Lifestyle

"คณะวิทย์ จุฬาฯ"เน้นสหกิจศึกษา ผลิตนักวิทยาศาสตร์แบบใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"คณะวิทย์ จุฬาฯ"เน้นสหกิจศึกษา ผลิตนักวิทยาศาสตร์แบบใหม่ : โดย...  ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] 0

 

          “คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ปรับหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของสายวิทยาศาสตร์แบบใหม่” พลกฤษณ์ แสงวณิช

          “ขณะนี้ ไม่มีแผนกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ ว่าต้องการนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยกี่คน เพราะไม่มีแผนระดับประเทศ ใช้การคำนวณตามประชากรของประเทศ ว่าประชากร 60 ล้านคน ควรมีนักวิทยาศาสตร์กี่คน เป็นการคำนวณด้านตัวเลข แต่หน่วยงาน สถาบันที่ผลิตก็ไม่รู้ว่าตลาดต้องการเด็กเท่าไหร่ ขาดกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์เท่าไหร่ ต้องมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีงานรองรับจริงๆ กี่คน ดังนั้น ตอนนี้ นอกจากมีการสนับสนุนเพิ่มจำนวนคนสายวิทยาศาสตร์แล้ว ต้องมีแผนกำลังคนที่ชัดเจน” พลกฤษณ์  แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สะท้อนถึงแผนการเตรียมกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย

"คณะวิทย์ จุฬาฯ"เน้นสหกิจศึกษา ผลิตนักวิทยาศาสตร์แบบใหม่

 

          คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าในประเทศไทย “คณะวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่คณะยอดนิยม และไม่ได้เป็นคณะที่เด็กเก่งเลือกเรียน” อย่าง คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กว่าจะได้เด็กเข้าเรียนในคณะ ต้องรอถึงการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส รอบที่ 4 แอดมิชชั่น และรอบที่ 5 รับตรงอิสระ ถึงจะได้เด็กตามจำนวนที่ต้องการ เพราะต่อให้ทีแคสมี 5 รอบ รอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน และรอบที่ 2 โควตา โครงการต่างๆ เด็กก็ไม่ได้เลือก และรอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน มีเพียง 20% เท่านั้น ที่นั่งของคณะจึงมีเด็ก โดยปีนี้ รับนิสิตทั้งหมด 900 คน

          อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่เด็กเลือกเรียนคณะวิทย์ไม่ได้รับความนิยมเท่าท่ี่ควรเป็นมาหลายปีแล้ว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายว่า คณะวิทยาศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์หลากหลายค่อนข้างมาก อีกทั้งบางสาขามีรูปแบบการทำงานไม่ชัดเจน ไม่รู้ว่ามีตำแหน่งงาน เงินเดือนอย่างไร ที่สำคัญประเทศก็ไม่มีแผนความต้องการกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ ทำให้ไม่มีผู้เรียนอย่างที่ประเทศต้องการกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ 

 

"คณะวิทย์ จุฬาฯ"เน้นสหกิจศึกษา ผลิตนักวิทยาศาสตร์แบบใหม่

 

          คณะวิทย์เรียนสหกิจศึกษา 2 ปี
          คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ปรับการเรียนการสอนโดยเน้นสหกิจศึกษา เปิดโอกาสให้นิสิตต้องไปเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติงานจริง วิจัยจริงในสถานประกอบการ ภาคเอกชนต่างๆ โดยปรับหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของสายวิทยาศาสตร์แบบใหม่ ไทยแลนด์ 4.0 อาชีพใหม่ ไม่ได้เป็นวิจิตรแบบเดิม เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่จบออกไปแล้วสามารถดำรงชีวิต ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ผลิตบัณฑิต และงานวิจัยที่มีศักยภาพตอบสนองความต้องการของตลาดในภาวะปัจจุบัน และส่งเสริมความต้องการด้านธุรกิจ สังคม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต

 

"คณะวิทย์ จุฬาฯ"เน้นสหกิจศึกษา ผลิตนักวิทยาศาสตร์แบบใหม่

 

          คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อจัดสหกิจศึกษา ให้นิสิตปริญญาตรีได้ไปเรียนรู้การทำงานจริงในสถานประกอบการต่างๆ เด็กจะได้รู้ว่าบริษัททำงานอย่างไร และบริษัทเองได้เข้าใจด้วยว่าต้องรับเด็กคนไหนเข้าไปทำงาน ขณะเดียวกันคณะได้เรียนรู้การทำงานจริงหลังจบการศึกษาของเด็ก จะได้นำมาจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ ได้เหมาะสม ดังนั้น ไม่ว่าภาครัฐจะสนับสนุนให้มหาวิทยาลัย คณะ ดำเนินการจัดการเรียนการสอนเน้นฝึกปฏิบัติหรือไม่ มหาวิทยาลัยก็ต้องปรับการเรียนการสอนให้เน้นการทำงานมากขึ้น สหกิจศึกษามากขึ้น โดยบางสาขาจะเปิดโอกาสให้เด็กไปสหกิจศึกษา 2 ปี และทางบริษัทเองต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตนิสิต การจัดการเรียนการสอนร่วมด้วย” 

 

"คณะวิทย์ จุฬาฯ"เน้นสหกิจศึกษา ผลิตนักวิทยาศาสตร์แบบใหม่

 

          เด็กวิทย์จบเป็นนักวิจัยเพียง 20%
          คณบดีคณะวิทย์ จุฬาฯ กล่าวต่อไปว่า บัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์เข้าสู่สายนักวิจัย ประมาณ 10-20% เท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันอัตราการรองรับในการทำงานค่อนข้างน้อยลง หน่วยงานวิจัยต่างๆ ไม่ได้เปิดรับนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และไม่มีการเปิดหน่วยงานใหม่ แต่จะเป็นการให้ทุน โดยไม่มีอัตรางานรองรับ ซึ่งเมื่อนิสิตมองเห็นว่าเข้าสู่เป็นนักวิจัยแล้วไม่มีงานทำ การจะมาเลือกทำอาชีพนี้ก็น้อยลงไปด้วย 
ทั้งที่การจะพัฒนาประเทศสร้างนวัตกรรมได้ต้องอาศัยนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เพราะนวัตกรรมเกิดขึ้นได้ต้องมีนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่มีความเข้มแข็ง มีองค์ความรู้และเชี่ยวชาญจริงๆ อยากให้รัฐบาลเข้าใจเรื่องนี้ เพราะการให้ทุนทุกอย่างเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานักวิทยาศาสตร์พื้นฐานด้วย

 

"คณะวิทย์ จุฬาฯ"เน้นสหกิจศึกษา ผลิตนักวิทยาศาสตร์แบบใหม่

 

          รู้เทรนด์สายวิทย์จากบริษัท
          ทั้งนี้ คณะวิทย์ จุฬาฯ วางกรอบการผลิตกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ จากเทรนด์บริษัทที่ส่งนิสิตไปฝึกงาน หรือทำงานวิจัยร่วมกับสถานประกอบการ หน่วยงานวิจัยต่างๆ โดยสอบถามภาพรวม 2-3 ปีข้างหน้า ว่าต้องการนักวิทยาศาสตร์สาขาใดอย่างไร รวมทั้งคำนวณจากแบบสอบถามว่าเด็กทำงานตรงกับสาขาวิชาชีพมากน้อยขนาดไหน ซึ่งพบว่า มีอัตราการเข้าถึงงานของบัณฑิตคณะวิทย์ จุฬาฯ 60-70% ที่ทำงานได้ตรงกับสาขาที่จบ แต่อีก 30% ไม่สามารถรู้ เนื่องจากบางส่วนไม่ตอบแบบสอบถาม ไม่มีข้อมูลชัดเจน

          “สาขาของคณะวิทยาศาสตร์ที่ได้รับความนิยม และเข้าสู่การมีงานทำสูงในรูปแบบภาคเอกชนส่วนใหญ่เป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ เคมี เคมีเทคนิค วัสดุศาสตร์ จุลชีววิทยา ธรณีวิทยา วิทยาการคอมพิวเตอร์ และด้านอาหาร ส่วนสาขาที่อาจจะเหนื่อยมากกว่าสาขาอื่นๆ เช่น พฤกษศาสตร์ และชีววิทยา ทำให้เด็กที่จบสาขาเหล่านี้ไปศึกษาต่อ เพื่อเรียนให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ฉะนั้น สาขาไหนที่มีรูปแบบของการทำงาน อาชีพอย่างชัดเจน จะมีงานทำอย่างแน่นอน และเป็นสาขาที่มีเด็กสมัครค่อนข้างมาก"

 

"คณะวิทย์ จุฬาฯ"เน้นสหกิจศึกษา ผลิตนักวิทยาศาสตร์แบบใหม่

 

          ฝากภาครัฐหาตำแหน่งงานให้
          พลกฤษณ์ กล่าวอีกว่า คณะวิทยาศาสตร์ได้มีการหารือถึงปัญหาของการผลิตนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย กับทุกหน่วยงาน และคณะที่เกี่ยวข้อง เพื่อการจัดสรรนโยบาย และงบประมาณที่เหมาะสม แต่ที่ผ่านมามีเพียงโครงการต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้น และเป็นการทำงานวิจัยร่วมกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีให้นิสิตระดับปริญญาโท เอก ได้เข้าไปมีส่วนร่วม อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของระดับบัณฑิตศึกษาวิทยาศาสตร์ลดลงเนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจ โดยขณะนี้มีบัณฑิตศึกษาหายไปประมาณ 30% และทุกมหาวิทยาลัยได้มีการทำประชาสัมพันธ์เชิงรุก นำหลักสูตร รุ่นพี่ไปแนะนำถึงมหาวิทยาลัยอื่นๆ และให้ทุนการศึกษา อย่าง คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกประมาณ 50 ล้านบาท 

          "เชื่อว่าภาครัฐได้พยายามแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว แต่ตอนนี้ภาครัฐต้องหาตำแหน่งงานที่ชัดเจน เพราะถ้ามีงานทำ มีเงินเดือนชัดเจน คนก็ต้องมาเรียนด้านนี้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ภาคการผลิตก็ต้องผลิตคนที่เหมาะสมสายวิทยาศาสตร์ในภาวะปัจจุบันมากขึ้น" คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวทิ้งท้าย
  
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ