Lifestyle

นิทรรศการ “ความท๙งจำ” หนังสือกับพ่อหลวง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มหกรรมหนังสือฯ ครั้งที่22นำเสนอพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านหนังสือพระราชนิพนธ์และหนังสือที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์กว่า7ทศวรรษ

    ตลอด 7 ทศวรรษที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญกับหนังสือในฐานะเครื่องมือในการส่งต่อและสร้างสรรค์ความรู้แก่มวลมนุษยชาติ  ดังที่ตลอด พระชนม์ชีพของพระองค์ได้ผูกพันกับหนังสือเป็นอย่างมาก

นิทรรศการ “ความท๙งจำ” หนังสือกับพ่อหลวง

     มีข้อเขียนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง หนังสือ บทความ เพลงพระราชนิพนธ์ การแปล และการสร้างสรรค์อื่น เช่น ภาพถ่าย จิตรกรรม การประดิษฐ์ตัวพิมพ์ ตลอดจนการสนับสนุนให้มีการทำหนังสือการสร้างสรรค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดทำสารานุกรมสำหรับเยาวชน การแปลคัมภีร์ทางศาสนามาเป็นภาษาไทย ได้แก่ พระไตรปิฎก และพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน การสนับสนุนการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ

      “งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 (Book Expo Thailand 2017)” จัดขึ้นระหว่างวันพุธที่ 18 – วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 (12 วัน) ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด “ความทรงจำ”

นิทรรศการ “ความท๙งจำ” หนังสือกับพ่อหลวง

     โดยมีสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยเป็นหลักในการประสานความร่วมมือ จัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 สร้างสรรค์นิทรรศการ “ความท๙งจำ” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่อวงการหนังสือไทยตลอดรัชสมัยของพระองค์ เป็นโอกาสสำคัญสำหรับชาวไทย ที่จะได้เรียนรู้พระปรีชาสามารถด้านวรรณศิลป์ จากหนังสือพระราชนิพนธ์ และหนังสืออื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

นิทรรศการ “ความท๙งจำ” หนังสือกับพ่อหลวง

     สุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 (Book Expo Thailand 2017)” ถือเป็นงานแสดงหนังสือระดับชาติที่ได้รับความสนใจและรอคอยจากบรรดาคนรักการอ่านมาตลอด

นิทรรศการ “ความท๙งจำ” หนังสือกับพ่อหลวง

     โดยงานมหกรรมหนังสือฯ ครั้งนี้จัดขึ้น ภายใต้แนวคิดและถ่ายทอดผ่านนิทรรศการในชื่อ “ความท๙งจำ” โดยการสนับสนุนจาก กระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรมศิลปากร และสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือ ประสานความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชน เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ที่มีต่อวงการหนังสือของไทย

นิทรรศการ “ความท๙งจำ” หนังสือกับพ่อหลวง

    ผ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ และหนังสืออื่นๆ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ด้วยความตระหนักว่า หนังสือเป็น “สิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้” สมดังพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานแก่คณะสมาชิกห้องสมุดทั่วประเทศ 25 พฤศจิกายน 2514 ว่า

    “...หนังสือเป็นการสะสมความรู้ และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้างมา ทำมา คิดมา แต่โบราณกาลจนทุกวันนี้ หนังสือจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นคล้าย ๆ ธนาคารความรู้และเป็นออมสิน เป็นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้..."

นิทรรศการ “ความท๙งจำ” หนังสือกับพ่อหลวง

    สำหรับไฮไลท์ของนิทรรศการความทรงจำ คือการนำ นิตยสาร “วงวรรณคดี” ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นนิตยสารที่ได้รับพระบรมราชานุญาตพิเศษให้ตีพิมพ์ พระราชนิพนธ์เรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์”

     ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์เรื่องแรกเมื่อทรงขึ้นครองราชย์ มาจัดแสดงร่วมกับหนังสือพระราชนิพนธ์เล่มอื่นๆ หนังสือที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอด 7 ทศวรรษในรัชสมัยของพระองค์

     โดยเนื้อหาของนิทรรศการแต่ละทศวรรษจะแสดงได้ถึงประวัติศาสตร์โดยรวมของสังคมไทย ผ่านความทรงจำของเรื่องเล่าในตัวอักษร ทั้งจากหนังสือพระราชนิพนธ์และหนังสืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ

นิทรรศการ “ความท๙งจำ” หนังสือกับพ่อหลวง

    ทศวรรษที่ 1 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ขณะพระชนมายุเพียง 19 พรรษา หลังจากขึ้นครองราชย์ไม่นานพระองค์ต้องกลับไปศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และกลับมาประกอบพระราชพิธีสำคัญในปี 2493 คือพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (มีนาคม) พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส (เมษายน) และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (พฤษภาคม)  หลังจากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่ออีกครั้ง จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2494 จึงเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวร

     หรือในช่วงทศวรรษที่ 3 พระองค์มีพระราชดำริให้จัดทำโครงการสารานุกรมสำหรับเยาวชน และการแปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานจากภาษาอาหรับมาเป็นภาษาไทย เพื่อพี่น้องชาวไทยมุสลิม และเป็นทศวรรษที่เริ่มมีพระราชกรณียกิจเพื่อการพัฒนาประเทศเกิดขึ้นอย่างมากมาย   จากการเสด็จแปรพระราชฐาน เพื่อเยี่ยมเยือนประชาชนของพระองค์ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

นิทรรศการ “ความท๙งจำ” หนังสือกับพ่อหลวง

     ช่วงทศวรรษที่ 5 พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง "มูลนิธิชัยพัฒนา” เมื่อปี 2531 เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนาต่างๆ ในทศวรรษนี้เองที่มีการพิมพ์หนังสือพระราชนิพนธ์อย่างต่อเนื่อง

     เริ่มจากงานแปล นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ (2536) และ ติโต (2537) ส่วนทศวรรษที่ 6 ทศวรรษแห่งความสุขของชาวไทยกับพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ต่อมาเมื่อประเทศต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ พระองค์ได้พระราชทานแนวคิด ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ซึ่งยังเป็นแนวคิดที่ใช้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนงานพระราชนิพนธ์ต่างๆ ยังมีอย่างต่อเนื่อง มีการตีพิมพ์หนังสือ “พระมหาชนก” พ.ศ. 2539 และ “ทองแดง” พ.ศ. 2545 เป็นต้น

    นอกจากนี้ในนิทรรศการฯ ยังได้จัดแสดง สิ่งพิมพ์และของที่ระลึกต่างๆ ที่จัดทำขึ้นหลังวันสวรรคต 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่รวบรวมหนังสือและสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาแสดงให้ชมมากที่สุดอีกด้วย

นิทรรศการ “ความท๙งจำ” หนังสือกับพ่อหลวง

    นอกจากนี้นางสุชาดาได้กล่าวถึงหนังสือที่ระลึกที่จัดทำขึ้นเพื่อแจกในมหกรรมหนังสือฯครั้งนี้ว่า “ได้รับการอนุเคราะห์จากหลายหน่วยงาน ร่วมกันจัดพิมพ์ สำเนาหนังสือ “วงวรรณคดี” ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2490 ซึ่งจำลองทั้งรูปเล่มและขนาดเหมือนต้นฉบับ เพื่อแจกให้กับผู้ร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น เพียงถ่ายภาพคู่กับโปสเตอร์ “ความท๙งจำ”

     ซึ่งจะติดอยู่ภายในงานมหกรรมหนังสือ โพสต์ลงเฟซบุ๊ค ตั้งค่าสาธารณะ พร้อมแฮซแท็ก #ความท๙งจำ และ #bookthai จากนั้นนำมาแสดงกับเจ้าหน้าที่ ณ บูธนิทรรศการภายในงาน โดยเปิดให้แลกตั้งแต่วันที่ 18 – 24 ตุลาคม 2560 วันละ 2 รอบ รอบละ 800 เล่ม ระหว่างเวลา 11.00 – 12.00 น. และ 17.00 – 18.00 น.  

    ซึ่งคาดว่าจะมีผู้สนใจมาขอรับหนังสือเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้จัดทำของที่ระลึก ‘'ที่คั่นหนังสือแห่งความท๙งจำ’ ที่ออกแบบเป็นพิเศษโดยนักออกแบบชื่อดัง จำนวน 9 แบบ เพื่องานมหกรรมหนังสือระดับชาติในครั้งนี้ จำหน่ายในราคาชิ้นละ 99 บาท รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะมอบให้กับศิริราชมูลนิธิ เพื่อสมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา โรงพยาบาลศิริราชอีกด้วย”

นิทรรศการ “ความท๙งจำ” หนังสือกับพ่อหลวง

      นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ “ความท๙งจำ” และนิทรรศการอื่นๆ อาทิ - นิทรรศการ “100 Annual Book and Cover Design 2017” / นิทรรศการภาพถ่าย “๙ สู่สวรรคาลัย Journey to Heaven” / นิทรรศการ “ขอบฟ้าขลิบทอง... ส่องทางเรา กวี-ชีวิต-อุชเชนี” ร่วมรับฟังการเสวนา “๙ วัน ๙ ความทรงจำ ธ สถิตอยู่ในใจไทยนิรันดร์” กับบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่จะมาแบ่งปันความทรงจำอันทรงคุณค่าในห้วงเวลาสำคัญของชาวไทย

    อาทิ นายชวน หลีกภัย พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นายแพทย์ดนัย โอวัฒนาพาณิชย์ เป็นต้น พร้อมกิจกรรมเสวนาและอบรมน่าสนใจอีกมากมายตลอด 12 วัน

  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ