Lifestyle

กระจ่างขึ้น “Social Movements”คือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

Social Movements คืออะไร ในประเทศไทยมีการดำเนินการเรื่องนี้บ้างหรือไม่???

       การประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2017 กับคำถามในรอบ 5 คนสุดท้ายที่ “มารีญา พูลเลิศลาภ”สาวงามตัวแทนประเทศไทยได้รับ  เกี่ยวข้องกับเรื่อง “Social Movements”และกลายเป็นประเด็นที่สังคมออนไลน์ของไทยวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก รวมถึงมีความคาใจ ข้องใจและสงสัยว่า แท้จริงคำๆนี้มีหมายความอย่างไร  

       ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักวิชาการ เขียนบทความเผยแพร่ไว้ในเวบไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ส่วนหนึ่งว่า  Social Movements หรือ การเคลื่อนไหวทางสังคม หมายถึง ปฏิบัติการของกลุ่มคนที่มีเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง   การรวมกลุ่มของคนอาจจะเป็นทางการและไม่เป็นทางการก็ได้ สำหรับทางมานุษยวิทยามองว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเป็นเรื่องการเมือง เช่น การต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม  เชื้อชาติ ความเท่าเทียมของเกย์ เลสเบี้ยน การดูแลรักษาผู้ป่วยเอดส์  สิทธิการตั้งครรภ์ และความเท่าเทียมของสตรี รวมทั้งการต่อสู้เชิงอนุรักษ์นิยม เช่น การต่อต้านการทำแท้ง เป็นต้น  

          อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวทางสังคมเกี่ยวข้องกับสังคมสมัยใหม่ กล่าวคือ เมื่อตะวันตกเริ่มใช้อุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความคิดเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกก็เริ่มมีบทบาทสำคัญของพลเมือง เมื่อประชาชนรู้สึกว่าตนเองถูกกดขี่ข่มเหง ไม่ได้รับความเท่าเทียมและความเป็นธรรม ทำให้พวกเขาออกมาแสดงออกทางความคิดและวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาทางสังคมต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องสิทธิหรือประท้วงการบริหารงานของรัฐ

กระจ่างขึ้น “Social Movements”คือ

         สำหรับในสังคมไทยก็มีการเคลื่อนไหวทางสังคมมิน้อย ยกตัวอย่าง จากการศึกษาเรื่อง "ผลสะเทือนของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย"ของวิภาดา เอี่ยมคง นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2553 ซึ่งระบุว่า การต่อสู้เคลื่อนไหวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคม ได้ก่อให้เกิดผลสะเทือนต่อกระบวนการทางนโยบายสาธารณะ และมิติการยอมรับทางสังคมต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างไรบ้าง โดยศึกษาผ่านกลุ่มและองค์กรของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ 4 กลุ่ม ได้แก่ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กลุ่มเกย์การเมืองไทย กลุ่มอัญจารี สมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทย 

     ผลจากการศึกษาพบว่า การต่อสู้เคลื่อนไหวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ได้ก่อให้เกิดผลสะเทือนต่อทั้งกระบวนการทางนโยบายสาธารณะ และมิติการยอมรับทางสังคมต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวคือ ประการแรก การต่อสู้เคลื่อนไหวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการทางนโยบายสาธารณะ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของกลุ่มตน แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มพื้นที่ทางการเมืองของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในระบบการเมือง ประการที่สอง ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านมิติการยอมรับทางสังคมเกี่ยวกับเพศวิถี และเพศภาวะเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต

      หรือการศึกษา เรื่อง การเคลื่อนไหวทางสังคมของชาวนาอีสาน : กรณีศึกษามูลนิธิเกษตรกรไทย ของยุติธรรม ศิริอุเทน นักศึกษาปริญญาโท พัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี 2544 ซึ่งผลการศึกษา พบว่า เงื่อนไขและบริบทที่เป็นสาเหตุของการเคลื่อนไหวทางสังคมของ ชาวนาอีสานที่เป็นสมาชิกมูลนิธิเกษตรกรไทย มีอยู่ 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.เงื่อนไขด้านภาวะวิสัย (Objective Condition) คือความเดือดร้อนของชาวนา อันเนื่องมาจากปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้สินนายทุนนอกระบบ ปัญหาหนี้สิน ที่เกิดจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และความเดือดร้อนอันเนื่องมาจาก ภัยธรรมชาติเช่นความแห้งแล้ง 

    2.เงื่อนไขด้านอัตวิสัย (Subjective Condition) ความตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้น จากสาเหตุด้านภาวะวิสัยของผู้นำและสมาชิกมูลนิธิเกษตรกรไทย ซึ่งความตระหนักนี้ได้แก่ การนำสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นมาปรึกษาหารือกันในชุมชนเพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน นำมา สู่การสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมขึ้น และ3. เงื่อนไขเสริมที่เอื้ออำนวย (Facilitating Condition) ได้แก่ ความสามารถ ในการรวมมวลชนของผู้นำและแกนนำมูลนิธิเกษตรกรไทย ซึ่งเป็นชนชั้นชาวนานำไปสู่การจัดตั้ง องค์กรชาวนาขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางสังคม นอกจากนี้ยังเกิดจาก ความอ่อนแอของรัฐบาลส่วนกลางที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง ทำให้นโยบายการพัฒนาประเทศไม่ต่อเนื่องจากนโยบายของแต่ละรัฐบาลไม่ตรงกัน จึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมของชาวนาได้ง่ายขึ้น 

       รูปแบบการเคลื่อนไหวทางสังคมของมูลนิธิเกษตรกรไทย ปรากฏในรูปแบบของการกระทำรวมหมู่ (Collective Action) และการรวมกันเป็นหมู่คณะ (Organized Movement) ซึ่งเป็นการกระทำการเพื่อให้รัฐหันกลับมาสนใจในปัญหาของกลุ่มตน นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวทางสังคมของมูลนิธิเกษตรกรไทย ถือได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมรูป แบบเก่า (Old Social Movement) เนื่องจากเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ของคนชั้นเดียว คือ ชาวนา 

       ส่วนปัญหาอุปสรรคที่ทำให้การเคลื่อนไหวของมูลนิธิเกษตรกรไทยไม่ประสบความสำเร็จและหยุดชะงักในบางโอกาส มีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1. ปัญหาที่เกิดจากภายในองค์กร ได้แก่ การขัดแย้งทางความคิดระหว่างกลุ่มผู้นำ การบริหารจัดการที่สมาชิกมีส่วนร่วมการทุจริตในองค์กร ความไม่เข้าใจของสมาชิกต่อแนวทาง การดำเนินงานขององค์กร และ2.ปัญหาที่เกิดจากภายนอกองค์กร ได้แก่ ปัญหาการต่อต้านจากรัฐและกลไกของรัฐ เช่น การออกแถลงการณ์ตอบโต้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รัฐส่งคนมา สอดแนมและข่มขู่ผู้นำ การห้ามไม่ให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน ครู เข้าร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวกับมูลนิธิฯ การเฉยเมยไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องของชาวนาจากหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น 

      กล่าวโดยสรุป การเคลื่อนไหวทางสังคมของชาวนาอีสานในปัจจุบัน เป็นการเคลื่อนไหวที่แสดงออกทางประชาธิปไตยมากกว่าการเคลื่อนไหวที่แสดงออกถึงแนวคิดการต่อต้านอำนาจรัฐ หรือยึดอำนาจรัฐ ชาวนาอีสานจะใช้ความรุนแรงก็ต่อเมื่อภาครัฐใช้กำลังบีบบังคับ การเคลื่อนไหวทางสังคมของชาวนาอีสานในยุคปัจจุบันไม่ได้มุ่งหวังในการยึดอำนาจรัฐ หากแต่ว่าความต้องการของพวกเขาอยู่ที่การแก้ไขปัญหาพื้นฐานในสังคมของชาวนาอีสาน อย่างจริงจัง

0 พวงชมพู ประเสริฐ เรียบเรียง 0

   

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ