงลึก

 

 

เด็กหรือสูงวัย"ไม่ต่างใจ"เพราะทุกคนอยากมีความสุข

 

 

          สิ่งสำคัญคือจะต้องมีพื้นที่ให้คนอื่นในใจเรา ก็คือ การใจกว้าง โดยไม่ไปตัดสินว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ถูกหรือผิด แต่เป็นการใส่ใจในรายละเอียดกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ในเชิงลึกที่เป็นการเห็นคุณค่าอยู่ภายใน ปัจจุบันที่สังคมไทยมีปัญหามากเพราะเราเต็มไปด้วยผู้พิพากษาที่คอยตัดสิน ยกตัวอย่างเช่น  เห็นผู้หญิงทาเล็บเท้านิ้วละสี ถ้าเปิดพื้นที่ในใจให้คนอื่น ก็จะเห็นว่านี่คือการใส่ใจในรายละเอียดของผู้หญิงที่ผู้ชายหรือคนอื่นอาจจะไม่เคยใส่ใจมาก่อน โดยไม่ไปตัดสินว่าการทาเล็บเช่นนั้นถูกหรือผิด เป็นต้น 

 

เด็กหรือสูงวัย"ไม่ต่างใจ"เพราะทุกคนอยากมีความสุข

 

          “การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความต่าง ขอพูดในฐานะคนแก่ก่อน อย่าไปตัดสินว่าสิ่งที่คนหนุ่มสาวทำอยู่นั้น เพราะเขาไม่มีอะไรบางอย่าง อย่าไปโหยหาเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจจากเยาวชน ถ้าเป็นเชิงกายภาพคือต้องพยายามเข้าไปหาเขา พยายามทำความเข้าใจ แต่หากสวมวิญญาณของการเป็นคนหนุ่มสาว อยากบอกถึงความหมายอันหนึ่งที่เป็นความมหัศจรรย์ คือการได้กลับไปสู่ความสัมพันธ์กับผู้สูงอายุ โดยใช้โอกาสทองในช่วงที่เรามีกำลัง ได้ทำบางสิ่งให้ท่านเหมือนกับท่านเคยทำให้เรา แล้วจะพบความหมายในการมีชีวิตอยู่ที่ไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นคำใดได้ แต่รู้สึกได้ด้วยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ซึ่งจะเป็นความรู้สึกที่มหัศจรรย์มาก” ประมวลกล่าว 

 

เด็กหรือสูงวัย"ไม่ต่างใจ"เพราะทุกคนอยากมีความสุข

 

          ส่วนในมุมมองของ พัฒนะ จิรวงศ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ “สุดไกลตา” เห็นว่า การจะอยู่ร่วมกันได้โดยลดช่องว่างระหว่างวัย จะต้องเกิดจากการที่เห็นคุณค่าของคนอื่น เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราเห็นคุณค่าของคนอื่น เราจะอยากรักษาเขาไว้อย่างดีที่สุด เพราะฉะนั้น การใส่ใจในรายละเอียดเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต จะต้องมีการสังเกต เช่น พ่อแม่เริ่มมีผมหงอก เหล่านี้เป็นการให้คุณค่าและแสดงถึงความใส่ใจคนอื่น จะทำให้รู้ว่าคนอื่นๆ มีจุดอะไรพิเศษและต่างจากเราอย่างไร และจะขึ้นรถไฟขบวนเดียวกันหรืออยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจได้อย่างไร    
            

 

เด็กหรือสูงวัย"ไม่ต่างใจ"เพราะทุกคนอยากมีความสุข

 


          ขณะที่ อนุชิต คำน้อย เจ้าของเพจ “คิ้วต่ำ” บอกว่า เดิมสมาชิก
          เฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนใหญ่เป็นคนในช่วงวัยมัธยมและมหาวิทยาลัย แต่ช่วงหลังเมื่อวิเคราะห์ช่วงอายุของคนที่กดติดตามกลับพบว่ามีกลุ่มคนอายุ 50-60 ปีเพิ่มมากขึ้น และบางครั้งคนในช่วงวัยนี้จะอินบ็อกซ์ข้อความเข้ามา โดยบอกว่าวันนี้ทำอะไรบ้าง เช่น วันนี้ไปหาหมอ ผลตรวจเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องทั่วๆ ไปที่เหมือนบอกเล่าให้ลูกหลานฟัง เป็นการสะท้อนว่าผู้สูงอายุเพียงแค่ต้องการให้มีคนรับรู้เรื่องราวของท่าน ส่วนคนที่แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่จะเน้นแสดงความคิดเห็นของตนเอง ทำให้เมื่อมีคนเห็นต่างก็จะพยายามบอกให้คนอื่นฟังตัวเองและทำตามที่ฉันบอกเท่านั้น โดยลืมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น เพราะฉะนั้น ในการอยู่ร่วมกันอย่ารอที่จะให้คนอื่นเข้ามาหาตนเอง แต่ให้เราเดินเข้าไปหาคนอื่นหรือคนต่างวัย  

 

เด็กหรือสูงวัย"ไม่ต่างใจ"เพราะทุกคนอยากมีความสุข

 

          ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยแม้แต่ในครอบครัวก็พบกับปัญหานี้ ซึ่งจะนำมาสู่ความห่างเหินในครอบครัว ต่างคนต่างมีโลกของตัวเอง หรือในสังคมก็ยังพบความไม่เข้าใจ ไม่ให้เกียรติคนต่างวัย ถือเป็นการเหยียดวัย ซึ่ง สสส.และภาคีให้ความสำคัญในเรื่องการลดช่องว่างระหว่างวัย โดยเห็นว่าการสื่อสารระหว่างวัยผ่านเครื่องมือที่เป็นดนตรีหรือภาพยนตร์จะเป็นการลดช่องว่างระหว่างวัยได้ เนื่องจากมีการสะท้อนแง่มุมที่กระทบใจ ทำให้เกิดการเห็นคุณค่าระหว่างวัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะรองรับสังคมผู้สูงอายุ 

 

เด็กหรือสูงวัย"ไม่ต่างใจ"เพราะทุกคนอยากมีความสุข

 

          อนึ่ง ภาพยนตร์สั้นทั้ง 4 เรื่อง ได้แก่ 1 “Relations Chick” กำกับการแสดงโดย ศิวัชญา ศิวโมกษ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร 2. “Tester” กำกับการแสดงโดย กฤติน ทองใหม่ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ 3. “ภาพหน้าร้อนที่หายไป” กำกับการแสดงโดย มนธิการ์ คำออน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 4. “สุดไกลตา” กำกับการแสดงโดย พัฒนะ จิรวงศ์ ผู้กำกับภาพยนตร์สั้นมือรางวัล  โดยจะมีการเผยแพร่ผ่านสื่อต่อไป
 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ